25 มุฮัรรอมชะฮาดัตอิมามอะลี ซัยนุลอาบิดีน (อ.)

25 มุฮัรรอมชะฮาดัตอิมามอะลี ซัยนุลอาบิดีน (อ.)

ข้อมูลจำเพาะ


ชื่อ : อะลี
ฉายานาม : ซัยนุลอาบิดีน, ซัยยิดุลมุตตะกีน, อิมามุลมุอ์มีนีน, ซัจญาด, ซัยนุศศอลิฮีน
สมญานาม : อบูมุฮัมมัด
ชื่อบิดา : อิมามฮูเซน บิน อะลี (อ.)
ชื่อมารดา : ชาฮ์บานู หรือ ชาฮ์ซะนอน
ปู่ : อิมามอะลี อิบนิ อบีฏอลิบ (อ.)
กำเนิด : 5 ชะอ์บาน ฮ.ศ. 28
ช่วงเวลาเป็นอิมาม : 10 ปี
พลีชีพ : 25 มุฮัรรอม ฮ.ศ.95
สุสาน : บะกีอ์ ณ นครมะดีนะฮ์

 

ในสมัยอุมัร บิน ค็อฏฏ็อบ กองทัพมุสลิมสามารถพิชิตเปอร์เซีย (อิหร่าน) สำเร็จ ทหารมุสลิมได้นำเชลยสงครามมายังเมืองมะดีนะฮ์ ซึ่งในจำนวนนั้นมีราชธิดาของ “ยัซดิเกริด” จักรพรรดิเปอร์เซียรวมอยู่ด้วย

 

บรรดามุสลิมได้ประชุมหารือกันที่มัสญิดในเรื่องของนาง คอลีฟะฮ์ต้องการนำนางไปขาย แต่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ยับยั้งไว้ และเสนอว่าควรปล่อยพวกนางเป็นอิสระและจัดการสมรสกับผู้ที่พวกนางประสงค์

 

ราชธิดาองค์หนึ่งก็ได้เลือกอิมามฮูเซน (อ.) เป็นคู่สมรส และอีกคนหนึ่งเลือกอิมามฮาซัน ท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ผู้เป็นบิดาได้กำชับว่าให้ปฏิบัติต่อพวกนางอย่างดี โดยกล่าวกับอิมามฮูเซนว่า “โอ้อบูอับดุลลอฮ์เธอผู้นี้จะทำให้กำเนิดบุคคลที่ประเสริฐที่สุดสำหรับมนุษยชาติ”

 

ต่อมานางก็ได้ใช้กำเนิดอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) แก่อิมามฮูเซน (อ.) ซึ่งท่านให้สมญานามแก่เขาว่า “บุตรของสองชาติตระกูลที่ดีเลิศ” หมายความว่า เผ่าที่เลิศในหมู่ชาวอาหรับนั้นได้แก่เผ่ากุเรช และจากเผ่ากุเรชก็คือตระกูลบนีฮาซิม ส่วนเผ่าที่ดีเลิศในหมู่ผู้ไม่ใช่อาหรับทั้งหลายได้แก่ชาวเปอร์เซีย

 

ในปี ฮ.ศ.61 ท่านอยู่ร่วมในเหตุการณ์ที่กัรบะลาอ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งโศกนาฏกรรมของการสังหารหมู่ ท่านต้องสูญเสียบิดาของท่าน บรรดาลุงและอา, พี่ชายน้องชาย, ลูกพี่ลูกน้อง และมิตรสหายผู้เคร่งครัดของบิดาของท่าน และท่านต้องทนทุกข์กับการถูกจับกุมเป็นเชลยในอุ้งมือกองทัพที่ชั่วช้าของยะซีด

 

เป็นพระประสงค์ของอัลลอฮฺที่ในวันแห่งอาชูรอ เมื่ออิมามฮุเซน(อ.) เข้ามาในกระโจมของท่านเพื่อกล่าวคำอำลาต่อครอบครัว ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.) นอนป่วยหนักจนแทบไม่รู้สึกตัว ท่านจึงรอดจากการสังหารหมู่ที่กัรบะลาอ์ในวันนั้นมาได้

 

ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.) มีชีวิตอยู่อีกประมาณ 35 ปี หลังจากเหตุการณ์นั้น และในช่วงชีวิตที่เหลือทั้งหมดของท่าน ผ่านไปด้วยการนมาซและวิงวอนขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ และรำลึกถึงการพลีชีพของบิดาของท่าน

 

ด้วยการดำรงนมาซและวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺเป็นชีวิตจิตใจ และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการสุญูด(กราบสักการะต่ออัลลอฮฺ) ทำให้อิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.) ได้รับการเรียกขานอย่างแพร่หลายว่า “ซัจญาด” หรือผู้ดำรงการกราบกราน

 

ประชาชนหลายคนกล่าวว่า ท่านอิมาม(อ.) ใช้ชีวิตของท่านหลังเหตุการณ์ที่กัรบะลาไปกับการไว้อาลัย และร้องไห้ให้กับเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของท่าน เมื่อมีผู้ถามว่าทำไมท่านจึงร้องไห้มากมายเช่นนี้ ในเมื่อการพลีชีพเพื่อศาสนาเป็นการสืบทอดของอะฮ์ลุลบัยต์อยู่แล้ว ท่านตอบว่า

 

“แท้จริงแล้ว ฉันไม่ได้ร้องไห้ให้กับการสังหารครอบครัวของฉัน แต่ฉันร้องไห้ให้กับความอัปยศที่ทุกคนในครอบครัวของเราต้องประสบระหว่างการเดินทางไปดามัสกัสซึ่งมันเกินกว่าจะพรรณนาได้ ฉันร้องไห้ให้กับการเสื่อมเสียเกียรติของสตรีและเด็กๆ”

 

ประชาชนที่ได้ยินเรื่องราวเหล่านั้นก็จะพลอยร้องไห้ไปด้วย เมื่อเรื่องราวได้แพร่สะพัดออกไป นี่จึงเป็นหนทางในการบอกเล่าเรื่องราวแก่ประชาชนถึงแม้ว่าประชาชนจะไม่ต้องการรับรู้ ข่าวสารนี้เข้าไปถึงหัวใจของประชาชน และข่าวสารนี้ยังคงอยู่แม้จะผ่านไป 1,400 ปีแล้วก็ตาม

 

การใช้ชีวิตอย่างสงบ และเรียบง่ายของท่านอิมาม (อ) ไม่เป็นที่พอใจของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ที่โหดเหี้ยม พวกเขารู้สึกว่าท่านอิมาม(อ.) กำลังประสบความสำเร็จในการเผยแพร่สาส์นของอิมามฮุเซน(อ. วาลิด อิบนฺ อับดุลมาลิก ราชวงศ์แห่งซีเรีย จึงได้ลอบวางยาพิษท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ) ในเวลาต่อมา

 

อิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.) ถูกทำชะฮาดัต (ถูกสังหารในหนทางของพระเจ้า) ที่ นครมะดีนะฮ์ เมื่อวันที่ 25 มุฮัรรอม ฮ.ศ.95 บุตรชายคนโตของท่านคือ อิมามมุฮัมมัด บากิร (อ.) ได้ฝังท่านที่สุสานญันนะตุล บะกีอ์ เคียงข้างท่านอิมามฮะซัน (อ.) ลุงของท่าน

 


ขอขอบคุณเว็บไซต์ ahlulbaytonline.com