ชะฟาอะฮ์ และสาเหตุของการอภัยบาป

ชะฟาอะฮ์ และสาเหตุของการอภัยบาป

 

وَاتَّقُوا يَوْمًا لَّا تَجْزِي نَفْسٌ عَن نَّفْسٍ شَيْئًا وَلَا يُقْبَلُ مِنْهَا شَفَاعَةٌ
وَلَا يُؤْخَذُ مِنْهَا عَدْلٌ وَلَا هُمْ يُنصَرُونَ

 

“และจงสำรวมต่อวันหนึ่ง  ซึ่งไม่มีชีวิตใดถูกลงโทษแทนอีกชีวิตหนึ่งได้  และการขอความอนุเคราะห์ (ชะฟาอะฮ์) จะไม่ถูกตอบรับ และการชดเชยแทนสิ่งนั้นก็จะไม่เป็นที่ถูกรับ  และ    พวกเขาจะไม่ถูกช่วยเหลือ”  (อัล-บะเกาะเราะฮ์ : 48)

 

อัลกุรอานกับปัญหาการชะฟาอะฮ์

 

คำว่า “ชะฟาอะฮ์”  ความหมายที่ถูกต้องนั้นคือ การรักษาความสมดุลและเป็นสื่อที่ช่วยบุคคลที่กลับใจจากการทำความผิดบาป  ส่วนในความหมายที่เข้าใจผิด คือ ชะฟาอะฮ์ เป็นสาเหตุที่ทำให้บุคคลนั้นมีความกล้าในการทำความผิดบาป  เนื่องจากเข้าใจผิดว่า เมื่อถึงเวลาก็จะมีผู้ให้ชะฟาอะฮ์ช่วยให้รอดพ้นจากการถูกลงโทษ

 

คำว่า “ชะฟาอะฮ์”  มาจากรากศัพท์ของคำว่า “ชะฟะอะ”  หมายถึง คู่ สิ่งที่เป็นคู่  หมายถึง บุคคลที่มีพื้นฐานความศรัทธา ความยำเกรง และมีการปฏิบัติตัวตามหลักการ  แต่เมื่อวันนั้นมาถึงสิ่งที่กระทำไว้บกพร่อง  ความการุณย์ของพระองค์จะถูกเพิ่มเข้าที่พื้นฐาน และผลของการเข้าคู่ หรือร่วมกับความการุณย์ของเหล่าบรรดามวลมิตรของพระเจ้า (เอาลิยาอ์) ทำให้รอดพ้นจากการถูกโกรธกริ้วของพระเจ้า  ด้วยเหตุนี้ ชะฟาอะฮ์ จะได้แก่ บุคคลที่เพียรพยายามแล้วแต่ไปไม่ถึงเป้าหมาย  ซึ่งต้องการพลังอำนาจหนึ่งให้อยู่เคียงข้างให้เขาผู้นั้นรอดพ้นจากการถูกลงโทษ

 

 โองการอัล-กุรอานที่เกี่ยวข้องกับชะฟาอะฮ์  สามารถแบ่งได้ ดังนี้

 

    โองการที่ปฏิเสธเรื่องการชะฟาอะฮ์ ดังเช่น “วันนั้นไม่มีการค้าไม่มีมิตร และไม่มีชะฟาอะฮ์”       

[บะเกาะเราะฮ์ / 254]


    โองการที่กล่าวว่า ชะฟาอะฮ์ เป็นของพระเจ้าเท่านั้น  เช่น “สำหรับพวกเจ้าไม่มีผู้คุ้มครอง และผู้ช่วยเหลืออื่นจากพระองค์”

  [ซัจญ์ดะฮ? / 4]


    โองการที่กล่าวว่า  บุคคลอื่นจะให้ชะฟาอะฮ์ได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากพระเจ้า เช่น “ใครเล่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น ณ พระองค์ได้  นอกจากด้วยอนุมัติของพระองค์เท่านั้น”


  [บะเกาะเราะฮฺ / 255]

 

     โองการที่กล่าวถึง บุคคลที่มีสิทธิ์รับชะฟาอะฮ์ในวันนั้น  เช่นกล่าวว่า :

 

 

    “และพวกเขาจะไม่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใด นอกจากผู้ที่พระองค์ทรงพอพระทัย”               

      [อัมบิยาอ์ / 38]


    “ไม่มีมิตรที่สนิทสนมสำหรับบรรดาผู้อธรรม  และไม่มีผู้ช่วยเหลือคนใดที่จะถูกเชื่อฟัง”   

        [ฆอฟิร / 18]

 

ดังนั้น ชะฟาอะฮ์  มิใช่สิ่งที่ปราศจากเงื่อนไขแต่อย่างใด  แต่ชะฟาอะฮ์ ต้องได้รับอนุญาตจากพระเจ้า ส่วนผู้ที่มีสิทธิ์รับชะฟาอะฮ์ต้องอยู่ในเงื่อนไข  ดังนั้น ถ้าบุคคลที่ไม่มีเงื่อนไขพอที่จะรับชะฟาอะฮ์  ถึงแม้ว่าเป็นภรรยาของศาสดาก็ไม่มีสิทธิ์ได้ชะฟาอะฮ์  เช่น ภรรยาของศาสดานูฮ์ และลูฏ เป็นต้น  เนื่องจากทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งของศาสดา จึงไม่มีสิทธิ์รับชะฟาอะฮ์


อัล-กุรอานกล่าวว่า

 

“นางทั้งสองอยู่ภายใต้การปกครองของบ่าวที่ดีจากปวงบ่าวของเรา  แต่นางทั้งสองได้ทรยศต่อเขาทั้งสอง  และความสัมพันธ์กับทั้งสอง (ศาสดา) มิได้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด (เมื่ออยู่ต่อหน้าการลงโทษของอัลลอฮฺ)  จึงมีเสียงกล่าวขึ้นว่า เจ้าทั้งสองจงเข้าไปในไฟนรกพร้อมกับบรรดาผู้ที่เข้าไปในนั้น”

  [ตะฮ์รีม / 110]

 

ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่า ชะฟาอะฮ์  เป็นปัจจัยสร้างสรรค์ กล่าวคือ สร้างความใกล้ชิดระหว่างบ่าวทั่วไปกับบรรดามวลมิตรของพระองค์  แต่ถ้าความเชื่อเรื่อง ชะฟะอะฮ์  เป็นสาเหตุของการทำความผิดบาป  ดังเช่น พวกคริสต์เชื่อว่า ศาสดาอีซา ได้เสียสละเพื่ออภัยในบาปของพวกเขา  ดังนั้น สิ่งนี้ไม่อาจยอมรับได้

 

อาจมีผู้ถามว่า ชะฟาอะฮ์  ของบรรดาเอาลิยาอ์ หมายถึง การเผชิญหน้ากับความประสงค์ของพระเจ้าใช่หรือไม่?  และบุคคลที่อัลลอฮ์ประสงค์จะลงโทษ ชะฟาอะฮ์  ของศาสดามิได้เป็นอุปสรรคขวางกั้นดอกหรือ?

 

ทั้งการลงโทษคนผิด และการอนุญาตให้ ชะฟาอะฮ์  ของบรรดามวลมิตรของพระองค์ ล้วนเป็นความประสงค์ของพระองค์ทั้งสิ้น  ด้วยเหตุนี้ ชะฟาอะฮ์  ของมวลมิตรของพระองค์ จึงไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคขวางกั้นพระประสงค์ของพระองค์

 

ชะฟาอะฮ์  ของบรรดามวลมิตรของพระเจ้า มิได้มีความหมายว่า พวกเขามีความเมตตามากกว่าพระองค์ดอกหรือ? เนื่องจากพระเจ้าประสงค์จะลงโทษพวกเขา  แต่บรรดามวลมิตรต้องการให้ชะฟาอะฮ์

 

ทั้งความเมตตาของบรรดามวลมิตรของพระองค์  และการให้อนุญาตใช้ประโยชน์ ล้วนมาจากพระองค์ทั้งสิ้น  ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงเป็นทั้งผู้ให้ความเมตตาและให้อนุญาตการชะฟาอะฮ์

 

ชะฟาอะฮ์  มิได้เป็นตัวเปลี่ยนแปลงพระประสงค์ของพระองค์ดอกหรือ?

 

พระประสงค์ของพระเจ้าบนเงื่อนไขที่แตกต่างกัน มิได้จัดอยู่ในประเภทเดียวกัน  ดังนั้น พระประสงค์ของพระเจ้า คือ การลงโทษคนทำบาป  แต่ถ้าเขาลุแก่โทษก็เท่ากับว่า ถอดถอนความกริ้วของพระองค์ออกไปจากตน  เนื่องจากคนทำบาปกับคนขอลุแก่โทษมีความแตกต่างกัน  บุคคลที่มีความจงรักภักดี และมีเจตนาแน่วแน่ในการเชื่อฟังปฏิบัติตามบรรดามวลมิตรของพระองค์บนโลกนี้ ย่อมได้รับชะฟาอะฮ์ของท่านเหล่านั้น  ส่วนบุคคลที่ฝ่าฝืนและเป็นศัตรูกับท่านย่อมไม่มีสิทธิ์ในชะฟาอะฮ์นั้น

 

สาเหตุของการอภัยบาปบนโลกนี้ มี 3 ประการ

 

    ทำการลุแก่โทษด้วยความจริงใจ อัล-กุรอาน กล่าวว่า “นอกจากผู้ที่สำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัว และปรับปรุงแก้ไข และชี้แจงสิ่งที่ปกปิดไว้  ชนเหล่านี้ฉันจะอภัยโทษให้แก่พวกเขา  และฉันคือผู้อภัยโทษ และเมตตาเสมอ” 

[บะเกาะเราะฮ์ / 160]


     ละเว้นการทำบาปใหญ่ต่าง ๆ  อัล-กุรอาน ได้กล่าวว่า  “หากพวกเจ้าปลีกตัวออกจากบรรดาบาปใหญ่ ๆ ของสิ่งที่พวกเจ้าถูกห้ามให้ละเว้น  เราก็จะลบล้างบรรดาความผิดเล็กๆ น้อยๆ ของพวกเจ้า ออกจากพวกเจ้า” 

[นิซาอ์ / 31]


    การสร้างคุณงามความดีทั้งหลาย  อัล-กุรอาน กล่าวว่า “แท้จริงความดีทั้งหลาย ย่อมลบล้างความชั่วทั้งหลาย นั่นคือ ข้อเตือนสำหรับบรรดาผู้ที่รำลึก” 

[ฮูด / 114]

 

ส่วนการอภัยความผิดในปรโลกหน้ามีอยู่หนทางเดียว นั่นคือ “ชะฟาอะฮ์”

 

ฮะดีษเกี่ยวกับชะฟาอะฮ์

 

รายงานที่แตกต่างกันจำนวนมากมายกล่าวถึงเรื่อง ชะฟาอะฮ์   ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ต่อเติมให้ความหมายของชะฟาอะฮ์สมบูรณ์  เช่น อิมามมูซา กาซิม (อ.) รายงานจากท่านอิมามอะลี (อ.) ซึ่งกล่าวว่า :     ฉันได้ยินท่านศาสดากล่าวว่า “ชะฟาอะฮ์ของฉัน เพื่อประชาชาติของฉันที่กระทำบาปใหญ่”  เนื่องจาก  ชะฟาอะฮ์ โดยหลักการแล้ว เป็นปัจจัยสร้างสรรค์  เพราะมนุษย์ทุกคนที่ไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ (มะอ์ซูม) ย่อมกระทำบาป  และเพื่อมีส่วนร่วมหรือมีความเหมาะสมในการรับชะฟาอะฮ์จากผู้ให้  ไม่ว่าจะเป็นบรรดาศาสดา หรือบรรดามวลมิตรของพระองค์  พวกเขาจำเป็นต้องปฏิบัติตามการชี้นำ และการสั่งสอน  เพื่อให้ตนใกล้ชิดกับบรรดาศาสดา และเหล่ามวลมิตรของพระองค์ทั้งหลาย  เพื่อเป็นการสร้างตนให้มีความคู่ควรกับการได้รับชะฟาอะฮ์  ซึ่งพลังดึงดูดของชะฟาอะฮ์ จะเรียกร้องบุคคลที่ทำบาปให้เข้าสู่การปฏิบัติตามพระเจ้า และมวลมิตรของพระองค์  แม้ว่าพระเจ้าทรงสามารถให้ชะฟาอะฮ์แก่ผู้ทำบาปโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องผ่านสื่อก็ได้  แต่อาจเป็นเพราะว่า ปรัชญาของการกำหนดชะฟาอะฮ์ อยู่ที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้วิธีการดังกล่าว  เป็นสื่อทำให้ประชาชนมีความใกล้ชิดกับบรรดาศาสดา และหมู่มวลมิตรของพระองค์ เพื่อง่ายต่อการชี้นำ นั่นเอง

 

เงื่อนไขการสร้างชะฟาอะฮ์

 

ดังที่ทราบแล้วว่า ชะฟาอะฮ์  ในความหมายที่ถูกต้องนั้น มีเงื่อนไขและสาเหตุมากมาย  บุคคลที่เชื่อเรื่อง ชะฟาอะฮ์  จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างตนเองให้อยู่ในเงื่อนไขเหล่านั้น และออกห่างจากการทำบาป เช่น การกดขี่ หรือการตั้งภาคีอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากบาปเหล่านี้เป็นตัวทำลายความหวังในการได้รับชะฟาอะฮ์ ให้เป็นสูญ  และเพื่อไปให้ถึงยังตำแหน่งของผู้มีสิทธิ์รับชะฟาอะฮ์  เขาจะต้องสัญญากับพระเจ้าว่า จะกลับตัวกลับใจ  หรืออย่างน้อยที่สุดอยู่ในระหว่างการกลับใจ  ขณะเดียวกันต้องหยุดยั้งการฝ่าฝืน  การทำลายกฎเกณฑ์ของพระองค์  และมีศรัทธามั่นคงต่อพระองค์  พยายามให้ชีวิตชีวาแก่วันแห่งการฟื้นคืนชีพ  เพื่อรอรับการตัดสินสำหรับตน  และให้ความเคารพต่อกฎเกณฑ์ของพระองค์  เมื่อมนุษย์สามารถปฏิบัติได้เช่นนี้ ก็ไม่เป็นที่สงสัยอีกต่อไปว่าชะฟาอะฮ์ในความหมายที่ถูกต้องนั้น มีบทบาทสำคัญต่อการทำลายสภาพของคนทำบาป และปรับปรุงความประพฤติของพวกเขา

 

 

ขอขอบคุณ เว็บไซต์อัชชีอะฮ์