ความสมถะของอิมามอะลี
ความสมถะของอิมามอะลี
ความแตกต่างระหว่างสำรับของอิมามอะลีและมุอาวิยะฮ์
รายงานว่า ครั้งหนึ่ง ท่านอะฮ์นัฟ บิน ก็อยซ์ ได้กล่าวว่า “วันหนึ่งฉันได้ไปยังพระราชวังของ มุอาวิยะฮ์ บิน อบีซุฟยาน ซึ่งเป็นช่วงตรงกับเวลาอาหารเที่ยงพอดี ฉันรู้สึกแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง ที่อาหารร้อนเย็น คาวหวาน ได้ถูกตระเตรียมไว้และยกมาบริการอย่างมากมาย หลังจากนั้นก็ได้ยกอาหารอีกชนิดหนึ่งมาให้ ซึ่งฉันไม่รู้จักมัน ด้วยความสงสัยฉันจึงถาม มุอาวิยะฮ์ ว่ามันคืออะไร?”
มุอาวิยะฮ์ จึงตอบว่า “มันคือไส้ของนกเป็ดน้ำที่อัดแน่นด้วยสมองของแกะหนุ่ม และทอดในน้ำมันของถั่วเพรซตาชิโอ พร้อมกับโรยด้วยน้ำตาลอ้อย”
ท่านอะฮ์นัฟ บิน ก็อยซ์ จึงได้กล่าวว่า “ในขณะนั้นเองน้ำตาของฉันก็ได้หลั่งไหลพรั่งพรูออกมาโดยไม่สามารถความคุมมันได้ มุอาวิยะฮ์ จึงถามด้วยความตกใจ “เกิดอะไรขึ้นกับเจ้ารึ!!?”
ฉันจึงตอบว่า “ฉันกำลังหวนรำลึกถึงวันที่ได้เป็นแขกที่บ้านของ ท่านอะลี บิน อบีฏอลิบ (อ.) ซึ่งในวันนั้นเป็นเวลาอาหารเที่ยงพอดี ท่านอะลี (อ.) จึงขอให้ฉันเป็นแขกของท่านในมื้อนั้น ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เอาถุงหนังที่มัดเอาไว้พร้อมกับปิดตราประทับบนครั่งออกมา ฉันจึงถามว่ามันมีอะไรข้างในหรือ?
ท่านอิมามอะลี (อ.) จึงตอบว่า “แป้งรำข้าวสาลี”
ฉันจึงถามท่านว่า “ท่านกลัวว่ามีใครจะมาหยิบผิดไปหรืออย่างไร หรือว่าท่านไม่ต้องการให้ใครเอาไปรับประทานกระนั้นหรือ?”
ท่านอิมาม อะลี (อ.) ตอบว่า “เปล่าหรอก ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง แต่ฉันกลัวว่า ฮะซันและฮุซัยน์(อ.) บุตรของฉันจะรินน้ำมัน หรือน้ำมันมะกอกลงไป”(เพื่อให้สะดวกต่อการรับประทาน)
ฉันจึงถามอีกว่า “โอ้ อะมีรุ้ลมุอฺมินีน การเทน้ำมันมะกอกลงไปมันบาป หรือเป็นฮะรอมกระนั้นหรือ?”
ท่านอิมาม อะลี (อ.) จึงตอบว่า :
لا ولكن يجب علي ائمة الحق ان يعتدوا انفسهم من ضعفة الناس لئلا يطغي الفقير فقره
“ไม่หรอก มันไม่ได้ฮะรอม แต่ทว่าจำเป็นสำหรับ อิมามผู้นำแห่งสัจธรรมที่จะต้องกินดื่มให้เหมือน ๆ กับบรรดาผู้อ่อนแอขัดสนยากไร้ เพื่อที่ว่าความขัดสนข้นแค้นจะได้ไม่ทำให้ผู้ยากจนนั้นต้องการเป็นกบฏก่อความจลาจนวุ่นวายขึ้นมา”
ดังนั้นและยามใดก็ตามที่ความยากจนได้ถาโถมใส่พวกเขา พวกเขาก็จะกล่าว่า :-
“จะต้องกลัวอะไรอีกหรือ ก็ในเมื่อผู้นำของเรา ยังกิน ดื่มและใช้ชีวิตเช่นเดียวกับเรา”
มุอาวิยะฮ์ จึงกล่าวว่า “โอ้ อะฮ์นัฟ เจ้าได้ระลึกถึงชายที่ไม่มีผู้ใดปฏิเสธความสูงส่งของเขาได้”
อ้างอิง
1-اصل الشيعة و اصولها ص 652-
نهج البلاغه خطبه 207
บทความโดย A.Alfaruq
ขอขอบคุณเว็บไซต์ thaiislamlib.com