น้ำเค็มที่ชื่อว่า“ดุนยา”(การยึดติดวัตถุและชีวิตทางโลกนี้)

  น้ำเค็มที่ชื่อว่า“ดุนยา”(การยึดติดวัตถุและชีวิตทางโลกนี้)


ในคำรายงานบทหนึ่ง ท่านอิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก (อ.) ได้เปรียบดุนยา (การยึดติดวัตถุและชีวิตทางโลกนี้) ว่า เป็นเหมือนน้ำทะเล โดยที่ท่านได้กล่าวว่า :

 

 مَثَلُ الدُّنْيَا كَمَثَلِ مَاءِ الْبَحْرِ كُلَّمَا شَرِبَ مِنْهُ الْعَطْشَانُ ازْدَادَ عَطَشاً حَتَّي يَقْتُلَهُ

“อุปมาดุนยา (ชีวิตทางโลกนี้) อุปมัยดั่งน้ำทะเล ไม่ว่าผู้กระหายจะดื่มมันมากเท่าใด มันก็จะยิ่งเพิ่มความกระหาย จนกระทั่ง (ในที่สุด) มันจะฆ่าเขา” (1)

 

       คนกระหายเมื่อเขาได้ดื่มน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์และหวานชื่น มันจะช่วยดับกระหายแก่เขา และจะทำให้เขาเกิดความสดชื่นกระชุ่มกระชวย แต่ถ้าหากเขาดื่มน้ำเค็ม ความเค็มของมันจะไปจับติดอยู่ในระบบทางเดินและระบบย่อยอาหารของเขา และในความเป็นจริงแล้วมันจะยิ่งเพิ่มความกระหายให้แก่เขา และจะยิ่งทำให้เขาอยากดื่มน้ำเพื่อดับความกระหายมากยิ่งขึ้น และหากเขาดื่มน้ำเค็มนั้นเขาไปอีกมันก็จะทวีความกระหายให้แก่เขายิ่งขึ้นไปอีก

 

       ความลุ่มหลงวัตถุและชีวิตทางโลกนี้ก็เหมือนกับน้ำทะเล และคุณสมบัติของมันก็คือ จะไม่ทำให้คนเรารู้จักอิ่มและพอเพียงเช่นเดียวกัน ยิ่งเราแสวงหามันมากเพียงใด ก็จะยิ่งมีหัวใจผูกพันกับมันมากเพียงนั้น ด้วยเหตุนี้ ท่านอิมามอะลี (อ.) จึงกล่าวว่า :

 

إِنَّ الدُّنيا مَشغَلَةٌ عَن غَيرِها و َلَم يُصِب صاحِبُها مِنها شَيئا إِلاّ فَتَحَت لَهُ حِرصا عَلَيها و َلَهَجا بِها و َلَن يَستَغنىَ صاحِبُها بِما نالَ فيها عَمّا لَم يَبلُغهُ مِنها

“แท้จริงดุนยา (โลกนี้) จะทำให้คนเราหมกมุ่นกับมัน และคนที่ลุ่มหลงมันนั้นเขาจะไม่ได้รับสิ่งใดจากมัน นอกจากมันจะเปิดประตูแห่งความโลภหลงและความพากเพียรต่อมันให้แก่เขา และผู้ลุ่มหลงดุนยานั้นจะไม่รู้สึกพอเพียงในสิ่งที่เขาได้รับมาจากสิ่งที่เขายังไปไม่ถึงมัน” (2)

 

        คัมภีร์อัลกุรอานได้แนะนำให้รู้จักโลกนี้ว่าเป็นเสมือน “ของเล่น” โดยกล่าวว่า :

 

إِنَّمَا الْحَيَاةُ الدُّنْيَا لَعِبٌ وَلَهْوٌ

“แท้จริงชีวิตทางโลกนี้ เป็นเพียงการละเล่นและการสนุกสนานเพลิดเพลินเพียงเท่านั้น” (3)

 

        สัญลักษณ์บ่งชี้ถึงความเป็นของเล่นและความเพลิดเพลินของโลก (แห่งวัตถุ) นั่นก็คือ หากใครก็ตามที่ได้ประสบกับมัน เขาจะเคยชินอยู่กับมัน จะทำให้เขาหมกมุ่นอยู่กับมันอย่างไม่รู้สึกเบื่อหน่ายและจะไม่ปล่อยให้เขาคิดถึงสิ่งอื่นใดที่จะยังคุณประโยชน์อย่างแท้จริงต่อชีวิตในปรโลกของเขา เหมือนกับยาเสพติดที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่เสพติดมัน ใครก็ตามที่ลุ่มหลงในวัตถุ ชื่อเสียง ตำแหน่งและทรัพย์สินเงินทอง สิ่งเหล่านี้จะทำให้เขาหมกมุ่นและทำให้เขากลายเป็นเครื่องเล่นของมันด้วยเช่นกัน มันจะทำให้เขาหัวเราะ ทำให้เขาร้องไห้ ทำให้เขาโกรธเกลียดหรือพึงพอใจ

 

        ดุนยา (โลกนี้) แม้จะมีเสน่ห์เย้ายวนและความสวยงาม แต่มันหาใช่สิ่งอื่นใดไม่ นอกจากเป็นได้แค่เพียงของเล่นเท่านั้น ของเล่นนั้นเป็นของสำหรับเด็กๆ แต่มนุษย์บางคนมีพฤติกรรมและอุปนิสัยใจคอแบบเด็กๆ จนกระทั่งถึงวัยแก่ชรา ดั่งสำนวนคำพูดของท่านอายะตุลลอฮ์ญะวดี ออมูลี ที่กล่าวว่า : “บางคนในความเป็นจริงแล้ว เขาคือเด็กวัยแปดสิบ กล่าวคือ อายุแปดสิบแล้ว ก็ยังเล่นของเล่นอยู่”

 

      ในทางตรงกันข้าม คัมภีร์อัลกุรอานถือว่า คนมีสติปัญญานั้น จะผูกใจอยู่กับสิ่งที่คงทนยั่งยืนและถาวร และจะขวนขวายพยายามเพื่อสิ่งนั้น คนที่ดำเนินชีวิตด้วยความฉลาดหลักแหลมและมีวิสัยทัศน์ (บะซีเราะฮ์) นั้น โลกนี้และวัตถุปัจจัยจะเป็นแค่เพียงสื่อในการพัฒนาสู่ความสมบูรณ์ทางด้านจิตวิญญาณเท่านั้น เหมือนดั่งที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :

 

الدّنیا مزرَعةُ الآخرةِ

“โลกนี้คือไร่สวนแห่งปรโลก” (4)

 

       แต่หากใครก็ตามที่หลงลืมเป้าหมายที่แท้จริงของการสร้างของพระผู้เป็นเจ้า และทำให้ตัวเองหมกมุ่นอยู่กับสื่อต่างๆ ที่เป็นของเล่นและเพลิดเพลินอยู่กับมัน เขาจะพบกับความขาดทุน คนที่ปรารถนาจะขัดเกลาตนเองนั้นจำเป็นที่เขาจะต้องต่อสู้กับดุนยา (โลกนี้) เพื่อปลดปล่อยตัวเองจากของเล่นและสื่อที่ทำให้เกิดความหมกมุ่นและเพลิดเพลินดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) จำเป็นจะต้องนำเอางานและการกระทำต่างๆ ของตนเองวางลงในตราชูแห่งพระผู้เป็นเจ้า เพื่อจะได้รับรู้ว่า สิ่งนี้มันคือดุนยา (โลกนี้) หรือมันคือ อาคิเราะฮ์ (ปรโลก)


แหล่งที่มา :

 

(1) อัลกาฟี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 136

(2) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ซุบฮี ซอและห์, หน้าที่ 423

(3) อัลกุรอาน บทมุฮัมมัด โองการที่ 36

(4) ตันบีฮุลค่อวาฏีร, เล่มที่ 1, หน้าที่ 183


เรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ