เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

สองปัจจัยสำคัญในการดำเนินสู่ความผาสุกในชีวิต

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5


สองปัจจัยสำคัญในการดำเนินสู่ความผาสุกในชีวิต

 

กฎสากลประการหนึ่งที่ดำเนินอยู่ในโลกแห่งการดำรงอยู่นี้ นั่นก็คือความมีศรัทธามั่น (อีหม่าน) ต่อพระเจ้าและการระวังรักษาตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตน) คือปัจจัยสำคัญของการเพิ่มพูนเนี๊ยะอ์มัต (ปัจจัยอำนวยสุข) ต่างๆ ทั้งในด้านวัตถุและจิตวิญญาณ

 

      ในหลายโองการของคัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนในรูปสำนวนต่างๆ ถึงแบบแผน (ซุนนะฮ์) ของพระเจ้าในข้อนี้ที่ว่า ความมีศรัทธามั่น (อีหม่าน) ต่อพระเจ้าและการระวังรักษาตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตน) คือปัจจัยสำคัญของการเพิ่มพูนเนี๊ยะอ์มัต (ปัจจัยอำนวยสุข) ต่างๆ ทั้งในด้านวัตถุและจิตวิญญาณ ตัวอย่างเช่นในอัลกุรอานบทอัลอะอ์รอฟได้กล่าวว่า

 

وَلَوْ أَنَّ أَهْلَ الْقُرَى آمَنُواْ وَاتَّقَواْ لَفَتَحْنَا عَلَیْهِم بَرَكَاتٍ مِّنَ السَّمَاء وَالأَرْضِ وَلَـكِن كَذَّبُواْ فَأَخَذْنَاهُم بِمَا كَانُواْ یَكْسِبُونَ

 

“และหากชาวเมืองมีศรัทธาและมีความยำเกรงแล้ว แน่นอนเราก็จะเปิด (ประตู) ความจำเริญต่างๆ จากฟากฟ้าและแผ่นดินให้แก่พวกเขา แต่ทว่าพวกเขาได้ปฏิเสธ ดังนั้นเราจึงลงโทษพวกเขาด้วยสิ่งที่พวกเขาขวนขวายไว้” (1)

 

     ในโองการนี้ได้แนะนำให้เรารับรู้ว่า การประทานเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปรานและปัจจัยอำนวยสุข) จากฟากฟ้าและแผ่นดินนั้น ขึ้นอยู่กับชาวเมืองและประชาชนในสังคมที่มีศรัทธา (อีหม่าน) และเชื่อฟังปฏิบัติตามพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง การปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้าและศาสนา คือสาเหตุบั่นทอนความจำเริญและปัจจัยอำนวยสุขต่างๆ และเป็นบ่อเกิดของการลงโทษของพระผู้เป็นเจ้า ในซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ได้อธิบายถึงความจริงข้อนี้ไว้เช่นเดียวกันในอีกสำนวนคำพูดหนึ่ง โดยกล่าวว่า

 

و لَوْ أَنَّهُمْ أَقَامُواْ التَّوْرَاةَ وَالإِنجِیلَ وَمَا أُنزِلَ إِلَیهِم مِّن رَّبِّهِمْ لأكَلُواْ مِن فَوْقِهِمْ وَمِن تَحْتِ أَرْجُلِهِم مِّنْهُمْ أُمَّةٌ مُّقْتَصِدَةٌ وَكَثِیرٌ مِّنْهُمْ سَاء مَا یَعْمَلُونَ

 

“และหากพวกเขาได้ดำรงไว้ซึ่งคัมภีร์เตารอตและอินญีล และสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่พวกเขา จากองค์พระผู้อภิบาลของพวกเขาแล้ว แน่นอนพวกเขาย่อมได้บริโภคจากเบื้องบนของพวกเขาและจากใต้เท้าของพวกเขา (กล่าวคือจะได้รับความจำเริญจากฟากฟ้าและแผ่นดิน) ในหมู่พวกเขานั้นมีกลุ่มหนึ่งที่ดำรงอยู่ในทางสายกลาง (และเป็นผู้ได้รับความสำเร็จ) และมากมายจากพวกเขานั้นช่างเลวร้ายยิ่ง สิ่งที่พวกเขากระทำกัน” (2)

 

     ในโองการนี้ได้แนะนำให้เรารับรู้ว่า การดำรงไว้ซึ่งคำแนะสั่งสอนต่างๆ ของบรรดาคัมภีร์แห่งฟากฟ้าและพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าในสังคม คือเงื่อนไขของการประทานเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปรานและปัจจัยอำนวยสุข) จากฟากฟ้าและแผ่นดิน ซึ่งแน่นอนยิ่งว่า ย่อมหมายรวมถึงความมีศรัทธามั่น (อีหม่าน) ต่อพระผู้เป็นเจ้าและการระวังรักษาตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตน) ด้วย เพราะหากปราศจากความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อบรรดาคัมภีร์แห่งฟากฟ้าแล้ว การดำรงและการปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอนของคัมภีร์และพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้

 

    ในอีกด้านหนึ่ง การดำรงและการน้อมนำเอาพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าและบทบัญญัติต่างๆ ของศาสนามาปฏิบัติจริงในสังคมนั้น โดยตัวของมันเองนับได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความยำเกรง (ตักวา) และความมีศรัทธามั่น

 

    ดังนั้นนอกเหนือไปจากการมีความศรัทธา (อีหม่าน) และการกระทำที่ดีงาม (อะมั้ลซอและห์) แล้ว คัมภีร์อัลกุรอานยังได้เน้นย้ำถึงการดำรงและการนำเอาหลักคำสอนของศาสนามาใช้ปฏิบัติจริงในสังคม

 

     ในอีกโองการหนึ่ง การยืนหยัด (อิสติกอมะฮ์) ในการนำเอาคำแนะนำสั่งสอนต่างๆ ของศาสนามาใช้ปฏิบัติ ได้ถูกเพิ่มเข้าไปเป็นเงื่อนไขหรือปัจจัยอีกประการหนึ่ง พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสไว้ในอัลกุรอานบทอัลญินว่า

 

وَأَلَّوِ اسْتَقَامُوا عَلَى الطَّرِیقَةِ لَأَسْقَیْنَاهُم مَّاء غَدَقًا

 

“และหากพวกเขายืนหยัดอย่างมั่นคงอยู่บนแนวทางที่เที่ยงตรง (ทั้งในด้านความเชื่อและการปฏิบัติ) แน่นอนเราก็จะให้พวกเขาได้ดื่มน้ำอันอุดม (มีปัจจัยอำนวยสุขที่กว้างขวาง)” (3)

 

    ดังเช่นที่ มัรฮูมอัลลามะฮ์ฏอบาฏอบาอี ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจน ที่ว่า จุดประสงค์ของคำว่า الطَّرِیقَةِ (แนวทางที่เที่ยงตรง) ในที่นี้นั้น ก็คือแนวทางของอิสลาม และจุดประสงค์จากคำว่า  لَأَسْقَیْنَاهُم مَّاء غَدَقًا  (เราก็จะให้พวกเขาได้ดื่มน้ำอันอุดม) นั่นเป็นการเปรียบเปรยให้เห็นว่า การมีริษกีและปัจจัยอำนวยสุขที่กว้างขวางจะเกิดขึ้นกับพวกเขา (4) กล่าวคือ ถ้าหากมุสลิมมีความศรัทธามั่นในพระผู้เป็นเจ้าและศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) อย่างแท้จริง ดำเนินตามแนวทางของอิสลามและปฏิบัติตามบทบัญญัติของอิสลามอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่คำกล่าวอ้างด้วยวาจาคำพูดเพียงเท่านั้นแล้ว พระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำให้เกิดความกว้างขวางขึ้นในสังคมอิสลาม การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ ด้านวิทยาการและด้านวัฒนธรรมจะบังเกิดขึ้น และประชาชนจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบาย

 


เชิงอรรถ :

 

[1] อัลกุรอานบท อัลอะอ์รอฟ โองการที่ 96
[2] อัลกุรอานบท อัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 66
[3] อัลกุรอานบท อัลญินโองการที่ 16
[4] ตัฟซีรมีซาน, อัลลามะฮ์มุฮัมมัดฮุเซน ฏอบาฏอบาอี, เล่มที่ 20, หน้าที่ 46


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม