กุญแจไขความสำเร็จและความโชคดี จากคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอาน

กุญแจไขความสำเร็จและความโชคดี จากคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอาน

 

 

    "โองการจำนวนมากของคัมภีร์อัลกุรอาน ได้อธิบายถึงคุณลักษณะพิเศษของผู้ที่บรรลุความสำเร็จและความผาสุกไพบูลย์ไว้ สำหรับผู้ที่ปรารถนาความสำเร็จและความผาสุกไพบูลย์ที่แท้จริงในชีวิตของตนนั้น จำเป็นที่จะต้องนำเอาคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอานเหล่านี้มาเป็นบรรทัดฐานและเทียบเคียงเข้ากับตัวเอง เพื่อจะเป็นแนวทางในการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตัวเอง อันจะทำให้ตัวเรากลายเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ที่บรรลุสู่ความสำเร็จและความรอดพ้นได้ตามที่ตนเองปรารถนา ซึ่งในที่นี้เราจะขอชี้ถึงบางส่วนของโองการเหล่านี้"

 

การอิบาดะฮ์และการนมาซด้วยความนอบน้อมถ่อมตน

 

     ในตรรกะของคัมภีร์อัลกุรอาน การดำเนินชีวิตในโลกนี้ ใครก็ตามที่สามารถทำอิบาดะฮ์ (นมัสการ) และเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงทรงสูงส่งด้วยความนบนอบ เขาคือผู้ประสบความสำเร็จแล้วในทัศนะของพระผู้เป็นเจ้า บางคนแม้ในชีวิตเขาจะไม่ละทิ้งการนมาซและการอิบาดะฮ์ แต่การนมาซและการอิบาดะฮ์ของเขาขาดคุณลักษณะของความนบนอบ การมีจิตมุ่งตรงต่อพระผู้เป็นเจ้าและความบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริงต่อพระองค์ ซึ่งทำให้การนมาซและการอิบาดะฮ์นั้นไม่ส่งผลใดๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเขา คัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะประการหนึ่งของบรรดาผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ที่ประสบความสำเร็จ คือความนอบน้อมในการนมาซ โดยกล่าวว่า

 

 قَدْ اَفْلَحَ الْمُؤْمِنُونَ الَّذِینَ هُمْ فِی صَلاتِهِمْ خاشِعُونَ

 

“แน่นอนบรรดาผู้ศรัทธาได้ประสบความสำเร็จแล้ว คือบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนในการนมาซของพวกเขา” (1)

 

      คำว่า "คอชิอูน" มาจากคำว่า "คุชูอ์" หมายถึง สภาพของความนอบน้อมถ่อมตน ความมีจิตมุ่งตรงต่อพระผู้เป็นเจ้าและการรักษามารยาททั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

การหลีกห่างจากสิ่งไร้สาระ

 

     คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า

 

 وَ الَّذينَ هُمْ عَنِ اللَّغْوِ مُعْرِضُونَ

 

“และบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้ออกห่างจากเรื่องไร้สาระทั้งหลาย” (2)

 

หนึ่งในอุปสรรคกีดขวางการพัฒนาการสู่ความสมบูรณ์ (กะมาล) การบรรลุสู่ความสำเร็จและความรอดพ้นของมนุษย์ คือการหมกมุ่นอยู่กับสิ่งต้องห้ามและเรื่องไร้สาระต่างๆ ใครก็ตามที่ในชีวิตของเขาไม่สามารถแยกระหว่างการกระทำที่ดีงามและการกระทำที่ไร้สาระ และนำตัวเองออกห่างจากสิ่งไร้สาระและไม่ก่อประโยชน์แก่ชีวิตของตนเองได้แล้ว เขาก็ไม่อาจนำพาตนเองให้บรรลุสู่ความสำเร็จและการพัฒนาตนไปสู่ความสมบูรณ์ทางด้านจิตวิญญาณได้ คำว่าสิ่งไร้สาระนั้น ไม่ใช่แค่เพียงคำพูดและการกระทำที่ไร้สาระและไม่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์เพียงเท่านั้น ทว่าแม้แต่ความคิดที่ไร้สาระและไร้แก่นสารที่ทำให้มนุษย์หมกมุ่นจนหลงลืมจากการรำลึกถึงพระเจ้าและการคิดใคร่ครวญในสิ่งที่สร้างสรรค์และก่อให้เกิดประโยชน์ ทั้งหมดล้วนอยู่ในความหมายของคำว่า “ลัฆว์” (สิ่งไร้สาระ) ทั้งสิ้น

 

     การจ่ายซะกาตและการจัดสรรทรัพย์สินบางส่วนในทางของอัลลอฮ์ คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าว่า

 

 وَ الَّذينَ هُمْ لِلزَّكاةِ فاعِلُونَ

 

“และบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้บริจาคซะกาต” (3)

 

     ในคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอาน ใครก็ตามที่ในชีวิตของเขาได้จัดสรรส่วนแบ่งจากทรัพย์สินของเขาให้เป็นทานซะกาตและเป็นปัจจัยในการช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์ยากของบรรดาผู้ที่ยากจนขัดสนในสังคม เขาจะเข้าอยู่ในหมู่ผู้ที่ประสบความสำเร็จและความผาสุกไพบูลย์ การรักนวลสงวนตัวและการรักษาพรหมจารี

 

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จและเป็นผู้โชคดีในทัศนะของคำภีร์อัลกุรอานนั่นคือ การรักนวลสงวนตัวและการหลีกเลี่ยงจากการละเมิดประเวณี พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสในเรื่องนี้ว่า

 

 وَالَّذينَ هُمْ لِفُرُوجِهِمْ حافِظُونَ

 

“และบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้รักษาอวัยวะพึงสงวนของพวกเขา” (4)

 

การระวังรักษาตักวา (ความยำเกรงพระเจ้าและความสำรวมตนจากความชั่ว)

 

     การระวังรักษาตักวา หมายถึง การที่มนุษย์ผู้มีตักวาจะมีคุณลักษณะหนึ่งหรือสภาพหนึ่งเกิดขึ้นในตัวเขา ซึ่งจะช่วยยับยั้งเขาจากการทำความชั่วและการละเมิดฝ่าฝืนคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า และจะช่วยส่งเสริมเขาสู่การเชื่อฟังและการปฏิบัติตนเป็นบ่าวที่ดีของพระองค์ แน่นอน สภาพดังกล่าวนั้นต้องอาศัยการฝึกฝนและการข่มใจตัวเอง พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสถึงคุณลักษณะของการมีตักวาและผลบั้นปลายของมันว่า

 

 اتَّقُوا اللَّهَ يا أُولِي الْأَلْبابِ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ

 

“จงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด โอ้ปวงผู้มีสติปัญญาเอ๋ย! เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ" (5)

 

การสำนึกผิดและการหวนกลับสู่พระผู้เป็นเจ้า

 

    บางครั้งการดำเนินชีวิตโดยปราศจากความผิดบาปนั้นเป็นเรื่องที่ยากเย็นเข็ญใจยิ่ง แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับมนุษย์ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของปวงศาสดา (อ.) และอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) แต่กระนั้นก็ตาม หากผู้ใดที่การดำเนินชีวิตทางโลกนี้ของเขาได้พลั้งพลาดและกระทำในสิ่งที่เป็นความผิดบาป เขาจะต้องไม่สิ้นหวังจากความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า ทั้งนี้เนื่องจากความสิ้นหวังดังกล่าวนั้นคือบาปที่ร้ายแรงที่สุด

 

 إِنَّهُ لَا يَيْأَسُ مِن رَّوْحِ اللَّهِ إِلَّا الْقَوْمُ الْكَافِرُونَ

 

“แท้จริงจะไม่สิ้นหวังจากความเมตตาของอัลลอฮ์ นอกจากหมู่ชนผู้ปฏิเสธ” (6)

 

    และในคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอาน บุคคลที่สำนึกผิด ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองและหวนกลับมาสู่พระผู้เป็นเจ้า เขาคือผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างแท้จริง

 

 وتُوبُوا إِلَى اللَّهِ جَميعاً أَيُّهَا الْمُؤْمِنُونَ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُون

 

“และพวกเจ้าจงกลับเนื้อกลับตัวมาสู่อัลลอฮ์โดยพร้อมเพียงกันเถิด โอ้ปวงผู้ศรัทธาเอ๋ย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ประสบความสำเร็จ” (7)

 

เดือนรอมฎอนเดือนแห่งการเตาบะฮ์

 

    ท่านอายะตุลลอฮ์ อะลี คอเมเนอี ได้กล่าวในสุนทโรวาทของท่านในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า : เดือนรอมฎอน ถูกเรียกว่า "มุบาร็อก" (เดือนอันจำเริญ) เหตุผลของความจำเริญของเดือนนี้ เนื่องจากมันคือทางรอดพ้นจากไฟนรกและหนทางแห่งความสำเร็จในการเข้าสู่สวรรค์ ซึ่งในบทดุอาอ์ประจำวันของเดือนรอมฎอนได้กล่าวว่า

 

 وَ هذا شَهرُ العِتقِ مِنَ النّارِ وَ الفَوزِ بِالجَنَّة

 

"และเดือนนี้คือเดือนของการปลดปล่อยจากไฟนรก และความสำเร็จในการได้รับสวรรค์" (8)

 

    และท่านยังได้ชี้ถึงการใช้โอกาสจากเดือนอันจำเริญนี้ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเอง และการเตาบะฮ์ (การสารภาพผิดและการกลับเนื้อกลับตัว) พร้อมกันนั้น ท่านกล่าวว่า : ในดุอาอ์อีกบทหนึ่งได้กล่าวว่า

 

 وَ هذا شَهرُ اِلانابَةِ وَ هذا شَهرُ التَّوبَة

 

“เดือนนี้คือเดือนแห่งการหวนกลับ และเดือนนี้คือเดือนแห่งการกลับเนื้อกลับตัว (เตาบะฮ์)”

 

(อิกบาลุลอะอ์มาล เล่มที่ 1 หน้าที่ 25)

 

    ดังนั้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เดือนรอมฎอนในปีนี้จะเป็นเดือนแห่งการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองของพวกเราทุกคน เป็นเดือนแห่งการย้อนกลับสู่พระผู้เป็นเจ้า และเป็นเดือนที่เราจะบรรลุสู่ความเป็นบ่าวของพระองค์ที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตทางด้านจิตวิญญาณและปรโลก

 

แหล่งอ้างอิง :

 

(1) อัลกุรอานบทอัลมุอ์มินูน โองการที่ 1 -2

(2) อัลกุรอานบทอัลมุอ์มินูน โองการที่ 3

(3) อัลกุรอานบทอัลมุอ์มินูน โองการที่ 4

(4) อัลกุรอานบทอัลมุอ์มินูน โองการที่ 5

(5) อัลกุรอานอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 100

(6) อัลกุรอานบทยูซุฟ โองการที่ 87

(7) อัลกุรอานบทอันนูร โองการที่ 31

(8) อิกบาลุลอะอ์มาล เล่มที่ 1 หน้าที่ 90

(9) อิกบาลุลอะอ์มาล เล่มที่ 1 หน้าที่ 25

 

เรียบเรียง : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ