เยามุตตะนาด คือวันอะไร?

เยามุตตะนาด คือวันอะไร?


เยามุตตะนาด วันแห่งการร้องเรียกขอความช่วยเหลือ หนึ่งในสำนวนของคัมภีร์อัลกุรอานที่ชี้ถึงสภาวะอันน่าสะพรึงกลัว ความทุกข์ยากและสภาพความเลวร้ายต่างๆ ที่ผู้ปฏิเสธศรัทธาและคนกระทำความชั่วที่จะต้องเผชิญในวันมะห์ชัร (วันที่ทุกชีวิตจะถูกทำให้มีชีวิตขึ้นใหม่อีกครั้งและมารวมตัวกันเพื่อรับฟังคำพิพากษา) คือ สิ่งที่ถูกกล่าวถึงในโองการที่ 32 ของบท(ซูเราะฮ์)ฆอฟิร โองการนี้ได้กล่าวถึงวันแห่งการพิพากษาหรือวันกิยามะฮ์ด้วยสำนวน "เยามุตตะนาด" (วันแห่งการร้องเรียกขอความช่วยเหลือต่อกันและกัน)

 

"เยามุตตะนาด" คือวันอะไรและหมายความว่าอะไร?


 เราทุกคนคงเคยเห็นคนที่ร้องเรียกขอความช่วยเหลือและขอการอนุเคราะห์จากคนอื่นๆ กันบ้างแล้ว เราลองนึกภาพของคนที่กำลังจะจมน้ำอยู่ในแม่น้ำลำคลองหรือกลางทะเลและจะร้องเรียกหาความช่วยจากคนรอบด้านตลอดเวลา


แต่ไม่มีใครสามารถที่จะให้การช่วยเหลือแก่เขาได้ สภาพและวันเช่นนี้ก็จะเกิดขึ้นกับคนบางกลุ่มในวันแห่งมะห์ชัรหรือวันกิยามะฮ์ คัมภีร์อัลกุรอานได้บรรยายสภาพของคนกลุ่มนี้ โดยอ้างคำพูดของ "มุอ์มิน อาลิ ฟิรเอาน์" (ผู้ศรัทธาจากวงศ์วานของฟาโรห์) ซึ่งกล่าวว่า :

 

وَيَا قَوْمِ إِنِّي أَخَافُ عَلَيْكُمْ يَوْمَ التَّنَادِ يَوْمَ تُوَلُّونَ مُدْبِرِينَ مَا لَكُم مِّنَ اللَّهِ مِنْ عَاصِمٍ ۗ وَمَن يُضْلِلِ اللَّهُ فَمَا لَهُ مِنْ هَادٍ

 

"และโอ้หมู่ชนของฉันเอ๋ย! แท้จริงฉันกลัววันแห่งการร้องเรียกหาความช่วยเหลือต่อกันและกันจะเกิดขึ้นกับพวกท่าน วันที่พวกท่านจะหันหลังหนี ไม่มีผู้ใดจะช่วยปกป้องพวกท่านให้พ้นจากการลงโทษของอัลลอฮ์ได้ และผู้ใดที่อัลลอฮ์ทรงปล่อยให้เขาหลงผิดแล้ว ก็จะไม่มีผู้ชี้นำทางให้แก่เขาได้" (1)

 

หนึ่งในสำนวนของคัมภีร์อัลกุรอานที่ชี้ถึงสภาพความน่าสะพรึงกลัว ความทุกข์ยากและสภาพความเลวร้ายต่างๆ ที่ผู้ปฏิเสธศรัทธาและคนชั่วจะต้องเผชิญในวันมะห์ชัร (วันที่ทุกคนจะถูกทำให้มีชีวิตขึ้นใหม่อีกครั้งและมารวมตัวกันเพื่อรับฟังคำพิภากษา) คือสิ่งที่ถูกกล่าวถึงในโองการที่ 32 ของบท(ซูเราะฮ์)ฆอฟิร โองการนี้ได้กล่าวถึงวันแห่งการพิพากษาหรือวันกิยามะฮ์ด้วยสำนวน "เยามุตตะนาด" (วันแห่งการร้องเรียกขอความช่วยเหลือต่อกันและกัน) คำว่า "ตะนาด" มาจากรากศัพท์ว่า "นิดาอ์" ซึ่งหมายถึง "การร้องเรียก" แน่นอนคำว่า "ตะนาด" ยังมีผู้ให้ความหมายว่า "ความแตกแยก, การกระจัดกระจาย" หากมาจากรากศัพท์ว่า "นัดดุน" หรือ "ตะนาดดุน" อย่างไรก็ตาม มุฟัซซิรีน (นักอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอาน) ส่วนใหญ่ยึดตามความหมายแรก เนื่องจากมีริวายะฮ์ (คำรายงาน) รับรองในความหมายนี้


ท่านอิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก (อ.) กล่าวว่า :

 

یوم التناد یوم ینادى أهل النار أهل الجنّة أن أفیضوا علینا من الماء أو ممّا رزقکم اللّه

 

"เยามุตตะนาด (วันแห่งการร้องเรียกหาความช่วยเหลือต่อกันและกัน) คือวันที่ชาวนรกจะร้องเรียกชาวสวรรค์ว่า พวกท่านจงเทน้ำมาให้แก่พวกเราบ้างเถิด หรือไม่ก็บางส่วนจากสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกท่าน (ในสวรรค์)" (2)

 

แต่คำตอบที่พวกเขาจะได้รับจากชาวสวรรค์มีเพียงประโยคเดียว คือ เราไม่สามารถมอบให้พวกท่านได้ เนื่องจาก :

 

انَّ اللهَ حَرَّمَهُما عَلَى الکافِرِینَ

 

"แท้จริงอัลลอฮ์ได้ทรงห้ามมันทั้งสองต่อบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา" (3)


คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลก (ดุนยา) นี้ ด้วยการจมปักอยู่ในทะเลอันกว้างใหญ่แห่งกิเลส ตัณหาและการสนองความสุขด้วยสิ่งที่เป็นการละเมิดข้อห้าม (มุฮัรร่อมาต) ต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า และไม่รับฟังเสียงแห่งการชี้นำ (ฮิดายะฮ์) จากพระองค์ หรือคนที่ไม่ตอบรับการเรียกร้องขอความช่วยเหลือของคนอ่อนแอ คนตกทุกข์ได้ยากและบรรดาผู้ถูกกดขี่แล้ว ในวันกิยามะฮ์เขาจะประสบกับชะตากรรมเช่นนี้ เขาจะยื่นมือขอความช่วยเหลือจากชาวสวรรค์ แต่เขาจะไม่ได้รับคำตอบ วันนั้นจะเป็นวันร้องเรียกขอความช่วยเหลือของเขา แต่เขาจะไม่ได้รับการสนองตอบใดๆ วันนั้นจะเป็นวันแห่งความสำนึกผิดที่สายไปแล้วสำหรับเขา


ในวันนี้ พวกเขาจะได้รับคำตอบแต่เพียงการสาปแช่ง (ละอ์นัต) จากบรรดาผู้ประกาศแห่งทุ่งมะห์ชัร (มวลมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) และบรรดาผู้เป็นสักขีพยานทั้งหลาย) ว่า :

 

الا لَعْنَة اللهِ عَلَى الظّالمینَ

 

"พึงสังวรเถิด! การสาปแช่งของอัลลอฮ์จจงประสบแก่บรรดาผู้อธรรม" (4)

 

แต่สำหรับบรรดามุอ์มิน (ผู้ศรัทธา) ในวันนั้นจะมีแต่ความพึงพอใจและความปิติยินดี ที่พวกเขาจะได้รับบันทึกแห่งการงาน (อะมั้ล) ที่สะอาดบริสุทธิ์ของพวกเขาและต่างนำมาแสดงต่อกันและกัน โดยที่คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า :

 

فَأَمَّا مَنْ أُوتِيَ كِتَابَهُ بِيَمِينِهِ فَيَقُولُ هَاؤُمُ اقْرَءُوا كِتَابِيَهْ

 

"ส่วนผู้ที่บันทึกของเขาถูกมอบให้ทางเบื้องขวาของเขา เขาจะกล่าว (ด้วยความปลาบปลื้ม) ว่า พวกท่านทั้งหลายมานี่ซิ มาอ่านบันทึก (ความประพฤติ) ของฉันเถิด" (6)

 

แหล่งที่มา :


1.อัลกุรอานบทฆอฟิร โองการที่ 32-33
2.ตัฟซีร อัลบุรฮาน, เล่ม 4, หน้า 756
3.อัลกุรอานบทอัลอะอ์ร๊อฟ โองการที่ 50
4.อัลกุรอานบทฮูด โองการที่ 18
5.อัลกุรอานบทอัลฮากเกาะฮ์ โองการที่ 19


แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ