อรรถาธิบายดุอาอ์ ประจำวันที่ 20 เดือนรอมฎอน

อรรถาธิบายดุอาอ์ ประจำวันที่ 20 เดือนรอมฎอน

 

بسم الله الرحمن الرحيم

اللهمّ افْتَحْ لي فیهِ أبوابَ الجِنانِ

واغْلِقْ عَنّي فیهِ أبوابَ النّیرانِ

وَوَفّقْني فیهِ لِتِلاوَةِ القرآنِ

یا مُنَزّلِ السّكینةِ فی قُلوبِ المؤمِنین

ความหมาย

 

โอ้อัลลอฮ์ในเดือนนี้โปรดเปิดประตูสวรรค์และปิดประตูนรกแก่ข้าฯ   

โปรดประทานความสำเร็จในการอ่านอัลกุรอานแก่ข้าฯ โอ้พระผู้ประทานความสงบมั่นแก่จิตใจของผู้ศรัทธาทั้งหลาย


คำอธิบาย

 

”اللهم افتح لي فیه ابواب الجنان”

โอ้อัลลอฮ์ ในเดือนนี้โปรดเปิดประตูสวรรค์ด้วยเถิด

 

อะไรคือความหมายของประโยค “โอ้อัลลอฮ์ ในเดือนนี้โปรดเปิดประตูสวรรค์ด้วยเถิด” ?

 

ความหมายในที่นี้คือ  โอ้อัลลอฮ์ ประตูสวรรค์ที่พระองค์ทรงเปิดให้กับพวกเรานั้น คือ พระองค์ได้ทรงชำระและอภัยในความผิดบาปของเราที่กระทำไปในช่วงตลอดชีวิตที่ผ่านมา  และพระองค์ได้เพิ่มพูนความดีและสิ่งดีงามให้กับพวกเรา เพราะตราบใดที่มนุษย์มีความผิดบาปและห่างไกลจากความดีงามแล้ว สวรรค์ย่อมเป็นสิ่งที่ต้องห้ามสำหรับเขา  ประตูสวรรค์จะเปิดขึ้นก็ต่อเมื่อเขาไม่มีบาปใดๆติดตัว  

 

และการที่เราวิงวอนขอจากพระองค์ว่า โปรดเปิดประตูสวรรค์นั้นก็เนื่องจากพระองค์ทรงเมตตาและประทานเตาฟิกให้เรามีโอกาสใช้ชีวิตที่ดีบนโลกดุนยาเพื่อวันอาคีเราะห์

เราสามารถเลือกที่จะเข้าสวรรค์ผ่านประตูไหนได้ตามความต้องการ....


ประโยคถัดมา

 

اغلق عني فیه ابواب النیران

 

โอ้อัลลอฮ์ ในเดือนนี้โปรดปิดประตูนรกด้วยเถิด

 

อะไรคือ ความหมายของประโยค “โอ้อัลลอฮ์ ในเดือนนี้โปรดปิดประตูนรกด้วยเถิด” ?

 

เพื่อสามารถทำความเข้าใจในความหมายประโยค “โปรดปิดประตูนรกให้กับข้าฯด้วยเถิด” ได้กระจ่างมากขึ้น  ขอยกโองการหนึ่งที่พระองค์ทรงตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า

 

أَلَمْ يَعْلَمُوا أَنَّهُ مَن يُحَادِدِ اللَّهَ وَرَسُولَهُ فَأَنَّ لَهُ نَارَ جَهَنَّمَ

 خَالِدًا فِيهَا  ذَٰلِكَ الْخِزْيُ الْعَظِيمُ

 

ความว่า พวกเขามิได้รู้ดอกหรือว่า แท้จริงผู้ใดที่ฝ่าฝืนอัลลอฮ์และรอซูลของพระองค์ แน่นอนสำหรับเขานั้นคือไฟนรกญะฮันนัมโดยที่เขาจะอยู่ในนั้นตลอดกาลนั่นแหละคือความอัปยศอันใหญ่หลวง


ดังนั้นหากพิจารณาจากโองการข้างต้น    สามารถเข้าใจได้ว่า ในวันนี้เราได้วิงวอนจากพระองค์ด้วยสิ่งที่เป็นหลักพื้นฐานที่สำคัญที่ว่า : โปรดให้เราเป็นหนึ่งในหมู่ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์และรอซูลของพระองค์อย่างเคร่งครัดด้วยเถิด

 

เนื่องจากการปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์และรอซูลของพระองค์นั้นเสมือนกับได้พบความผาสุกในโลกดุนยาและอาคีเราะห์และสามารถห่างไกลจากไฟนรก


ประโยคถัดมา

 

ووفقني فیه لتلاوة القرآن

 

โอ้อัลลอฮ์ โปรดประทานความสำเร็จในการอ่านอัลกุรอานแก่ข้าฯ ด้วยเถิด

 

“คำสั่งเสียของท่านรอซูลลุลลอฮ์ เกี่ยกับการอ่านอัลกุรอาน”

 

ท่านศาสดา(ซล)กล่าวว่า

 

نوروا بیوتکم بتلاوة القرآن اولا تتخذوها قبورا کما فعلت

 الیهود و النصاری، صلوا فی الکنائس و البیع و عطلوا

 بیوتهم فان البیت اذا کثر فیه تلاوة القرآن کثر خیره و

 انسع اهله و اضاء لاهل السماء کما تصنئی نجوم السماء

 لاهل الدنیا

ความว่า  จงประดับรัศมีบ้านของท่านด้วยการอ่านอัลกุรอาน จงอย่าทำบ้านของท่านให้เป็นสุสาน ดั่งที่ยะฮูดียฺ และนัซรอนียฺได้กระทำ ซึ่งพวกเขานมัสการเฉพาะในโบสถ์เท่านั้น พวกเขาไม่ให้ทำการนมัสการในบ้าน และบ้านหลังใดก็ตามมีการอ่านอัลกุรอานมาก ความดีและความจำเริญก็จะมากตามไปด้วยและผู้ที่อยู่ในบ้านก็จะได้รับความจำเริญมากมายและบ้านหลังนั้นจะกลายเป็นรัศมีที่เจิดจรัสสำหรับชาวฟ้า ดุจดังเช่นดวงดาวแห่งฟากฟ้าได้เจิดจรัสสำหรับชาวดิน


(อุศูล กาฟี เล่ม 4 )


หมายความว่า  การอ่านอัลกุรอานที่บ้านจะเป็นรัศมีประดับประดาบ้าน จะเพิ่มชีวิตชีวา ความดี และความจำเริญมากมายแก่เจ้าของบ้านและคนในบ้าน

 

จะเป็นการอบรมจิตวิญญาณที่ดีอย่างหนึ่งสำหรับบุตรหลาน และทำให้ชีวิตของพวกเขามีความผูกพันอยู่กับอัลกุรอาน

 

  เสียงอ่านอัลกุรอานภายในบ้านจะส่งผลแรงจูงใจแก่เพื่อนบ้านให้สนใจการอ่านอัลกุรอาน อันเป็นผลดีต่อสังคม และเป็นการเชิดชูวัฒนธรรมของอัลกุรอานอีกด้วย


 
ท่านอิมามมุฮัมมัด บากิร (อ.) กล่าวว่า

 

لکل شي ربیع و ربیع القرآن شهر رمضان
 

 

“ทุกสิ่งย่อมมีฤดูกาลของมันเอง และฤดูกาลของคำภีร์อัลกุรอานคือเดือนรอมฎอน”

 

ดังนั้นในวันนี้เราจึงวิงวอนขอจากพระองค์ให้ประทานเตาฟิกและความสำเร็จในการอ่านอัลกุรอานให้กับเราและปฏิบัติตามหลักคำสอนของอัลกุรอาน

 

“ช่วงเวลาอ่านอัลกุรอาน”

 

การกล่าวพรรณนาถึงพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าทุกเวลาถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากการสนทนากับผู้ที่เป็นที่รักไม่มีเวลาเฉพาะ และสามารถสนทนาได้ตลอดเวลา

คนรักย่อมคอยโอกาสอย่างใจจดใจจ่อว่าเมื่อไหร่คนรักของตนจะมีเวลาว่างเพื่อจะได้อยู่ใกล้ชิดและพูดคุยด้วย......

ท่านศาสดา (ซล) กล่าวกับท่านอิมามอะลี (อ.) ว่า จงอ่านอัลกุรอานไม่ว่าเจ้าจะอยู่ในสถานการณ์หรือเงื่อนไขใดก็ตาม

อัลกุรอานบางโองการและริวายะฮฺของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) สอนว่า ให้อ่านอัลกุรอานในบางช่วงเวลาที่เหมาะสม
เช่น  ช่วงเดือนรอมฎอนอันจำเริญซึ่งถือว่าเป็นฤดูกาลของอัลกุรอาน

ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า บุคคลใดอ่านอัลกุรอาน 1 โองการในเดือนรอมฎอนเสมือนได้อ่านอัลกุรอานจบ 1 ครั้งในเดือนอื่น

 

เช้าตรู่ของทุกวันที่บรรดาสรรพสิ่งถูกสร้างทั้งหลายต่างนอนหลับใหล แต่บุคคลที่มีความรักในพระผู้เป็นเจ้าได้ตื่นขึ้นเหมือนแสงเทียนที่กำลังลุกโชติช่วง รินหลั่งน้ำตาและระลึกถึงคนรักของตนอย่างใจจดใจจ่อ..................  

 

ริวายะฮ์บางบทจากท่านศาสดา (ซล) ได้กล่าวสนับสนุนการอ่านอัลกุรอานในช่วงเวลากลางคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงก่อนเข้านอนซึ่งได้รับการแนะนำไว้อย่างมาก

 

บางโองการได้กล่าวย้ำเน้นว่าให้อ่านอัลกุรอานทุกเช้าและขณะดวงอาทิตย์ตกดิน โดยกล่าวว่า และเจ้า (มุฮัมมัด) จงรำลึกถึงพระผู้อภิบาลของเจ้าในใจของเจ้าด้วยความนอบน้อมและยำเกรงและโดยไม่ออกเสียงดัง ทั้งในเวลาเช้าและเย็นและจงอย่าอยู่ในหมู่ผู้ที่เผลเรอ

 

ซึ่งอัลกุรอานเป็นตัวอย่างที่ยิ่งใหญ่สำหรับการรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า

 

“หมายเหตุ”

 

ช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงกลางคืนให้เป็นกลางวัน ช่วงเวลาหนึ่งได้เข้ามาแทนที่อีกเวลาหนึ่ง เป็นการเตือนสำทับให้มนุษย์ได้คิดถึงตัวเองและอายุขัยของตนที่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเหมือนเวลากลางวันและกลางคืน


ประโยคสุดท้าย


 
یا منزل السکینة في قلوب المومنین

 

โอ้พระผู้ประทานความสงบมั่นแก่จิตใจของผู้ศรัทธาทั้งหลาย

 

คำว่า  "สะกีนะห์ " คือ ความสงบมั่น

 

ซึ่งความสงบมั่นอันนี้เป็นสิ่งที่พระองค์จะทรงประทานและมอบให้ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถไขว่คว้ามาได้  และในอัลกุรอานได้ถึง “สะกีนะห์” ความสงบมั่นไว้หกครั้งด้วยกัน

 

โองการแรก

 

وَقَالَ لَهُمْ نَبِيُّهُمْ إِنَّ آيَةَ مُلْكِهِ أَن يَأْتِيَكُمُ التَّابُوتُ فِيهِ سَكِينَةٌ

 مِّن رَّبِّكُمْ

 

ความว่า

และนบีของพวกเขาได้กล่าวแก่พวกเขาว่า แท้จริงสัญญาณแห่งอำนาจของเขานั้น คือการที่หีบใบนั้น จะมายังพวกท่าน ในหีบนั้นมีความสงบมั่น จากพระผู้อภิบาลของพวกท่าน


โองการที่สอง

 

ثُمَّ أَنْزَلَ اللَّهُ سَكِينَتَهُ عَلَى رَسُولِهِ وَعَلَى الْمُؤْمِنِينَ

 

ความว่า “และอัลลอฮ์ก็ได้ทรงประทานลงมาซึ่งความสงบมั่นจากพระองค์แก่รอซูลของพระองค์และแก่บรรดาผู้ศรัทธาเหล่านั้น

 

โองการที่สาม

 

إِذْ يَقُولُ لِصَاحِبِهِ لَا تَحْزَنْ إِنَّ اللَّهَ مَعَنَا فَأَنْزَلَ اللَّهُ سَكِينَتَهُ

 عَلَيْهِ وَأَيَّدَهُ بِجُنُودٍ لَمْ تَرَوْهَا
 

แล้วอัลลอฮ์ก็ทรงประทานลงมาแก่เขา ซึ่งความสงบมั่นและสงบใจจากพระองค์ และได้ทรงสนับสนุนเขาด้วยบรรดาไพร่พล ซึ่งพวกเจ้าไม่เห็นพวกเขา

 

โองการที่สี่

 

هُوَ الَّذِي أَنْزَلَ السَّكِينَةَ فِي قُلُوبِ الْمُؤْمِنِينَ لِيَزْدَادُوا إِيمَانًا

 مَعَ إِيمَانِهِمْ
 

ความว่า พระองค์คือผู้ทรงประทานความเงียบสงบมั่นและสงบใจลงมาในจิตใจของบรรดาผู้ศรัทธา เพื่อพวกเขาจะได้เพิ่มพูนการศรัทธาให้กับการศรัทธาของพวกเขา

 

โองการที่ห้า

 

لَقَدْ رَضِيَ اللَّهُ عَنِ الْمُؤْمِنِينَ إِذْ يُبَايِعُونَكَ تَحْتَ الشَّجَرَةِ

 فَعَلِمَ مَا فِي قُلُوبِهِمْ فَأَنْزَلَ السَّكِينَةَ عَلَيْهِمْ وَأَثَابَهُمْ فَتْحًا

 قَرِيبًا

 

โดยแน่นอนอัลลอฮฺทรงโปรดปรานต่อบรรดาผู้ศรัทธาขณะที่พวกเขาให้สัตยาบันแก่เจ้าใต้ต้นไม้ (ที่ฮุดัยบิยะฮฺ) เพราะพระองค์ทรงรอบรู้ดีถึงสิ่งที่มีอยู่ในจิตใจของพวกเขา พระองค์จึงได้ทรงประทานความสงบมั่นและสงบใจลงมาบนพวกเขา และได้ทรงตอบแทนให้แก่พวกเขาซึ่งชัยชนะอันใกล้นี้

 

และโองการที่หก

 

إِذْ جَعَلَ الَّذِينَ كَفَرُوا فِي قُلُوبِهِمُ الْحَمِيَّةَ حَمِيَّةَ الْجَاهِلِيَّةِ

 فَأَنْزَلَ اللَّهُ سَكِينَتَهُ عَلَى رَسُولِهِ وَعَلَى الْمُؤْمِنِينَ

 

ความว่า ขณะที่พวกปฏิเสธศรัทธาได้ทำให้ความหยิ่งยโสมีขึ้นในจิตใจของพวกเขา ซึ่งเป็นความหยิ่งยโสในสมัยแห่งความงมงาย อัลลอฮฺจึงประทานความสงบมั่นและสงบใจของพระองค์ให้แก่รอซูลของพระองค์และแก่บรรดาผู้ศรัทธา


บทความโดย เชคอิบรอฮีม อาแว