อรรถาธิบายดุอาอ์ ประจำวันที่ 8 เดือนรอมฎอน

อรรถาธิบายดุอาอ์ ประจำวันที่ 8 เดือนรอมฎอน

 

بسم الله الرحمن الرحيم

اَللّهُمَّ ارْزُقْني فیهِ رَحْمَةَ الاْیتامِ وَاِطْعامَ اْلطَّعامِ

وَاِفْشآءَ السَّلامِ وَصُحْبَةَ الْکِرامِ

بِطَوْلِك یا مَلْجَاَ الاْمِلینَ

 

ความหมาย :

 

โอ้ อัลลอฮ์ โปรดประทานโอกาสให้แก่ข้าฯในการแผ่ความเมตตาแก่เด็กกำพร้า แจกจ่ายอาหารแก่ผู้หิวโหย กล่าวสลามอย่างเปิดเผย ร่วมสนทนากับผู้มีเกียรติ ด้วยเกียรติยศของพระองค์ โอ้พระผู้ทรงเป็นที่พึ่งของบรรดาผู้ที่มีความหวังทั้งหลาย

 

คำอธิบาย :

 

ท่านอยาตุลลอฮ์ มุจญตะบา เตะห์รานี ได้ทำการอรรถาธิบายดุอาอ์ประจำวันที่ 8 ของเดือนรอมฎอน ดังนี้

 

اَللّهُمَّ ارْزُقْني فیهِ رَحْمَةَ الاْیتامِ

 

โอ้ อัลลอฮ์ โปรดประทานโอกาสให้แก่ข้าฯในการแผ่ความเมตตาแก่เด็กกำพร้า

 

หากหัวใจเราขึ้นสนิมจะมีตัวยาชนิดใดบ้างที่สามารถขจัดมันออกไป ?? ในการนี้สิ่งแรกคือต้องอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานในยามอรุณ(ซะฮาร์) เพื่อให้หัวใจแวววาวขึ้นมา นอกจากนั้นการกล่าวอิสติฆฟาร์ในยามซะฮาร์ก็จะช่วยให้หัวใจสะอาดเป็นเงา อีกทั้งด้วยการเมตตาเอ็นดูเด็กกำพร้าก็จะสามารถช่วยให้หัวใจนั้นแวววาวและสะอาดมากยิ่งขึ้น

 

การแผ่ความเมตตาเอ็นดูแก่เด็กกำพร้าเป็นหนึ่งในหลักคำสอนที่ยิ่งใหญ่ของอิสลาม ซึ่งเป็นภาคบังคับสำหรับมุสลิมทุกคนที่จะต้องพยายามมีส่วนร่วมในเรื่องสำคัญเช่นนี้ เนื่องจากว่า เด็กกำพร้า ในความหมายเชิงซอฮีร(ภายนอก) คือบุคคลที่ไร้ที่พักพิงและผู้ดูแลสำหรับพวกเขา (หมายถึงไม่มีผู้ใดที่เป็นผู้ปกครองดูแลเขา เช่น มารดาและบิดา) โดยมีเอกองค์อัลลอฮ์(ซ.บ)ที่เป็นผู้ช่วยเหลือเขา ซึ่งบุคคลประเภทนี้อัลลอฮ์(ซบ)ทรงให้เกียรติในสิทธิของเขาอย่างมาก อีกทั้งเน้นย้ำให้มอบความเมตตาแก่พวกเขาเป็นกรณีพิเศษ

 

ดั่งที่ท่านอิมามอะลี(อ)กล่าวว่า

 

الله، الله بالایتام، فلا تغبوا افواههم و لا یضیعوا بحضرتکم

 

ความว่า อัลลอฮ์ อัลลอฮ์ จงดูแลเด็กกำพร้า อย่าให้พวกเขาประสบความหิวกระหายและอย่าลิดรอนสิทธิของพวกเขา (นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ สาสน์ฉบับที่ ๔๗)

 

บุคคลที่ร่ำรวยเพียงแค่การเอามือลูบไปบนศีรษะของเด็กกำพร้าจะไม่ทำให้หัวใจของเข؛าแวววาวได้ นอกจากจะต้องช่วยเหลือด้านปัจจัยวัตถุ และขจัดอุปสรรคทางการเงินให้กับพวกเขา ดังนั้นจงตระหนักอยู่เสมอว่า การแผ่ความเมตตาเอ็นดูแก่เด็กกำพร้าที่กระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจนั้นจะทำให้หัวใจแวววาวและสะอาดบริสุทธิ์

 

คุณค่าของเด็กกำพร้า :

 

แม้นว่าเด็กกำพร้าจะไม่มีผู้ดูแล(บิดาและมารดา)แต่พวกเขามีเกียรติ ณ อัลลอฮ์(ซ.บ) ซึ่งพระองค์ตรัสกับท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ) ว่า

 

أَلَمْ يَجِدْكَ يَتِيمًا فَآوَىٰ

พระองค์มิได้ทรงพบเจ้าเป็นกำพร้าแล้วทรงให้ที่พึ่งดอกหรือ?

 

เมื่อพิจารณาจากโองการข้างต้น อัลลอฮ์(ซ.บ)ทรงย้ำเตือนท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)ในยามกำพร้า(ที่ต้องสูญเสียบิดาและมารดา และมีอัลลอฮ์(ซ.บ)ที่คอยให้การช่วยเหลือ) อันเป็นการรำลึกและย้ำเตือนถึงรูปแบบในการช่วยเหลือของพระองค์ให้รอดพ้นจากน้ำมือของบรรดาศัตรูอิสลาม และด้วยความโปรดปรานของพระองค์ที่ให้ท่านศาสดาเป็นรอซูลของพระองค์ ซึ่งการกล่าวโองการข้างต้นก็เพื่อย้ำให้ท่านศาสดามีความเมตตาเอ็นดูและเอาใจใส่เด็กกำพร้า

 

อีกโองการหนึ่งพระองค์ตรัสว่า

 

فَأَمَّا الْيَتِيمَ فَلَا تَقْهَرْ

ดังนั้นส่วนเด็กกำพร้า เจ้าอย่าข่มขี่และรังแก


หากพิจารณาจากโองการข้างต้น เราต้องคำนึงและตระหนักถึงประเด็นที่สำคัญของโองการเหล่านี้ว่า ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)ไม่เคยฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์แม้แต่น้อย ท่านไม่เคยลืมนิอ์มัตต่างๆของพระองค์ แต่การที่พระองค์ทรงเตือนท่านศาสดา(ซ็อลฯ)นั้นก็เพื่อให้มนุษย์ได้เรียนรู้แบบอย่างและแบบฉบับและปฏิบัติตามคำสั่งต่างๆเหล่านี้ เนื่องจากพระองค์ทรงตรัสว่า

 

و لقد کان لکم في رسول الله اسوة حسنة

 

โดยแน่นอน ในเราะซูลของอัลลอฮ์มีแบบฉบับอันดีงามสำหรับพวกเจ้าแล้ว

 

ดังนั้นในวันนี้เราจึงวิงวอนจากพระองค์ให้ทรงช่วยเหลือเราเพื่อสามารถช่วยเหลือและมีความเมตตาแก่บรรดาเด็กกำพร้า เพื่อให้เรานั้นได้รับความโปรดปรานอันล้นเหลือของพระองค์ตลอดไป

 

ประโยคถัดมา :

 

وَاِطْعامَ اْلطَّعامِ

 

โอ้ อัลลอฮ์ ขอให้ข้าฯ สามารถให้อาหารแก่ผู้หิวโหยและเป็นเจ้าภาพในการละศีลอดด้วยเถิด

 

ในเดือนรอมฎอนอันทรงเกียรติ มีสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญมาก นั้นคือการแจกจ่ายอาหารให้กับคนยากไร้ คนหิวโหย และเชิญคนยากไร้และแขกมาละศีลอดเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดยังพระองค์ ซึ่งการกระทำเช่นนี้มีมรรคผลอย่างมากและจะช่วยยกระดับฐานันดรให้สูงขึ้น

 

ท่านศาสดา(ซ็อลฯ) ได้กล่าวคุตบะฮ์ในวันสุดท้ายของเดือนชะอ์บาน ด้วยการชี้ให้เห็นถึงความประเสริฐของเดือนรอมฎอนและอะมั้ลต่างๆของเดือนรอมฎอน ซึ่งมีประโยคหนึ่งที่ท่านศาสดา(ซ็อลฯ)กล่าวโดยมีใจความว่า “ ผู้ใดที่ได้เป็นเจ้าภาพละศีลอดและได้แจกจ่ายอาหารให้กับผู้ถือศีลอด ในวันกิยามัตเท้าของเขาจะไม่สั่นคลอนในวันที่เท้าทั้งหลายต้องสั่นคลอนบนสะพานศิรอฎ”

 

มีคนถามท่านศาสดาว่า ยารอซูลุลลอฮ์ หากเราไม่มีความสามารถที่จะเชิญเขามาละศีลอด หรือแจกจ่ายอาหารแก่คนยากไร้ แล้วเราจะทำอย่างไร ? ท่านศาสดา(ซ็อลฯ)ตอบว่า แม้นว่าด้วยการแจกอินทผลัมแค่ครึ่งเม็ดและให้เขาดื่มน้ำซักอึกหนึ่งก็ตามก็จงกระทำในสิ่งนี้ เพื่อที่จะทำให้เจ้ารอดพ้นจากไฟนรก

 

ในเดือนรอมฎอน มีอะมั้ลหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ การแจกจ่ายอาหาร การเชิญละศีลอดให้กับบรรดาผู้ยากไร้และผู้หิวโหย เพื่อแสวงหาความพึงพอพระทัยจากพระองค์ และสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ค่าและมีผลบุญอย่างมาก

 

ประโยคถัดมา :

 

وَاِفْشآءَ السَّلامِ

โอ้ อัลลอฮ์ โปรดให้ข้าฯ ให้สลามอย่างเปิดเผย(ด้วยเสียงดัง)

 

บางคนมีความอับอายที่จะเป็นผู้เริ่มให้สลามก่อน แต่มีบุคคลจำนวนไม่น้อยที่ไม่กล้าให้สลามด้วยเสียงดัง และมีอีกจำนวนหนึ่งจะให้สลามอย่างเปิดเผย อีกด้านหนึ่งการตอบรับสลามจำเป็นต้องรับสลามอย่างถูกต้องและสมบูรณ์

 

การให้สลามเป็นมุสตะฮับและการตอบรับสลามเป็นวาญิบ

 

คำว่า “สลาม” ถูกกล่าวในอัลกุรอาน มากถึง 40 ครั้ง

 

เช่น โองการ

فَإِذَا دَخَلْتُم بُيُوتًا فَسَلِّمُوا عَلَىٰ أَنفُسِكُمْ تَحِيَّةً مِّنْ عِندِ اللَّهِ مُبَارَكَةً طَيِّبَةً

 

ความว่า เมื่อพวกเจ้าเข้าไปในบ้าน ก็จงกล่าวสลามให้แก่ตัวของพวกเจ้าเอง เป็นการคำนับอันจำเริญยิ่งจากอัลลอฮ์
เมื่อพวกท่านเข้าบ้านก็จงให้สลาม

 

فَسَلِّمُوا عَلَىٰ أَنفُسِكُمْ

จงกล่าวสลามให้แก่ตัวของพวกเจ้าเอง

บรรดานักตัฟซีรกุรอาน ให้ความหมายในหลายทัศนะ บ้างกล่าวว่า โองการนี้เป็นหนึ่งในกรณีที่บ่งชี้ว่าบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายจะอยู่ในฐานะของผู้ศรัทธาซึ่งกันและกัน และการกล่าวสลามให้กับผู้อื่นถือเป็นการกล่าวสลามให้กับตนเอง บางคนอธิบายว่า แม้นว่าจะไม่มีใครอยู่ในบ้านก็ตามก็จงให้สลามกับตัวเอง

 

สิ่งที่บทดุอาอ์ของวันที่ 8 เน้นย้ำและได้วิงวอนจากพระองค์นั้น ไม่ใช่เพียงแค่ขอเตาฟิกในการให้สลามอย่างเดียว แต่เป็นการขอให้ได้กล่าวสลามอย่างเปิดเผยและเสียงดังด้วย

ท่านอิมาม บากิร (อ)กล่าวว่า

 

ان الله عزوجل یحب افشاء السلام

 

แท้จริงแล้วอัลลอฮ์(ซ.บ) ทรงรักผู้ที่กล่าวสลามอย่างเปิดเผย(เสียงดัง) (หนังสือ วะซาอิลุล ชีอะห์ เล่ม 12 หน้า 58 )

 

ประโยคถัดมา :

 

وَصُحْبَةَ الْکِرامِ

โอ้อัลลอฮ์ โปรดให้ข้าฯ ได้ร่วมสนทนากับบุคคลที่มีเกียรติ มีความรู้ มีความศรัทธาและเคร่งครัดในศาสนาด้วยเถิด โอ้อัลลอฮ์ โปรดประทานเตาฟิกให้ข้า ฯ มีมิตรสหายที่ดีด้วยเถิด

 

ความหมายของการอยู่ร่วมสนทนากับผู้มีเกียรติ เนื่องจากว่าการอยู่ร่วมสนทนากับบุคคลเช่นนี้จะเป็นการถ่ายทอดคุณลักษณะแห่งความดีงามต่างๆให้กับบุคคลอื่น ด้วยเหตุนี้ อิสลามจึงเน้นย้ำและระมัดระวังมากเป็นพิเศษในการเลือกวงสนทนา ฉะนั้นในวันนี้เราจึงวิงวอนขอดุอาอ์ให้พระองค์ประทานเตาฟิกให้เราได้ร่วมสนทนากับบุคคลที่มีเกียรติ เพื่อที่เราจะได้รับคุณลักษณะแห่งความดีงามจากตัวของเขา

 

ประโยคถัดมา

 

بِطَوْلِك

 

ด้วยเกียรติยศของพระองค์ ด้วยสิทธิแห่งนิอ์มัตที่พระองค์ทรงประทานมา โปรดตอบรับการวิงวอนขอของข้าฯด้วยเถิด

 

یا مَلْجَاَ الاْمِلینَ

 

โอ้ พระผู้ทรงเป็นที่พึ่งของบรรดาผู้ที่มีความหวังทั้งหลาย

 


บทความโดย เชคอิบรอฮีม อาแว