เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ปรัชญาการจัดพิธีไว้อาลัย และการร้องไห้แด่อิมามฮุเซน (อ.) คืออะไร?

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ปรัชญาการจัดพิธีไว้อาลัย และการร้องไห้แด่อิมามฮุเซน (อ.) คืออะไร?

 

 

 

ชาวชีอะฮ์บางคนเข้าใจว่า การร้องไห้ให้กับท่านอิมามฮุเซน (อ.) เป็นแนวทางหนึ่งสำหรับการได้รับชะฟาอะฮ์และการให้อภัยความผิดบาปเพียงเท่านั้น และการพลีชีพของท่านก็ไม่มีเป้าหมายอื่นใดนอกจากสิ่งนี้ ในทัศนะของพวกท่าน

การไว้อาลัยและการร้องไห้แด่ท่านอิมามฮุเซน (อ.)

หากไม่นำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงและการเปลี่ยนแปลงตนเองนั้น จะเป็นสื่อแห่งการชะฟาอะฮ์ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) หรือไม่?!

 

ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ผู้ซึ่งทุ่มเทความอุตสาห์พยายามและการพลีอุทิศทุกสิ่งทุกอย่างของตน เพื่อการฟื้นฟูและให้ชีวิตใหม่แก่อิสลามและการอบรมขัดเกลาแก่ประชาชนนั้น เป็นไปได้หรือที่ว่า การไว้อาลัยและการรำลึกถึงโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับท่านจะไม่มีผลใดๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงในตัว

ผู้ไว้อาลัยต่อท่านเลย…?

 

 เกี่ยวกับคุณค่าของการร้องไห้และการไว้อาลัยให้แด่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) หัวหน้าของบรรดาผู้สละชีพ (ซัยยิดุชชุฮะดา) ในทางของพระผู้เป็นจ้านั้น มีคำรายงาน (ริวายะฮ์) จำนวนมากได้รายงานจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และบรรดาอิมาม (อ.) และเน้นย้ำอย่างมากมายในเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อล) ได้กล่าวไว้กับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) นับตั้งแต่ก่อนที่เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเป็นเวลาหลายสิบปีว่า

 

یا فاطمة! کل عین باکیة یوم القیامة، الا عین بکت علی مصاب الحسین فانها ضاحکة مستبشرة بنعیم الجنة

 

“โอ้ฟาฏิมะฮ์เอ๋ย! ในวันกิยามะฮ์ ทุกๆ ดวงตาจะต้องร่ำไห้ เว้นแต่ดวงตาที่ได้ร่ำไห้ต่อสิ่งที่ได้ประสบกับฮุเซน (ในแผ่นดินกัรบะลา) เพราะแท้จริงมันจะเบิกบานและปีติยินดีด้วยกับปัจจัยอำนวยสุขแห่งสวรรค์” (1)

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า

 

من بکی او ابکی او تباکی للحسین وجبب له الجنة

 

“ผู้ใดที่ร้องไห้ ทำให้ผู้อื่นร้องไห้หรือแสดงออกด้วยการร้องไห้แก่ฮุเซน สวรรค์จะเป็นวาญิบ (สิ่งจำเป็น) สำหรับเขา” (2)

 

 คำถามที่สำคัญในที่นี้ก็คือ การเน้นย้ำและการให้ความสำคัญเกี่ยวกับการร้องไห้และการไว้อาลัยแด่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ทั้งหมดเหล่านี้ เพื่ออะไร? ปรัชญาของมันคืออะไร? คุณประโยชน์และผลที่จะได้รับจากสิ่งนี้คืออะไร? ในเนื้อหาส่วนนี้เราจะชี้ให้เห็นถึงบางส่วนของการวิเคราะห์ที่ถูกต้องและมีตรรกะเกี่ยวกับคุณประโยชน์ต่างๆ ของการไว้อาลัยและการจัดพิธีรำลึกถึงโศกนาฏกรรมแห่งกัรบะลา

 

คุณประโยชน์ของการร้องไห้ และการไว้อาลัย แด่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) คืออะไร?

 

1. การพิทักษ์รักษาแนวทางของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ในฐานะอิสลามอันบริสุทธิ์

 

 พิธีไว้อาลัยแด่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) คือเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับการปลุกและการทำให้ประชาชนตื่นตัว เป็นแนวทางและวิธีการที่บรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ได้สอนไว้แก่บรรดาผู้ปฏิบัติตามท่าน เพื่อเป็นหลักประกันการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องของอิสลาม

 

 ความสำคัญของการจัดพิธีไว้อาลัยและความลับในการเน้นย้ำของบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ที่ให้รักษามันนั้น จะเป็นสิ่งที่กระจ่างชัดมากยิ่งขึ้นหากเราพิจารณาใคร่ครวญถึงกรณีที่ว่า ในช่วงยุคสมัยที่คำรายงานเหล่านี้ถูกกล่าวออกมาโดยบรรดาอิมาม (อ.) นั้น ชาวชีอะฮ์ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพที่ถูกโดดเดี่ยวและตกอยู่ภายใต้การกดดันต่างๆ อย่างรุนแรงจากอำนาจการปกครองของบนีอุมัยยะฮ์และบนีอับบาส จนกระทั่งว่าไม่สามารถที่จะดำเนินกิจกรรมการเคลื่อนไหวใดๆ ทางด้านการเมืองและสังคมได้เลยแม้แต่น้อย และชาวชีอะฮ์เกือบจะถูกกวาดล้างลงอย่างสิ้นเชิง แต่ทว่าการจัดพิธีไว้อาลัยและการรำลึกถึงโศกนาฏกรรมของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นี่เองที่ช่วยให้พวกเขาอยู่รอด และโดยอาศัยการชุมนุมเหล่านี้นั่นเอง ที่ทำให้พวกเขาเกิดการจัดตั้งและการเชื่อมโยงกันขึ้นอย่างเป็นปึกแผ่นได้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง

 

 ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง ตามคำรายงาน (ริวายะฮ์) ต่างๆ การจัดพิธีกรรมเหล่านี้ จึงถูกกล่าวถึงในฐานะ “การรณรงค์ฟื้นฟูและการให้ชีวิตแก่เรื่องราวต่างๆ ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.)” ดังที่ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวกับบรรดาชีอะฮ์ของท่านในเรื่องนี้ว่า

 

تجلسون-و تحدثون؟ قال: قلت: نعم، جعلت فداك، قال: تلك المجالس احبها، -فاحیوا امرنا یا فضیل، فرحم الله من احیا امرنا یا فضیل، من ذكرنا او ذكرنا عنده فخرج من عینه مثل جناح الذباب غفر الله ذنوبه-و لو كانت اكثر من زبد البحر

 

"พวกท่านได้นั่งชุมนุมกันและพูดคุยกันบ้างหรือไม่” ผู้รายงานกล่าวว่า “ใช่แล้วครับ! ข้าพเจ้าขอพลีเพื่อท่าน” ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า “แท้จริงการชุมนุม (ที่พวกท่านจัดขึ้น) เหล่านั้น ฉันรักมัน ดังนั้นพวกท่านจงรณรงค์ฟื้นฟูเรื่องราว (เกี่ยวกับตำแหน่งอิมาม) ของพวกเราเถิด โอ้ฟูฎ็อยล์เอ๋ย! ผู้ใดก็ตามที่กล่าวถึงเราหรือเราถูกกล่าวถึง ณ ที่เขา แล้วน้ำตาได้ไหลออกมาจากดวงตาของเขา แม้เพียงเท่าปีกแมลงวัน อัลลอฮ์จะทรงอภัยโทษความผิดบาปต่างของเขา และแม้ว่ามันจะมากกว่าจำนวนของฟองน้ำในทะเลก็ตาม" (3)

 

ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ได้กล่าวไว้ในพินัยกรรมของท่านว่า "เราทุกคนจะต้องรับรู้ว่า สิ่งที่จะเป็นบ่อเกิดของความเป็นเอกภาพในหมู่มุสลิมนั้น คือพิธีกรรมต่างๆ ทางการเมือง พิธีไว้อาลัยแด่บรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แด่ท่านอบาอับดิลลาฮ์ อัลฮุซัยน์ (อ.) นายของบรรดาผู้ถูกกดขี่ หัวหน้าของบรรดาชะฮีด ซึ่งจะช่วยพิทักษ์รักษาประชาชาติมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวชีอะฮ์ที่ยึดมั่นในอิมามสิบสองท่าน (อ.) เอาไว้ได้" (4)

 

  แม้แต่ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมก็ยังยอมรับในเรื่องนี้ "ดร.โจเซฟ" นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ในหนังสือ "อิสลามและมุสลิม" เขาได้ชี้ถึงจำนวนที่น้อยนิดของชีอะฮ์ ในช่วงศตวรรษแรกๆ ของอิสลาม เนื่องจากไม่มีรัฐปกครองเป็นของตัวเอง การกดขี่และความอธรรมของบรรดาผู้ปกครองที่มีต่อพวกเขา การฆ่าสังหารและการปล้นสะดมทรัพย์สินต่างๆ ของพวกเขา เขาได้เขียนวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า

 

“  อิมามผู้หนึ่งของชีอะฮ์ได้ออกคำสั่งให้พวกเขาทำการตะกียะฮ์ (การปกปิดความเชื่อของตน) เพื่อที่ชีวิตของพวกเขาจะได้ถูกพิทักษ์รักษาไว้จากอันตรายของเหล่าศัตรู และสิ่งนี้ได้กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ชีอะฮ์ค่อยๆ มีพลังอำนาจขึ้นทีละน้อยๆ และคราวนี้บรรดาศัตรูไม่มีเหตุผลข้ออ้างใดๆ ที่จะฆ่าสังหารชาวชีอะฮ์และปล้นสะดมทรัพย์สินต่างๆ ของพวกเขา ชาวชีอะฮ์ได้จัดพิธีกรรมและการชุมนุมอย่างลับๆ ได้ร่ำไห้แสดงความเสียใจต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับท่านฮุเซน (อ.) อารมณ์ความรู้สึกและความรักความผูกพันได้เกิดความแข็งแกร่งขึ้นในหัวใจของ

ชีอะฮ์ และจำนวนของพวกเขาค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น เกิดการพัฒนาและขยายตัว...

 

ปัจจัยที่สำคัญที่สุดของความก้าวหน้าเหล่านี้ คือการจัดพิธีไว้อาลัยแด่ท่านฮุเซน (อ.) ซึ่งดึงดูดและเชิญชวนบุคคลอื่นๆ มาสู่แนวทางของ

ชีอะฮ์... ในความเป็นจริงชีอะฮ์แต่ละคนจะเชิญชวนประชาชนมาสู่แนวทางของตน ซึ่งมุสลิมอื่นๆ มิได้ใส่ใจและคำนึงถึง ทว่าชาวชีอะฮ์เอง (บางที) พวกเขาก็ไม่ทราบถึงคุณประโยชน์ที่มีอยู่ในพิธีกรรมเหล่านี้ของพวกเขา พวกเขาคิดแต่เพียงว่าพวกเขาจะได้รับผลรางวัลในปรโลก" (อ้างอิงจากหนังสือ "ปรัชญาการเป็นชะฮีดและการจัดพิธีไว้อาลัยแด่ท่านฮุเซน บินอะลี (อ.)” (5)

 

 “ดร.มาร์บีน” นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน ได้เขียนไว้ในหนังสือ “การเมืองอิสลาม”เช่นกันว่า “ผมมีความเชื่อมั่นว่า เคล็ดลับของการดำรงอยู่และความเจริญก้าวหน้าของอิสลามและการพัฒนาการสู่ความสมบูรณ์ของชาวมุสลิมนั้น เกิดจากสาเหตุการเป็นชะฮีดของท่านฮุเซน (อ.) และเหตุการณ์ต่างๆ อันเป็นโศกนาฏกรรมเหล่านั้น ผมมีความมั่นใจว่า การเมืองที่มีตรรกะของมุสลิมและการดำเนินการต่างๆ ที่เป็นตัวกำหนดแนวทางการดำเนินชีวิตของพวกเขานั้น เกิดขึ้นจากพิธีกรรมในการไว้อาลัยแด่ท่านฮุเซน (อ.)” (6)

 

2. การระดมมวลชน

 

ในการเน้นย้ำให้มีการจัดพิธีไว้อาลัยและรำลึกถึงโศกนาฏกรรมของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้น บรรดาท่านอิมาม (อ.) ได้กำหนดให้แบบแผนของท่านอิมามฮุเซน (อ.) เป็นแกนหลักสำหรับความเป็นเอกภาพของประชาชน ปัจจุบันในช่วงเวลาของวันอาชูรอ วันแห่งการเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ประชาชนเรือนล้านจากชนชั้น เชื้อชาติและมัซฮับ (นิกาย) ต่างๆ จากทุกมุมของโลกจะมารวมตัวกัน จัดให้มีการรำลึกและไว้อาลัยต่อท่านอิมาม (อ.)

 

“มาบีน” ชาวเยอรมัน ได้เขียนไว้ในผลงานของเขาว่า “ความไม่รู้และความโง่เขลาของนักประวัติศาสตร์บางคนทำให้พวกเขากล่าวถึงการจัดพิธีไว้อาลัยอิมามฮุเซน (อ.) ของชาวชีอะฮ์ว่าเป็นความบ้าคลั่งและงมงายอย่างหนึ่ง ทว่าพวกเขาพูดเกินจริงและเป็นการกล่าวให้ร้ายต่อชีอะฮ์ ท่ามกลางหมู่ชนและประชาชาติทั้งหลายนั้น เราไม่เห็นประชาชนกลุ่มใดเลยที่จะมีความรุมร้อน กระตือรือร้นและมีชีวิตชีวาเท่ากับชีอะฮ์ ทั้งนี้เนื่องจากชาวชีอะฮ์ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทางการเมืองอย่างมีตรรกะ โดยอาศัยการจัดพิธีกรรมไว้อาลัยให้กับอิมามฮุเซน (อ.) และทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ทางศาสนาที่ทรงประสิทธิภาพบังเกิดขึ้น” (7)

 

วันนี้ความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นในหัวใจของบรรดาศัตรูของศาสนาอันเนื่องมาจากการจัดพิธีชุมนุมเช่นนี้ ไม่เป็นที่ปิดบังสำหรับใครอีกแล้ว ถึงขั้นที่ว่าทุกวันนี้พวกเขามีความพยายามทุกวิถีทางที่จะทำลายล้างพิธีกรรมต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะโดยใช้คำพูดบิดเบือน กล่าวให้ร้ายและการใช้กำลังต่างๆ เพื่อที่จะถอนรากถอนโคนสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือการทำลายฮุซัยนียะฮ์ต่างๆ ในประเทศบาห์เรน การทำลายฮะรัมอันศักดิ์สิทธิ์ของบรรดาอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดทั้งในมะดีนะฮ์ อิหร่าน อิรักและซีเรีย          

 

 3. การเรียนรู้แบบอย่างและการขัดเกลาตนเอง

 

 พิธีกรรมการไว้อาลัยแด่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้น เป็นพิธีกรรมของการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ เป็นศูนย์กลางของการฝึกฝนและการขัดเกลาจิตใจ ในพิธีกรรมนี้การร้องให้ของประชาชนที่ร้องไห้ต่อการถูกอธรรมของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้น พวกเขาจะยึดเอาท่านอิมาม (อ.) เป็นแบบอย่าง ในความเป็นจริงแล้วเป็นการจัดเตรียมพื้นฐานที่จะทำให้การกระทำและพฤติกรรมของตนเกิดความสอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติของท่านอิมาม (อ.)

 

ในฮะดีษบทหนึ่งจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ท่านกล่าวว่า

 

عِنْدَ ذِکْرِ الصَّالِحینَ تَنْزِلُ الرَّحْمَةُ

 

“เมื่อมีการรำลึกถึงบรรดาผู้มีคุณธรรม ความเมตตา (ของอัลลอฮ์) จะถูกประทานลงมา”(8)

 

 ในหนังสือ “มะฮัจญะตุ้ล บัยฎออ์” ท่านมัรฮูมเฟฎ กาชานี ในการอธิบายฮะดีษบทนี้ ท่านได้ชี้ถึงประเด็นการรับผลกระทบของมนุษย์จากสภาพแวดล้อมทางสังคมและแบบอย่างต่างๆ ที่ดีงาม ในการอธิบายถึงเหตุผลของการประทานความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้า ในขณะที่มีการกล่าวรำลึกถึงบรรดาคนดีมีคุณธรรม (ซอลิฮีน) ท่านได้เขียนว่า

 

 เนื่องจากการรำลึกถึงบรรดาซอลิฮีนและการหยิบยกคุณลักษณะต่างๆ ที่ดีงามของบุคคลเหล่านั้นมาพูดถึงจะทำให้มนุษย์ได้เรียนเรียนรู้แบบอย่างจากท่านเหล่านั้น ด้วยความประทับใจจากแบบอย่างดังกล่าวนี่เองที่จะทำให้เขายึดถือและปฏิบัติตาม จะเป็นสื่อแห่งความดีงามและการได้รับความเมตตา (เราะฮ์มะฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับพวกเขา

 

4. การเชิดชูการต่อสู้ของท่านอิมามฮุเซน (อ.)

 

การเชิดชูการต่อสู้ของอิมามฮุเซน (อ.) คือการเชิดชูเกียรติและสัญลักษณ์แห่งพระผู้เป็นเจ้า โดยทั่วไปแล้วการไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของบุคคลทั้งหลายนั้น คือประเภทหนึ่งของเชิดชูและเป็นการแสดงความเคารพต่อบุคคลเหล่านั้น ถือเป็นการให้เกียรติต่อสถานภาพและตำแหน่งของพวกเขา ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า

 

مَیِّتٌ لابَواکِیَ عَلَیْهِ، لا إِعْزازَ لَهُ

 

“คนตายที่ไม่มีผู้ร่ำไห้ให้แก่เขานั้น ย่อมไม่มีเกียรติสำหรับเขา” (9)

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสดงความเสียใจและการไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของเหล่าบุรุษแห่งพระผู้เป็นเจ้า นับว่าเป็นส่วนหนึ่งจากตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของการยกย่องเชิดชูสัญลักษณ์ต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า เป็นการยกย่องเชิดชูอุดมการณ์ แนวทาง ความพยายามและการต่อสู้ของพวกเขา จากจุดนี้เองท่านศาสดา (ซ็อลฯ) หลังจากกลับมาจากสงครามอุฮุด เมื่อท่านเห็นครอบครัวของบรรดาชะฮีดของเผ่า “บนีอัสฮัล” และ “บนีซอฟัร” กำลังร้องไห้ให้กับบรรดาชะฮีดของพวกเขา แต่ทว่าไม่มีผู้ใดเลยที่จะร้องไห้ให้แก่ท่านฮัมซะฮ์ลุงของท่าน ท่านศาสดาได้ร้องไห้ พร้อมกับกล่าวว่า

 

لکِنَّ حَمْزَةُ لابَواکِیَ لَهُ الْیَوْمَ

 

"แต่วันนี้ ไม่มีผู้ใดร้องไห้ให้แก่ท่านฮัมซะฮ์เลย" (10)

 

บรรดาสตรีชาวมะดีนะฮ์ เมื่อได้ยินคำพูดนี้ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) พวกนางจึงมารวมตัวกันที่บ้านของท่านฮัมซะฮ์ ได้ทำการไว้อาลัยและร้องไห้ โดยวิธีการดังกล่าวนี้เองที่ท่านฮัมซะฮ์จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ

 

ทำนองเดียวกันนี้ เมื่อข่าวการเสียชีวิตของท่านญะอ์ฟัร อัฏฏ็อยยาร ในสงครามมูตะฮ์มาถึงมะดีนะฮ์ ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เพื่อที่จะกล่าวแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของท่าน อันดับแรกท่านไปที่บ้านของท่านญะอ์ฟัร ต่อจากนั้นท่านไปที่บ้านของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) และท่านเห็นท่านหญิงอยู่ในสภาพที่กำลังร้องไห้เสียใจ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงกล่าวว่า

 

عَلى مِثْلِ جَعْفَرٍ فَلْتَبْكِ الْبَواکِی

 

“แด่บุคคลเช่นญะอ์ฟัรนี้ ที่ผู้ร้องไห้ควรร้องไห้ให้กับเขา”(11)

 

 เกี่ยวกับกลุ่มชนของฟิรเอาน์ (ฟาโรห์) ที่ได้ก่อความชั่วร้ายและสร้างความเสียหายในแผ่นดิน และด้วยผลของการสาปแช่งของท่านศาสดา

มูซา (อ.) ทำให้พวกเขาถูกลงโทษทำลายล้าง ซึ่งพวกเขาไม่คู่ควรต่อการได้รับเกียรติและการร่ำไห้ใดๆ จากผู้อื่น คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า

 

فَمَا بَکَتْ عَلَیْهِمُ السَّمَاءُ وَالْأَرْضُ وَمَا کَانُوا مُنظَرِینَ

 

“ดังนั้นชั้นฟ้าและแผ่นดินมิได้ร่ำไห้แก่พวกเขา และพวกเขาจะไม่ถูกประวิงเวลา” (12)

 

จากสำนวนดังกล่าวนี้สามารถรับรู้ได้เป็นอย่างดีว่า การที่มนุษย์ไม่ได้รับการให้เกียรติและการร่ำไห้จากผู้อื่นนั้น เป็นลักษณะหนึ่งของความต่ำต้อยและความไร้เกียรติของพวกเขา ด้วยเหตุนี้เราจะเห็นได้ว่า ในคำสั่งเสียต่างๆ ของบรรดาอิมาม (อ.) พวกท่านจะกล่าวว่า “พวกท่านจงใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางประชาชนในลักษณะที่จะเป็นบ่อเกิดแห่งความดีงามและความจำเริญสำหรับพวกเขา โดยที่เมื่อพวกท่านตายลง พวกเขาจะร้องไห้ให้กับพวกท่านและยกย่องเชิดชูท่าน!”

 

 ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีนอลี อิบนิอบีฏอลิบ (อ.) ได้กล่าวว่า

 

خالِطُوا النَّاسَ مُخالَطَةً إِن مِتُّمْ مَعَها بَکَوْا عَلَیْکُمْ وَ إِنْ عِشْتُمْ حَنُّوا إِلَیْکُم

 

“ท่านทั้งหลายจงใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับประชาชนในลักษณะที่ว่า หากพวกท่านตายลงพวกเขาจะร่ำไห้ให้แก่พวกท่าน และหากพวกท่านมีชีวิตอยู่พวกเขาจะมีความรักความหลงใหลต่อพวกท่าน” (13)

 

 ดังนั้นการจัดพิธีกรรมไว้อาลัยให้กับท่านอิมามฮุเซน (อ.) ผู้ซึ่งมีสถานภาพที่โดดเด่นและไม่มีใครเหมือน ผู้ซึ่งตัวท่านเองเป็นผู้ที่อยู่ในครอบครัวอันบริสุทธิ์ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และเป็นเอาลิยาอุ้ลลอฮ์ (ผู้ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า) และเป็นอิมามมะอ์ซูม (อ.) นั้น นอกเหนือจากเป็นการเชิดชูเกียรติคุณอันสูงส่งของท่านอิมาม (อ.) แล้ว ยังเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการให้ความสำคัญต่อสัญลักษณ์แห่งพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ทรงตรัสว่า

 

وَ مَنْ یُعَظِّمْ شَعائِرَ اللَّهِ فَإِنَّها مِنْ تَقْوَى الْقُلُوبِ

 

“และผู้ใดที่ให้ความสำคัญต่อบรรดาสัญลักษณ์ของอัลลอฮ์ ดังนั้นแท้จริงแล้วมันคือส่วนหนึ่งของ (เครื่องบ่งบอกถึง) ความยำเกรงของหัวใจ” (14)

 

 มันจะไม่เป็นเช่นนี้ได้อย่างไร ก็ในขณะที่ “ซอฟา” และ “มัรวะฮ์” นั้นไม่ได้เป็นอะไรอื่นมากไปกว่าการเป็นสถานที่ แต่เนื่องจากการรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าจะถูกทำให้มีชีวิตขึ้นมาในสถานที่ดังกล่าวจึงถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งจากสัญลักษณ์แห่งพระผู้เป็นเจ้า

 

إِنَّ الصَّفا وَ الْمَرْوَةَ مِنْ شَعائِرِ اللَّهِ

 

“แท้จริงซอฟาและมัรวะฮ์นั้น เป็นส่วนหนึ่งจากสัญลักษณ์ของอัลลอฮ์” (15)

 

แน่นอนยิ่ง ท่านอิมามฮุเซน (อ.) คือผู้ซึ่งขายชีวิตทั้งหมดของท่านให้กับพระผู้เป็นเจ้า ท่านได้พลีทุกสิ่งทุกอย่างในหนทางของพระองค์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ท่านคือหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระผู้เป็นเจ้า การจัดพิธีกรรมไว้อาลัยให้กับท่านจึงนับได้ว่าเป็นการให้เกียรติและให้ความสำคัญต่อสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระองค์ ซึ่งจะมีผลในเชิงบวกมากมายในมิติต่างๆ สำหรับปัจเจกบุคคลและสังคม

 

แหล่งอ้างอิง :

(1) บิฮารุ้ล อันวาร, เล่มที่ 44, หน้าที่ 288

(2) บิฮารุ้ล อันวาร, เล่มที่ 44, หน้าที่ 288

(3) วะซาอิลุช ชีอะฮ์, เล่มที่ 10, หน้าที่ 391 – 392

(4) พินัยกรรมของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) เล่มที่ 21, หน้าที่ 173

(5) อัลลามะฮ์ซัยยิดอับดุลฮุเซน ชัรฟุดดีน, แปลเป็นภาษาเปอร์เซียโดย อะลี เซี๊ยะห์ฮัต, หน้าที่ 92

(6) ปรัชญาการเป็นชะฮีดและการจัดพิธีไว้อาลัยแด่ท่านฮุเซน บินอะลี (อ.) อัลลามะฮ์ซัยยิดอับดุลฮุเซน ชัรฟุดดีน, หน้าที่ 109

(7) ปรัชญาการเป็นชะฮีดและการจัดพิธีไว้อาลัยแด่ท่านฮุเซน บินอะลี (อ.) อัลลามะฮ์ซัยยิดอับดุลฮุเซน ชัรฟุดดีน, หน้าที่ 109

(8) ซะฟีนะตุ้ล บิฮาร, เล่มที่ 1, หน้าที่ 448

(9) มะอ์ซาตุ้ล ฮุซัยน์ (อ.) หน้าที่ 118

(10) ตารีคอัฏฏ็อบรี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 210; ซีเราะฮ์ อิบนิฮิชาม, เล่มที่ 3, หน้าที่ 613; อัลบิดายะฮ์ วันนีฮายะฮ์, เล่มที่ 4, หน้าที่ 54 และ 55

(11) อัซซ่อเฮี๊ยะห์ ฟี ซีร่อตินนะบี, เล่มที่ 4, หน้าที่ 307

(12) ซูเราะฮ์อัดดุคอน/อายะฮ์ที่ 29

(13) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ฮิกมะฮ์ที่ 10

(14) ซูเราะฮ์อัลฮัจญ์/อายะฮ์ที่ 32

(15) ซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์/อายะฮ์ที่ 158

บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ขอขอบคุณเว็บไซต์มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาอิสลามและการพัฒนา

 

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม