เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

สถานะภาพของบิดาและมารดาในทัศนะอัลกุรอานและวจนะอิสลาม

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

สถานะภาพของบิดาและมารดาในทัศนะอัลกุรอานและวจนะอิสลาม

 

สถานะของพ่อแม่ในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้านั้นมีความสูงส่งยิ่ง ถึงขั้นที่ว่าส่วนใหญ่จากความพึงพอใจของพ่อแม่ที่มีต่อลูกนั้น ผูกสัมพันธ์ไว้กับความพึงพอพระทัยของพระองค์ และจะเป็นพื้นฐานของความผาสุก ความโชคดีและความเจริญรุ่งเรืองของลูกๆ

 

     

 

 

ในโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน จะให้ความสำคัญในเรื่องของการทำดีต่อพ่อแม่ รองลงมาจากการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงตรัสว่า :

 

وَ قَضی رَبُّك اَلاّ تَعْبُدُوا اِلاّ اِیاهُ وَ بِالْوالِدَینِ اِحْساناً

 

“และพระผู้อภิบาลของเจ้าทรงมีบัญชาว่า พวกเจ้าอย่าเคารพภักดีสิ่งอื่นใดนอกจากพระองค์ และจงทำดีต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสอง” (1)

     

หลายคนจากพวกเรา เพียงแค่ช่วงเวลาไม่นานที่พ่อหรือแม่ได้จากพวกเราไป เราก็ลืมท่านทั้งสอง ในขณะที่ผู้ให้กำเนิดทั้งสองนั้นยังคงมีเกียรติ ณ พระผู้เป็นเจ้า และในบางกรณีความบกพร่องของลูกในการรักษาเกียรติและสถานะของบุคคลทั้งสองหลังจากการเสียชีวิตของท่านทั้งสองนั้น จะเป็นสื่อนำไปสู่การเนรคุณและการอกตัญญูต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสอง   

     

 

ท่านอิมามมุฮัมมัดบากิร (อ.) ได้กล่าวว่า :

 

إنّ العَبدَ لَيكونُ بارّا بِوالِدَيهِ في حياتِهِما، ثُمّ يَموتانِ فلا يَقضي عَنهُما دُيونَهُما ولا يَستَغفِرُ لَهُما فيَكتُبُهُ اللّه‏ُ عاقّا

وإنّهُ لَيكونُ عاقّا لَهُما في حياتِهِما غَيرَ بارٍّ بهِما ، فإذا ماتا قَضى دَينَهُما واستَغفَرَ لَهُما فيَكتُبُهُ اللّه‏ُ عز و جل بارّا

 

“แท้จริงบ่าว (ของพระเจ้า) บางครั้งเขาเป็นผู้กระทำดี (และแสดงความกตัญญู) ต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสองของเขาในช่วงเวลาที่ท่านทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อท่านทั้งสองเสียชีวิต เขากลับไม่ชดใช้หนี้สินแทนบุคคลทั้งสอง และไม่วิงวอนขออภัยโทษให้แก่ท่านทั้งสอง อัลลอฮ์จะทรงบันทึกเขาว่าเป็นลูกเนรคุณ และบางทีเขาอาจเป็นผู้เนรคุณ (อกตัญญู) ต่อท่านทั้งสองในขณะที่ท่านทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ โดยไม่ได้ทำดีต่อบุคคลทั้งสองเลย แต่เมื่อท่านทั้งสองเสียชีวิตไป เขาได้ชดใช้หนี้สินแทนท่านทั้งสอง และวิงวอนขออภัยโทษให้ท่านทั้งสอง ดังนั้นอัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร จะทรงบันทึกว่าเขาเป็นคนดี (เป็นผู้มีความกตัญญูต่อพ่อแม่)” (2)

   

  ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่อไปนี้ ได้แสดงถึงสถานะและตำแหน่งอันสูงส่งของพ่อแม่ ถึงขั้นที่พระผู้เป็นเจ้าจะแสดงการให้เกียรติต่อท่านทั้งสองด้วยการตอบรับดุอาอ์ (การวิงวอนขอ) ความต้องการต่างๆ ของลูกๆ ของท่านทั้งสอง ด้วยเหตุนี้เอง บรรดาอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) จึงกำชับสั่งเสียไว้ว่า เมื่อเราได้ไปเยี่ยม (ซิยาเราะฮ์) หลุมฝังศพของพ่อแม่นั้น ให้เราวิงวอนขอจากพระผู้เป็นเจ้าในสิ่งที่เรามีความต้องการมัน

      

ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า :

 

زُورُوا مَوتاکُم ؛ فإنّهُم یَفرَحُونَ بِزِیارَتِکُم ، ولْیَطلُبِ الرَّجُلُ حاجَتَهُ عِندَ قَبرِ أبیهِ واُمِّهِ بعدَما یَدعُو لَهُما

 

“ท่านทั้งหลายจงไปเยี่ยมบรรดาผู้ตายของพวกท่าน เพราะพวกเขาจะปิติยินดีต่อการไปเยี่ยม (ซิยาเราะฮ์) ของพวกท่าน และแต่ละคนจงวิงวอนขอสิ่งต้องการของตนเอง (จากพระผู้เป็นเจ้า) ณ หลุมฝังศพของพ่อและแม่ของเขา หลังจากที่เขาได้วิงวอนขอให้บุคคลทั้งสองแล้ว” (3)

 


เชิงอรรถ :

(1) อัลกุรอาน บทอัลอิสรออ์ โองการที่ 23

(2) อัลกาฟี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 614

(3) อัลคิซ็อล, หน้าที่ 618

 

บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ


ขอขอบคุณเว็บไซต์ Islamicstudiesth

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม