เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ชะฟาอะฮ์ และสาเหตุของการอภัยบาป

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ชะฟาอะฮ์ และสาเหตุของการอภัยบาป

 

وَاتَّقُوا يَوْمًا لَّا تَجْزِي نَفْسٌ عَن نَّفْسٍ شَيْئًا وَلَا يُقْبَلُ مِنْهَا شَفَاعَةٌ
وَلَا يُؤْخَذُ مِنْهَا عَدْلٌ وَلَا هُمْ يُنصَرُونَ

 

“และจงสำรวมต่อวันหนึ่ง  ซึ่งไม่มีชีวิตใดถูกลงโทษแทนอีกชีวิตหนึ่งได้  และการขอความอนุเคราะห์ (ชะฟาอะฮ์) จะไม่ถูกตอบรับ และการชดเชยแทนสิ่งนั้นก็จะไม่เป็นที่ถูกรับ  และ    พวกเขาจะไม่ถูกช่วยเหลือ”  (อัล-บะเกาะเราะฮ์ : 48)

 

อัลกุรอานกับปัญหาการชะฟาอะฮ์

 

คำว่า “ชะฟาอะฮ์”  ความหมายที่ถูกต้องนั้นคือ การรักษาความสมดุลและเป็นสื่อที่ช่วยบุคคลที่กลับใจจากการทำความผิดบาป  ส่วนในความหมายที่เข้าใจผิด คือ ชะฟาอะฮ์ เป็นสาเหตุที่ทำให้บุคคลนั้นมีความกล้าในการทำความผิดบาป  เนื่องจากเข้าใจผิดว่า เมื่อถึงเวลาก็จะมีผู้ให้ชะฟาอะฮ์ช่วยให้รอดพ้นจากการถูกลงโทษ

 

คำว่า “ชะฟาอะฮ์”  มาจากรากศัพท์ของคำว่า “ชะฟะอะ”  หมายถึง คู่ สิ่งที่เป็นคู่  หมายถึง บุคคลที่มีพื้นฐานความศรัทธา ความยำเกรง และมีการปฏิบัติตัวตามหลักการ  แต่เมื่อวันนั้นมาถึงสิ่งที่กระทำไว้บกพร่อง  ความการุณย์ของพระองค์จะถูกเพิ่มเข้าที่พื้นฐาน และผลของการเข้าคู่ หรือร่วมกับความการุณย์ของเหล่าบรรดามวลมิตรของพระเจ้า (เอาลิยาอ์) ทำให้รอดพ้นจากการถูกโกรธกริ้วของพระเจ้า  ด้วยเหตุนี้ ชะฟาอะฮ์ จะได้แก่ บุคคลที่เพียรพยายามแล้วแต่ไปไม่ถึงเป้าหมาย  ซึ่งต้องการพลังอำนาจหนึ่งให้อยู่เคียงข้างให้เขาผู้นั้นรอดพ้นจากการถูกลงโทษ

 

 โองการอัล-กุรอานที่เกี่ยวข้องกับชะฟาอะฮ์  สามารถแบ่งได้ ดังนี้

 

    โองการที่ปฏิเสธเรื่องการชะฟาอะฮ์ ดังเช่น “วันนั้นไม่มีการค้าไม่มีมิตร และไม่มีชะฟาอะฮ์”       

[บะเกาะเราะฮ์ / 254]


    โองการที่กล่าวว่า ชะฟาอะฮ์ เป็นของพระเจ้าเท่านั้น  เช่น “สำหรับพวกเจ้าไม่มีผู้คุ้มครอง และผู้ช่วยเหลืออื่นจากพระองค์”

  [ซัจญ์ดะฮ? / 4]


    โองการที่กล่าวว่า  บุคคลอื่นจะให้ชะฟาอะฮ์ได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากพระเจ้า เช่น “ใครเล่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น ณ พระองค์ได้  นอกจากด้วยอนุมัติของพระองค์เท่านั้น”


  [บะเกาะเราะฮฺ / 255]

 

     โองการที่กล่าวถึง บุคคลที่มีสิทธิ์รับชะฟาอะฮ์ในวันนั้น  เช่นกล่าวว่า :

 

 

    “และพวกเขาจะไม่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใด นอกจากผู้ที่พระองค์ทรงพอพระทัย”               

      [อัมบิยาอ์ / 38]


    “ไม่มีมิตรที่สนิทสนมสำหรับบรรดาผู้อธรรม  และไม่มีผู้ช่วยเหลือคนใดที่จะถูกเชื่อฟัง”   

        [ฆอฟิร / 18]

 

ดังนั้น ชะฟาอะฮ์  มิใช่สิ่งที่ปราศจากเงื่อนไขแต่อย่างใด  แต่ชะฟาอะฮ์ ต้องได้รับอนุญาตจากพระเจ้า ส่วนผู้ที่มีสิทธิ์รับชะฟาอะฮ์ต้องอยู่ในเงื่อนไข  ดังนั้น ถ้าบุคคลที่ไม่มีเงื่อนไขพอที่จะรับชะฟาอะฮ์  ถึงแม้ว่าเป็นภรรยาของศาสดาก็ไม่มีสิทธิ์ได้ชะฟาอะฮ์  เช่น ภรรยาของศาสดานูฮ์ และลูฏ เป็นต้น  เนื่องจากทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งของศาสดา จึงไม่มีสิทธิ์รับชะฟาอะฮ์


อัล-กุรอานกล่าวว่า

 

“นางทั้งสองอยู่ภายใต้การปกครองของบ่าวที่ดีจากปวงบ่าวของเรา  แต่นางทั้งสองได้ทรยศต่อเขาทั้งสอง  และความสัมพันธ์กับทั้งสอง (ศาสดา) มิได้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด (เมื่ออยู่ต่อหน้าการลงโทษของอัลลอฮฺ)  จึงมีเสียงกล่าวขึ้นว่า เจ้าทั้งสองจงเข้าไปในไฟนรกพร้อมกับบรรดาผู้ที่เข้าไปในนั้น”

  [ตะฮ์รีม / 110]

 

ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่า ชะฟาอะฮ์  เป็นปัจจัยสร้างสรรค์ กล่าวคือ สร้างความใกล้ชิดระหว่างบ่าวทั่วไปกับบรรดามวลมิตรของพระองค์  แต่ถ้าความเชื่อเรื่อง ชะฟะอะฮ์  เป็นสาเหตุของการทำความผิดบาป  ดังเช่น พวกคริสต์เชื่อว่า ศาสดาอีซา ได้เสียสละเพื่ออภัยในบาปของพวกเขา  ดังนั้น สิ่งนี้ไม่อาจยอมรับได้

 

อาจมีผู้ถามว่า ชะฟาอะฮ์  ของบรรดาเอาลิยาอ์ หมายถึง การเผชิญหน้ากับความประสงค์ของพระเจ้าใช่หรือไม่?  และบุคคลที่อัลลอฮ์ประสงค์จะลงโทษ ชะฟาอะฮ์  ของศาสดามิได้เป็นอุปสรรคขวางกั้นดอกหรือ?

 

ทั้งการลงโทษคนผิด และการอนุญาตให้ ชะฟาอะฮ์  ของบรรดามวลมิตรของพระองค์ ล้วนเป็นความประสงค์ของพระองค์ทั้งสิ้น  ด้วยเหตุนี้ ชะฟาอะฮ์  ของมวลมิตรของพระองค์ จึงไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคขวางกั้นพระประสงค์ของพระองค์

 

ชะฟาอะฮ์  ของบรรดามวลมิตรของพระเจ้า มิได้มีความหมายว่า พวกเขามีความเมตตามากกว่าพระองค์ดอกหรือ? เนื่องจากพระเจ้าประสงค์จะลงโทษพวกเขา  แต่บรรดามวลมิตรต้องการให้ชะฟาอะฮ์

 

ทั้งความเมตตาของบรรดามวลมิตรของพระองค์  และการให้อนุญาตใช้ประโยชน์ ล้วนมาจากพระองค์ทั้งสิ้น  ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงเป็นทั้งผู้ให้ความเมตตาและให้อนุญาตการชะฟาอะฮ์

 

ชะฟาอะฮ์  มิได้เป็นตัวเปลี่ยนแปลงพระประสงค์ของพระองค์ดอกหรือ?

 

พระประสงค์ของพระเจ้าบนเงื่อนไขที่แตกต่างกัน มิได้จัดอยู่ในประเภทเดียวกัน  ดังนั้น พระประสงค์ของพระเจ้า คือ การลงโทษคนทำบาป  แต่ถ้าเขาลุแก่โทษก็เท่ากับว่า ถอดถอนความกริ้วของพระองค์ออกไปจากตน  เนื่องจากคนทำบาปกับคนขอลุแก่โทษมีความแตกต่างกัน  บุคคลที่มีความจงรักภักดี และมีเจตนาแน่วแน่ในการเชื่อฟังปฏิบัติตามบรรดามวลมิตรของพระองค์บนโลกนี้ ย่อมได้รับชะฟาอะฮ์ของท่านเหล่านั้น  ส่วนบุคคลที่ฝ่าฝืนและเป็นศัตรูกับท่านย่อมไม่มีสิทธิ์ในชะฟาอะฮ์นั้น

 

สาเหตุของการอภัยบาปบนโลกนี้ มี 3 ประการ

 

    ทำการลุแก่โทษด้วยความจริงใจ อัล-กุรอาน กล่าวว่า “นอกจากผู้ที่สำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัว และปรับปรุงแก้ไข และชี้แจงสิ่งที่ปกปิดไว้  ชนเหล่านี้ฉันจะอภัยโทษให้แก่พวกเขา  และฉันคือผู้อภัยโทษ และเมตตาเสมอ” 

[บะเกาะเราะฮ์ / 160]


     ละเว้นการทำบาปใหญ่ต่าง ๆ  อัล-กุรอาน ได้กล่าวว่า  “หากพวกเจ้าปลีกตัวออกจากบรรดาบาปใหญ่ ๆ ของสิ่งที่พวกเจ้าถูกห้ามให้ละเว้น  เราก็จะลบล้างบรรดาความผิดเล็กๆ น้อยๆ ของพวกเจ้า ออกจากพวกเจ้า” 

[นิซาอ์ / 31]


    การสร้างคุณงามความดีทั้งหลาย  อัล-กุรอาน กล่าวว่า “แท้จริงความดีทั้งหลาย ย่อมลบล้างความชั่วทั้งหลาย นั่นคือ ข้อเตือนสำหรับบรรดาผู้ที่รำลึก” 

[ฮูด / 114]

 

ส่วนการอภัยความผิดในปรโลกหน้ามีอยู่หนทางเดียว นั่นคือ “ชะฟาอะฮ์”

 

ฮะดีษเกี่ยวกับชะฟาอะฮ์

 

รายงานที่แตกต่างกันจำนวนมากมายกล่าวถึงเรื่อง ชะฟาอะฮ์   ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ต่อเติมให้ความหมายของชะฟาอะฮ์สมบูรณ์  เช่น อิมามมูซา กาซิม (อ.) รายงานจากท่านอิมามอะลี (อ.) ซึ่งกล่าวว่า :     ฉันได้ยินท่านศาสดากล่าวว่า “ชะฟาอะฮ์ของฉัน เพื่อประชาชาติของฉันที่กระทำบาปใหญ่”  เนื่องจาก  ชะฟาอะฮ์ โดยหลักการแล้ว เป็นปัจจัยสร้างสรรค์  เพราะมนุษย์ทุกคนที่ไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ (มะอ์ซูม) ย่อมกระทำบาป  และเพื่อมีส่วนร่วมหรือมีความเหมาะสมในการรับชะฟาอะฮ์จากผู้ให้  ไม่ว่าจะเป็นบรรดาศาสดา หรือบรรดามวลมิตรของพระองค์  พวกเขาจำเป็นต้องปฏิบัติตามการชี้นำ และการสั่งสอน  เพื่อให้ตนใกล้ชิดกับบรรดาศาสดา และเหล่ามวลมิตรของพระองค์ทั้งหลาย  เพื่อเป็นการสร้างตนให้มีความคู่ควรกับการได้รับชะฟาอะฮ์  ซึ่งพลังดึงดูดของชะฟาอะฮ์ จะเรียกร้องบุคคลที่ทำบาปให้เข้าสู่การปฏิบัติตามพระเจ้า และมวลมิตรของพระองค์  แม้ว่าพระเจ้าทรงสามารถให้ชะฟาอะฮ์แก่ผู้ทำบาปโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องผ่านสื่อก็ได้  แต่อาจเป็นเพราะว่า ปรัชญาของการกำหนดชะฟาอะฮ์ อยู่ที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้วิธีการดังกล่าว  เป็นสื่อทำให้ประชาชนมีความใกล้ชิดกับบรรดาศาสดา และหมู่มวลมิตรของพระองค์ เพื่อง่ายต่อการชี้นำ นั่นเอง

 

เงื่อนไขการสร้างชะฟาอะฮ์

 

ดังที่ทราบแล้วว่า ชะฟาอะฮ์  ในความหมายที่ถูกต้องนั้น มีเงื่อนไขและสาเหตุมากมาย  บุคคลที่เชื่อเรื่อง ชะฟาอะฮ์  จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างตนเองให้อยู่ในเงื่อนไขเหล่านั้น และออกห่างจากการทำบาป เช่น การกดขี่ หรือการตั้งภาคีอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากบาปเหล่านี้เป็นตัวทำลายความหวังในการได้รับชะฟาอะฮ์ ให้เป็นสูญ  และเพื่อไปให้ถึงยังตำแหน่งของผู้มีสิทธิ์รับชะฟาอะฮ์  เขาจะต้องสัญญากับพระเจ้าว่า จะกลับตัวกลับใจ  หรืออย่างน้อยที่สุดอยู่ในระหว่างการกลับใจ  ขณะเดียวกันต้องหยุดยั้งการฝ่าฝืน  การทำลายกฎเกณฑ์ของพระองค์  และมีศรัทธามั่นคงต่อพระองค์  พยายามให้ชีวิตชีวาแก่วันแห่งการฟื้นคืนชีพ  เพื่อรอรับการตัดสินสำหรับตน  และให้ความเคารพต่อกฎเกณฑ์ของพระองค์  เมื่อมนุษย์สามารถปฏิบัติได้เช่นนี้ ก็ไม่เป็นที่สงสัยอีกต่อไปว่าชะฟาอะฮ์ในความหมายที่ถูกต้องนั้น มีบทบาทสำคัญต่อการทำลายสภาพของคนทำบาป และปรับปรุงความประพฤติของพวกเขา

 

 

ขอขอบคุณ เว็บไซต์อัชชีอะฮ์

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม