เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

อรรถาธิบายดุอา ประจำวันที่ 2 เดือนรอมฎอน

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

อรรถาธิบายดุอา ประจำวันที่ 2 เดือนรอมฎอน

 

اللَّهُمَّ قَرِّبْنِی فِیهِ إِلَی مَرْضَاتِك وَ جَنِّبْنِی فِیهِ مِنْ سَخَطِك وَ نَقِمَاتِك
وَ وَفِّقْنِی فِیهِ لِقِرَاءَةِ آیَاتِك بِرَحْمَتِك یَا أَرْحَمَ الرَّاحِمِین

 

ความว่า

 

โอ้ อัลลอฮฺ โปรดทำให้ข้าฯ ใกล้ชิดกับความปราโมทย์ของพระองค์ โปรดให้ข้าฯพ้นจากความกริ้วโกรธของพระองค์ โปรดให้ข้าสัมฤทธิ์ผลในการอ่านอัลกุรอาน ด้วยความเมตตาของพระองค์ โอ้พระผู้ทรงเป็นเลิศในหมู่ผู้เมตตาทั้งหลาย


เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพระองค์ทรงพึ่งพอพระทัยเรา ?


บทดุอาอ์ในวันนี้ เราได้วิงวอนขอจากพระองค์ว่า โอ้ อัลลอฮฺ โปรดทำให้ข้าฯ ใกล้ชิดกับความปราโมทย์ของพระองค์


ในริวายะฮ์รายงานว่า หากเราต้องการรู้ว่าพระองค์ทรงพึงพอพระทัยเรามากน้อยแค่ไหน จงดูว่าเรามีความพอใจต่อพระองค์หรือไม่ ?


บางคนไม่พอใจและน้อยใจต่อพระองค์และทำการตัดพ้อกับพระองค์ว่า โอ้ อัลลอฮฺ เหตุใดคนอื่นๆมีทุกอย่าง แต่เราไม่มี ?


“บรรทัดฐานแห่งความปราโมทย์ของพระองค์”


หนึ่งในเอาลียาอ์ของพระองค์ ได้ล้มป่วยนานเป็นเวลา 30 ปี ได้ถูกถามว่า :


ท่านไม่มีความต้องการที่จะหายจากการป่วยไข้ดอกหรือ ? และท่านไม่มีความทุกข์โศกและทุกข์ร้อนกับโรคร้ายที่กำลังประสบอยู่ดอกหรือ ?


เขาได้ตอบว่า ไม่.. ฉันไม่เคยรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ทุกข์โศกแต่อย่างใด


ดังนั้นหากต้องการรู้ว่าพระองค์ทรงพึงพอพระทัยเราหรือไม่ ? ก็จงหันไปดูหัวใจของเราเอง ดูว่าในชีวิตของเรามีความพอใจต่อการกำหนดชะตากรรมของพระองค์หรือไม่ ? หากเรามีความพอใจ ก็ย่อมรู้ว่าพระองค์ก็ทรงพึงพอพระทัยเรา และหากเศษเสี้ยวหนึ่งของหัวใจเราไม่พอใจต่อพระองค์ ก็จงรู้ว่าพระองค์ก็ไม่ทรงปราโมทย์และพึงพอพระทัยเราเช่นกัน
“บุคคลสามประเภทที่พระองค์ทรงแปลกใจ”


ริวายะฮ์รายงานว่า พระองค์อัลลอฮ์ทรงมีความแปลกใจกับมนุษย์สามประเภทดังนี้


1 มนุษย์ที่ทำการนมาซและรู้ว่ากำลังยืนอยู่ ณ. เบื้องหน้าพระองค์ แต่เขาก็ยังไม่มีสมาธิในการนมาซ จิตใจของเขาจะล่องลอย
ปราชญ์ท่านหนึ่งกล่าวว่า เราควรที่จะขออภัยโทษในการนมาซของเราที่ไร้สมาธิ


บรรดาผู้ผิดบาปจะขอภัยโทษที่สิ่งที่ได้ทำบาป ส่วนบรรดานักรหัสยะจะทำการขออภัยโทษต่อการทำอิบาดะฮ์ที่บกพร่องและไม่สมบูรณ์แบบ


2 บุคคลที่ได้รับปัจจัยยังชีพจากพระองค์ตลอดอายุขัยของเขา แต่เขากลับวิตกกังวลในปัจจัยยังชีพของวันพรุ่งนี้


3 บุคคลที่หัวเราะเฮฮา ในขณะที่ตัวเองไม่รู้ว่าพระองค์ทรงพึงพอพระทัยต่อเขาหรือไม่


ประโยคถัดมา

 

وَ جَنِّبْنِی فِیهِ مِنْ سَخَطِك وَ نَقِمَاتِك
 

ความว่า

 

โปรดให้ข้าฯพ้นจากความกริ้วโกรธของพระองค์ และโปรดอย่าให้ข้ากระทำในสิ่งที่พระองค์ทรงไม่พึงพอพระทัยต่อข้าในเดือนรอมฎอนนี้
ประโยคถัดมา

 

«وَ وَفِّقْنِی فِیهِ لِقِرَاءَةِ آیَاتِك بِرَحْمَتِك یَا أَرْحَمَ الرَّاحِمِین»
 

ความว่า

 

โปรดให้ข้าสัมฤทธิ์ผลในการอ่านอัลกุรอาน ด้วยความเมตตาของพระองค์ โอ้พระผู้ทรงเป็นเลิศในหมู่ผู้เมตตาทั้งหลาย


ในอดีตเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะมีการคอตันอัลกุรอานในเดือนรอมฎอน ดังนั้นหากผู้ใดก็ตามที่ไม่สามารถคอตันอัลกุรอานหนึ่งครั้งในเดือนรอมฎอน ถือว่าเป็นสิ่งที่ขาดทุนยิ่งสำหรับเขา


หากผู้ใดก็ตามที่ต้องการขจัดสนิมที่เกาะติดอยู่บนหัวใจของเขาแล้ว เขาต้องอ่านอัลกุรอานอยู่เสมอโดยเฉพาะในเวลาซะฮัร


วิธีการขัดสนิมออกจากหัวใจ

 

หัวใจของเขาขึ้นสนิมด้วยการทำบาป ดังนั้นเพื่อกำจัดสนิมแห่งความผิดบาปเหล่านี้ จำต้องปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้


ประการที่หนึ่งคือ อ่านอัลกุรอานในยามซะฮัร

 

ประการที่สอง กล่าวอิสติฆฟาร์

 

ประการที่สามคือการลูบศีรษะเด็กกำพร้าและให้การช่วยเหลือพวกเขา


ดังนั้นในดุอาประจำวันที่สองเดือนรอมฎอน เราจึงวิงวอนขอจากพระองค์ว่า โอ้ อัลลอฮ์ โปรดให้ข้าสัมฤทธิ์ผลในการอ่านอัลกุรอานด้วยเถิด ( ด้วยความเมตตาของพระองค์) โอ้พระผู้ทรงเป็นเลิศในหมู่ผู้เมตตาทั้งหลาย

 


บทความโดย เชคอิบรอฮีม อาแว

 

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม