ปัจจัยบั่นทอนที่มีผลในการทำลายสติปัญญา

ปัจจัยบั่นทอนที่มีผลในการทำลายสติปัญญา

 

สถานะของสติปัญญาในศาสนาอิสลาม คัมภีร์อัลกุรอานในหลายโองการ ได้ชี้ถึงคุณค่าและความสำคัญของสติปัญญาไว้ และถือว่าบาปส่วนใหญ่ของชาวนรกและสาเหตุหลักของความอัปยศของพวกเขาเกิดจากการละเลยจากการใช้ประโยชน์จากพลังแห่งสติปัญญาที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้ ยิ่งไปกว่านั้น ใครก็ตามที่คุ้นเคยอยู่กับการอ่านและการศึกษาทำความเข้าใจกับความหมายของคัมภีร์อัลกุรอาน เขาจะทราบดีว่าในโอกาสต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานได้เปิดเผยให้เห็นถึงความสำคัญในประเด็นนี้

 

      บางครั้งอาจมีการโกหกให้ร้ายและการโฆษณาชวนเชื่อของบุคคลทั้งหลายว่า ศาสนานั้นเป็นสื่อมอมเมาประชาชน ไม่ให้ความสำคัญต่อการใช้ประโยชน์จากสติปัญญาและการคิดใคร่ครวญหาเหตุผลต่างๆ แต่ทว่าอิสลามได้วางพื้นฐานการรู้จักพระเจ้า ความสำเร็จและความรอดพ้นของมนุษย์ไว้บนการใช้สติปัญญาและการใช้เหตุใช้ผล และในโองการต่างๆ เราจะพบเห็นคำว่า “อุลุลอัลบาบ” (ปวงผู้มีปัญญา) “อุลุลอับซ๊อร” (ปวงผู้มีวิจารณญาณ) และคำอื่นๆ

 

      นอกจากนี้อิสลามยังถือว่า การไม่ใช้ประโยชน์จากปัญญาและการคิดใคร่ครวญนั้น เป็นเรื่องที่น่าตำหนิ โดยที่ในทัศนะของคำภีร์อัลกุรอาน สัตว์ที่เลวร้ายที่สุดในหน้าแผ่นดินนั้นคือมนุษย์ที่ไม่ใช้สติปัญญาของตนเอง คนเหล่านี้คือพวกที่หูหนวก เป็นใบ้ และเป็นผู้ที่หลงทาง

 

إِنَّ شَرَّ الدَّوَابِّ عِنْدَ اللَّهِ الصُّمُّ الْبُكْمُ الَّذِينَ لا يَعْقِلُونَ

“แท้จริงสัตว์ที่ชั่วร้ายที่สุด ณ อัลลอฮ์ คือผู้ที่หูหนวกและผู้เป็นใบ้ พวกเขาคือผู้ที่ไม่ใช้ปัญญาใคร่ครวญ” (1)

 

      การที่คนเราไม่คิดใคร่ครวญและใช้เหตุใช้ผลนั้น เท่ากับว่าเขาได้ปิดประตูแห่งการรับรู้สัจธรรมและการยอมรับมัน คนที่ไม่คิดหาเหตุผลและความจริงนั้น เขาจะไม่ถามและจะไม่รับฟัง ดังนั้นในความเป็นจริงแล้ว ก็คือคนหูหนวกและเป็นใบ้นั่นเอง

 

     ด้วยเหตุนี้จึงเห็นได้ว่า อิสลามให้ความสำคัญต่อสติปัญญาและการคิดใคร่ครวญหาเหตุผลเป็นอย่างมาก ในทำนองเดียวกับที่ถือว่า คนเราจำเป็นต้องดูแลสุขภาพพลานามัยของร่างกายของตนเอง ก็จำเป็นที่เขาจะต้องระมัดระวังและดูแลสุขภาพและความสมบูรณ์ของสติปัญญาของตนเองด้วยเช่นกัน

 

     ในคัมภีร์อัลกุรอานและริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ได้ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยหลายประการที่บั่นทอนและทำลายสติปัญญาของคนเรา ในที่นี้เราจะชี้ให้เห็นเพียงสองประเด็นจากปัจจัยเหล่านั้น ซึ่งอิสลามได้เรียกมันว่า “ความเมามาย” (ซุกรุน) เราจะกล่าวถึงปัจจัยเหล่านี้โดยอาศัยคำพูดของท่านอายะตุลลอฮ์ญะวาดี ออมูลี ซึ่งท่านได้เขียนไว้ในหนังสือ “มะฟาตีฮุลฮะญาต”

 

    ความเมามายสุรา : พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า:

 

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ إِنَّمَا الْخَمْرُ وَالْمَيْسِرُ وَالأَنصَابُ وَالأَزْلاَمُ رِجْسٌ مِّنْ عَمَلِ الشَّيْطَانِ فَاجْتَنِبُوهُ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ

   

   “โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! อันที่จริงสุราและการพนัน แท่นหินสำหรับเชือดสัตว์บูชายัญและการเสี่ยงติ้วนั้นเป็นสิ่งโสมม อันเกิดจากการกระทำของมาร (ชัยฏอน) ดังนั้นพวกเจ้าจงหลีกห่างจากมันเถิด เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ” (2)

 

     ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า :

 

حَرّمَ اللَّهُ الخَمرَ لِما فيها مِن الفَسادِ ، ومِن تَغْييرِها عُقولَ شارِبِيها

 

“อัลลอฮ์ทรงห้ามสุรา เนื่องจากในสุรานั้นมีสิ่งที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย และมันจะเปลี่ยนแปลงสติปัญญาของผู้ที่ดื่มมัน” (3)

 

    ความเมามายต่อพฤติกรรมความชั่ว : ท่านอมีรุลมุอ์มินีน อะลี อิบนิอบีฏอลิบ (อ.) กล่าวว่า:

 

ينبغي للعاقل أن يحترسَ مِن: سُكْرِ المال، وسُكْرِ العِلم، وسُكرِ القدرة، وسُكرِ المدح، وسُكرِ الشباب؛ فإنّ لكلِّ واحدٍ مِن ذلك ريحاً خبيثةً تَسلُب العقلَ وتَستخِفُّ الوَقار

   

   “สมควรที่ผู้มีสติปัญญาจะต้องระมัดระวังตนจากความเมามายในทรัพย์สมบัติ ความเมามายในความรู้ เมามายในอำนาจ เมามายในการสรรเสริญเยินยอ และเมามายต่อความเป็นหนุ่มสาว (ของตน) เพราะแท้จริงแต่ละความเมามายนั้น คือกลิ่นไอที่ชั่วร้ายที่มันจะบั่นทอนสติปัญญาและทำให้ความสุขุมรอบคอบลดน้อยถอยลงไป” (4)

 

      ในทำนองเดียวกับการดื่มสุรา ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความมึนเมา บั่นทอนทำลายสติปัญญา และหยุดยั้งพลังทางความคิดของมนุษย์ ความชั่วก็เช่นเดียวกันนี้ ที่จะเป็นสาเหตุของความมัวเมาที่ร้ายแรงกว่า โดยที่มันจะทำลายสติปัญญาและจะยับยั้งมนุษย์จากการรับรู้ที่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ไม่ใช่เฉพาะแค่สุราเพียงเท่านั้น แต่ทว่าทุกสิ่งที่ก่อให้เกิดความมึนเมาและความเมามายนั้นถือเป็นบาป (ฮะรอม) ทั้งสิ้น ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) กล่าวว่า :

 

إِنَّ اللَّهَ عَزَّوَجَلَّ لَمْ یُحَرِّمِ الْخَمْرَ لاِسْمِهَا وَلَکِنَّهُ حَرَّمَهَا لِعَاقِبَتِهَا فَمَا فَعَلَ فِعْلِ الْخَمْرِ فَهُوَ خَمْرٌ

  

  “อัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร ไม่ได้ทรงห้ามสุราเนื่องจากชื่อของมัน แต่ทว่าพระองค์ทรงห้ามมันเนื่องจากผลของมัน ดังนั้นสิ่งใดก็ตามที่ก่อให้เกิดผลอย่างเดียวกันกับสุรา มันก็คือสิ่งที่อยู่ในฐานะเดียวกับสุรา” (5)

 

ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ยังได้กล่าวอีกว่า    

 

مَن سَلَّط ثَلاثاً عَلی ثَلاثٍ فَکَأَنَّما أَعانَ هَواهُ عَلی هَدمِ عَقلِهِ: مَن أَظلَمَ نُورَ فِکرِهِ بِطُولِ أَمَلِهِ، وَ مَحا طَرائِفَ حِکمَتِهِ بِفُضُولِ کَلامِهِ، وَ أَطفَأَ نُورَ عِبرَتِهِ بّشهَواتِ نَفسِهِ فَکَأَنَّما أَعانَ هَواهُ عَلی هَدمِ عَقلِهِ، وَ مَن هَدَمَ عَقلَهُ أَفسَدَ عَلَیهِ دِینَهُ وَ دُنیاهُ.

       “ผู้ใดก็ตามที่ทำให้สามสิ่งพิชิต (และครอบงำ) อีกสามสิ่ง ดังนั้นประหนึ่งว่าเขาได้ช่วยเหลืออารมณ์ใฝ่ต่ำของตน ในการทำลายสติปัญญาของตัวเอง (นั่นคือ) หนึ่ง ใครก็ตามที่ทำให้แสวงสว่างแห่งความคิดของเขามืดมนลง ด้วยกับความหวังที่ยาวไกล (เลื่อนลอย) สอง (ใครก็ตามที่) ได้ลบทำลายสิ่งดีงามที่หายากแห่งภูมิปัญญา (ฮิกมะฮ์) ของเขา ด้วยกับคำพูดที่ไร้สาระของเขา สาม และ (ใครก็ตามที่) ได้ดับแสงสว่างแห่งการเรียนรู้อุทาหรณ์ของเขา ด้วยอารมณ์ใคร่แห่งจิตใจของตนเอง ดังนั้นประหนึ่งว่าเขาได้ช่วยเหลืออารมณ์ใฝ่ต่ำของตนในการทำลายสติปัญญาของตัวเอง และผู้ใดก็ตามที่ได้ทำลายสติปัญญาของตนเอง เขาได้ทำลายศาสนาและ (ชีวิตทาง) โลกนี้ของเขาแล้ว” (6)

 

      นี่คือตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งจากปัจจัยต่างๆ ที่จะบั่นทอนและทำลายสติปัญญาของคนเรา ด้วยเหตุนี้ บุคคลที่ปรารถนาจะประสบความสำเร็จในชีวิตและได้รับความรอดพ้นในปรโลก จำเป็นอย่างยิ่งที่เขาจะต้องให้ความสำคัญต่อการใช้ปัญญา การใช้เหตุใช้ผลและการคิดใคร่ครวญต่างๆ และจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังจากความชั่วทั้งหลายที่จะเป็นสื่อมอมเมาและเป็นตัวบั่นทอนทำลายสติปัญญาของตนเอง

 

แหล่งอ้างอิง :

 

(1) อัลกุรอาน บทอัลอันฟาล โองการที่ 22
(2) อัลกุรอาน บทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 90
(3) อุยูน อัคบาริรริฎอ (อ.), เล่ม 2, หน้า 98 ; วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่ม 25, หน้า 329
(4) ฆุร่อรุ้ลฮิกัม, หน้า 66
(5) อัลกาฟี, เล่ม 6, หน้า 412
(6) อัลกาฟี, เล่ม 1, หน้า 17

 

เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ