เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

เยาวชน ช่วงวัยการตอบแทนความดีต่อบิดามารดา

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

เยาวชน ช่วงวัยการตอบแทนความดีต่อบิดามารดา

 

การปกป้องตนเองจากความชั่วร้ายของบรรดาเยาวชนคนหนุ่มสาว ซึ่งในช่วงวัยนี้คือวัยแห่งความเบ่งบาน ความงดงาม หรือเป็นวัยที่จะต้องได้รับการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งเมื่อเราพูดถึงคนในวัยนี้เราจะพบว่า พวกเขาจะมีความคิดเป็นของตัวเอง มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง จึงต้องพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล และหากพวกเขาไม่ดื้อดึงหรือมีทิฐิมากจนเกินไป พวกเขาก็จะยอมจำนนโดยดุษฎี และพวกเขาก็จะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างผาสุกไพบูรณ์ ด้วยความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ์ (ซบ.)


      และแน่นอนการที่เยาวชนคนหนุ่มสาวจะมีคุณลักษณะเช่นนี้ได้นั้น จำเป็นที่เขาจะต้องได้รับการอบรมขัดเกลาจากครอบครัวมาก่อนหน้านี้ นั่นก็คือในช่วงวัยเด็กเรื่อยมา มิใช่มาเริ่มอบรมขัดเกลาเมื่อตอนที่รู้สึกว่าเขากำลังเดินทางผิด ซึ่งแน่นอนย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะบางคนถึงแม้ว่าเขาจะได้รับการดูแลขัดเกลามาตั้งแต่วัยเด็ก แต่พอโตมาได้ระดับหนึ่ง เมื่อเข้าสู่สังคมใหม่ๆ ได้พบเจอสิ่งแปลกใหม่ที่ดึงดูดเขาให้ไปสู่สิ่งแปลกปลอมนั้น แม้จะด้วยกับสิ่งดีงามที่เคยถูกฝึกฝนมาระดับหนึ่ง ก็ยังทำให้เขาก็พร้อมที่จะนำตัวเองไปสู่ความแปดเปื้อนได้ แต่กระนั้นก็ตาม ก็เป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) สำหรับบิดามารดา ที่จะต้องทำหน้าที่ของบุพการีในการอบรมขัดเกลาบุตรหลานของตัวเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้


      และ ณ จุดนี้ เราจะขอกล่าวแก่เยาวชนคนหนุ่มสาวว่า การที่เราได้ถือกำเนิดมาเป็นมนุษย์นั้น ถือเป็นความประเสริฐและมีเกียรติ และการที่เขาได้ถือกำเนิดเกิดมาในแนวทางอิสลามซึ่งเป็นสายธารอันบริสุทธิ์ และได้รับการต้อนรับด้วยเสียงแห่งการปฏิญาณต่อความเป็นเอกภาพของอัลลอฮ์ (ซบ.) นั่นก็คือเสียง “อะซาน” และ “อิกอมะฮ์” (การประกาศเชิญชวนสู่การละหมาด ที่หูขวา และ การกล่าวก่อนเริ่มละหมาด ด้วยเสียงเบาๆ ที่หูข้างซ้ายของเด้กทารกทันทีที่เด็กคลอดออกมา) ยิ่งถือเป็นเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่ที่สุด


      สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะนำพามนุษย์ไปสู่ความผาสุกไพบูรณ์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้าได้นั่นก็คือ การทำดีและทดแทนบุญคุณของบิดามารดา ซึ่งแน่นอนในทัศนะของอิสลามถือว่า บิดามารดามีสิทธิและฐานันดรที่ยิ่งใหญ่ ถึงขนาดที่ว่า ภายหลังจากการศรัทธามั่นและปฏิบัติตามคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่เขาจะต้องประพฤติปฏิบัติดีต่อบิดามารดา ซึ่งอัลกุรอานได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า


وَقَضَىٰ رَبُّكَ أَلَّا تَعْبُدُوا إِلَّا إِيَّاهُ وَبِالْوَالِدَيْنِ إِحْسَانًا ۚ


“องค์อภิบาลของเจ้าได้บัญชาไว้ว่า พวกเจ้าทั้งหลายจงอย่านมัสการสิ่งใดนอกจากพระองค์เพียงเท่านั้น และจงทำความดีต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสอง”
(อัลกุรอานบทอัลอิสรออ์ โองการที่ 23)

 


ความสำคัญในการทำความดีต่อบิดามารดา


     ในทัศนะของอิสลามการทำดีต่อบิดามารดามีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งความสำคัญนี้ได้ถูกกล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน เคียงข้างกับการบัญชาให้เคารพภัคดีและการออกห่างจากการตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้า เป็นจำนวนถึง 60 ครั้ง  และเช่นเดียวกัน การปฏิบัติดีต่อพ่อแม่ถือเป็นสิ่งที่จำเป็น (วาญิบ) การไม่เอาใจใส่และการเพิกเฉย และการละทิ้งพวกท่านนั้น อิสลามถือว่าเป็นบาปที่ใหญ่หลวงนัก การทำดีต่อบิดามารดานั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือสื่อหนึ่งของการแสดงการขอบคุณต่อทุกๆ ความดีงามและการเสียสละทั้งหลายของพวกท่าน คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงสาเหตุของความจำเป็นที่จะต้องทำดีต่อบุพการีไว้ว่า


 وَوَصَّيْنَا الْإِنسَانَ بِوَالِدَيْهِ إِحْسَانًا ۖ حَمَلَتْهُ أُمُّهُ كُرْهًا وَوَضَعَتْهُ كُرْهًا ۖ وَحَمْلُهُ وَفِصَالُهُ ثَلَاثُونَ شَهْرًا ۚ حَتَّىٰ إِذَا بَلَغَ أَشُدَّهُ وَبَلَغَ أَرْبَعِينَ سَنَةً


“และเราสั่งแก่มนุษย์ให้ทำดีแก่ผู้ให้กำเนิดทั้งสองของเขา ซึ่งมารดาของเขาได้ตั้งครรภ์เขามาด้วยกับความทุกข์ทรมานเป็นที่สุด และได้คลอดเขามาด้วยกับความยากลำบาก และการตั้งครรภ์เขาจนถึงการหย่านมแก่เขานั้น ใช้เวลาประมาณถึง 30 เดือน จนกระทั่งพวกเขาบรรลุสู่วัยฉกรรจ์และบรรลุสู่วัย 40 ปี”


(อัลกุรอานอัลอะฮ์กอฟ โองการที่ 15)      


      การ “ญิฮาด” คือกฎบังคับหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในหลักปฏิบัติของศาสนา (ฟูรูอุดดีน) ซึ่งบางครั้งก็เป็นหน้าที่บังคับเหนือมุสลิมทุกคน และบางครั้งหากมีกำลังเพียงพอแล้ว หน้าที่นี้ก็ไม่เป็นที่วาญิบเหนือบุคคลอื่น แต่การอาสาสมัครในการออกไปต่อสู้ (ญิฮาด) ถือเป็นผลบุญอันยิ่งใหญ่ แต่การกระทำเช่นนี้ หากผู้เป็นบิดามารดาไม่พึงพอใจหรือไม่อนุญาต ลูกๆ ก็ไม่สามารถที่จะออกไปสู่สนามรบได้


      อิมามซอดิก (อ.) กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า  : มีชายผู้หนึ่งมาหาท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) และกล่าวว่า “ฉันเป็นคนหนุ่มที่มีความแข็งแรงและปรารถนาที่จะออกไปญิฮาด แต่มารดาของฉันไม่พอใจ ฉันควรจะทำอย่างไรดี” ศาสนทูต (ซ็อลฯ)  กล่าวกับเขาว่า “จงกลับไปหาแม่ของเจ้าและจงอยู่กับท่าน ฉันขอสาบานต่อพระผู้ซึ่งได้แต่งตั้งฉันยังตำแหน่งนบูวะฮ์นี้ว่า การที่เจ้าจะอยู่ใกล้ชิดกับมารดาของเจ้าเพียงแค่ค่ำคืนเดียวนั้น ดีกว่าการที่เจ้าจะออกไปทำการญิฮาดเป็นเวลาหนึ่งปี”


     ในหลักปฏิบัติ (อะห์กาม) ของอิสลาม และคำชี้ขาด (ฟัตวา) ของบรรดามัรเญียะอ์ตักลีดได้กล่าวว่า “อามั้ลใดๆ ก็ตามที่เป็นมุสตะฮับ ซึ่งการปฏิบัติมันนั้น เป็นสิ่งที่ดีงาม แต่หากไม่สอดคล้องกับความต้องการของบิดามารดา อิสลามก็จะมีคำวินิจฉัยให้ลูกๆ ปฏิบัติตามความต้องการของบิดามารดา ก่อนการปฏิบัติอามั้ลที่เป็นมุสตะฮับนั้น” การสร้างความพึงพอใจหรือความเบิกบานใจให้แก่บิดามารดาคือหน้าที่ที่สำคัญของลูกๆ ทุกคน มีรายงานจากศาสนทูตแห่งลัลลอฮ์ (ซ็อลฯ)  ซึ่งท่านกล่าวว่า “สวรรค์นั้นอยู่ใต้ฝ่าเท้าของมารดา”


     จากรายงานบทนี้เราสามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ว่า หากลูกๆ ไม่สร้างความพึงพอใจหรือไม่ปฏิบัติตามหรือไม่ให้เกียรติต่อมารดา แน่นอนเขาก็จะไม่ได้เข้าสู่สรวงสวรรค์ ซึ่งการที่เขาจะเข้าสู่สรวงสวรรค์ได้นั้นมีเงื่อนไขต่างๆ มากมาย และความพึงพอใจของมารดาคืออีกเงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญ หากมนุษย์ปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนาอย่างเคร่งครัด แต่เขาไม่ประพฤติปฏิบัติตาม หรือทำตัวไม่ดี ก้าวร้าว ด่าทอ ทำกริยามารยาทที่เลวทรามต่อบิดามารดาของตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ลูกๆ มิได้ประพฤติปฏิบัติสิ่งใดเลย ที่จะเป็นการสร้างความสุขและความพึงพอใจให้แก่พวกท่าน แน่นอนที่สุด อามั้ลความดีต่างๆ ของเขาก็จะไม่ถูกตอบรับจากอัลลอฮ์ (ซบ.)


การทำดีต่อบิดามารดาในทัศนะของอัลกุรอานและคำรายงาน (อัลฮะดีษ)


     การเคารพและการให้เกียรติต่อบิดามารดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมารดา ในอัลกุรอานและคำรายงานได้ตอกย้ำไว้อย่างมากมาย เช่นเดียวกับการนมาซ ซึ่งเราจะนำเสนอเป็นบางส่วน ณ ที่นี้


 .إِمَّا يَبْلُغَنَّ عِندَكَ الْكِبَرَ أَحَدُهُمَا أَوْ كِلَاهُمَا فَلَا تَقُل لَّهُمَا أُفٍّ وَلَا تَنْهَرْهُمَا وَقُل لَّهُمَا قَوْلًا كَرِيمًا


“แม้นว่ามีคนหนึ่งจากทั้งสองหรือทั้งสองคนก็ตาม ได้บรรลุสู่วัยชราอยู่กับเจ้า เจ้าก็จงอย่ากล่าวแก่ทั้งสองว่าอุฟ (คำอุทานที่แสดงถึงความเบื่อ น่ารำคาญ และรังเกียจ) เจ้าอย่าขู่ตะคอกแก่ทั้งสอง และจงพูดกับทั้งสองด้วยคำพูดที่ยกย่อง”


(อัลกุรอาน บทอัลอิสรออ์ โองการที่ 23)


      อิมามซอดิก (อ) อรรถาธิบายโองการนี้ว่า “ถ้าหากมีคำใดที่น้อยไปกว่าหรือเบากว่าคำว่า “อุฟ” แน่นอนอัลลอฮ์ (ซบ ) ก็จะเปรียบเทียบกับคำๆ นั้น” ซึ่งแน่นอนที่สุด คำว่า “อุฟ” คือคำที่เบาที่สุดที่แสดงถึงความไม่ให้เกียรติและแสดงความน่ารำคาญต่อบิดามารดา


2). สิ่งที่เลวร้ายที่สุดทางด้านความเชื่อความศรัทธาหรือทางด้านการปฏิบัติ นั่นก็คือ การตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) ซึ่งอัลกุรอานได้กล่าวว่า


وَإِن جَاهَدَاكَ عَلَىٰ أَن تُشْرِكَ بِي مَا لَيْسَ لَكَ بِهِ عِلْمٌ فَلَا تُطِعْهُمَا ۖ وَصَاحِبْهُمَا فِي الدُّنْيَا مَعْرُوفًا


“แต่หากพวกเขาทั้งสองบังคับเจ้าให้ตั้งภาคีต่อข้า ในสิ่งที่เจ้าไม่รู้มาเลยว่า (มันอาจจะเป็นภาคีได้) เจ้าก็จงอย่าเชื่อฟังเขาทั้งสอง แต่เจ้าก็จงปฏิบัติต่อทั้งสองในโลกนี้อย่างมีคุณธรรม”


(อัลกุรอาน บทอัลลุกมาน โองการที่ 15)


     ซึ่งแน่นอนถึงแม้ว่าพวกท่านจะไม่ได้เป็นผู้ศรัทธาแต่ก็ถือว่าเป็นวาญิบที่จะต้องกระทำดีต่อพวกท่าน

 

การขอบคุณต่อบิดามารดา


     บนพื้นฐานของสติปัญญาและสัญชาตญาณที่ดีงามของมนุษย์ เขาปรารถนาที่จะขอบคุณในความโปรดปรานและความดีงามที่มาประสบกับพวกเขา ซึ่งคุณลักษณะเช่นนี้แม้กระทั่งในสัตว์เดรัจฉานก็สามารถพบเห็นได้ หากมีใครให้อาหารกับมัน มันก็จะสั่นหัวหรือกระดิกหางเพื่อแสดงการขอบคุณ และผู้ที่ประทานความโปรดปราน (เนียะอ์มัต) อันเหนือคณานับให้กับมนุษยชาติ นั่นก็คืออัลลอฮ์ (ซบ.) และการขอบคุณต่อบิดามารดานั้น พระองค์ได้กล่าวไว้เคียงข้างกับการขอบคุณต่อพระองค์ผู้ทรงสร้างว่า


وَفِصَالُهُ فِي عَامَيْنِ أَنِ اشْكُرْ لِي وَلِوَالِدَيْكَ إِلَيَّ الْمَصِيرُ


 “เจ้าจงขอบคุณและกตัญญูต่อข้า และต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสองของเจ้าเถิด”


(อัลกุรอาน บทลุกมาน โองการที่ 14)


      จากโองการนี้เป็นที่แน่ชัดว่า การขอบคุณต่อบิดามารดาเป็นวาญิบ เช่นเดียวกับการขอบคุณต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) ส่วนการเณรคุณและการเพิกเฉยก็คือผู้ปฏิเสธ (กุฟร์) เช่นเดียวกับการก้มกราบ (ซูญูด) ต่อศาสดาอาดัม (อ) ซึ่งถือว่าเป็นการซูญูดต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) แต่มารร้าย (อิบลิส) กลับไม่ปฏิบัติตาม มันก็เลยถูกขับออกจากความเมตตาของอัลลอฮ์ (ซบ.) ชั่วกัปชั่วกัลป์


      ท่านรอเฆ็บ อิสฟาฮานี ได้เขียนบทความไว้ว่า การกตัญญูและการขอบคุณนั้นมีอยู่ 3 ประการ


 

1.การขอบคุณด้วยกับหัวใจ :คือการรำลึกอย่างสม่ำเสมอถึงความดีงามความและโปรดปรานของบุคคลที่อยู่ในหัวใจตลอดเวลา


2.การขอบคุณด้วยกับวาจา : ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในมนุษย์ทุกคน คือการกล่าวถึงความดีงามของบุคคลคนนั้นๆ นั่นก็คือการขอบคุณด้วยกับวาจานั่นเอง


3.การขอบคุณด้วยกับการปฏิบัติ : คือการทดแทนบุญคุณด้วยกับการปฏิบัติความดีงามเท่าที่กำลังความสามารถจะกระทำได้    

              
ประเภทต่างๆ ของการตอบแทนความดี


     การตอบแทนความดีมิใช่เพียงแค่การให้ที่เป็นสิ่งของหรือเงินทอง บรรดาเยาวชนของเราอาจเข้าใจผิดคิดว่า ตอนนี้ตนไม่มีความสามารถในการที่จะหาเงินทองมาได้ ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะทดแทนความดีงามของบิดามารดาได้ บรรดาเยาวชนทั้งหลาย พึงรู้ไว้เถิดว่า การช่วยเหลือกิจการงานต่างๆ และการเชื่อฟังคำสั่งสอนของบิดามารดา นั่นก็คือการทดแทนบุญคุณต่อบิดามารดาที่บรรดาเด็กๆ อย่างพวกท่านสามารถกระทำได้ การดูแลปฏิบัติต่อท่านยามเมื่อท่านเจ็บป่วยไม่สบาย หรือแม้กระทั้งการวิงวอนขอพร (ดุอาอ์) ให้กับพวกท่าน สิ่งเหล่านี้ก็คือการตอบแทนคุณงามความดีของท่านทั้งสิ้น แน่นอน มันเป็นการทดแทนบุญคุณที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงพึงพอพระทัยมากที่สุด ดังที่อัลกุรอานได้กล่าวว่า


وَاخْفِضْ لَهُمَا جَنَاحَ الذُّلِّ مِنَ الرَّحْمَةِ وَقُل رَّبِّ ارْحَمْهُمَا كَمَا رَبَّيَانِي صَغِيرًا


“และเจ้าจงลดปีกแห่งความนอบน้อมแด่ทั้งสองด้วยความเมตตา และจงกล่าวขอพรให้แก่ทั้งสองว่า โอ้องค์พระผู้อภิบาลโปรดเมตตาแด่ท่านทั้งสอง ประดุจเดียวกับที่ท่านทั้งสองได้ชุบเลี้ยงข้าพเจ้ามาแต่เยาว์วัย”


(อัลกุรอาน บทอัลอิสรออ์ โองการที่ 24)


     โอ้ บรรดาเยาวชนผู้มีเกียรติทั้งหลาย การทำความดีต่อบิดามารดาคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่จะนำพวกท่านไปสู่ความดีงาม ความผาสุกไพบูรณ์ทั้งในโลกนี้ (ดุนยา) และโลกหน้า (อาคีเราะฮ์) ดังนั้น พวกท่านจงรำลึกถึงอยู่เสมอว่า บิดามารดาคือบุคคลที่สมควรอย่างยิ่งที่เราจะต้องทำดีต่อท่านอย่างมากมาย

 

บทความโดย : อามีนะฮ์ ประดับญาติ

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม