อรรถาธิบายดุอา ประจำวันที่ 4 เดือนรอมฎอน

อรรถาธิบายดุอา ประจำวันที่ 4 เดือนรอมฎอน

بسم  الله الرحمن الرحيم

اَللّـهُمَّ قَوِّنِى فِيهِ عَلَى اِقَامَةِ اَمْرِكَ وَاَذِقْنِى فِيهِ حَلَاوَةَ ذِكْرِكَ

وَاَوْزِعْنِى فِيهِ لاِدآءِ شُكْرِكَ بِكَرَمِكَ وَاحْفَظْنِى فِيهِ بِحِفْظِكَ

وَسَتْرِكَ يَا اَبْصَرَ النَّاظِرِينَ

 

ความหมาย :

 

โอ้ อัลลอฮฺ โปรดประทานความเข้มแข็งแก่ข้า ฯ เพื่อการธำรงพระบัญชาของพระองค์ โปรดให้ข้า ฯ ได้ลิ้มรสความหวานชื่นแห่งการรำลึกถึงพระองค์ โปรดย้ำเตือนข้า ฯ ในการขอบคุณพระองค์ ด้วยเกียรติยศของพระองค์โปรดคุ้มครองข้า ฯ ด้วยการคุ้มครองและการปกปิดของพระองค์ โอ้ พระผู้ทรงมองเห็นยิ่งกว่าผู้มองเห็นทั้งหลาย

 

คำอธิบาย :

 

اللهمّ قوّنی فیهِ علی إقامَةِ أمْرِك

โอ้ อัลลอฮฺ โปรดประทานความเข้มแข็งแก่ข้า ฯ เพื่อให้ข้าฯสามารถปฏิบัติอะมั้ลอิบาดะห์และปฏิบัติคำสั่งใช้ของพระองค์ในเดือนรอมฎอนอันจำเริญได้อย่างดีที่สุด ซึ่งการทำอิบาดะห์นั้นต้องการพละกำลัง และพลังอิบาดะห์นั้นนอกเหนือจากความแข็งแรงของร่างกายแล้วยังต้องการพลังด้านจิตวิญญาณอีกด้วย พึ่งตระหนักว่าพลังของการทำอิบาดะห์ไม่ใช่พลังของความแข็งแกร่งของร่างกายเสมอไป


ท่านอิมามซัจญาด(อ)กล่าวบทดุอาอ์ในหนังสือศอฮีฟะตุซซัจญาดียะห์ บทดุอาอ์ที่ 44 ว่า :

 

واعنا علی صیامه

 

 

โอ้พระองค์โปรดช่วยเหลือข้าฯในการถือศีลอดด้วยเถิด


ในเบื้องต้นหากพิจารณาในความหมายของบทดุอาอ์แล้วจะสามารถเข้าใจว่า :

 

ประการแรก การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนนั้นเป็นการปฏิบัติคำสั่งของพระองค์ นั้นก็คือการถือศีลอดอย่างแท้จริง ซึ่งในดุอาอ์บทหนึ่งกล่าวถึงการวิงวอนขอในสิ่งนี้ ว่า :

 

“โอ้พระองค์โปรดช่วยเหลือให้อวัยวะและร่างกายของข้าฯห่างไกลจากการทำบาปและห่างไกลจากสิ่งที่พระองค์ไม่พึงประสงค์ด้วยเถิด ”


ดังนั้นตรงนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า การถือศีลอดที่แท้จริงไม่ใช่เพียงแค่การอดน้ำอดอาหารเท่านั้น ทว่าอวัยวะทุกส่วนของร่างกายจำต้องถือศีลอดด้วย และคำสั่งใช้ของพระองค์ที่ให้ถือศีลอดนั้นคือการถือศีลอดอย่างแท้จริง

 

ประการที่สอง : ในทุกๆการกระทำนั้นจำต้องอาศัยพลังและความช่วยเหลือจากพระองค์ เนื่องจากว่า :

 

”لا حول و لا قوه الا بالله العلی العظیم”

 

ไม่มีพลังและอำนาจอื่นใดนอกจากพลังและอำนาจของอัลลอฮ์ ( ซ.บ) ผู้ทรงสูงส่งและทรงยิ่งใหญ่


ซึ่งหากพระองค์ไม่ทรงช่วยเหลือเราในเรื่องนี้ แท้จริงเราจะพบกับความล้มเหลวในทุกเรื่อง(ทั้งในเรื่องอิบาดะห์และไม่ใช่อิบาดะห์) ดังนั้นในวันนี้เราจึงวิงวอนขอจากพระองค์โปรดประทานความเข้มแข็งและพลังให้กับเราเพื่อจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์อย่างแท้จริง

 

เรื่องเล่า : เมื่อหลายปีก่อน มีชายชราคนหนึ่งอายุประมาณหนึ่งร้อยปี แต่เขายังยืนนมาซได้อย่างปรกติด้วยการควบคุมจิตใจให้ลุกขึ้นสู้ในการทำอิบาดะห์ ซึ่งสิ่งนี้บ่งชี้ว่าพลังของอิบาดะห์มันเป็นสิ่งที่นอกเหนือจากความแข็งแรงของร่างกาย


ความแข็งแกร่งและพละกำลังของท่านอิมามอะลี(อ)


รายงานกล่าวว่า ท่านอิมามอะลี(อ)ไม่สามารถที่จะหักขนมปังแห้งได้ แต่ท่านสามารถพิชิตประตูคัยบัรได้อย่างง่ายดาย และสร้างแบบอย่างแห่งความกล้าหาญขึ้นมา บรรดาสาวกถามว่า โอ้อะลี ท่านมีความแข็งแกร่งเช่นนี้ ทำไมท่านไม่สามารถหักขนมปังแห้งได้...... ท่านอิมามตอบว่า การพิชิตประตูคัยบัรเกิดจากพลังด้านจิตวิญญาณ แต่การหักขนมปังนั้นเกิดจากพลังของร่างกาย

 

(บิฮารุล อันวาร เล่มที่ 21 หน้าที่ 26 )

 

ด้วยเหตุนี้ ทั้งสองพลังจึงมีความต่างกัน ดังนั้นบางครั้งอาจจะมีบุคคลหนึ่งที่มีอายุหกสิบปีแต่พลังในการทำอิบาดะห์ของเขาจะมีมากกว่าบรรดาเยาวชนคนหนุ่มสาว ฉะนั้นในเดือนรอมฎอนจึงวิงวอนขอจากพระองค์โปรดประทานพลังในการทำอิบาดะห์ให้กับเรา


ในดุอาอ์กุเมล ได้กล่าวว่า :

 

قَوّ عَلی خِدمَتِك جَوارحي

 

โปรดประทานพละกำลังในการรับใช้วิถีทางของพระองค์แก่อวัยวะของข้าฯด้วยเถิด


ประโยคถัดมา :

 

وَ أَذِقْنِی فِیهِ حَلاَوَةَ ذِکْرِك

 

โอ้พระองค์ในเดือนรอมฎอนอันจำเริญนี้ ข้าฯ ยังมีคำวิงวอนอื่นๆอีก นั้นคือ โปรดให้ข้า ฯได้ลิ้มรสความหวานชื่นแห่งการรำลึกถึงพระองค์..... ได้ลิ้มรสความหวานชื่นเมื่อได้อ่านดุอาอ์กุเมล์..... ได้ลิ้มรสความหวานชื่นเมื่อได้อ่านดุอาอ์ อะบู ฮัมซะห์ ษุมาลี...... ลิ้มรสความหวานชื่นเมื่อได้อ่านดุอาอ์อิฟติตาห์...... ได้ลิ้มรสความหวานชื่นของการถือบวชในเดือนรอมฎอน ....และพึงรู้ว่าการทำอิบาะดห์ต่อพระองค์นั้นย่อมมีความหวานชื่น


ประโยคถัดมา :

 

وَ أَوْزِعْنِی فِیهِ لِأَدَاءِ شُکْرِك بِکَرَمِك

 

โปรดย้ำเตือนข้า ฯ ในการขอบคุณพระองค์


การขอบคุณหมายถึงอะไร ? คือการเอือนเอ่ยวาจาเพียงอย่างเดียวหรือ ? ด้วยการกล่าว “ชุกรันลิลลาฮ์” คือการขอบคุณแล้วหรือ? การขอบคุณคือ การใช้นิอ์มัต(ความโปรดปราน)ที่พระองค์ให้มาไปในหนทางและสิ่งที่ถูกต้อง ใช้ในหนทางแห่งการเคารพภักดีพระองค์ หาใช่ใช้ในหนทางแห่งความผิดบาป การที่สายตาไม่มองยังนอมะห์รอม(คนที่แต่งงานได้)นั้น คือการขอบคุณอีกรูปแบบหนึ่ง หากหูไม่ฟังการนินทาและเสียงเพลงที่ต้องห้าม นั้นคือการขอบคุณของหู ถ้าหากปากไม่ทำการนินทาแล้วนั้นคือการขอบคุณนิอ์มัตที่พระองค์ให้มา


ประโยคถัดมา :

 

وَ احْفَظْنِي فِیهِ بِحِفْظِك وَ سِتْرك

 

โอ้พระองค์ ในเดือนรอมฎอนนี้ โปรดคุ้มครองข้า ฯให้พ้นจากการทำบาป และประทานโอกาสให้ข้าสามารถละทิ้งและห่างไกลจากการทำบาปด้วยเถิด พระองค์คือผู้ทรงปกปิดความผิดบาปต่างๆ โปรดให้การคุ้มครองข้าฯและอย่าให้ผู้ใดล่วงรู้ความผิดบาปของข้าพระองค์


และประโยคสุดท้าย :

 

یَا أَبْصَرَ النَّاظِرِین

 

โอ้ พระผู้ทรงมองเห็นยิ่งกว่าผู้มองเห็นทั้งหลาย โปรดประทานเตาฟิกและโอกาสให้ข้าฯ ห่างไกลและละทิ้งการทำบาปด้วยเถิด


โอ้พระผู้ทรงอภัยบาปทั้งหลาย โอ้พระผู้ทรงปกปิดความบกพร่อง โอ้พระผู้ทรงปัดเป่าความยากลำบาก โปรดช่วยเหลือเราด้วยเถิด...

 

 

บทความโดย เชคอิบรอฮีม อาแว