เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

วิลาดัต (ประสูติ) อิมามมุฮัมมัด ญะวาด (อ)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

วิลาดัต (ประสูติ) อิมามมุฮัมมัด ญะวาด (อ)

 

บรรดานักบันทึกประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า ท่านอิมามมุฮัมมัดตะกี ญะวาด (อ) อิมามท่าน 9 แห่งวงศ์วานอะฮ์ลุลบัยต์ ของมวลมุสลิมประสูติในปี ฮ.ศ. 195 ทว่าวันและเดือนนั้นมีรายงานสองรายงาน บ้างก็รายงานว่าท่านถือกำเนิดในเดือนรอมฎอนอันทรงเกียรติ และท่านเชคตูซีย์ได้มีบันทึกว่า ท่านอิมามมุฮัมมัด ญะวาด (อ) ถือกำเนิดในวันที่ 10 เดือนรอญับ ปี ฮ.ศ. 195

 

การถือกำเนิดของอิมาม มุฮัมมัด ญะวาด (อ) ได้สร้างความปลื้มปีติและคลี่คลายฟิตนะฮ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางบรรดาชีอะฮ์ในยุคนั้นเป็นอย่างมาก เพราะมีผู้ไม่หวังดีพยายามสร้างฟิตนะฮ์ว่าท่านอิมามริฎอ (อ) มิได้เป็นอิมาม เหตุเพราะท่านอิมามริฎอ (อ) ยังไม่ได้มีทายาทในช่วงเวลานั้น อายุขัยของท่านอิมามริฎอ (อ) ก็ล่วงเข้าวัย 40 กว่าปีแล้ว บรรดาชีอะฮ์ในยุคนั้นจึงเริ่มกังวลเกี่ยวกับทายาทแห่งอะฮ์ลุลบัยต์ แต่ครั้นเมื่อท่าน

อิมามมุฮัมมัด ญะวาด (อ) ได้ถือกำเนิดขึ้น บรรดาชีอะฮ์จึงมีความปีติยินดียิ่ง ท่านอิมามริฎอ (อ) ได้กล่าวว่า “ไม่มีการถือกำเนิดใดที่จะมีบารอกัตมากไปกว่าการถือกำเนิดของเด็กน้อยคนนี้ อีกแล้วสำหรับมวลชีอะฮ์”

 

ท่านหญิงฮะกีมะฮ์ บุตรีของท่านอิมามมูซากาซิม (อ) ได้รายงานว่า

“เมื่อถึงเวลาให้กำเนิดท่านอิมามมุฮัมมัด ญะวาด (อ) ท่านอิมามริฎอ (อ) ได้เรียกหาฉัน และได้สั่งแก่ฉันว่า โอ้ฮะกีมะฮ์ จงเตรียมตัวทำคลอดโดยด่วน”

 

ท่านหญิงฮะกีมะฮ์ ได้รายงานให้ฟังอีกว่า

“ฉันและญาติๆ อีกจำนวนหนึ่งได้เข้าไปในห้องเพื่อทำคลอด โดยได้จุดตะเกียงดวงหนึ่งเพื่อให้ความสว่างในห้อง และเราก็เริ่มทำคลอดทันที ในขณะนั้นเองตะเกียงที่เราจุดเอาไว้เพื่อใช้แสงสว่างในการทำคลอดได้ดับลง ทำให้ฉันรู้สึกกังวลทว่าทันใดนั้นเองก็ได้มีรัศมีหนึ่งทอแสงขึ้นส่องแสง สว่างไปทั่วทั้งห้อง ฉันได้นำร่างของเด็กน้อยวางลงบนผ้าผืนหนึ่ง และยกขึ้นอุ้มไว้ในอ้อมกอดและวางลงบนตัก ในขณะนั้นเองท่านอิมามริฎอ (อ) ก็ได้เปิดประตูห้องและเข้ามาในห้อง และได้รับเด็กน้อยไปจากฉันนำไปวางในเปล และได้กล่าวแก่ฉันว่า

 

“ฮากีมะฮ์เอ๋ย จงดูแลเปลนี้อย่างดีที่สุด”

 

สามวันต่อมา อิมามมุฮัมมัด ญะวาด (อ) ได้ลืมตาขึ้นและมองไปยังฟากฟ้า หันไปทางซ้ายและขวา ทันใดนั้นเองเด็กน้อยได้กล่าวขึ้นว่า

 

 « اشهد ان لا اله الا اله و اشهد ان محمداً رسول الله »

“ข้าพเจ้าขอปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และข้าพเจ้าขอปฏิญาณตนว่ามุฮัมมัด คือศาสนทูตของพระองค์”

 

ท่านหญิงฮะกีมะฮ์ ได้กล่าวต่อไปอีกว่า

“เมื่อฉันเห็นและได้ยินเช่นนั้น ฉันรีบลุกขึ้นรุดไปหาท่านอิมามริฎอ (อ) ด้วยความเร่งรีบด้วยความตะลึงในสิ่งที่เกิดขึ้น และได้กล่าวกับอิมามริฎอ (อ) ว่า “ฉันได้ยินและได้เห็นสิ่งที่แปลกมากสำหรับฉันจากเด็กน้อยคนนี้” ท่านอิมามริฎอ (อ) ได้กล่าวถามว่า “เธอได้ยินอะไรจากเด็กน้อยคนนั้น ที่เธอบอกว่าแปลกมาก?” และเมื่อฉันได้เล่าให้อิมามริฎอ (อ) ฟังถึงสิ่งที่ฉันได้เห็นและได้ยินจากเด็กน้อย ท่านอิมามริฎอ (อ) จึงได้กล่าวว่า

“โอ้.. ฮะกีมะฮ์ สิ่งที่เธอเห็นและได้ยินจากเด็กน้อยคนนั้น และเธอคิดว่ามันเป็นสิ่งที่แปลกมากสำหรับเธอ ฉันขอบอกเธอว่า เธอจะได้เห็นจะได้ยินสิ่งที่แปลกมากว่าอีกหลายเท่าจากเด็กน้อยคนนี้”

 

ในรายงานมีบันทึกว่า ครั้งหนึ่งคอลีฟะฮ์ มะอฺมูน ในยุคนั้น ต้องการที่จะทำลายความเชื่อมั่นของบรรดาชีอะฮ์ในตัวของท่านอิมามมุฮัมมัด ญะวาด (อ)  ซึ่งในขณะนั้นท่านอิมาม (อ) มีอายุได้เพียง 9 ขวบเท่านั้น และถือเป็นเริ่มต้นยุคของการมีอิมาม (ผู้นำ) ที่เป็นเด็ก ด้วยเหตุนี้ จึงได้จัดให้มีการถกประลองความรู้ในเรื่องวิชาการศาสนาขึ้นและได้เชิญบรรดาผู้รู้ จากทุกสารทิศมาในงานนี้อย่างมากมาย  หนึ่งในนั้นก็คือ กอฏี ยะฮ์ยา บินอักษัม  ผู้คงแก่เรียน ผู้รู้ ซึ่งได้ถูกเตรียมไว้สำหรับงานนี้โดยเฉพาะ

 

หลังจากที่ทุกคนมา พร้อมกันแล้ว กอฏี ยะฮ์ยา บินอักษัม กล่าวกับ คอลีฟะฮ์ อัลมะอฺมูน ว่า

 “โอ้ อะมีรุลมุอฺมินีน อนุญาตให้ฉันถามมุฮัมมัด ญะวาด ได้หรือไม่?”

 

คอลิฟะฮ์ อัลมะอฺมูน  กล่าวว่า “เจ้าจงขออนุญาตจากเขาเองซิ” ยะฮ์ยา บิน อักษัม จึงหันไปทางอิมามมุฮัมมัด ญะวาด (อ) แล้วถามว่า “อนุญาตให้ฉันถามได้หรือไม่?”

 

อิมามมุฮัมมัด ญะวาด (อ)  กล่าวว่า “จงถามมาในสิ่งที่ท่านอยากถามเถิด”

 

กอฏี ยะฮ์ยา จึงถามว่า “ฮุกุ่ม (บทบัญญัติ) ของผู้ที่อยู่ใน เอี๊ยะฮ์รอม (ใส่ชุดสำหรับประกอบพิธีฮัจญ์) และได้ทำการล่าสัตว์นั้นเป็นเช่นไร?”

 

อิมามมุฮัมมัด ญะวาด (อ)   “ท่านหมายถึงกรณีใดหรือ? อาทิเช่น

 

1. เขาได้ทำการล่าสัตว์ในเขตหรือนอกเขตของฮะรอม?

 

2. ผู้ล่าเป็น อาลิม (ผู้รู้) หรือ ญาฮิล (ผู้ไม่รู้)?

 

3. ผู้ล่าทำลงไปด้วยความ “จงใจ” หรือ “ความเผลอเรอ”?

 

4. ผู้ล่า บาลิฆ (บรรลุนิติภาวะทางศาสนา) หรือไม่?

 

5. เป็นการกระทำครั้งแรก หรือ ทำหลายครั้งแล้วในเขตฮะรอม?

 

6. สัตว์ที่ล่านั้นเป็น “สัตว์เล็ก” หรือ “สัตว์ใหญ่”?

 

7. เป็นสัตว์ปีก หรือ สัตว์สี่เท้า?

 

8. ล่าตอน กลางวัน หรือ กลางคืน?

 

9. ผู้ล่าอยู่ใน เอี๊ยะฮ์รอม ของ ฮัจญ์ หรือ อุมเราะฮ์?

 

10. หลังจาก กระทำแล้วเสียใจ ในสิ่งที่ทำหรือไม่?

 

 จากคำถามข้อปลีกย่อย รายละเอียดที่อิมามมุฮัมมัด ญะวาด (อ) ถามกลับไป ทำให้ ยะฮ์ยา บินอักษัม ถึงกับมึนงงตอบไม่ถูกว่าจะเป็นกรณีไหนดี  เขานึกไม่ถึงว่าท่านอิมาม (อ) จะช่ำชองในข้อปลีกย่อยของปัญหาวิชาการทางศาสนาอย่างมากมายเพียงนี้

 

ซึ่งในบางรายงานบันทึก ว่า ท่านอิมามมุฮัมมัด ญะวาด (อ) ได้ถามกลับในข้อปลีกย่อยถึง 40 กรณีด้วยกัน ว่าหมายถึง กรณีใดกันแน่!!  และหลังจากนั้นท่านอิมาม (อ) ก็ได้อธิบายอย่างละเอียดให้ อิบนุ อักษัม ในทุกกรณีที่ท่านถามอีกด้ว ต่อมามะอฺมูนจึงได้กล่าวว่า  “โอ้ บุตรของศาสดาคราวนี้ท่านถามเขาบ้างเถิด”

 

ท่านอิมามมุฮัมมัด ญะวาด (อ) จึงได้ถามว่า  “ท่านรู้หรือไม่ผู้หญิงคนนี้คือใคร?”

 

“ตอนเช้า ชายคนหนึ่งได้มองไปยังหญิงสาวคนหนึ่งทว่าการมองของเขาเป็น ฮะรอม (ต้องห้าม) พอตอนสายหน่อยๆ หญิงสาวคนนั้นก็ ฮะลาล (อนุญาต) สำหรับเขา แต่พอตอนเที่ยง หญิงสาวคนนั้นก็ ฮะรอม อีกครั้ง และพอบ่ายคล้อยก็ ฮะลาล อีก”

 

“ครั้นเมื่อยามอาทิตย์ ตกดินหญิงสาวก็กลับไป ฮะรอม สำหรับเขาอีก พอดึกหน่อยก็ ฮะลาล พอถึงเที่ยงคืนก็ ฮะรอม อีกครั้งสำหรับเขา แต่พอเข้าเวลานมาซซุบฮ์ ผู้หญิงคนนั้นก็กลับ ฮะลาล เหมือนเดิมอีกครั้ง”

 

อิบนุ อักษัม ตอบทันทีว่า “ขอสาบานต่อพระผู้ทรงเป็นเอกะ ทั้งคำตอบและสาเหตุของมันนั้นข้าฯไม่รู้ แต่ถ้าหากเป็นไปได้ขอให้ท่านได้อธิบายให้พวกเราด้วย” ท่านอิมาม ญะวาด (อ.)  จึงได้อธิบายให้พวกเขาฟังว่า  “หญิงสาวคนนั้น คือ ทาสของชายคนหนึ่ง   การมองเธอจึง ฮะรอม สำหรับชายอื่น”

 

“แต่พอตอนสายชายคนนั้น ก็ได้ซื้อเธอมา จึงทำให้เธอ ฮะลาล สำหรับเขา พอเที่ยงเขาก็ได้ปล่อยทาสหญิงคนนั้นให้เป็นอิสระ เธอจึง ฮะรอม สำหรับเขา ในตอนบ่ายเขาก็ได้ขอเธอแต่งงาน  เธอจึง ฮะลาล อีกครั้งสำหรับเขา”

 

“แต่พอพระอาทิตย์ตกดิน เขาได้ทำการ “ซิฮาร” (กล่าวว่าก้นเธอนั้นเหมือนของพี่สาวน้องสาวหรือแม่ตนเอง) การร่วมหลับนอนกับเธอจึง ฮะรอม สำหรับเขา แต่พอตอนดึกเขาได้ทำการจ่าย “กัฟฟาเราะฮ์” (ค่าปรับ ที่กล่าว ซิฮาร)  นางจึง ฮะลาล สำหรับเขาอีกครั้ง เมื่อถึงเที่ยงคืนเขาก็ได้ทำการ “ฏอลาก ริจญ์อี” (การหย่าที่สามารถกลับมาอยู่ด้วยกันได้ก่อนที่จะครบกำหนดอิดดะฮ์ โดยไม่ต้องนิกะฮ์ใหม่) นางจึง ฮะรอม แต่พอเขาเวลานมาซซุบฮ์เขาได้คืนดีและกลับมาหานาง  เธอจึง ฮะลาล อีกครั้งสำหรับเขา”

 

หลังจากนั้น มะอฺมูน ก็ได้พูดว่า “เห็นหรือไม่ว่า ทำไมข้าจึงต้องการให้ลูกสาวของข้าแต่งงานกับเขา (อิมาม ญะวาด (อ.)

 

ถึงแม้ว่าอายุยังน้อย ก็ตาม ในหมู่พวกท่านมีใครสามารถตอบคำถามแบบนี้ได้บ้างไหม?” ทุกคนจึงตอบว่า “ไม่มีใครในหมู่พวกเราที่จะตอบปัญหาเช่นนี้ได้”

 

มะอฺมูน กล่าวว่า  “ความวิบัติจะมีแด่พวกท่าน!!  ไม่รู้ดอกหรือว่าไม่มีใครจะมาเทียบเคียงในความรู้ความประเสริฐและความสูงส่งกับ “อะฮ์ลุลบัยต์ของท่านศาสดาได้ ถึงแม้พวกเขาจะเป็นเด็กก็ตาม”

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ ahlulbaytonline

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม