เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ผู้ที่มีความยำเกรง(ตักวา)ที่สุดในทัศนะของอัลลอฮ์ตะอาลา

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ผู้ที่มีความยำเกรง(ตักวา)ที่สุดในทัศนะของอัลลอฮ์ตะอาลา

 

 

อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงตรัสว่า

إِنَّ أَکْرَمَکُمْ عِنْدَ اللَّهِ أَتْقاکُمْ

 

“แท้จริงผู้ที่มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเจ้า ณ อัลลอฮ์ คือผู้ที่มีความยำเกรงที่สุดในหมู่พวกเจ้า”


(อัลกุรอานบทอัลฮุญุรอต โองการที่ 13)

 

    

 

ปวงบ่าวผู้ใกล้ชิดอัลลอฮ์หรือเอาลิยาอุลลอฮ์ มีคำพูดที่สวยงามเกี่ยวกับพระดำรัสที่สวยงามของอัลลอฮ์ (ซบ.) โองการนี้ ซึ่งพวกเขากล่าวว่า “ผู้ใดก็ตามที่มีตักวาต่ออัลลอฮ์มากกว่า ความดีงามของเขาที่ส่งผลต่อเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ก็จะมีมากกว่า” ด้วยเหตุนี้เองอัลลอฮ์ (ซบ.) จึงถือว่าพวกเขามีเกียรติมากกว่าคนอื่น ฉะนั้นความดีงามและความมีเกียรติของมนุษย์นั้นวางรากฐานอยู่บนตักวา คนมีตักวาจะรุดหน้าบุคคลอื่นๆ ในการทำความดี ด้วยกับความมีตักวานี่เองที่จะเป็นปัจจัยกระตุ้นเร้าให้เขาทำความดีต่างๆ อย่างไม่รู้เหนื่อยหน่าย

 

     ในทัศนะของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ผู้มีตักวาคือมนุษย์ที่มีความดีงามมากที่สุด มีผู้ถามท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ว่า “มนุษย์ที่ดีที่สุดคือใคร” ท่านตอบว่า

 

أَخْوَفُهُمْ لِلَّهِ وَ أَعْمَلُهُمْ بِالتَّقْوَى وَ أَزْهَدُهُمْ فِی الدُّنْیَا

 

“ผู้ที่กลัวอัลลอฮ์มากที่สุดในหมู่พวกเขา และกระทำอะมั้ล (ความดีงาม) ด้วยความตักวามากที่สุดในหมู่พวกเขา และเป็นผู้มีความสมถะต่อชีวิตทางโลกมากที่สุดในหมู่พวกเขา”

 

      คำว่า “กลัวอัลลอฮ์” หมายถึงอะไร?

 

      ความเกรงกลัวอัลลอฮ์ในทัศนะของบรรดาเอาลิยาอุลลอฮ์นั้น ไม่ได้หมายถึงกลัวในความกริ้วโกรธหรือการลงโทษ (อะซาบ) ของพระองค์ แต่มันหมายถึง “กลัวจากการที่ตนเองจะต้องออกห่างจากความใกล้ชิดพระองค์” ความชั่วและการกระทำที่เป็นการละเมิดฝ่าฝืนนั้น คือสื่อที่จะทำให้มนุษย์ออกห่างจากอัลลอฮ์ (ซบ.) บรรดาเอาลิยาอุลลอฮ์จึงกลัวสิ่งนี้

 

      ในดุอาอ์กุเมล ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า

 

يااِلهى ..... صَبَرْتُ عَلى عَذابِكَ فَكَيْفَ اَصْبِرُ عَلى فِراقِكَ

 

“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ข้าพระองค์อาจจะอดทนต่อการลงโทษของพระองค์ได้ แต่ข้าพระองค์จะอดทนต่อการจำพรากจากพระองค์ได้อย่างไร!”

 

      คำพูดประโยคนี้ชี้ให้เห็นว่า ท่านอิมามอะลี (อ.) มีความรักและความผูกพันที่สูงส่งต่อพระผู้เป็นเจ้า สิ่งที่ท่านอิมามอะลี (อ.) กลัวมากที่สุดนั้นไม่ใช่กลัวการลงโทษของพระองค์ แต่ท่านกลัวจากการที่จะต้องจำพรากและออกห่างจากความใกล้ชิดของพระองค์ ความกลัวดังกล่าวนี้เองที่ทำให้บรรดาเอาลิยาอุลลอฮ์หลีกห่างจากความชั่วและการกระทำที่เป็นการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระองค์

 

เรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ


ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม