เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

การโอ้อวด (ริยาอ์) คือ ประเภทหนึ่งของการตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้า

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

การโอ้อวด (ริยาอ์) คือ ประเภทหนึ่งของการตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้า

 

       การโอ้อวด (ริยาอ์) เป็นพฤติกรรมที่ต้องห้าม (ฮะรอม) เป็นสาเหตุที่จะทำให้อิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) เป็นโมฆะ และเป็นประเภทหนึ่งของการตั้งภาคี (ชิรก์) ซึ่งการโอ้อวด (ริยาอ์) นี้คือการที่มนุษย์กระทำอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดี) ต่อพระผู้เป็นเจ้าเพื่อแสดงให้เพื่อนมนุษย์เห็น

 

       ทุกๆ อิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) หากผู้ใดกระทำมันเนื่องด้วยแรงบันดาลใจเพื่อนการสนองตอบและปฏิบัติตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อแสวงหาความพึงพอพระทัยจากพระองค์ หรือเพื่อขอบคุณในความโปรดปราน (เนี๊ยะอ์มัต) และปัจจัยอำนวยสุขต่างๆ ของพระองค์ที่ทรงประทานให้แก่เรา หรือเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระองค์ หรือเกิดจากความรักที่มีต่อพระองค์ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เพื่อให้ตัวเองได้รอดพ้นจากการลงโทษของพระองค์ หรือเพื่อแสวงหาผลรางวัลตอบแทนจากพระองค์ อิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) ในลักษณะเช่นนี้ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง (ซอเหี๊ยะห์) แต่ถ้าหากมีเจตนาเพื่อแสวงหาความความพึงพอใจจากผู้อื่นที่นอกเหนือไปจากพระผู้เป็นเจ้า หรือเพื่อแสวงหาสถานะและผลประโยชน์ต่างๆ ทางโลกนี้ (ดุนยา) อันได้แก่ ความเป็นผู้นำ ตำแหน่ง ชื่อเสียงและการสรรเสริญเยินยอจากมนุษย์แล้ว อิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) ที่มีเจตนาเหล่านี้เคลือบแฝงอยู่ถือเป็นโมฆะ (บาฏิล) (1)

 

ริวายะฮ์ (คำรายงาน)

 

      1.ในหนังสือตัฟซีร (อรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอาน) ของอาลี บินอิบรอฮีม กุมมี ในช่วงท้ายของบท (ซูเราะฮ์) อัลกะฮ์ฟี ในการอรรถาธิบายโองการ (อายะฮ์) ที่ 110 ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสว่า:

 

فَمَن كَانَ يَرْجُو  لِقَاء رَبِّهِ فَلْيَعْمَلْ عَمَلاً صَالِحاً وَلا يُشْرِكْ بِعِبَادَةِ رَبِّهِ أَحَداً

 

“ดังนั้นผู้ใดมุ่งหวังที่จะพบองค์พระผู้อภิบาลของเขา เขาก็จงประกอบการงานที่ดีเถิด และอย่าตั้งผู้ใดเป็นภาคีในการเคารพภักดีต่อองค์ พระผู้อภิบาลของเขาเลย”

 

       มีรายงานจากท่านอิมามบากิร (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า มีผู้ถามท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ)เกี่ยวกับการอรรถาธิบายโองการนี้ ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

 

من صلی مرائاة الناس فهو مشرك و من زکی مرائاة الناس فهو مشرك ومن صام مرائاة الناس فهو مشرك و من حج مرائاة الناس فهومشرك و من عمل عملا مما أمره الله مرائاة الناس فهو مشرك ولايقبل الله عز وجل مراء

 

“ผู้ใดกระทำนมาซเพื่อโอ้อวดมนุษย์ ดังนั้นเขาคือผู้ตั้งภาคี และผู้ใดที่จ่ายทานซะกาตเพื่อโอ้อวดมนุษย์ ดังนั้นเขาคือผู้ตั้งภาคี และผู้ใดที่ถือศีลอดเพื่อโอ้อวดมนุษย์ ดังนั้นเขาคือผู้ตั้งภาคี และผู้ใดที่บำเพ็ญฮัจญ์เพื่อโอ้อวดมนุษย์ ดังนั้นเขาคือผู้ตั้งภาคี และผู้ใดก็ตามที่ปฏิบัติการงานหนึ่งๆ ที่อัลลอฮ์ทรงบัญชาแก่เขา เพื่อโอ้อวดมนุษย์ ดังนั้นเขาคือผู้ตั้งภาคี และอัลลอฮ์ (ผู้ทรงเกริกเกียรติเกรียงไกร) จะไม่ทรงยอมรับการกระทำของผู้โอ้อวดคนใด” (2)

 

      2.มีรายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า :

 

انّ رسول اللَّه صلى الله عليه وآله سئل فيما النجاة غداً؟
فقال: "إنّما النجاة في أن لاتخادع اللَّه فيخدعكم؛ فإنّه من يخادع اللَّه يخدعه،
ويخلع منه الإيمان،ونفسه يخدع لو يشعر".
قيل له: فكيف يخادع اللَّه؟
قال: "يعمل بما أمره اللَّه ثمّ يريد به غيره. فاتّقوا اللَّه في الرياء،
فإنّه الشرك باللَّه. إنّ المرائي يدعى يوم القيامة بأربعة أسماء: يا كافر، يا فاجر،يا غادر، يا خاسر! حبط عملك وبطل أجرك،
فلا خلاص لك اليوم، فالتمس أجرك ممّن كنت تعمل له

    

  มีผู้ถามท่านท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ว่า “ความรอดพ้นในปรโลกนั้นอยู่ในสิ่งใด?”

 

      ท่านตอบว่า “อันที่จริงความรอดพ้นนั้นอยู่ในการที่ท่านจะหลอกลวงอัลลอฮ์ มิเช่นนั้นแล้วพระองค์ก็จะหลอกลวงพวกท่านเช่นกัน ดังนั้นใครก็ตามที่หลอกลวงอัลลอฮ์ พระองค์ก็จะหลอกลวงเขาด้วย และจะทรงปลดเปลื้องความศรัทธา (อีหม่าน) ออกไปจากเขา และ (ในความเป็นจริงแล้ว) เขากำลังหลอกลวงตัวเอง หากพวกเขารู้ตัว”


 
      มีผู้ถามท่านต่ออีกว่า “เขาจะหลอกลวงอัลลอฮ์ อย่างไรหรือ?”

 

      ท่านตอบว่า “เขาจะปฏิบัติตามสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงบัญชาแก่เขา แต่แล้วเขากลับมุ่งหวังจากผู้อื่นนอกเหนือไปจากอัลลอฮ์

 

      ดังนั้นพวกท่านทั้งหลายจงยำเกรงต่ออัลลอฮ์จากการโอ้อวดเถิด เพราะแท้จริงมันคือการตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์

 

      แท้จริงผู้ที่โอ้อวดนั้นจะถูกเรียกในวันกิยามะฮ์ (ชาติหน้า) ด้วยสี่ชื่อคือ ‘โอ้ผู้ปฏิเสธ’ ‘โอ้คนชั่ว’ ‘โอ้คนหลอกลวง’ ‘โอ้ผู้ขาดทุน’

 

      การกระทำ (อะมั้ล) ของเจ้านั้นได้สูญสลายไปแล้ว และผลรางวัลของเจ้าก็เป็นโมฆะไปแล้ว

 

      ดังนั้นในวันนี้ไม่มีหนทางรอดพ้นสำหรับเจ้าอีกแล้ว ด้วยเหตุนี้เจ้าจงเรียกขอผลรางวัลของเจ้าจากผู้ที่เจ้าได้กระทำ (อะมั้ล) เพื่อเขาผู้นั้นเถิด” (3)

 

แหล่งอ้างอิง :

 

(1) สิ่งที่สมควรกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ ประเภทต่างๆ ของการตั้งภาคี (ชิรก์) ซึ่งจะถูกกล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ อันได้แก่ การตั้งภาคีด้วยการโอ้อวด การตั้งภาคีในการเชื่อฟัง (ฏออะฮ์) ต่อพระผู้เป็นเจ้า และการตั้งภาคีด้วยสื่อต่างๆ ทางธรรมชาตินั้น เป็นคนละกรณีกันกับการตั้งภาคี (ชิรก์) ของบรรดามุชริกีน (ผู้ตั้งภาคี) ที่เป็นที่รู้จกกันดี ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา (กุฟฟาร) และการตั้งภาคีของบุคคลเหล่านั้นเป็นการตั้งภาคีที่เลวร้ายที่สุด และเป็นการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระผู้เป็นเจ้าที่ร้ายแรงที่สุด เป็นสาเหตุของการปฏิเสธศาสนา (กุฟร์) และการหลุดพ้นออกจากอิสลาม และมันคือการตั้งภาคีในการอิบาดะฮ์ที่มนุษย์ได้กระทำการเคารพภักดีสิ่งอื่นนอกเหนือจากพระผู้เป็นเจ้า

(2) ตัฟซีรอาลี บินอิบรอฮีม อัลกุมมี

(3) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 1} หน้าที่ 11

 

แปลและเรียบเรียง : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม