ความประเสริฐของท่านอิมามอะลี

ความประเสริฐของท่านอิมามอะลี 

 

การศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับสถานภาพและความประเสริฐของท่านอิมามอะลี (อ.) นับได้ว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก ด้วยเหตุผลที่ว่า การรับรู้ถึงคุณลักษณะต่างๆ ของบุคคลที่มีสถานภาพอันสูงส่งเช่นนี้

 

จะเป็นเครื่องกระตุ้นและโน้มนำเราไปสู่การเชื่อฟังและการปฏิบัติตามบุคคลดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากว่า

 

ฟิตเราะฮ์ (สัญชาติญาณทางธรรมชาติ) อันบริสุทธิ์ของคนเรานั้นมีความปรารถนาในสิ่งที่เป็นความดีงามและมีความรักผูกพันต่อสิ่งที่เป็นสัจธรรม และโดยธรรมชาติแล้วคนเราจะให้ความสำคัญต่อบุคคลที่มีคุณธรรมและความสมบูรณ์ (กะมาล) มากกว่าบุคคลอื่นๆ ที่ขาดคุณธรรมและความดีงามต่างๆ

 

 และหากเราได้รับรู้และพบว่าบุคคลผู้หนึ่งดำรงตนอยู่บนหลักแห่งสัจธรรม และสัจธรรมก็ดำเนินอยู่ร่วมกับตัวบุคคลผู้นั้นแล้ว เขาก็จะเคารพเทิดทูนและปฏิบัติตามบุคคลผู้นั้นด้วยความเต็มใจ

พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า :

 

أفَمَنْ یهْدی اِلَی الْحَقِّ أَحَقُّ اَنْ یتَّبَعَ اَمَّنْ لایهِدّی اِلا اَنْ یهْدی فَما لَكُمْ كَیفَ تَحْكُموُنَ

 

“ดังนั้นผู้ที่ชี้นำสู่สัจธรรมนั้น สมควรที่จะได้รับการปฏิบัติตามมากกว่า หรือว่าผู้ที่ไม่อาจจะชี้นำผู้อื่นได้ เว้นแต่จะถูกชี้นำ ดังนั้นจะเป็นฉันใดสำหรับพวกเจ้า พวกท่านจะตัดสินใจอย่างไร” (1)

   

  แน่นอน คนที่พบสัจธรรมและได้รับการชี้นำทางไปสู่สัจธรรมนั้น ย่อมควรคู่ต่อการเชื่อฟังและการปฏิบัติตามมากกว่าคนที่ ไร้ซึ่งความดีงามใดๆ อีกทั้งตัวเขาเองก็ยังจำเป็นที่จะต้องได้รับการชี้นำทางจากผู้อื่น แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า เราจะสามารถรู้จักผู้ที่อยู่กับทางนำและได้รับการชี้นำได้อย่างไร? บุคคลที่ตัวเองยังเป็นผู้ที่มีความบกพร่องและยังต้องการการชี้นำนั้น จะสามารถรู้จักคนที่เป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์ (อัลอินซานุ้ลกามิล) ผู้ซึ่งอยู่กับทางนำและได้รับการชี้นำแล้วได้อย่างไร? และจะแนะนำผู้อื่นให้รู้จักบุคคลเช่นนี้ได้อย่างไร? ไม่สมควรกว่าหรือที่เราจะแนะนำบุคคลผู้นั้นให้ผู้อื่นรู้จักโดยอาศัยการแนะนำบอกกล่าวของบุคคลผู้อื่นที่มีความรอบรู้ ผู้ซึ่งเราเองก็ยอมรับในความประเสริฐและความสมบูรณ์ (กะมาล) ของบุคคลผู้นั้น

 

  ดังนั้นสมควรอย่างยิ่งที่เราจะแนะนำสถานภาพและความประเสริฐของท่านอิมามอะลี (อ.) โดยผ่านผู้ที่มีความสูงส่งกว่าและเป็นผู้ที่สมบูรณ์กว่า อีกทั้งมีความรู้ครอบคลุมเกี่ยวกับตัวท่านอิมามอะลี (อ.) มากกว่า และนั่นก็เป็นใครไปไม่ได้ นอกจากพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสร้างท่าน และท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ผู้ซึ่งได้ให้การฝึกฝนอบรมท่านมาด้วยมือของท่านเอง และรับรู้ถึงคุณลักษณะและความสมบูรณ์ (กะมาลาต) ต่างๆ ในตัวท่าน

 

 ด้วยเหตุนี้เพื่อที่จะรับรู้เกี่ยวกับความประเสริฐและเข้าใจถึงบุคลิกภาพของท่านอิมามอะลี (อ.) นั้น อันดับแรกจำเป็นที่เราจะต้องย้อนกลับไปดูจากแหล่งที่มาของวะห์ยู (วิวรณ์) หรือคัมภีร์อัลกุรอาน อันเป็นพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงอธิบายถึงความประเสริฐและความดีงามต่างๆ ที่ชัดเจนและเหนือกว่าของท่านอิมาม (อ.) ไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน และถัดจากนั้นจะต้องย้อนไปดูแหล่งข้อมูลอื่นที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวะห์ยู (วิวรณ์) โดยตรง นั่นคือ ท่านศาสนทูตของอัลอฮ์ (ซ็อลฯ)  ตัวท่านศาสนทูตของอัลอฮ์ (ซ็อลฯ) เองคือผู้ที่ได้กล่าวถึงคุณลักษณะและความดีงามต่างๆ ของท่านอิมามอะลี (อ.) ไว้ ในโอกาสของการประทานโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่สำคัญ การรำลึกและการกล่าวถึงสิ่งเหล่านี้ก็ถือเป็นอิบาดะฮ์อย่างหนึ่ง ตามที่ท่านศาสทูต (ซ็อลฯ) เองได้กล่าวไว้ว่า

 

خَیُرُ إِخْوَتِيْ عَلِیٌّ و ذِکْرُ عَلِیٍّ عِبَادَهٌ

 

“พี่น้องที่ดีที่สุดของฉันคืออะลี และการรำลึกถึงอะลีคือการอิบาดะฮ์อย่างหนึ่ง (ต่อพระผู้เป็นเจ้า)” (2)

 

     

ทั้งนี้เนื่องจากว่า การรำลึกถึงท่าน และการอธิบายถึงคุณงามความดี (มะนากิบ) ต่างๆ ของท่านนั้นจะโน้มนำคนเราไปสู่การยอมรับในวิลายะฮ์ (อำนาจการเป็นผู้ปกครอง) และการปฏิบัติตามท่าน และการปฏิบัติตามท่านนั้นก็คือการเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลอฮ์ (ซบ.) และการยอมตนเป็นบ่าวต่อพระองค์นั่นเอง

 

แหล่งอ้างอิง


(1) อัลกุรอานบทยูนุส โองการที่ 35


(2) ยะนาบีอุ้ลมะวัดดะฮ์, หน้าที่ 180 ; บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 36, หน้าที่ 370

 

บทความโดย เชคมุฮัมมัดนะอีม ประดับญาติ