เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ความเป็นมาของคำว่า รอมฎอน

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ความเป็นมาของคำว่า รอมฎอน

 

รอมฎอน หมายถึง อะไร เคยมีบันทึกประวัติศาสตร์ว่า ก่อนหน้านี้เคยมีเดือนรอมฎอน และการถือศีลอดในศาสนาอื่นๆหรือไม่ ถ้ามีอะไรคือ ความแตกต่างระหว่างการถือศีลอดของมุสลิม กับ ศาสนิกชนศาสนาอื่นๆ ผู้อ่านจะได้ศึกษาคำตอบกันในบทความนี้

 

ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาบางกลุ่มอธิบายว่า รอมฎอน«رمضان»  มาจากคำว่า รอ-มา-ฎอ «رمض» การแตกของหินเพราะความร้อน และเพราะข้อบังคับในการถือศีลอด ถูกกำหนดในเดือนรอมฎอน ที่มีอากาศร้อน เดือนนี้จึงถูกเรียกว่า รอมฎอน หรือ อธิบายในอีกรูปแบบหนึ่ง เดือนรอมฎอน คือ เดือนแห่งการเผาบาป และเผาผลาญจิตวิญญาณของมนุษย์ จนกระทั่งวิญญาณของพวกเขาถูกชำระล้าง จนสามารถสลายม่านแห่ง”กู”(อนานิยัต) หรือ อัตตา แห่งความเห็นแก่ตัว ให้สลายไป บางกลุ่มอธิบายว่า คำว่า รอมฎอน มาจากคำว่า รอมีฎ «رميض» หมายถึง เมฆสุดท้ายของฤดูร้อน และเวลาเริ่มต้นของใบไม้ร่วง ที่จะนำความร้อนของฤดูร้อนให้ไปห่างไกล เหตุนี้ เดือนดังกล่าว จึงถูกเรียกว่า รอมฎอน ด้วยเหตุที่มันได้พัดพาบาปให้หลุดจากร่างกายของเหล่าลูกหลานอาดัม[1] แต่มีประเด็นอยู่ที่ ในฮาดิษจำนวนมาก รายงานห้ามเรียก รอมฎอน แบบห้วนๆ แต่ให้เรียกว่า เดือนรอมฎอน เพราะ รอมฎอนคือ พระนามหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า[2] และมีรายงานจาก อมีรุลมุอฺมีนีน(อ)ว่า “จงอย่าพูดว่า รอมฎอน แต่จงเรียกว่า เดือนรอมฎอน และจงให้ความใส่ใจต่อเกียรติของเดือนๆนี้[3] ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ในความเป็นจริง คำว่า รอมฎอน หมายถึง พระนามหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า และเมื่อพูดคำว่า เดือนรอมฎอน นั่นหมายถึง เดือนของพระเจ้า ดังที่ศาสดามูฮัมมัด (ศ) ได้กล่าวไว้ในวัจนะบทหนึ่งว่า

 

«ايها الناس قد اقبل اليكم شهر الله»

“มนุษย์ชาติทั้งหลาย เดือนของอัลลอฮ ได้หวนมาเยือนยังพวกเจ้าแล้ว”[4]

 

จุดประสงค์ของเดือนรอมฎอน

 

ในบางฮาดิษ ระบุว่า เดือนรอมฎอน คือ เดือนแรกของปี แล้วทำไมเราถึงนับเดือนมุฮัรรอม เป็นเดือนแรกของ ฮิจเราะฮ์ศักราช คำอธิบายคือ สำหรับการเริ่มต้นของฮิจเราะฮ์ศักราช เดือนแรกคือ เดือนมุฮัรรอม แต่สำหรับ ผู้ที่แสวงหาการขัดเกลา และพัฒนาตนเอง เดือนแรกของปี สำหรับพวกเขา คือ เดือนรอมฎอน และด้วยเหตุนี้ อิมามศอดิก(อ) จึงกล่าวว่า เดือนแรกของปีคือเดือนรอมฎอน อันมีความหมายว่า แต่ละปีจะมีเดือนหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นชีวิตแห่งการขัดเกลาของมนุษย์ หากในเดือนนั้น ทุกอย่างปกติ เดือนอื่นๆก็จะมีแน้วโน้มที่มนุษย์คนหนึ่งจะใช้ชีวิตอย่างสะอาด บริสุทธิ์ได้ต่อไป จนครบรอบของแต่ละปี จึงสรุปได้ว่า เดือนแรกของการขัดเกลา คือ เดือนรอมฎอน

 

ประวัติของเดือนรอมฎอน

 

ตามทัศนะของอัลกุรอ่าน การถือศีลอด ถูกบัญญัติ ไว้ก่อนหน้าศาสนา มาตั้งแต่สมัยอดีต อัลกุรอ่านกล่าวว่า

 

«يا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيامُ كَما كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِنْ قَبْلِكُمْ»

 

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธา การถือศีลอดได้ถูกบัญญัติแก่พวกเจ้าแล้ว เฉกเช่นที่มันได้ถูกบัญญัติแก่ผู้ซึ่งอยู่ก่อนพวกเจ้า” [5]

 

จากโองการชี้ว่า บัญญัติแห่งการถือศีลอด ถูกกำหนดไว้ ตั้งแต่สมัยประชาชาติยุคก่อน แต่ประชาชาติยุคก่อน หรือ คนก่อนหน้านี้ คือ ใคร เป็นคนกลุ่มไหน

 

อัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอีย์ นักอรรถาธิบายอัลกุรอ่าน และผู้รู้ระดับสูงในสายนี้ ได้ค้นคว้าคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ จากการค้นคว้าหลักฐานอัลลามะฮ์ ได้ให้ข้อสรุปว่า “มีบันทึกรายงานมากมายทางประวัติศาสตร์ จากอิยิปต์ กรีก โรม และอินเดีย ยุคโบราณ ที่บอกเล่าถึงการถือศีลอดไว้อย่างมากมาย [6]

 

ในหนังสือ กอมูสกิตาบมุกอดดัซ( ซึ่งเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่ออธิบายศัพท์ในคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งพันธะสัญญา ฉบับเก่า และฉบับใหม่, จดหมายเหตุ และบันทึกของเหล่าสหาย และนิกายต่างๆในศาสนายิว และคริสต์) บันทึกว่า “ในทุกหมู่ชน และทุกเชื้อชาติ การถือศีลอด เต็มช่วงเวลา เป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ที่ตกในสถานการณ์ที่ยากลำบาก หรือ มีความโศกเศร้า” [7]

 

ในคัมภีร์เตารอต ของศาสนายิว  มีรายงานถึงการถือศีลอดของโมเซส เป็นเวลา 40 วัน “ยามเมื่อข้ามาสู่หุบเขา ข้าได้เก็บแผ่นศิลาหิน (แผ่นศิลาแห่งสัญญาที่พระเจ้าได้ทำสัญญาไว้กับพวกเจ้า) แล้วหลังจากนั้น ข้าได้อยู่บนภูเขาเป็นเวลา 40 วัน 40 คืน (ในช่วงเวลาที่ถือศีลอด) โดยไม่กินขนมปัง หรือ ดื่มน้ำ” [8]

 

ในศาสนาพุทธเองก็มีการถือศีลอด ซึ่งเป็นศีลข้อที่ 6 ในศีลแปด คือ วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ: เว้นจากการบริโภคอาหารในยามวิกาล (หลังเที่ยงวันถึงรุ่งเช้าของวันใหม่) [9]

 

ในศาสนาคริสต์ ไม่มีการระบุถึงการถือศีลอดอาหารโดยตรง แต่มีการชมเชยว่า การถือศีลอดเป็นสิ่งที่ดี ในบทกิจการ กล่าวไว้ว่า “เมื่อท่านทั้ง‍สองแต่ง‍ตั้งพวกผู้‍ปก‍ครองในคริสต‌จักรแต่ละแห่งแล้ว ก็อธิษ‌ฐานและถืออด‍อาหารเพื่อมอบพวก‍เขาไว้กับองค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้าที่พวก‍เขาเชื่อ‍ถือนั้น” [10]

 

สรุปจากหลักฐานเหล่านี้ เราได้คำตอบหนึ่งว่า “การถือศีลอด” เป็นคำสอนที่มีมาตั้งแต่สมัยอดีต ในทุกอารยธรรม โบราณ และยังมีอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน โดยจุดประสงค์หลักของการถือศีลอด คือ การขัดเกลาจิตใจ และ วิญญาณของพวกเขา ให้กลับมาบริสุทธิ์อีกครั้ง การถือศีลอด โดยเหตุผลที่การถือศีลอด ทำให้กลไกการขัดเกลาทางจิตเกิดขึ้น เป็นเพราะ การถือศีลอด เป็นการฝึกมนุษย์ให้รู้จักยับยั้ง และควบคุม “ความอยาก” โดยสมัครใจ เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์เริ่มควบคุมความอยากของตนเอง มีแน้วโน้มที่พวกเขาจะลดละความโลภ และละจากการฝักใฝ่ในวัตถุ และหันมาสนใจดูแลจิตวิญญาณของตนเอง

 

“เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์หันมาสนใจขัดเกลาวิญญาณ เมื่อนั้นความสงบสันติ จะผลิบานในหัวใจ”

 

แหล่งอ้างอิง

[1] อ้างอิงจาก หนังสือ ดุรรุนมันซูร เขียนโดย ญะลาลุดดีน ซายูฏีย์ เล่ม 1 หน้า 183

[2] อ้างอิงจาก หนังสือ เขียนโดย มัญมะอุลบะฮรอยน์ เล่ม 2 หน้า 183

[3] อ้างอิงจาก อัลกาฟีย์ เล่ม 4 หน้า 69

[4] อ้างอิงจากหนังสือ อัลอิกบาล เขียนโดย ซัยยิด อิบนุฏอวูซ เล่ม 1 หน้า 31

[5] ซูเราะฮ์ บากอเราะฮ์ โองการที่ 183

[6] ตัฟซีร อัลมีซาน เล่ม 2 หน้า 8-9 เขียนโดย ซัยยิด มูฮัมมัด ฮูเซน ฏอบาฏอบาอีย์

[7] อ้างอิงจากหนังสือ กอมูส กิตาบ มุกอดดัซ หน้า 427 เขียนโดย James H. Hawkes

[8] คัมภีร์โทราห์ บทการเดินทางที่สอง บทที่ 9 ลำดับที่ 9

[9] https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A8%E0%B8%B5%E0%B8%A5%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%94

[10] กิจการ 14 ; 23


โดย Muhammad Behesti


ขอขอบคุณเว็บไซต์เอบีนิวส์ทูเดย์

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม