เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

อัคบารีย์ คือใคร ตอนที่ 5

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

อัคบารีย์ คือใคร ตอนที่ 5


โดย เชคอับดุลญะวาด สว่างวรรณ

 

มูลเหตุความขัดแย้งระหว่างอัคบารีย์กับอุซูลีย์


เชค อับดุลลอฮ์ บิน ซอและห์ อัส-สะมาฮีญีย์ มรณะ ฮ.ศ. 1135 กล่าวว่า สองแนวคิดนี้มีความแตกต่างกันถึง 43 ปัญหา ตัวอย่างเช่น


หนึ่ง-อัคบารีย์ถือว่า การนำ “กออิดะฮ์ อุซูลียะฮ์ คือกฏอิลมุลอุซูล” มาใช้นั้นจะทำให้ “ตัวบทฮะดีษ” นั้นต้องถูกละทิ้ง


อัลอิสติรอบาดีย์ถือว่า อะฮ์ลุซซุนนะฮ์คือพวกแรกที่เรียบเรียงตำราอุซูลุลฟิกฮ์นี้ขึ้นมาใช้ แล้วอุละมาอ์ชีอะฮ์ มุตะอัคคิรีน(ยุคหลัง)ก็ลอกเลียนแบบมา และฝ่ายอัคบารีย์ถือว่านั่นคือสิ่งน่าตำหนิสำหรับพวกเขา พวกอัคบารีย์จึงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวิชาอุซูลุลฟิกฮ์ เพราะพวกอุซูลีย์ได้ละเลยคำสั่งห้ามของบรรดาอิม่าม(อ)ในสิ่งนั้น และนี่คือข้ออ้างของฝ่ายอัคบารีย์


เชคยูสุฟ อัลบะห์รอนีย์ ได้แสดงทัศนะว่า หลักฐานเรื่องอิจญ์มาอ์ที่ฝ่ายชีอะฮ์ดำเนินอยู่บนมันนั้น ฝ่ายอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ก็มีความเห็นพ้องตรงกันในสิ่งนั้นเช่นกัน พวกอัคบารีย์จึงถือว่าพวกอุซูลีย์ไปเลียนแบบวิชาอุซุลุลฟิกฮ์มาจากฝ่ายอะฮ์ลุซซุนนะฮ์และนี่คือแม่บทของปัญหาทั้งหลาย


สอง-อัคบารีย์อ้างว่า อัศฮาบของบรรดาอิม่าม(อัศฮาบคือสานุศิษย์) จนมาถึงสมัยของเชคกุลัยนีย์และสมัยของเชคศอดูกนั้น พวกเขาปฏิบัติอามั้ลของพวกเขาตามรายงานฮะดีษต่างๆที่มาจากท่านรอซูลุลลอฮ์(ศ)และอะฮ์ลุลบัยต์(อ)

 


สิ่งที่ชัดเจนก็คือ การที่อัคบารีย์ปฏิเสธอุซูลุลฟิกฮ์ ต้นเหตุหลักคือ พวกเขาเห็นว่ามันจะทำให้ต้องละทิ้งตัวบทหลักฐานทางศาสนา(อะดิลละฮ์ชัรอียะฮ์) หรือหลักฐานด้านการฟัง(ซัมอียะฮ์-คือการเล่าฮะดีษ) โดยจะไปยึดเอากฏอะห์กามจากหลักฐานทางปัญญา(อะดิลละฮ์ อักลียะฮ์)แทน ซึ่งฝ่ายอัคบารีย์ถือว่า พวกอะฮ์ลุซซุนนะฮ์คือกลุ่มแรกที่ประดิษฐ์วิชานี้ขึ้นมาใช้


คาดว่า นักปราชญ์ชีอะฮ์ที่เข้าไปมีส่วนร่วมเกี่ยวกับวิชาอุซูลุลฟิกฮ์แบบซุนนี่ ที่บรรจุอยู่ในความคิดของพวกอัคบารีย์ก็คือ “ อิบนุ ญุนีด ” ฟะกีฮ์ชีอะฮ์ในอดีต เพราะเขามีความคิดเห็นตรงกับมัซฮับต่างๆของฝ่ายซุนนี่ในทัศนะเรื่อง กิยาส(การอนุมาน)


สาม-อัลอิสติรอบาดีย์ ได้ฉวยโอกาสการอุบัติวิชาการใหม่ขึ้นในวงการฟิกฮ์นั่นคือ อุซูลุลฟิกฮ์ เพื่อโจมตีและสร้างกระแสต่อฝ่ายชีอะฮ์ที่ยึดแนวคิดตรงกันข้ามกับเขา นั่นเป็นเพราะว่า อิลมุลอุซูล นั้นได้เติบโตขึ้นในหมู่ชีอะฮ์หลังการเร้นกายของอิม่ามมะฮ์ดี(อ)เนื่องจากเกิดความจำเป็นต้องพึ่งวิชานี้


ฝ่ายอัคบารีย์ถือว่า ตราบใดที่ยังมีบรรดาสานุศิษย์ของบรรดาอิม่าม(อ)อยู่ และยังมีบรรดานักปราชญ์ฟิกฮ์ในสำนักคิดของพวกเขาอยู่ พวกเขาก็ยังดำเนินต่อไปได้โดยไม่จำเป็นต้องไปพึ่งพาวิชาอุซูลุลฟิกฮ์ในเรื่องฟิกฮ์ของพวกเขา และพวกอัคบารีย์จึงต่อต้านวิชาอุซูลุลฟิกฮ์


ปัญหาขัดแย้งระหว่างสองแนวคิดนี้ที่ชัดเจนที่สุดคือ


1.การยึดความหมายซอเฮ็รของอัลกุรอ่าน เป็นหลักฐาน(حجية ظواهر الكتاب)


2.การยึดอิจญ์ม๊าอ์(มติของมหาชนอุละมาอ์) เป็นหลักฐาน(حجية الإجماع)


3.การยึดอักลีย์(สติปัญญา) เป็นหลักฐาน(حجية دليل العقل)


4.การยึดกฎอิสติศฮาบ(ถือสภาพเดิมเป็นหลัก) เป็นหลักฐาน
حجية الاستصحاب
 

5.การยึดกฏบะรออะฮ์(อัลลอฮ์ไม่เอาโทษกับคนไม่รู้ฮุก่มชัดเจน) เป็นหลักฐาน
حجية البراءة الشرعية
 

6.อัคบารีย์อ้างว่า ฮะดีษในกุตุบอัรบะอะฮ์เชื่อได้หมด แต่ฝ่ายอุซูลีย์บอกว่าทุกฮะดีษในตำราชีอะฮ์ต้องผ่านการตรวจสอบสายรายงานว่ามีความเชื่อถือได้แค่ไหน


วิวัฒนาการด้านการศึกษาค้นคว้าวิชาอุซูลุลฟิกฮ์ของชีอะฮ์นั้นได้ดำเนินอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปลายศตวรรษที่สิบเอ็ดแห่งฮิจเราะฮ์ศักราช ซึ่งมีบุคคลต้นแบบของแนวคิดนี้ปรากฏขึ้นอาทิเช่น


อัลฮาซัน บิน ซัยนุดดีน อัลอามิลีย์ มรณะฮ.ศ.1011เจ้าของหนังสือมะอิลมุลอุซูล(معالم الأصول)


และในระยะนี้ยังปรากฏขึ้นอีกคนหนึ่งคือ เชคมุฮัมมัด อัลบะฮาอีย์ อัลอามิลีย์ มรณะฮ.ศ.1031 เขาคือผู้ที่เรียบเรียบหนังสือชื่อ ซุบดะตุลอุซูล


ทั้งๆที่ฝ่ายอัคบารีย์ ได้ต่อต้านแนวคิดของพวกอุซูลีย์ในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างชัดเจนและรุนแรง แต่แนวคิดฝ่ายอุซูลีย์ก็ไม่สะดุดหรือหยุดนิ่งเลย ในทางตรงกันข้ามแนวคิดอุซูลีย์ยังพัฒนาและดำเนินต่อไป ซึ่งได้ปรากฏนักปราชญ์สายอุซูลีย์คนสำคัญๆขึ้นมามากมาย เช่น


- เชค อับดุลลอฮ์ อัตตูนีย์ มรณะ ฮ.ศ.1099
- เชค มุฮัมมัด บิน อัลฮาซัน อัชชีรวานีย์ มรณะ ฮ.ศ.1098
- สัยยิด ฮูเซน อัลคอนซารีย์ มรณะ ฮ.ศ.1099
- ศ็อดรุดดีน อัลกุมมีย์ มรณะ ฮ.ศ.1160
- อุสต๊าซ เชค มุฮัมมัด บาเก็ร บิน มุฮัมมัด อัลวะฮีด อัลบะฮ์บะฮานีย์ (1118 - 1206 )


เชคอัลบะฮ์บะฮานีย์ผู้นี้ได้ปะทะกับนักปราชญ์ฝ่ายอัคบารีย์ในช่วงสมัยที่คนสองฝ่ายนี้ได้เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงที่สุด และเชคอัลบะฮ์บะฮานีย์สามารถสำแดงวิชาการปกป้องแนวคิดอุซูลีย์นี้เอาไว้ได้อย่างมั่งคงจากการต่อต้านโจมตีของฝ่ายอัคบารีย์


นับได้ว่าเชค มุฮัมมัด บาเก็ร บิน มุฮัมมัด อัลวะฮีด อัลบะฮ์บะฮานีย์ เป็นนักปราชญ์อุซูลีย์ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในศตวรรษที่สิบสองแห่งฮิจเราะฮ์ศักราช


เพราะเวลานั้นเมืองกัรบาลา ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางสำคัญของกระแสแนวคิดอุซูลีย์ในการทำสงครามทางวิชาการกับพวกแนวคิดอัคบารีย์ยุคใหม่


ถ้าหากสมัยนั้นไม่มีเชคอัลบะฮ์บะฮานีย์อยู่ แน่นอนฝ่ายอัคบารีย์ย่อมสามารถปกครองเมืองนั้นและใช้เมืองนั้นเป็นศูนย์กลางเผยแพร่แนวคิดอัคบารีย์ไปทั่วทิศอีกด้วย ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้พวกอัคบารีย์โหมกระหน่ำโจมตีตำรับตำราแนวอุซูลีย์ รวมทั้งบรรดาปราชญ์สายอุซูลีย์อย่างรุนแรงเท่าที่พวกเขาสามารถแสดงหลักฐานของพวกเขาออกมาได้
ชะฮีด มุรตะฎอ มุฏาะฮะรีย์ นักปราชญ์ชาวอิหร่าน ได้กล่าวว่า


การปรากฏตัวของกลุ่มแนวคิดอัคบารีย์ขึ้นในตอนต้นแห่งศตวรรษที่สิบสองแห่งฮิจเราะฮ์ศักราชนั้น พวกเขาคือส่วนหนึ่งของพวกมัซฮับซอฮิรีย์ ที่ยึดติดกับความหมายผิวเผินของตัวบทอย่างรุนแรง และพวกอัคบารีย์นี้คือความเจ็บปวดที่สาหัสในโลกวิชาการของชีอะฮ์


ผลงานของพวกอัคบารีย์ เช่นตำราและแนวคิดที่นักปราชญ์สายอัคบารีย์เขียนไว้นั้น ยังคงหลงเหลืออยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ และพวกเขาคือสาเหตุทำให้โลกวิชาการอิสลามของชีอะฮ์ต้องสะดุด


เพื่อพิสูจน์ให้เข้าใจว่า แนวคิดของพวกอัคบารีย์นั้นผิดและมีผลลบต่อสังคมชีอะฮ์อย่างไร เราจะยกตัวอย่างให้ท่านได้พิจารณาดังนี้


พวกอัคบารีย์อ้างว่า ฮะดีษทุกบทในตำรา “กุตุบ อัรบะอะฮ์” คือ


1.อัลกาฟีย์ ของเชคกุลัยนีย์ มีฮะดีษทั้งหมด 16,199 บท


2.มันลา ยะห์ฎุรุฮุล ฟะกีฮ์ ของเชคศอดูก มีฮะดีษทั้งหมด 13,905 บท


3.อัตตะฮ์ซีบ มีฮะดีษทั้งหมด 5,511 บท


3.อัลอิสติบศ็อร มีฮะดีษทั้งหมด 5,998 บท


มีสถานะ”ถูกต้องหมด” มันคือสิ่งที่ได้รายงานมาจากบรรดามะอ์ซูม(อ)อย่างแน่นอน และไม่ต้องไปสนใจตรวจสอบสายรายงานฮะดีษในตำราเหล่านี้เลย


ข้ออ้างของพวกอัคบารีย์ที่ว่า “ฮะดีษทุกบทในตำรากุตุบ อัรบะอะฮ์ เชื่อได้หมด” ถือว่า ไม่หลักฐานใดมาสนับสนุนเลย


เพราะเจ้าของตำราเหล่านั้นไม่เคยบอกว่า ฮะดีษในตำราของเขานั้นถูกต้องได้ทั้งหมด


ตัวอย่าง ในอัลกาฟี เล่ม 2 หน้า 634 หะดีษที่ 28 เชคกุลัยนีย์บันทึกว่า รายงานจาก อาลี บิน อัลฮะกัมจากฮิชาม บิน ซาลิมจาก อิมามญะอ์ฟัร(อ)กล่าวว่า


إِنَّ الْقُرْآنَ الَّذِي جَاءَ بِهِ جَبْرَئِيلُ (ع) إِلَى مُحَمَّدٍ (ص) سَبْعَةَ عَشَرَ أَلْفَ آيَةٍ
 

อัลกุรอาน ที่ญิบรออีลนำมายังท่านนบีมุฮัมมัดนั้น(ศ)มีจำนวน 17,000 โองการ

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม