เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

เทววิทยาอิสลาม บทที่ 8

1 ทัศนะต่างๆ 01.0 / 5

เทววิทยาอิสลาม บทที่ 8

 

อะฮ์ลุลฮะดีษ กับการต่อต้านวิชาตรรกวิทยาและวิชาปรัชญาอิสลาม

 

แน่นอนยิ่งประการแรกขอชี้แจงว่า บรรดาผู้ที่นิยมแนวทางอะฮ์ลุลฮะดีษ หรือสำนักจารีตนิยม ได้แสดงการต่อต้านวิชาตรรกวิทยาและวิชาปรัชญา

หัวหอกสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนการต่อต้านวิชาตรรกวิทยาและวิชาปรัชญาอิสลามคือ ท่านอิบนุตัยมียะฮ์

ก่อนหน้านั้นคือท่านอะหมัด หัวหน้าสำนักคิดฮัมบะลี และนักนิติศาสตร์ได้วินิจฉัยว่า วิชาการด้านเทววิทยาและตรรกวิทยาเป็นที่ต้องห้ามตามหลักศาสนา

 

ท่านมาลิก บิน อะนัส ก็เป็นนักวิชาการชั้นนำฝ่ายซุนนีอีกท่านหนึ่ง ได้แสดงทัศนะและเชื่อว่า การใช้รูปแบบวิภาษวิธีและการถกเถียงตามวิชาเทววิทยาหรือการค้นคว้าเกี่ยวกับปัญหาทางด้านหลักการศรัทธาทุกรูปแบบเป็นเรื่องไม่อนุมัติตามหลักการศาสนา

 

สำหรับจุดยืนของสำนักคิดชีอะฮ์ นั้นถือว่า วิชาอิลมุลกะลาม(เทววิทยา)เป็นสิ่งที่อนุญาติและไม่ผิดบทบัญญัติใดๆ

 

สำนักคิดเทววิทยาที่สำคัญมีดังนี้

สำนักคิดชีอะฮ์

สำนักคิดมุอ์ตะซิละฮ์

สำนักคิดอะชาอิเราะฮ์

สำนักคิดมุรญิอะฮ์

รวมทั้งบางสำนักคิดจากกลุ่มคอวาริจญ์และกลุ่มบาตินียะฮ์

สำนักคิดบาตินียะฮ์(นิยมความลี้ลับ)คือสำนักคิดอิสมาอีลียะฮ์ก็นับเป็นสำนักคิดทางเทววิทยาด้วยเช่นกัน

 

แต่ตามทัศนะของเราถือว่า กลุ่มนิยมความลี้ลับ กลุ่มอิสมาอีลียะฮ์ไม่สามารถนับเป็นสำนักคิดทางเทววิทยาได้ และรวมไปถึงกลุ่มคอวาริจญ์

ถึงแม้ว่า พวกเขาได้นำเสนอหลักความเชื่อเฉพาะของพวกเขาเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานออกมา

และอาจเป็นไปได้ว่า ปัญหาแรกๆทางเทววิทยาถูกอธิบายโดยคนกลุ่มนี้

 

กล่าวคือ พวกเขาได้นำความเชื่อบางเรื่องเกี่ยวกับการเป็นผู้นำภายหลังท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ)

ปัญหาเรื่องการปฏิเสธและการแสดงออกถึงการเป็นผู้ปฏิเสธ(กาฟิร)

หรือปัญหาผู้ฝ่าฝืนละเมิดบทบัญญัติของอัลเลาะฮ์ และปัญหาอื่นๆ

พวกคอวาริจญ์ได้เชื่อว่า ผู้ใดไม่ยอมรับปัญหาเหล่านั้นถือว่าเป็น กาฟิร คือผู้ปฏิเสธพระเจ้าโดยปริยายนั่นเอง

 

แต่ถ้าพิจารณาความเชื่ออันสุดโต่งของพวกคอวาริจญ์ พวกเขาไม่ได้เป็นสำนักคิดที่นำเสนอหลักความเชื่อด้วยกระบวนวิธีการคิดและการพิสูจน์อย่างเป็นระบบ

 

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พวกเขาไม่ได้สร้างระบบทางความคิดให้เกิดขึ้นในโลกอิสลามเลย

แต่ทว่ามันเป็นผลพวงที่ได้รับมาจากบริบททางการเมืองในสมัยนั้นจึงได้อุบัติสำนักคิดของพวกตนขึ้น

 

และอีกเหตุผลหนึ่งคือตามทัศนะสำนักคิดชีอะฮ์นั้นเชื่อว่า ในหลักความเชื่อของพวกคอวาริจญ์(สำนักนิยมความรุนแรง)มีความไม่ปรกติและมีความผิดเพี้ยนทางความคิดอยู่มากมายหลายข้อ

 

พวกคอวาริจญ์สร้างความหนักอกหนักใจให้กับโลกมุสลิม เพราะพวกคอวาริจญ์มีทัศนะว่า มุสลิมคนใดมีความเชื่อไม่ตรงกับพวกเขา ชีวิตและทรัพย์สินของมุสลิมคนนั้นเป็นที่อนุมัติสำหรับพวกเขา นั่นคือในบริบทที่ผ่านมา

 

ส่วนการเข้าสู่บริบทใหม่ นั่นหมายความว่า เมื่อเรื่องหนักอกหนักใจได้ทุเลาลงและทำให้เรื่องทุกอย่างมันง่ายขึ้นมามากก็คือ เมื่อกลุ่มคอวาริจญ์ได้สูญหายไปแล้ว ที่ยังคงเหลืออยู่จากพวกเขาซึ่งมีสมาชิกน้อยมากถูกรู้จักในนาม “กลุ่มอิบาดียะฮ์”

 

“กลุ่มอิบาดียะฮ์” เป็นกลุ่มที่มีความคิดประนีประนอม ไม่นิยมความรุนแรงอีกทั้งเรียกร้องไปสู่การสมานฉันท์ ด้วยเหตุนี้จึงยังคงพอมีผู้ปฏิบัติตามหลงเหลืออยู่บ้างจนถึงปัจจุบัน

ส่วนกลุ่มบาตินียะฮ์ หรือกลุ่มนิยมความลี้ลับ ก็เช่นกันถือว่าไม่ได้ถูกจัดอยู่ในสำนักทางเทววิทยา เนื่องจากเป็นกลุ่มที่นิยมโลกแห่งความลี้ลับ จนไม่สามารถจะพูดคุยกับมุสลิมอื่นที่อยู่ในโลกภายนอกได้

 

ด้วยเหตุผลนี้มุสลิมกลุ่มอื่นๆจึงไม่พร้อมที่จะยอมรับพวกเขาให้เป็นสำนักคิดหนึ่งของโลกอิสลามได้

 

ประมาณ 30กว่าปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมทางวิชาการ โดยมีเป้าหมายจัดตั้งองค์กรร่วมและสร้างความสมานฉันท์ระหว่างนิกายในอิสลามในประเทศอียิปต์

มีตัวแทนจากกลุ่ม ชีอะฮ์สิบสองอิมาม กลุ่มซัยดียะฮ์ กลุ่มฮัมบะลี กลุ่มฮานะฟี และกลุ่มชาฟิอีต่างเข้าร่วมสัมมนา ร่วมประชุมกันอย่างพร้อมหน้า

ส่วนกลุ่มอิสมาอีลียะฮ์พยายามอย่างมากที่จะส่งตัวแทนของตนมาร่วมในการจัดสัมมนาในครั้งนั้น แต่ไม่ได้รับการขานรับจากมุสลิมนิกายอื่นๆ

อย่างไรก็ตามกลุ่มบาตินียะฮ์ อิสมาอีลียะฮ์ นิยมความลี้ลับ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีความไม่ปรกติทางด้านความเชื่ออย่างมากมาย แต่พวกเขาก็มีจุดเด่นสร้างความเป็นอัตลักษณ์ของตนเองให้ยืนอยู่ได้ โดยมีระบบและกระบวนการทางความคิดด้านหลักศรัทธาและด้านอภิปรัชญาเป็นที่น่าสนใจอย่างมากเลยทีเดียว

ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มคอวาริจญ์ที่ไม่มีระบบความคิดด้านหลักศรัทธาเป็นของตัวเอง

 

และในสำนักคิดบาตินียะฮ์นั้นมีนักวิชาการบุคคลสำคัญของพวกเขาเกิดขึ้นมาอย่างโดดเด่นในสังคมมุสลิม มีตำรับตำรา หนังสือจำนวนมากมายจากนักวิชาการของพวกเขา ที่ยังสืบสานมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

 

ในที่สุดบรรดาบรรดานักบูรพาคดีได้แสดงการสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อทัศนะและผลงานทางด้านวิชาการที่เป็นตำราและหนังสือของกลุ่มบาตินียะฮ์นี้

บุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียงของกลุ่มอิสมาอีลียะฮ์คือ ท่านศาสตราจารย์นาศิร อัลคัสโร อัลอะละวี เป็นนักกวีภาษาเปอร์เซียผู้โด่งดัง เสียชีวิตปีฮิจเราะฮ์ที่ 481

เขามีผลงานทางวิชาการโดยเขียนหนังสือมากมาย แต่ที่โด่งดังจากหนังสือสองเล่มคือ “ญามิอุล ฮุกมัยนิ” และหนังสือ” วัจฮุดดีน อะคะวาน”

 

อีกท่านหนึ่งคือ อะบูฮาติม อัรรอซี เสียชีวิตในปีฮิจเราะฮ์ที่ 332 เจ้าของหนังสือ “เอี๊ยะลามุล นุบูวะฮ์”

 

และอีกท่านหนึ่งคือ อบูยะอ์กูบ สะญิสตานี เจ้าของหนังสือ “กัชฟุลมะห์ญูบ” เสียชีวิตประมาณช่วงท้ายของศตวรรษที่สี่ และหนังสือของเขาได้ถูกนำมาแปลเป็นภาษาเปอร์เซียและมีวางจำหน่ายตามร้านขายหนังสือชั้นนำทั่วไปเลยทีเดียว

 

บุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่งของกลุ่มอิสมาอีลียะฮ์คือ อะมีดุดดีน เครมอนีย์ เป็นศิษย์ของอบูยะอ์กูบ สะญิสตานี บุคคลผู้นี้ได้เรียบเรียงหนังสือมากมายเกี่ยวกับกลุ่มอิสมาอีลียะฮ์

 

และอีกท่านหนึ่งคือ อบู ฮะนีฟะฮ์ นุอ์มาน บินมุฮัมมัด รู้จักกันดีในนาม กอฎีย์อันนุอ์มาน เป็นอิสมาอีลียะฮ์และเป็นปราชญ์ผู้รู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์และวิชาฮะดีษเป็นอย่างดี

 

ผลงานทางด้านหนังสือที่เป็นที่รู้จักของเขาคือ “ดะอาอิมุลอิสลาม” ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ได้นำหนังสือเล่มนี้มาแกะสลักอักษรลงบนแผ่นหินเพื่อเป็นอนุสรณ์

 

บทความโดย เชคญะวาด สว่างวรรณ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม