เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

เจ้าของกรรมสิทธิ์ปาเลสไตน์ในพันธสัญญาเดิม ตอนที่ 2

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

เจ้าของกรรมสิทธิ์ปาเลสไตน์ในพันธสัญญาเดิม ตอนที่ 2

 


เหตุใดสัญญาเกี่ยวกับการเข้าสู่ดินแดนที่ถูกสัญญาจึงล่าช้าออกไปหนึ่งรุ่นคน

 

     “แม้ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะสัญญาชัยชนะอย่างแน่นอนแก่ชาวยิวเหนือกลุ่มชนอามาเลข (Amalek) แต่พวกเขาก็ไม่พร้อมที่จะแบกรับความเหนื่อยยากของการต่อสู้ (ญิฮาด) เพื่อพิชิตดินแดนแห่งพันธะสัญญา พวกเขาคิดว่าเนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสัญญาว่า พวกเขาจะได้เข้าสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์นี้ ดังนั้นอย่างไรก็ตามจำเป็นที่พระองค์จะทรงทำให้แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์นี้ถูกพิชิตโดยที่ชาวยิวไม่ต้องได้รับความเหนื่อยยาก เพื่อพระองค์จะได้ไม่ทรงละเมิดคำมั่นสัญญา!”

 

      ชาวไซออนิสต์กล่าวอ้างความเป็นกรรมสิทธิ์ในดินแดนปาเลสไตน์โดยอ้างคัมภีร์โตราห์ (เตาร๊อต) หรือพันธสัญญาเดิม การศึกษาตรวจสอบคัมภีร์โตราห์แสดงให้เห็นว่า พระผู้เป็นเจ้าได้มอบแผ่นดินปาเลสไตน์ให้กับศาสดาอิบรอฮีม (อ.) หรืออับราฮัม และพระองค์ได้ทรงเน้นย้ำต่ออิบรอฮีมว่า เชื้อสายของท่านจะต้องเป็นผู้ศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว (มุวะฮ์ฮิด) หากไม่เช่นนั้นแล้วพระผู้เป็นเจ้าจะทรงขับไล่พวกเขาออกจากแผ่นดินนี้

 

     เงื่อนไขนี้ได้ถูกตอกย้ำโดยศาสดามูซา (อ.) หรือโมเซสด้วยเช่นกัน และเกี่ยวกับเรื่องนี้พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงปรีชาญาณ ได้ทรงเอาคำมั่นสัญญาที่หนักแน่นจากชาวยิว แต่เงื่อนไขนี้ไม่ได้รับการเคารพ และพระผู้เป็นเจ้าจึงได้ทรงเนรเทศบนีอิสรออีล (เผ่าพันธุ์อิสราเอล) ออกจากแผ่นดินปาเลสไตน์สองครั้ง และครั้งที่สามพระองค์ได้ทรงเนรเทศพวกเขาตลอดไป

 

     เผ่าพันธุอิสราเอลได้ถูกเนรเทศครั้งแรกไปยังอียิปต์ ในสมัยของศาสดายูซุฟ (อ.) หรือโจเซฟ และพำนักอาศัยอยู่ที่นั่นถึงสี่รุ่น จนกระทั่งพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงนำพวกเขากลับมายังปาเลสไตน์โดยสื่อศาสดามูซา (อ.) หรือโมเสส การเนรเทศชาวยิวครั้งที่สองไปยังบาบิโลน เกิดขึ้นใน 586 ปี ก่อนคริสตกาล หลังจากที่บุคตุนนัศร์ (เนบูคัดเนสซาร์ / Nebuchadnezzar) ได้พิชิตนครเยรูซาเล็มและวิหารโซโลมอนได้ถูกทำลายลง และท้ายที่สุดในปี ค.ศ. 70 คือ 40 ปี หลังจากที่ศาสดาอีซา (อ.) หรือพระเยซู ได้ทำให้หลักฐานข้อพิสูจน์เป็นที่สมบูรณ์ (อิตมาม ฮุจญัต) ต่อกลุ่มชนนี้แล้ว

 

      การลงโทษ (บะลาอ์) ของพระผู้เป็นเจ้าได้เกิดขึ้นกับกลุ่มชนนี้โดยสื่อชาวโรมัน และชาวยิวได้ถูกเนรเทศออกจากปาเลสไตน์ตลอดกาล วิธีเดียวที่ชาวยิวจะกลับไปยังปาเลสไตน์ได้ คือการที่พวกเขาจะต้องสารภาพผิดและตัวกลับใจ (เตาบะฮ์) และหันออกจากแนวทางของบรรพบุรุษของพวกเขา ประเด็นนี้รับรู้ได้จากอายะฮ์ (โองการ) ที่ 8 ของซูเราะฮ์ (บท) อัลอิสรออ์ ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า :

 

عَسىَ‏ رَبُّكمُ‏ْ أَن يَرْحَمَكمُ‏ْ  وَ إنْ عُدتمُ‏ْ عُدْنَا

 

“หวังว่าพระผู้อภิบาลของพวกเจ้าจะทรงเมตตาพวกเจ้า (หากพวกเจ้ากลับตัวกลับใจ) และหากพวกเจ้าย้อนกลับมา (เนรคุณ) อีกเราก็จะกลับมา (ลงโทษพวกเจ้า) อีก”

 

      ชาวยิวตระหนักถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้ดีกว่าคนอื่นๆ และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เองที่เป็นระยะเวลาถึง 18 ศตวรรษหลังจากการถูกเนรเทศออกจากปาเลสไตน์ พวกเขาไม่ได้ดำเนินการใดๆ ที่จะย้อนกลับไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์นี้อีกเลย แต่พวกอุตริชาวยิว ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ได้กล่าวอ้างความเป็นกรรมสิทธิ์ในดินแดนปาเลสไตน์บนพื้นฐานของคัมภีร์โตราห์ ในชุดบทความนี้พยายามที่จะตรวจสอบคำกล่าวอ้างของชาวไซออนิสต์โดยใช้ภาษาง่ายๆ

 


      จากนี้เป็นต้นไปเราจะมาพิสูจน์เหตุผลต่างๆ ของเราบนพื้นฐานของคัมภีร์โตราห์และพันธสัญญาเดิมในปัจจุบัน (ที่ชาวยิวเรียกมันว่า “Tanakh”) และเนื้อหาต่างๆ ที่เป็นความจริงที่ยังคงเหลืออยู่ เพื่อจะได้ไม่เป็นอุปสรรคต่อชาวยิวและชาวคัมภีร์ที่จะยอมรับคำพูดที่มีอยู่เหล่านี้  ในอีกด้านหนึ่งบรรดาผู้ติดตามที่เป็นชาวมุสลิมก็จะได้รับรู้ถึงเนื้อหาต่างๆ ที่ถูกต้อง ที่มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล (พันธะสัญญาเดิมและพันธะสัญญาใหม่) และเทียบเคียงกับคัมภีร์อัลกุรอานและซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของอิสลาม พวกเขาจะได้รับรู้ถึงสถานะอันสูงส่งของศาสนาของตนมากยิ่งขึ้น

 

การเข้าสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ได้ล่าช้าไปหนึ่งรุ่นคน

 

     การศึกษาและการตรวจสอบพระคัมภีร์พันธะสัญญาเดิม ทำให้เราเข้าใจได้ว่า กลุ่มชนกลุ่มนี้ (ชาวยิว) นับตั้งแต่เริ่มต้นการดำรงอยู่ของตน เป็นหมู่ชนที่มีพรสวรรค์ (ความสามารถ) มากในด้านความชั่วร้าย การบ่อนทำลายและความลุ่มหลงในวัตถุ ถึงขั้นที่ในเส้นทางระหว่างอียิปต์ไปยังปาเลสไตน์นั้น หลายครั้งหลายคราว ด้วยเหตุผลเพื่อปากท้องและข้ออ้างที่ไร้สาระอื่นๆ พวกเขาได้มีปากเสียงและขัดแย้งกับท่านศาสดามูซา (อ.) (โมเสส) ผู้ช่วยให้รอดของตน (อพยพ 14/11 - 15 / 24 -16 / 03 - 17 / 2 และ 3 ; กันดารวิถี 14/2 ถึง 6 - 16 / 41 -20 / 2 5 ถึง 5)

      และกระทั่งว่าพวกเขาเกือบจะขว้างปาท่านศาสดามูซา (อ.) ด้วยก้อนหิน  (อพยพ 17/4) เช่นเดียวกันนั้นในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เรื่องราวของบัลอาม บาอูรอ (บา‌อัลเป‌โอร์)  พวกเขาได้เล่นชู้กับผู้หญิงของกลุ่มชนโมอับ [1] (กันดารวิถี 25) บูชาวัวทองคำและรูปเจว็ดอื่นๆ (อพยพ 32/19 - กันดารวิถี 25/2 และ 3) และได้รับการสาปแช่งและการลงโทษจากพระผู้เป็นเจ้าซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้แต่ในช่วงเวลาที่พวกเขาได้มาถึงปากทางเข้าแผ่นดินปาเลสไตน์ (กันอาน หรือ คานาอัน) พวกเขาได้รอคอย เพื่อให้พระเจ้าได้กระทำเหมือนกับที่พระองค์ได้ทำลายฟิรเอาน์ และพวกเขาเพียงแค่เฝ้าดูเหตุการณ์ (อพยพ 14/14)

 

      ครั้งนี้ก็เช่นกันพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงทำให้กลุ่มชนอามาเลขและผู้อาศัยอยู่ในแผ่นดินนี้พ่ายแพ้ด้วยปาฏิหาริย์ (มุอ์ญิซาต) แต่เมื่อพวกเขาได้รู้ว่าจำเป็นต้องต่อสู้ (ญิฮาด) พวกเขาก็ขัดขืนต่อมูซา (อ.) ศาสดาของพระเจ้า กระทั่งว่าบางส่วนของพวกเขาหาทางที่จะกลับไปยังอียิปต์ เนื่องจากกลัวความตาย มูซาและฮารูน (อาโรน) และโยชะอ์ (โย‌ชู‌วา) ได้ก้มหน้าและฉีกเสื้อผ้าของตนเนื่องจากความโกรธ รายละเอียดของเหตุการณ์ปรากฏอยู่ในไบเบิล (พันธะสัญญาเดิม) ในปัจจุบัน ในบทที่ 13 และ 14 ของ “กันดารวิถี” และใน เฉลยธรรมบัญญัติ” 1/19 ถึง 46 และได้ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์อัลกุรอานใน ซูเราะฮ์ (บท) อัลมาอิดะฮ์ อายะฮ์ (โองการ) ที่ 20-26

 

     แม้ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะสัญญาชัยชนะอย่างแน่นอนแก่ชาวยิวเหนือกลุ่มชนอามาเลข (Amalek) แต่พวกเขาก็ไม่พร้อมที่จะแบกรับความเหนื่อยยากของการต่อสู้ (ญิฮาด) เพื่อพิชิตดินแดนแห่งพันธะสัญญา[2] พวกเขาคิดว่า เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสัญญาโดยผ่านบรรดาศาสดาของพระองค์ คือ ยะอ์กูบ ยูซุฟและมูซา ว่า พวกเขาจะได้เข้าสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์นี้ (โตราห์ : ปฐมกาล 48/21 - 50/24 - อพยพ 3 / 17- 4/29 ถึง 31 - 6/4 ถึง  27-13 / 9-11 – อัลกุรอาน : ซูเราะฮ์(บท)อัลมาอิดะฮ์ อายะฮ์(โองการ)ที่ 21 – ซูเราะฮ์(บท)อัลอะอ์รอฟ อายะฮ์(โองการ)ที่ 129 และ 137)

 

     ดังนั้นอย่างไรก็ตามจำเป็นที่พระองค์จะทรงทำให้แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์นี้ถูกพิชิตโดยที่ชาวยิวไม่ต้องได้รับความเหนื่อยยาก เพื่อพระองค์จะได้ไม่ทรงละเมิดคำมั่นสัญญา แต่พวกเขาหลงลืมไปว่าหนึ่งในแบบแผน (ซุนนะฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้าคือ "บิดาอ์" () ซึ่งตามบางคำมั่นสัญญาจะถูกประวิงออกไปจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมของพวกเขา ดังนั้นในเวลาดังกล่าวพระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำให้คำมั่นสัญญาบรรลุความจริงในลูกหรือหลานๆ ของบุคคลนั้น  [3]

 

     ในวันหลังจากที่ชาวยิวปฏิเสธที่จะเข้าไปในเขตของปาเลสไตน์ พระบัญชา (فرمان‌ تكويني) ของพระผู้เป็นเจ้าได้ถูกประกาศโดยมูซา (อ.) (โมเสส) ว่ากลุ่มชนนี้จะถูกลงโทษเนื่องจากการกระทำผิดนี้ ด้วยการร่อนเร่ไปในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาสี่สิบปี จนกระทั่งระยะเวลาของอายุขัยของบรรดาผู้ขัดแย้งนี้จะสิ้นสุดลง สัญญาการเข้าสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์จะประสบความสำเร็จในชนรุ่นต่อไปนี้ :

 

     องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสกับโมเสสและอาโรนว่า ชุมชนที่ชั่วร้ายเหล่านี้จะบ่นว่าเราอีกนานเท่าใด? เราได้ยินคำพร่ำบ่นของคนอิสราเอลเหล่านี้แล้ว ดังนั้นจงบอกพวกเขาว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าประกาศดังนี้ว่า “เรามีชีวิตอยู่แน่ฉันใด เราจะทำกับเจ้าอย่างที่เจ้าได้พูดไว้ฉันนั้น คือพวกเจ้าจะล้มตายในถิ่นกันดารนี้ คือพวกเจ้าทุกคนที่มีอายุยี่สิบปีขึ้นไป [4] ตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ และได้บ่นว่าเรา จะไม่มีสักคนได้เข้าดินแดนที่เราสัญญาว่า จะยกให้เป็นที่อยู่อาศัยของเจ้า ยกเว้นคาเลบ บุตรเยฟุนเนห์กับโยชูวา บุตรนูน [5] ส่วนลูกหลานที่เจ้าทั้งหลายพูดว่าจะตกเป็นเชลยนั้น เราจะพาเข้าไปชื่นชมดินแดนที่พวกเจ้ามองข้าม ส่วนพวกเจ้าจะล้มตายในถิ่นกันดารนี้”  (กันดารวิถี 14/26 ถึง 33)

 

      กระนั้นก็ตามในระยะเวลาสี่สิบปีที่พวกเขาร่อนเร่พเนจรอยู่ในท้องทะเลทรายที่ทุรกันดารนี้ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งก็ทรงประทานมันน์ (มานา) แห่งสวรรค์ และทรงทำให้เสื้อผ้าที่พวกเขาสวมใส่อยู่ในสภาพที่ใหม่โดยไม่เก่าเปื่อย (เฉลยธรรมบัญญัติ 8/3 และ 4)

 

      หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาสี่สิบปีและการตายของคนรุ่นแรกกลุ่มชน ได้แก่ มูซา (อ.) หรือโมเสส และฮารูน (อ.) หรืออาโรน ชาวยิวโดยการนำของศาสดายูชะอ์ บินนูน (อ.) หรือโยชูวา ก็ได้ข้ามแม่น้ำจอร์แดนและเข้าสู่ปาเลสไตน์ ในคัมภีร์อัลกุรอาน พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสในเรื่องนี้ไว้เช่นนี้ว่า :

 

وَأَوْرَثْنَا الْقَوْمَ الَّذِينَ كَانُوا يُسْتَضْعَفُونَ مَشَارِقَ الْأَرْضِ وَمَغَارِبَهَا الَّتِي بَارَكْنَا فِيهَا ۖ وَتَمَّتْ كَلِمَتُ رَبِّكَ الْحُسْنَىٰ عَلَىٰ بَنِي إِسْرَائِيلَ بِمَا صَبَرُوا ۖ وَدَمَّرْنَا مَا كَانَ يَصْنَعُ فِرْعَوْنُ وَقَوْمُهُ وَمَا كَانُوا يَعْرِشُونَ  

     

“และเราได้สืบทอดมรดก (การปกครอง) ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของแผ่นดิน (คือปาเลสไตน์) ซึ่งเราได้ให้ความจำเริญในนั้น ให้แก่กลุ่มชนที่อ่อนแอ (เผ่าพันธุ์อิสราเอล)  และประกาศศิตอันไพจิตแห่งองค์อภิบาลของเจ้านั้นครบถ้วนแล้ว แก่วงศ์วานของอิสราอีล เนื่องจากการที่พวกเขามีความอดทน และเราได้ทำลายสิ่งที่ฟิรเอาน์ และพวกพ้องของเขาได้ทำไว้ และสิ่งที่พวกเขาได้ก่อสร้างไว้อย่างตระหง่าน”

(ซูเราะฮ์ (บท) อัลอะอฺ์รอฟ อายะฮ์ (โองการ) ที่ 137)

 

 

ระยะเวลาของการเป็นทาสของเผ่าพันธ์อิสราเอลในอียิปต์

 

     พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงแจ้งแก่ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ถึงระยะเวลาของการถูกจองจำของเผ่าพันธุ์อิสราเอลในต่างแดน (ซึ่งหมายถึงในอียิปต์) ว่า เป็นเวลาสี่ชั่วอายุคนและนั่นก็คือสี่ร้อยปี (ปฐมกาล : 15 / 13 และ 16) แต่ทว่าในบท “อพยพ” ของโตราห์ได้กล่าวถึงระยะเวลานี้ว่า 430 ปี (อพยพ : 12 / 40 และ 41) และตัวเลขเดียวกันนี้จะเห็นได้ในจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวกาลาเทีย (กาลาเทีย : 3 / 17) ในขณะที่ Master James H. Hawkes ได้เขียนไว้ในหนังสือ “กอมูซ กิตาบ มุก็อดดัส” (หนังสืออธิบายคำศัพท์คัมภีร์ไบเบิล – ฉบับแปลเป็นภาษาเปอร์เซีย) ในการอธิบายคำว่า “อพยพ” ได้เขียนระยะเวลาดังกล่าวนี้ไว้ว่าประมาณ 215 ปี ซึ่งเป็นตัวเลขครึ่งหนึ่งพอดีของสิ่งที่ได้กล่าวข้างต้น

 

    ตัวเลข 215 ปีดูเหมือนจะเป็นที่น่ายอมรับได้มากกว่า จากกรณีที่ว่าอิมรอน (อัมรัม พ่อของโมเสส หรือ มูซา) เป็นหลานชายของเลวี ดังนั้นมูซา (อ.) จะเป็นคนรุ่นที่สามของเลวี แต่พระเจ้าทรงสัญญากับอิบรอฮีม (อ.) ถึงการกลับมาของคนรุ่นที่สี่ ดังนั้นในคำพูดของบางริวายะฮ์ (คำรายงาน) ของอิสลามจึงถูกต้องที่ว่า เนื่องจากการอธิษฐานและการวิงวอนขออย่างมากมายของเผ่าพันธุ์อิสราเอลเพื่อการมาของผู้ช่วยให้รอดของตนและการรอดพ้นออกมาจากอียิปต์ พระผู้เป็นเจ้าจึงได้ทรงทำให้พวกเขารอดพ้นออกมาจากแผ่นดินอียิปต์เร็วก่อนเวลาของมันถึง 150 ปี

 

     แต่สิ่งที่สามารถกล่าวได้ในประเด็นที่ว่า ทำไมเผ่าพันธุ์อิสราเอลจึงมีความความหวังอย่างไร้สาระต่อการช่วยเหลือต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า และในปากทางของดินแดนศักดิ์สิทธิ์ [6] พวกเขาต้องการย่างก้าวไปเพื่อที่จะทำการต่อสู้ที่ถูกสัญญาว่า จะได้รับการช่วยเหลือ ดังนั้นพระผู้เป็นเจ้าจึงได้ทำให้การเข้าสู่ดินแดนกันอาน (คานาอัน) ของพวกเขาล่าช้าออกไปถึงหนึ่งรุ่นคน

 

    ในที่สุดทายาทรุ่นที่สี่ของเผ่าพันธุ์อิสราเอลโดยการนำของผู้สืบทอดของท่านศาสดามูซา (อ.) ก็ได้เข้าสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ตรงตามที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงรอบรู้ได้ทรงกำหนดและทรงทำนายไว้กับศาสดาอิบรอฮีม (อ.) แต่จำนวนปีของการเป็นทาสในอียิปต์ได้ลดลงจาก 400 ปีเป็น 215 ปี และดังที่เราจะเห็นว่า ระยะเวลาของการเป็นทาสในบาบิโลนก็ได้ลดลงจาก 70 ปี (ที่ถูกพยากรณ์ไว้ก่อนหน้านี้) เหลือเพียง 48 ปี

 


เชิงอรรถ:

 

[1]-ในคัมภีร์โตราห์ จำนวนของคนบาปของชาวยิวที่ด้วยผลของโทษทัณฑ์ของการกระทำความผิดดังกล่าวหลังจากเหตุการณ์นี้ ได้ประสบกับอหิวาตกโรคและเสียชีวิตนั้น ได้ถูกเขียนไว้ว่า มีจำนวนสองหมื่นสี่พันคน (กันดารวิถี 25/9)

[2]- แน่นอนว่าเผ่าพันธุ์อามาเลขในยุคต่อๆ มาก็ได้ถูกทำลายลงและชื่อของพวกเขาได้ถูกลบออกไปจากใต้ฟ้า (อพยพ 17/14 ; นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ธรรมเทศนาที่ 182)

[3]- ดังเช่นตัวอย่างการประสูติของท่านศาสดาอีซา (อ.) ก็ได้ถูกประวิงออกไปถึงหนึ่งรุ่นคน หะดีษบทหนึ่งจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ในหนังสืออัลกาฟี ของเชคกุลัยนี ได้เขียนว่า ท่านอิมาม (อ.) ได้อรรถาธิบายโองการที่ 36 ของซูเราะฮ์(บท)อาลิอิมรอนว่าเกี่ยวข้องกับการประสูติที่ไม่คาดคิดของท่านหญิงมัรยัม (อ.) (ดู : อัลกาฟี, กุลัยนี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 535, สำนักพิมพ์ดารุ้ลกุตุบ อัลอิสลามียะฮ์, เตหะราน 1365) หะดีษบทนี้ ในหนังสือตัฟซีรอัลมีซานก็ได้ถูกกล่าวถึงในการอธิบายโองการที่ 36 ของซูเราะฮ์(บท)อาลิอิมรอนเช่นเดียวกัน  บิดาอ์ด้วยกับตัวอย่างนี้ของมัน เป็นหนึ่งในซุนนะฮ์ (แบบแผน) ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง และข้อเท็จจริงนี้ ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่งจากท่านอิมามริฎอ (อ.) ได้ถูกเน้นย้ำด้วยกับสองตัวอย่างที่ถูกกล่าวไปแล้ว, ดู:  บิฮารุลอันวาร, มุฮัมมัดบากิร อัลมัจญ์ลิซี, เล่มที่ 14, หน้าที่ 203 หมวดที่ 16 (หมวดเรื่องราวของมัรยัมและการคลอดของนางและสภาพการณ์บางอย่าง), ฮะดีษที่ 16

[4]- เป็นการชี้ถึงการสำรวจจำนวนประชากรของศาสดามูซา (อ.) และฮารูน (อ.) จากบรรดาบุคคลที่เป็นผู้ชายและเป็นนักรบของกลุ่มชนซึ่งได้ถูกกล่าวถึงในเริ่มต้นของ “กันดารวิถี” : "ฉะนั้นจำนวนคนอิสราเอลทั้งหมดที่ถูกนับตามสกุล คือคนที่ออกรบได้ทั้งหมดซึ่งมีอายุตั้งแต่ยี่สิบปีขึ้นไป ในอิสราเอล จำนวนคนทั้งสิ้นคือ 603,550 คน" (กันดารวิถี 1/45 และ 46) อย่างไรก็ตามจำนวนนี้เกี่ยวข้องกับชนสิบเอ็ดตระกูลจากเชื้อสายของยาโคบ (ศาสดายะอ์กูบ) และบรรดาผู้ชายในตระกูลเลวีไม่ได้ถูกกล่าวถึงในจำนวนนี้

[5]- ชาวยิวคนหนึ่งจากแต่ละเผ่าได้ถูกคัดเลือกและถูกส่งไปสอดแนมที่แผ่นดินคานาอัน  หลังจากที่ได้กลับมา สิบคนจากพวกเขาได้ทำให้หมู่ชนเกิดความหวาดกลัวต่อชาวอามาเลขและกลุ่มชนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในคานาอัน และมีเพียงสองคนคือ คาเลบและโยชูวา (ชายหนุ่มผู้ซึ่งต่อมากลายเป็นผู้สืบทอดของโมเสส) ที่ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้หมู่ชนของพวกเขาทำการต่อสู้ (ญิฮาด) ตามพระบัญชาของพระเจ้า (กันดารวิถี :  13/30 - 14/6 ถึง 9) กระทั่งว่าแกนนำของชาวยิวบางส่วนต่างพูดคุยกันในการกำหนดตัวผู้นำเพื่อนำพาพวกเขากลับไปยังอียิปต์! (กันดารวิถี : 14/4) จากนั้นกลุ่มชนทั้งหมดเรียกร้องให้ทำการขว้างปาคาเล็บและโยชูวาด้วยก้อนหิน (กันดารวิถี : 14/10) แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยพวกเขาให้รอดชีวิต ส่วนอีกสิบคนที่เป็นสาเหตุทำให้การละเมิดครั้งใหญ่นี้ พระองค์ได้ทำให้พวกเขาประสบกับโรคอหิวาและเสียชีวิตลงอย่างรวดเร็ว (กันดารวิถี : 14/37) และจำนวน 603,000 คนดังกล่าวได้เสียชีวิตลงในช่วงสี่สิบปีและลูกๆ ของพวกเขาก็ได้เข้าสู่แผ่นดินคานาอันนั้น ในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงเรื่องราวนี้ไว้โดยไม่ได้เอ่ยถึงชื่อของคาเลบและโยชูวา (ดู : ซูเราะฮ์(บท)อัลมาอิดะฮ์ อายะฮ์(โองการ)ที่ 23)

[6]- สำนวนคำว่า "ดินแดนศักดิ์สิทธิ์" (الْأَرْضَ الْمُقَدَّسَةَ) สำหรับแผ่นดินคานาอัน (กันอาน) ในเรื่องราวต่างๆ ที่ได้ถูกกล่าวถึงในข้างต้นนี้ ได้มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน (ซูเราะฮ์(บท)อัลมาอิดะฮ์ อายะฮ์(โองการ)ที่ 21) นอกจากนี้ดินแดนนี้ยังได้ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์อัลกุรอานด้วยคุณลักษณะว่า "สถานที่ที่มีความจำเริญ" (มุบาร็อก) อีกด้วย (ดู : ซูเราะฮ์(บท)อัลอิสรออ์ อายะฮ์(โองการ)ที่ 1; ซูเราะฮ์(บท)อัลอันบิยาอ์ อายะฮ์(โองการ)ที่ 71 และ 81)

 


แปล/เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม