ชีวประวัติอิมามฮะซัน อัลมุจญ์ตะบาอ์ (อ.) ตอนที่ห้า
ชีวประวัติอิมามฮะซัน อัลมุจญ์ตะบาอ์ (อ.) ตอนที่ห้า
ยุคสมัยการเป็นเคาะลีฟะฮ์ระยะสั้นของอิมามฮะซัน อัลมุจญ์ตะบาอ์
อิมามมุจญ์ตะบาอ์ (อ.) ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ของชาวมุสลิม ตั้งแต่วันที่ ๒๑ เดือนเราะมะฎอน ปี ๔๐ ฮ.ศ. เป็นเวลา ๖ ถึง ๘ เดือน [๘๖] ชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ถือว่า เขาเป็นเคาะลีฟะฮ์คนสุดท้ายของเคาะลีฟะฮ์ผู้ทรงธรรม (คุลาฟาอ์ อัรรอชิดีน) ตามฮะดีษที่รายงานจากศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ.) [๘๗] การเป็นเคาะลีฟะฮ์ของเขา เริ่มต้นด้วยการให้สัตยาบันจากชาวอิรักและการสนับสนุนจากภูมิภาคอื่น ๆ รอบข้าง [๘๘] ขณะที่ ชาวเมืองชามภายใต้การนำของมุอาวียะฮ์ได้คัดค้านการเป็นเคาะลีฟะฮ์ของเขา [๘๙] มุอาวียะฮ์พร้อมกับกองทัพจากชามได้เคลื่อนพลเพื่อทำสงครามกับชาวอิรัก [๙๐] ในที่สุด สงครามนี้จบลงด้วยการทำสนธิสัญญาสันติภาพและการมอบตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ให้แก่มุอาวียะฮ์ ซึ่งเป็นเคาะลีฟะฮ์คนแรกของราชวงศ์บะนีอุมัยยะฮ์ [๙๑]
การให้สัตยาบันของบรรดามุสลิมและการต่อต้านของชาวซีเรีย
ตามแหล่งข้อมูลของชีอะฮ์และอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ รายงานว่า หลังจากการเป็นชะฮีดของอิมามอะลีในปี ฮ.ศ. ที่ ๔๐ ประชาชนได้ให้คำสัตยาบันกับฮะซัน บิน อะลี (อ.) ในการขึ้นดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ [๙๒] ตามคำกล่าวของบะลาซุรี (เสียชีวิต ในปี ๒๗๙ ฮ.ศ.) อุบัยดิลลาฮ์ บิน อับบาส ได้มาหาประชาชน หลังจากที่มีการฝังศพของอิมามอะลี (อ.) และแจ้งให้พวกเขาทราบถึงการเป็นชะฮีดของอิมาม พร้อมทั้งกล่าวว่า อิมามอะลี (อ.) ได้กำหนดผู้สืบทอดที่คู่ควรและมีอดทน หากพวกท่านประสงค์ก็จงให้คำสัตยาบันกับเขา [๙๓] มีระบุไว้ในหนังสือของอัล-อิรชาดว่า ในช่วงเช้าวันศุกร์ที่ ๒๑ ของเดือนรอมฎอน ฮะซัน บิน อะลีได้เทศนาธรรมในมัสยิดและกล่าวถึงคุณงามความดีและความประเสริฐของบิดาของเขา และเน้นย้ำถึงความผูกพันของเขากับศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) และชี้ให้เห็นถึงโองการจากอัลกุรอานที่เกี่ยวกับสถานภาพอันพิเศษของบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) สำหรับสิทธิพิเศษของเขา (๙๔) หลังจากคำพูดของเขา อับดุลลอฮ์ บิน อับบาส ก็ได้ลุกขึ้นและบอกกับประชาชนว่า พวกท่านทั้งหลายจงให้สัตยาบันกับบุตรชายของศาสดาของพวกท่านและผู้เป็นตัวแทนของอิมามของพวกท่าน ประชาชนก็ได้ให้สัตยาบันกับเขา [๙๕] แหล่งข้อมูล ยังรายงานอีกว่า จำนวนของผู้ที่ให้คำสัตยายบันมีมากกว่าสี่หมื่นคน [๙๖] ตามรายงานของเฏาะบะรี กล่าวว่า ก็อยส์ บิน ซะอัด บิน อะบาดะฮ์ ผู้บัญชาการกองทัพของอิมามอะลีเป็น คนแรกที่ให้คำสัตยาบัน [๙๗]
ตามคำกล่าวของฮุเซน มุฮัมมัด ญะอ์ฟะรี ในหนังสือ ชีอะฮ์ในวิถีทางประวัติศาสตร์ เขียนว่า บรรดาอัศฮาบของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) หลายคนที่ตั้งถิ่นฐานในเมืองนี้ หลังจากการก่อสร้างเมืองกูฟะฮ์ หรือเดินทางมายังเมืองกูฟะฮ์ ร่วมกับอิมามฮะซัน ในยุคสมัยการปกครองของอิมามอะลี (อ.)พวกเขาได้ให้สัตยาบันกับอิมามฮะซัน หรือยอมรับการเป็นเคาะลีฟะฮ์ของเขา [๙๘] ญะอ์ฟะรี ได้อาศัยหลักฐานเชื่อว่า ชาวเมืองมักกะฮ์และมะดีนะฮ์ ก็เห็นด้วยกับการเป็นเคาะลีฟะฮ์ของฮะซัน บิน อะลี และชาวเมืองอิรักก็ถือว่าเขานั้นเป็นทางเลือกเดียวสำหรับตำแหน่งนี้ [๙๙] ญะอ์ฟะรี กล่าวว่า ชาวเมืองเยเมนและชาวเปอร์เซียได้อนุมัติคำสัตยาบันนี้ไปโดยปริยาย หรืออย่างน้อยที่สุด พวกเขาก็ไม่ได้ประท้วงหรือต่อต้านสัตยาบันนี้แต่อย่างใด [๑๐๐] ในบางแหล่งข้อมูลระบุว่า มีเงื่อนไขต่างๆถูกยกขึ้นในระหว่างการให้สัตยาบัน เช่นในหนังสือ อัลอิมามัต วัซซิยาซะฮ์ ระบุว่า ฮะซัน บิน อะลี ได้กล่าวกับประชาชนว่า พวกท่านจะให้คำสัตยาบันได้หรือไม่ว่าจะเชื่อฟังคำสั่งของฉัน และผู้ใดที่ฉันต่อสู้ พวกท่านก็จงต่อสู้ และผู้ใดที่ฉันทำสนธิสัญญาสันติภาพ พวกท่านก็จงทำสนธิสัญญาสันติภาพ? เมื่อพวกเขาได้ยินสิ่งนี้ พวกเขาก็เกิดความลังเลใจและไปหายังฮุเซน บิน อะลี (อ.) เพื่อให้สัตยาบันกับเขา แต่ฮุเซน (อ.)กล่าวว่า: ฉันขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮ์ และฉันขอปฏิญาณว่า ตราบใดเท่าที่ฮะซันยังมีชีวิตอยู่ ฉันจะไม่ยอมรับคำสัตยาบันจากพวกท่าน พวกเขาจึงเดินทางกลับและให้สัตยาบันกับฮะซัน บิน อะลี (อ.) [๑๐๑] เฏาะบะรี (มรณะกรรม ๓๑๐ ฮ.ศ.) กล่าวว่า ก็อยซ์ บิน ซะอัด ได้ตั้งเงื่อนไขกับเขาในระหว่างการให้คำสัตยาบันว่า เขาจะต้องปฏิบัติตามพระมหาคัมภีร์ของพระเจ้าและซุนนะฮ์ของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) และต่อสู้กับผู้ที่ถือว่าเลือดของชาวมุสลิมนั้นถูกต้องตามกฎหมาย แต่อิมามฮะซัน (อ.) ยอมรับเฉพาะหนังสือกรณีพระมหาคัมภีร์ของพระเจ้าและซุนนะฮ์ของศาสดามุฮัมมัด เพียงเท่านั้น และถือว่าเงื่อนไขอื่นใดที่ได้รับมาจากเงื่อนไขทั้งสองนี้ (๑๐๒) บางคนจำนวนหนึ่งถือว่า รายงานนี้แสดงให้เห็นว่า อิมามฮะซัน เป็นบุคคลที่แสวงหาสันติภาพและต่อต้านสงคราม ขณะที่วิถีชีวิตและอุปนิสัยของเขานั้นมีความแตกต่างจากบิดาและน้องชายของเขา (๑๐๓) เราะซูล ญะอ์ฟารียอน เชื่อว่า ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่า ฮะซัน บิน อะลี (อ.) ไม่ได้ตั้งใจที่จะต่อสู้ตั้งแต่แรก แต่เป้าหมายหลักของเขา คือ การรักษาขอบเขตอำนาจของเขาในฐานะที่เป็นผู้นำของสังคม เขาจึงมีอิสระในการตัดสินใจ และแม้แต่การกระทำที่ตามมาของเขาก็ยังแสดงให้เห็นว่า เขายืนกรานในการทำสงคราม [๑๐๔] ตามคำกล่าวของอะบุลฟะร็อจญ์ อิสฟาฮานี ระบุว่า การดำเนินการประการแรกๆ ของฮะซัน บิน อะลี (อ.) หลังจากดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ คือ การเพิ่มเงินเดือนของทหาร ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ (๑๐๕)