ความสูงส่งทางด้านวิชาการของอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ)

ความสูงส่งทางด้านวิชาการของอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ)


มีหลักฐานอย่างมากมายที่บ่งบอกถึงความสูงส่งทางด้านวิชาการของท่านอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ) ซึ่งในกรณีดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการทั้งในสายสุนนี่และชีอะฮ์ บรรดานักวิชาการที่ยิ่งใหญ่หลายๆ ท่านต่างยกย่อง และเลื่อมใสในความเป็นผู้รู้ของท่านอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ)

 

อะบูฮะนีฟะฮ์ ซึ่งเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงของพี่น้องมุสลิมสุนนี่นิกายฮานาฟีย์ ก็เป็นท่านหนึ่งที่ยกย่องสรรเสริญความรอบรู้ในทางวิชาการของอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ) อะบูฮะนีฟะฮ์ ได้กล่าวในครั้งหนึ่งว่า “ฉันไม่เคยเห็นนักวิชาการท่านใดเลย ที่จะมีความรอบรู้ไปมากกว่า ญะอ์ฟัร อิบนิ มุฮัมมัด”

 

มาลิก บินอานัส ผู้นำที่มีชื่อเสียงของพี่น้องมุสลิมสุนนี่นิกายมาลิกี ก็เป็นอีกนักวิชาการคนหนึ่ง ที่ยอมรับเลื่อมใสในตัวของท่านอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ) ท่านได้กล่าวว่า “ฉันได้ไปมาหาสู่กับญะอ์ฟัร อิบนิ มุฮัมมัด ในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งฉันจะเห็นท่านในสามอากัปกิริยาเท่านั้น

 

คือไม่ก็นมาซ ไม่ก็ถือศีลอด ไม่ก็อ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน และฉันไม่เคยเห็นท่านรายงานวจนะโดยที่ปราศจากการมีนำวุฎุอ์แม้แต่ครั้งเดียว ในด้านความรู้ การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า และความยำเกรงนั้นคงไม่มีผู้ใดพบเห็น หรือได้ยิน หรือมีความคิดอยู่ในหัวใจว่า มีผู้อื่นที่ประเสริฐไปกว่า ญะอ์ฟัร บิน มุฮัมมัดอีกได้”

 

เชคมุฟีดบันทึกไว้ว่า “วิชาการที่ถูกรายงานจากท่านอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ) มีมากถึงขั้นว่า ประชาชนได้กล่าวกันอย่างมากมาย และกิตติศัพท์นั้นก็แพร่หลายไปทั่วสารทิศ และยังไม่มีลูกหลานของท่านคนใดที่ได้กล่าวเรื่องราวแห่งวิชาการความรู้ได้มากเทียเท่ากับท่านอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ) ได้”

 

อิบนีฮะญัร ฮัยตะมีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหมู่นักวิชาการที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกมุสลิมสุนนี่ เขาได้บันทึกว่า “มีการอ้างรายงานวิชาการมากมายของท่าน (อิมามญะอ์ฟัร ซอดิก) ถึงขั้นที่ประชาชนต่างพูดกันถึงกิตติศัพท์นี้ ซึ่งได้แพร่หลายไปทั่วทุกสารทิศ และบรรดาผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในด้านนิติศาสตร์และรายงานวจนะ (ฮะดีษ) เช่น ยะฮ์ยา อิบนิซะอีด, อิบญะรีฮ์, มาลิก, ซุฟยาน อิบนิ ซูรี, ซุฟยาน อิบนี อุยัยนะฮ์, อะบูฮะนีฟะฮ์, ชุอ์บะฮ์, อัยยูบ ซะญิซตานี ต่างก็ได้รายงานฮะดีษจากท่าน”

 

อะบู บะฮร์ ญาฮิศ เป็นอีกหนึ่งนักวิชาการที่โด่งดังของพี่น้องสุนนี่ในศตวรรษที่ 3 กล่าวว่า “ญะอ์ฟัร อิบนิ มุฮัมมัด คือบุคคลที่ได้ทำให้โลกนี้เต็มไปด้วยวิชาการและความรู้ และกล่าวกันว่าอะบูฮะนีฟะฮ์ , อะบูซุฟยาน ซูรีย์ เป็นลูกศิษย์ของท่าน และการเป็นลูกศิษย์ของเขาทั้งสองนี้ก็เพียงพอแล้วในการพิสูจน์ถึงความสูงส่งทางด้านวิชาการของท่าน”

 

ซัยยิด อะมีร อาลี ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่โด่งดังร่วมสมัย เขาได้ชี้ให้เห็นถึงกลุ่มนิกายต่างๆ และสำนักคิดต่างๆ ทางปรัชญาในสมัยการปกครองของราชวงศ์อุมาวีย์ว่า “คำวินิจฉัยต่างๆ และทัศนะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา จะถูกนำเสนอในรูปของปรัชญาได้ก็เฉพาะจากบรรดาทายาทของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) หรือบุคคลผู้ทรงความรู้จากตระกูลของท่านหญิงฟาติมะฮ์ (อ) เท่านั้น”

 

ณ ตรงนี้คงสมควรยิ่งที่จะกล่าวว่า ควารุ่งเรืองแห่งการศึกษาวิชาการความรู้ ไม่ว่าจะเป็นวิชาการทางด้านศาสนา ด้านปรัชญา นิติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ในนครมะดีนะฮ์ขณะนั้น คือสถาบันวิชาการแห่งลูกหลานของศาสดามุฮัมมัด (ศ) เหลนของท่านอะมีรุ้ลมุอ์มีนีน อิมามอะลี (อ) นามว่า อิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ) ได้ก่อตั้งขึ้นมา

 

ในสถาบันวิชาการความรู้แห่งนี้ ไม่เพียงแต่มีบุคคลที่ภายหลังจากท่านเมื่อจบออกไปแล้ว ได้ไปจัดตั้งนิกาย สำนักคิดต่างๆ ขึ้นมาเท่านั้น แต่ทว่ายังมีบรรดานักปรัชญา นักศึกษาที่เดินทางมาจากต่างแดนร่วมอยู่ด้วย

 

ฮะซันบัศรีย์ ผุ้ก่อตั้งสำนักคิดปรัชญาแห่งเมืองบัศเราะฮ์ และวาศิล อิบนิ อะฏอ เป็นหัวหน้านิกายมุอ์ตะซิละฮ์ ล้วนเป็นลูกศิษย์ของท่านอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ) ทั้งสิ้น

 

อิบนิ คอลลิกาน นักประวัติศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงได้บันทึกว่า “ท่านเป็นหนึ่งในบรรดา 12 อิมามในมุสลิมนิกายชีอะฮ์ และเป็นผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งจากวงศ์วานแห่งศาสดามุฮัมมัด (ศ) ท่านถูกขนานนามว่า “ซอดิก” เนื่องจากคำพูดของท่านสัตย์จริง และมีความถูกต้องแม่นยำเสมอ ความประเสริฐและความยิ่งใหญ่ของท่านมีมากกว่าเกินคำบรรยาย

 

อะบูมูซา ญาบิร ฮัยยาน ฏัรฏูซี เป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของท่าน ญาบิรได้เรียบเรียงหนังสือเล่มหนึ่งที่มีกระดาษเป็นพันหน้า ซึ่งวิชาการความรู้ที่อยู่ในนั้นล้วนมาจากญะอ์ฟัร ซอดิก ซึ่งทั้งหมดมี 50 เรื่องราวด้วยกัน”


ขอขอบคุณ เว็บไซต์ ahlulbaytonline.com