ศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 2
ศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด
จากเนื้อหาที่ผ่านมาข้างต้นสามมารถสรุปได้ว่าในท่ามกลางศาสดาจำนวนทั้งสิ้น 124,000 ท่านนั้น มีเพียงห้าท่านเท่านั้นที่เป็นศาสดาอุลุลอัซม์ (ผู้มีจิตใจมั่นคงแน่วแน่)และเป็นศาสนทูตผู้ยิ่งใหญ่ และในจำนวนศาสดาทั้งห้าท่านนี้เมื่อพิจารณาในด้านสถานะและความสูงส่งแล้ว ก็ยังมีระดับที่แตกต่างกัน และบนพื้นฐานของบรรดาโองการอัลกุรอานและริวายะฮ์ (คำรายงาน) นั้นท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) คือศาสดาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและมีความสูงส่งที่สุด ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง เราจะเห็นได้ว่าในบทซิยาเราะฮ์ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เราจะกล่าวถึงท่านว่า :
اَشْهَدُ اَنْ لا اِلـهَ اِلاَّ اللهُ وَحْدَهُ لا شَريكَ لَهُ، وَاَشْهَدُ اَنَّ مُحَمَّداً عَبْدُهُ وَرَسُولُهُ، وَاَشْهَدُ اَنَّهُ سَيِّدُ الاَوَّلينَ وَالاْخِرينَ، وَاَنَّهُ سَيِّدُ الاَنْبِياءِ وَالْمُرْسَلينَ،…. اَلسَّلامُ عَلَيْكَيا سَيِّدَ الْمُرْسَلينَ
“ข้าฯขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์เพียงองค์เดียวเท่านั้นโดยไม่มีภาคีใดสำหรับพระองค์ และข้าฯขอปฏิญาณว่ามุฮัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์ และข้าฯขอปฏิญาณว่าท่าน(มุฮัมมัด)เป็นนายของมนุษย์คนแรกและคนสุดท้าย และเป็นนายของปวงศาสดาและศาสนทูต…..ขอความสันติพึงมีแด่ท่าน โอ้นายของปวงศาสทูต…”(17)
ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวถึงตัวท่านเองไว้เช่นนี้ว่า :
انا افضل النبيين قدرًا و اعمهم خطرًا و اوضحهم خبراً و اعلمهم مستقراً و اكرمهم امة و اجزلهم رحمة واحفظهم ذمة و ازكاهم ملة
“ฉันเป็นผู้มีความประเสริฐสูงสุดในมวลศาสดา มีตำแหน่งครอบคลุมเหนือพวกเขา เป็นผู้ที่นำข่าว (สาส์น) ที่ชัดเจนที่สุดกว่าพวกเขามา (ยังมนุษยชาติ) มีประชาชาติที่มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเขา มีความเมตตามากที่สุดในหมู่พวกเขา รักษาหน้าที่รับผิดชอบมากที่สุดในหมู่พวกเขาและมีแนวทางที่สะอาดบริสุทธิ์ยิ่งในหมู่พวกเขา” (18)
ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.)ได้กล่าวไว้เช่นเดียวกันว่า :
حتي لا يساوي في منزله و لا يكافا في مرتبته و لا يوازيه لديك ملك مقرب و لا نبي مرسل
“…กระทั่งว่าไม่มีมะลาอิกะฮ์ผู้ใกล้ชิดและศาสดาผู้ถูกส่งมาคนใดที่จะทัดเทียมในตำแหน่งของท่าน (ศาสดามุฮัมมัด) และจะเสมอเหมือนในระดับขั้นของท่านได้ ณ พระองค์” (19)
ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ) ความเมตตาสำหรับสากลจักรวาล
ในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงท่านศาสดาในฐานะความเมตตา (เราะห์มัต) หนึ่ง ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานลงมาสำหรับชาวโลกทั้งหลาย โดยพระองค์ได้ทรงตรัสว่า :
وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلَّا رَحْمَةً لِلْعَالَمِينَ
“และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด เว้นแต่เป็นความเมตตาแก่สากลโลก” (20)
ก่อนที่เราจะเขาไปพิจารณาถึงคุณลักษณะดังกล่าวของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) จะขออธิบายความหมายของคำว่า “เราะฮ์มะฮ์” (ความเมตตา) นี้เสียก่อน
ความหมายของคำว่า “เราะฮ์มะฮ์”(ความเมตตา)
เป็นที่ยอมรับกันในหมู่มุฟัซซิรีน (นักอรรถาธิบาย) คัมภีร์อัลกุรอานกลุ่มหนึ่งนั้น คำว่า “อัรเราะห์มาน” (ผู้ทรงเมตตา) คือคุณลักษณะ (ซิฟัต) ของพระผู้เป็นเจ้าที่บ่งชี้ถึงความเมตตาโดยรวมที่ครอบคลุมของพระองค์ กล่าวคือเป็นความเมตตาที่ครอบคลุมทั้งมิตรและศัตรู ผู้ศรัทธาและผู้ปฏิเสธ และผู้ประพฤติดีและผู้ประพฤติชั่ว ความเมตตาอันไพศาลของพระองค์นั้นแผ่ปกคลุมถึงมนุษย์ทุกคน บ่าวทุกคนสามารถที่จะได้รับประโยชน์และโชคผลต่าง ๆ ของการดำเนินชีวิต แต่คำว่า “อัรร่อฮีม” (ผู้ทรงปราณี) นั้นเป็นคุณลักษณะที่บ่งชี้ถึงความเมตตาอันเป็นเฉพาะของพระองค์ซึ่งทรงประทานให้เป็นพิเศษสำหรับปวงบ่าวผู้มีคุณธรรม (ซอและห์) และเป็นผู้ศรัทธามั่น (มุอ์มิน) ด้วยเหตุนี้ จะเห็นได้ว่า คำว่า“อัรเราะห์มาน” (ผู้ทรงเมตตา) นั้นจะถูกกล่าวถึงในลักษณะครอบคลุมโดยไม่มีเงื่อนไข แต่คำว่า “อัรร่อฮีม” จะถูกนำมาใช้โดยมีเงื่อนไขเป็นเครื่องจำกัด ตัวอย่างเช่น
ในคัมภีร์อัลกุอานได้กล่าวว่า :
وَ كانَ بِالْمُؤْمِنينَ رَحيماً
“และพระองค์เป็นผู้ทรงปราณียิ่งต่อบรรดาผู้ศรัทธา” (21)
ท่านอิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก (อ.) ได้กล่าวไว้เช่นกันว่า :
وَ اللّهُ إِلَهُ كُلِّ شَيْء، الرَّحْمنُ بِجَمِيعِ خَلْقِهِ، وَ الرَّحِيمُ بِالْمُؤْمِنِينَ خاصَّةً
“และอัลลอฮ์นั้นทรงเป็นพระเจ้าของทุกสรรพสิ่ง ผู้ทรงเมตตา (อัรเราะห์มาน) ต่อสิ่งถูกสร้างทั้งมวลของพระองค์ และทรงปราณี (อัรร่อฮีม) ต่อบรรดาผู้ศรัทธาเป็นการเฉพาะ” (22)
ความเมตตา (เราะห์มัต) ของพระผู้เป็นเจ้านั้นมีความครอบคลุมที่กว้างขวาง ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า :
وَ رَحْمَتي وَسِعَتْ كُلَّ شَيْءٍ
“และความเมตตาของข้านั้น แผ่ปกคลุมทุกสรรพสิ่ง” (23)
ยิ่งไปกว่านั้น พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงนับว่าความเมตตานั้นเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นสำหรับพระองค์และทรงกำหนดมันไว้เหนือตัวพระองค์เอง โดยตรัสว่า :
كَتَبَ رَبُّكُمْ عَلَى نَفْسِهِ الرَّحْمَةَ
“องค์พระผู้อภิบาลของพวกท่านได้ทรงกำหนดความเมตตาไว้เหนือตัวพระองค์เอง” (24)
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ศาสดาแห่งความเมตตา
พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงแต่งตั้งศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) มาในฐานะความเมตตาหนึ่งสำหรับสากลจักรวาล ดังที่พระองค์ได้ทรงตรัสว่า :
وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلَّا رَحْمَةً لِلْعَالَمِينَ
“และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด เว้นแต่เป็นความเมตตาหนึ่งสำหรับสากลโลก” (25)
ดังที่เราได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าความเมตตา (เราะห์มานียะฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้านั้นคือ คุณลักษณะ (ซิฟัต) ที่แผ่ปกคลุมของพระองค์ โดยที่จะครอบคลุมเหนือมนุษย์ทั้งมวลทั้งที่เป็นผู้ศรัทธาและผู้ปฏิเสธ ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ก็เช่นเดียวกัน ถือเป็นความเมตตาหนึ่งจากพระองค์ที่มียังมนุษยชาติทั้งมวลในทุกยุคสมัยและในทุกสถานที่จวบจนถึงกาลอวสานของโลก ไม่เพียงแต่ผู้ศรัทธาและปฏิบัติตามท่านเท่านั้น แต่ทว่าชาวโลกทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือคนเลว และไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรูย่อมจะได้รับประโยชน์และสัมผัสความเมตตานี้ได้จากท่านศาสดา (ซ็อลฯ)
ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ซ็ฮลฯ)เองได่กล่าวว่า :
إِنَّمَا بُعِثْتُ رَحْمَةً
“อันที่จริงฉันถูกแต่งตั้งมาเพื่อความเมตตา” (26)
มนุษยชาติทั้งมวลไม่ว่าจะเป็นผู้ศรัทธาหรือว่าเป็นผู้ปฏิเสธก็ตาม ล้วนเป็นหนี้บุญคุณต่อความเมตตานี้ทั้งสิ้น ทั้งนี้เนื่องจากว่าการที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้มาประกาศและเผยแผ่คำสอนของศาสนาอิสลามนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งความรอดพ้นของมนุษย์ทั้งมวล เพียงแต่ว่ามนุษย์บางส่วนอาจจะได้รับคุณประโยชน์จากสิ่งดังกล่าว แต่มนุษย์บางส่วนไม่ได้รับคุณประโยชน์ใด ๆ นั่นขึ้นอยู่ที่ตัวของบุคคลเหล่านั้นเอง และมิได้มีผลกระทบในเชิงลบใด ๆ ต่อความเมตตาที่ครอบคลุมของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) สิ่งนี้เราอาจเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนได้ก็คือ เหมือนกับการที่ชุมชนหนึ่งได้สร้างโรงพยาบาลแห่งหนึ่งขึ้นมา เพื่อให้บริการในการรักษาโรคและความป่วยไข้อย่างครบวงจร มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีเครื่องมือต่าง ๆ ที่ทันสมัย และเปิดให้บริการสาธารณะแก่คนในสังคมทุกคนอย่างถ้วนหน้าโดยไม่แบ่งแยกและไม่มีความแตกต่างกัน แต่ทว่าคนส่วนหนึ่งไปใช้บริการในโรงพยาบาลแห่งนี้ แต่คนอีกบางส่วนไม่ไปใช้บริการ แน่นอนยิ่งว่าการที่คนส่วนหนึ่งไม่ไปใช้บริการจากโรงบาลนั้นย่อมไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อความเป็นสาธารณะประโยชน์ของโรงพยาบาลดังกล่าว ความเป็นสาธารณะและความครอบคลุมของความเมตตาของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ก็เปรียบได้เช่นนี้
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ภาพปรากฏของความเมตตาแห่งพระผู้เป็นเจ้า
ความเมตตาและความกรุณาของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) นั้น คือภาพปรากฏของความเมตตาและความกรุณาอันไม่มีที่สิ้นสุดของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าความเมตตาและความกรุณาของท่านศาสดาจะปรากฏเป็นโชคผลแก่มนุษยชาติทั้งในโลกนี้(ดุนยา)และในปรโลก (อาคิเราะฮ์) มากเท่าใดก็ตาม ล้วนเป็นมาจากร่มเงาแห่งความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าทั้งสิ้น บทบัญญัติ(อะห์กาม)ทางศาสนาทั้งมวล แม้แต่เรื่องญิฮาด (การต่อสู้) บทลงโทษ (ฮุดูด) ต่าง ๆ การกิซ๊อซ (การฆ่าให้ตายติดตามกันไป) และการลงโทษอื่น ๆ รวมทั้งกฎเกณฑ์ของการตอบแทนรางวัลทั้งหลายของอิสลามนั้นล้วนเป็นความเมตตาสำหรับสังคมมนุษย์เช่นเดียวกันทั้งสิ้น และถ้าหากคุณลักษณะแห่งความเมตตา (เราะห์มานียะฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้านั้นจะบ่งชี้ถึงความกรุณาโดยรวมของพระผู้เป็นเจ้าที่ครอบคลุมถึงทั้งมิตรและศัตรู ทั้งผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) และผู้ปฏิเสธ (กาฟิร) ท่านศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ (ซ็อลฯ) ผู้ซึ่งในคัมภีร์อัลกุรอานได้ถูกแนะนำในฐานะ“ความเมตตาแห่งสากลโลก”นั้นก็คือความเมตตาทั้งสำหรับผู้ศรัทธาและผู้ไม่ศรัทธาเช่นเดียวกัน จากบรรดาโองการต่าง ๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานนั้นสามารถสรุปได้เป็นอย่างดีว่า นุบูวะฮ์ (ความเป็นศาสดา) นั้นคือความเมตตาและความกรุณาของพระผู้เป็นเจ้าที่มีเหนือโลกมนุษย์และมันเป็นเช่นนี้โดยแท้จริง ถ้าหากไม่มีปวงศาสดามวลมนุษย์จะต้องผลัดหลงออกจากเส้นทางแห่งปรโลก (อาคิเราะฮ์) และโลกนี้(ดุนยา) ดังนั้นท่านศาดาผู้ยิ่งใหญ่ก็คือบ่อเกิดแห่งความเมตตาสำหรับมวลมนุษย์เช่นเดียวกัน :
وَ ما ارسلناك الا رحمة للعالمين
“และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด เว้นแต่เป็นความเมตตาสำหรับสากลโลก”
และเป็นบ่อเกิดของความกรุณาด้วยเช่นกัน :
و بالمؤمنين رئوف رحيم
“และ(มุฮัมมัด)เป็นผู้มีความกรุณาและเป็นผู้มีความปราณีต่อมวลผู้ศรัทธา” (27)
สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่าในคัมภีร์อัลกุรอานนั้นได้มีการกล่าวถึงคุณลักษณะของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ทั้งคำว่า “เราะฮ์มะฮ์” (ความเมตตา) และคำว่า “ร่อฮีม” (ผู้ปราณี) กล่าวคือ ท่านศาสนทูตผู้ทรงเกียรติคือผู้มีความเมตตาโดยรวมต่อประชาชนทั้งมวลครอบคลุมทั้งบรรดาผู้ปฏิเสธ (กาฟิร) และผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) อีกทั้งเป็นผู้มีความปราณีอันเป็นเฉพาะต่อปวงผู้ศรัทธา (มุอ์มินีน) และถ้าหากว่าคุณลักษณะแห่งความเมตตา (เราะห์มานียะฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้านั้นบ่งชี้ถึงความกรุณาโดยรวมของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งครอบคลุมถึงแม้แต่ผู้ปฏิเสธและบรรดาศัตรูของศาสนา นั้นย่อมต้องการที่จะสื่อถึงความหมายที่ว่า ไฉนพวกท่านจึงไม่ศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ซึ่งได้แผ่ปกคลุมความเมตตาและความกรุณาของพระองค์แก่มนุษยชาติทั้งมวลแม้กระทั่งแก่บรรดาศัตรูและบรรดาผู้ปฏิเสธ? นั่นคือจุดสูงสุดแห่งความโง่เขลาของพวกท่าน ท่านศาสนทูตผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้รับการแนะนำว่าเป็นความเมตตาโดยรวม (อัรเราะห์มะตุลอามมะฮ์) สำหรับสากลโลกนั้น ความหมายของมันก็คือว่าไฉนเล่าท่านทั้งหลายจึงไม่ศรัทธาต่อศาสนทูตผู้ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความเมตตาสำหรับชาวโลกทั้งมวลแม้กระทั่งสำหรับบรรดาศัตรูและบรรดาผู้ปฏิเสธ นี่คือสุดยอดแห่งความไร้สติปัญญาของพวกท่าน
ในชีวประวัติของท่านศาสดาแห่งความเมตตา (ซ็อลฯ) นี้ได้มีการรายงานไว้ว่าตราบเท่าที่เป็นไปได้ท่านศาสดาจะไม่ปฏิเสธการขอของผู้ที่ขอความช่วยเหลือจากท่าน แม้กระทั่งว่า วันหนึ่งสตรีผู้หนึ่งได้ส่งลูกชายของตนมายังท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และนางได้กล่าวกับลูกชายของตนว่าจงกล่าวกับท่านศาสดาว่า ได้โปรดกรุณามอบเสื้อของท่านแก่พวกเราด้วยเถิด ลูกชายของเขาได้มาถึงท่านศาสดาและได้วอนขอเสื้อจากท่านศาสดา ท่านศาสดาแห่งความเมตตาจึงได้มอบเสื้อของท่านแก่เขา โองการอัลกุรอานจึงได้ถูกประทานลงมาว่า
:
ولا تبسطها کل البسط
“และเจ้าจงอย่าแบมือ (ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นและในทางของอัลลอฮ์) จนหมดสิ้น” (28)
ท่านศาสดาได้กำชับสั่งเสียเกี่ยวกับสิทธิของเชลยศึกและบรรดาทาสเป็นพิเศษ กระทั่งว่าได้กระทำการสมรสกับสตรีผู้เป็นเชลย ทันทีที่ท่านได้ยินว่า พวกเขาได้จับตัวสตรีผู้หนึ่งในสนามรบมาเป็นเชลย และภายหลังจากการเป็นเชลย พวกเขาได้พานางเดินทางผ่านมาทางศพของสามีของนางเพื่อทำให้หัวใจของนางเกิดความทุกข์ระทมและความเจ็บปวดอย่างรุนแรง ท่านศาสนทูตได้ตำหนิการกระทำเช่นนี้อย่างรุนแรง ในยามที่ท่านขี่พาหนะท่านจะไม่อนุญาตให้ผู้ใดร่วมทางไปกับท่านโดยการเดินเท้า แต่ทว่าท่านจะให้เขาผู้นั้นขึ้นขี่พาหนะไปพร้อมกับท่าน ท่านจะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน ด้วยเหตุนี้ท่านจะไปร่วมพิธีส่งศพ (ตัชเยี๊ยะอ์ ญะนาซะฮ์) ของพวกเขา และท่านจะไปเยี่ยมผู้ป่วยแม้จะอยู่ในจุดที่ห่างไกลที่สุดของเมืองมะดีนะฮ์ :
يشيع الجنائز و يعود المرضي في اقصي المدينة
“ท่านจะไปส่งศพและจะไปเยี่ยมผู้ป่วยในสถานที่ที่ห่างไกลที่สุดของมะดีนะฮ์”(29)
ท่านอะมีรุลมุอ์มินีน(อะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ได้กล่าวว่า : คราใดที่ท่านไม่เห็นหน้าพี่น้องร่วมศาสนาของท่านเป็นระยะเวลาถึงสามวัน ท่านจะถามหาเขา และถ้าหากบุคคลผู้นั้นอยู่ในการเดินทางท่านจะวิงวอนขอพร (ดุอาอ์) ให้แก่เขา และถ้าหากเขาป่วยไข้ท่านก็จะไปเยี่ยมเขา (30)
ท่านมักจะกล่าวอยู่เสมอว่า :
من لا يرحم وَلا يرحَم
“ผู้ใดก็ตามที่ไม่เมตตา(ผู้อื่น)เขาก็จะไม่ได้รับความเมตตา(จากผู้อื่น)ด้วยเช่นกัน” (31)
ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) บุตรีของท่านศาสนทูตผู้เป็นความเมตตาสำหรับสากลโลกก็เช่นเดียวกัน ในขณะที่จะละศิลอดนั้นท่านหญิงได้มอบอาหารนั้นแก่ผู้ยากไร้และผู้ขัดสนทั้งที่ตัวเองก็มีความจำเป็นต่ออาหารนั้น คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :
وَ يطعمون الطعام علي حبه مسکينا و يتيماً و اسيرا
“และพวกเขาได้ให้อาหารแก่ผู้ยากไร้ แก่เชลยศืกและแก่เด็กกำพร้าบนความรักที่มีต่อพระองค์” (32)
ท่านอิมามอะลี (อ.) ก็เช่นเดียวกัน ภายหลังจากการถูกฟันศีรษะและขณะที่ใกล้จะเป็นชะฮีด (เสียชีวิต) นั้น ท่านได้สั่งเสียท่านอิมามฮะซัน อัลมุจญ์ตะบา (อ.) ผู้เป็นบุตรชายของท่านเกี่ยวกับผู้ที่ทำการสังหารท่านเช่นนี้ว่า :
اطعموه و اسقوه و احسنوا اسارته
“พวกเจ้าจงให้อาหารแก่เขา จงให้น้ำดื่มแก่เขาและจงปฏิบัติด้วยความดีงามต่อการเป็นเชลยของเขา” (33)
ท่านศาสดาแห่งความเมตตา สื่อยับยั้งจากการลงโทษของพระผู้เป็นเจ้า
พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสว่า :
وَما کان الله ليعذبهُم وَ أَنتَ فيهم و ما كان الله معذبهم و هم یستغفرون
“และอัลลอฮ์จะไม่ทรงลงโทษพวกเขาอย่างแน่นอน ตราบที่เจ้ายังอยู่ในหมู่พวกเขา และอัลลอฮ์จะไม่เป็นผู้ลงโทษพวกเขา ตราบที่พวกเขายังขออภัยโทษ” (34)
การดำรงอยู่ที่เปี่ยมไปด้วยความจำเริญ (บะรอกัต) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) คือสื่อยับยั้งการลงโทษ (อะซาบ) ของพระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อบรรดาผู้ประพฤติชั่วและต่อบรรดาผู้ปฏิเสธ (กุฟฟาร) ในหนังสืออ้างอิงต่าง ๆ ทั้งของชีอะฮ์และของอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ มีรายงาน (ริวายะฮ์) จากท่านอมีรุลมุอ์มินีนอะลี อิบนิอบีฏอลิบ (อ.) ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ว่า :
کان في الارض امانان من عذاب اهله وَ قَد رَفَعَ اَحَدهما فَدونکم الا خره فتمسکوا به وَ قرأ هذه الاية
“ในหน้าแผ่นดินนี้มีหลักประกันความปลอดภัยสองประการจากการถูกลงโทษของชาวโลก และหนึ่งจากทั้งสองนั้น(คือการดำรงอยู่ที่เปี่ยมไปด้วยความจำเริญของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านได้ถูกยกไปจากพวกท่านแล้ว (เนื่องจากการวะฟาต (เสียชีวิต) ของท่าน) แต่ยังคงเหลือยู่อีกประการหนึ่งในหมู่พวกท่าน ดังนั้นพวกท่านจงยึดมั่นต่อสิ่งนี้ให้ดี” พร้อมกันนั้นท่านได้อ่านโองการนี้ (35)
وَما کان الله ليعذبهُم وَ أَنتَ فيهم
“และอัลลอฮ์จะไม่ทรงลงโทษพวกเขาอย่างแน่นอน ตราบที่เจ้ายังอยู่ในหมู่พวกเขา….”
จากประเด็นที่ว่าการดำรงอยู่ที่เปี่ยมไปด้วยความจำเริญ (บะรอกัต) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) คือสื่อยับยั้งจากการลงโทษ (อะซาบ) ของพระผู้เป็นเจ้านี้ นับได้ว่าเป็นคุณลักษณะพิเศษอันเป็นเฉพาะสำหรับท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เลยทีเดียว ทั้งนี้เนื่องจากว่า แม้จะด้วยกับการดำรงชีวิตอยู่ของศาสดาท่านอื่น ๆ ก็ตาม แต่ประชาชาติ
(อุมมะฮ์) ของท่านศาสดาเหล่านั้นก็ตกอยู่ในการลงโทษ (อะซาบ) ของพระผู้เป็นเจ้า
คุณลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ผู้เป็นศาสดาแห่งความเมตตา นั่นก็คือการที่ท่านไม่เคยประณามสาปแช่งผู้ใด และไม่ว่าท่านจะตกอยู่ในสภาพเช่นใดก็ตาม ท่านไม่เคยวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าให้ลงโทษ (อะซาบ) ต่อบุคคลใดเลยแม้เพียงครั้งเดียว ในขณะที่ท่านศาสดานูห์ (อ.) ได้ทูลขอต่อพระองค์ว่า :
ربِّ لا تذر علي الارض من الکافرين دياراً
“โอ้พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ ขอพระองค์อย่าทรงปล่อยให้พวกปฏิเสธหลงเหลืออยู่ในแผ่นดินนี้เลย” (36)
ในอีกโองการหนึ่งได้กล่าวว่า :
ولا تَزدِ الظّالمينَ اِ لَّا تَبارَا
“และขอพระองค์อย่าทรงเพิ่มพูนสิ่งใดแก่บรรดาผู้อธรรมเหล่านั้น นอกจากความหายนะเพียงเท่านั้น” (37)
แต่สำหรับท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) นั้น เมื่อพวกเขาขอให้ท่านสาปแช่งบรรดาผู้ตั้งภาคี (มุชริกีน) ท่านกล่าวว่า : “ฉันได้ถูกส่งมาเพื่อความเมตตามิใช่เพื่อสาปแช่งผู้ใด” (38)
ในขณะเดียวกันท่านกลับวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าให้ชี้นำทาง (ฮิดายะฮ์) พวกเขา เช่นเดียวกันนี้ ในช่วงที่ท่านศาสดาแห่งความเมตตา (ซ็อลฯ) ได้พิชิตนครมักกะฮ์ เมื่อท่านได้เข้าสู่ตัวเมืองมักกะฮ์แล้วนั้น บรรดาผู้ปฏิเสธ (กุฟฟาร) และผู้ตั้งภาคี (มุชริกีน) ผู้ซึ่งไม่เคยลดละที่จะแสดงการเหยียดหยาม อาจหาญ โจมตีและล่วงละเมิดต่อท่านศาสดาและบรรดาสาวกของท่านด้วยวิธีการทุกรูปแบบ พวกเขาต่างคาดการณ์ว่าท่านศาสดาจะลงโทษและแก้แค้นพวกเขา แต่ท่านกลับให้อภัยและยกโทษให้พวกเขาทั้งหมด โดยท่านกล่าวว่า : « اليوم يوم المرحمة » “วันนี้เป็นวันแห่งความเมตตา(และการให้อภัย)” จากนั้นท่านกล่าวต่อว่า : « اذهبوا انتم الطلقاء » “พวกท่านจงไปเถิด พวกท่านได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระแล้ว” (39)
ท่านศาสดาแห่งความเมตตา (ซ็อลฯ) ผู้นี้ แม้แต่ในช่วงลมหายใจสุดท้ายแห่งอายุขัยของท่านก็ยังไม่วายที่จะเป็นห่วงเป็นใยและกังวลใจต่อการถูกลงโทษของประชาชาติ (อุมมะฮ์) ผู้ประพฤติชั่วของท่านที่จะเกิดขึ้นในวันกิยามะฮ์ (ชาติหน้า) ด้วยเหตุนี้ในช่วงที่มะละกุลเมาต์ (ทวยเทพผู้ทำหน้าที่ปลิดวิญญาณ) ได้มาเพื่อรับดวงวิญญาณของท่านศาสดานั้น ท่านได้กล่าวกับเขาว่า จงอดทนรอคอยสักครู่เถิดจนกว่าญิบรออีลสหายของฉันจะมาถึง ภายหลังจากช่วงระยะเวลาหนึ่งได้ผ่านไป ญิบรออีลก็มาถึง ท่านกล่าวว่า ทำไมท่านถึงมาช้า? ญิบรออีลได้กล่าวตอบว่า โอ้ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ข้าพเจ้ายุ่งอยู่กับการประดับประดาความสวยงามของสวนสวรรค์ ท่านกล่าวต่อว่า : “บุคคลเหล่านี้ทำให้ฉันรู้สึกไม่สบายใจ ไหนท่านจงบอกมาซิว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับประชาชาติ (อุมมะฮ์) ของฉัน?” ญิบรออีลได้จากไปและกลับมาอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับกล่าวว่า : พระผู้เป็นเจ้าได้ฝากสลาม (อำนวยความสันติสุข) มายังท่าน พร้อมกับทรงตรัสมายังท่านว่า ในวันกิยามะฮ์ (ชาติหน้า) ท่านจงให้การอนุเคราะห์ (ชะฟาอัต) แก่ประชาชาติ (อุมมะฮ์) ของท่านจนกว่าตัวท่านเองจะพอใจเถิด (40)
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เล่าว่า ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์(ซ็อลฯ)ได้กล่าวว่า : “ในวันกิยามะฮ์ฉันจะยืนอยู่ในสถานที่ชะฟาอัต (ให้การอนุเคราะห์) และฉันจะให้การชะฟาอัตแก่บรรดาผู้ประพฤติชั่ว จนกระทั่งว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงตรัสว่า : « ارضيت يا محمد؟ » : “เจ้าพึงพอใจแล้วหรือยัง โอ้มุฮัมมัด?” ฉันจะทูลตอบต่อพระองค์ว่า :
«رضيتُ رضيتُ » “ข้าพระองค์พึงพอใจแล้ว ข้าพระองค์พึงพอใจแล้ว” (41)
ในวันกิยามะฮ์บรรดาศาสดาและมนุษย์ทั้งมวลจะกล่าวว่า : « وَ انفُسَاه » “โอ้อนิจจา ชีวิตทั้งหลายเอ๋ย!” แต่ท่านศาสดาแห่งความเมตตา (ซ็อลฯ) จะกล่าวว่า :
« اُمتي امتي » “นี่คือประชาชาติของฉัน นี่คือประชาชาติของฉัน”
เชิงอรรถ :
(17) –มะฟาตีฮุลญินาน ซิยาเราะฮ์ท่านศาสดา(ซ็อลฯ)จากสถานที่ห่างไกล.
(18) –ก็อฏเระฮ์ อาซ ดัรยอเย่ ฟะฎออิล อะฮ์ลิลบัยติ์(อ.) , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 345.
(19) –ซ่อฮีฟะฮ์ ซัจญาดียะฮ์ , ดุอาอ์บทที่ 2.
(20) –ซูเราะฮ์อัลอัมบิยาอ์ ; อายะฮ์ที่ 107.
(21) –ซูเราะฮ์อัลอะห์ซาบ ; อายะฮ์ที่ 43.
(22) –ตัฟซีรอัลมีซาน , เล่มที่ 1 , หน้าที่ 23.
(23) –ซุเราะฮ์อัลอะอ์รอฟ ; อายะฮ์ที่ 156.
(24) –ซูเราะฮ์อัลอันอาม ; อายะฮ์ที่ 54.
(25) –ซูเราะฮ์อัลอัมบิยาอ์ ; อายะที่ 107.
(26) –อัลเอี๊ยะห์ติญาจญ์ , เล่มที่ 1 , หน้าที่ 212.
(27) –ซูเราะฮ์อัตเตาบะฮ์ ; อายะฮ์ที่ 128.
(28) –ซูเราะฮ์อัลอิสรออ์ ; อายะฮ์ที่ 29.
(29) –บิฮารุลอันวาร , เล่มที่ 16 , หน้าที่ 228.
(30) –มะการิมุลอัคลาก , หน้าที่ 17.
(31) –ซุนะนุนนะบี , หน้าที่ 45 .
(32) –ซูเราะฮ์อัลอินซาน , อายะฮ์ที่ 8.
(33) –มีซานุลฮิกมะฮ์ , เล่มที่ , หน้าที่
(34) –ซูเราะฮ์อัลอันฟาล , อายะฮ์ที่ 33.
(35) –นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ , ฮิกมะฮ์ที่ 88.
(36) –ซูเราะฮ์นูห์ , อายะฮ์ที่ 26.
(37) –ซูเราะฮ์นูห์ , อายะฮ์ที่ 28.
(38) –ซีร่อตุนนะบะวี , หน้าที่ 132.
(39) –ตัฟซีรนะมูเนฮ์ , เล่มที่ 10 , หน้าที่ 66.
(40) –ซีร่อตุนนะบะวี , หน้าที่ 132.
(41) –ตัฟซีรนะมูเนฮ์ , เล่มที่ 27 , หน้าที่ 99.
บทความ : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ