อรรถาธิบาย ดุอาอ์ ประจำวันที่ 22 เดือนรอมฎอน

อรรถาธิบาย ดุอาอ์ ประจำวันที่ 22 เดือนรอมฎอน

 

بسم الله الرحمن الرحيم
 
اللَّهُمَّ افْتَحْ لِي فِیهِ أَبْوَابَ فَضْلِك
وَ أَنْزِلْ عَلَیَّ فِیهِ بَرَکَاتِك وَ وَفِّقْنِي فِیهِ لِمُوجِبَاتِ مَرْضَاتِك وَ أَسْکِنِّي فِیهِ بُحْبُوحَاتِ جَنَّاتِك یَا مُجِیبَ دَعْوَةِ الْمُضْطَرِّین

 

ความหมาย

 

โอ้อัลลอฮ์ โปรดเปิดประตูแห่งความดีงาม

โปรดประทานความจำเริญ(บารอกัต)

โปรดประทานความสำเร็จอันเป็นสาเหตุนำไปสู่ความพึงพอพระทัยของพระองค์แก่ข้าฯ  
และโปรดให้ข้าฯได้พำนักอยู่ ณ ใจกลางสรวงสวรรค์ของพระองค์
โอ้พระผู้ทรงตอบรับคำวิงวอนของผู้เดือดร้อนทั้งหลาย

 

คำอธิบาย

 

اللَّهُمَّ افْتَحْ لِي فِیهِ أَبْوَابَ فَضْلِك

 

โอ้อัลลอฮ์ โปรดเปิดประตูแห่งความดีงามแก่ข้าฯ ด้วยเถิด   

 

ในวันนี้อัลลอฮ์(ซ.บ)ทรงทำการมุอามาลาตกับเราด้วยความโปรดปรานของพระองค์ หากพระองค์ยึดเอาความยุติธรรมของพระองค์มาใช้กับเราแล้ว เราจะไม่มีความดีงามอะไรหลงเหลืออยู่อย่างแน่นอน


 
บทดุอาอ์กล่าวว่า

 

اَللّهم عاِملنا بِفَضلِك وَ لا تُعامِلنا بِعَدلِك

 

โอ้อัลลอฮ์ โปรดปฏิบัติต่อเราด้วยความโปรดปรานของพระองค์เถิด อย่าได้ปฏิบัติต่อเราด้วยความยุติธรรมของพระองค์เลย.....

 

“จะเห็นผลในการงานของเรา”

 

มีประชาชนคนธรรมดาคนหนึ่ง ได้อ่านบทดุอาอ์ดังกล่าวผิด  ซึ่งเขาอ่านและขอจากพระองค์ว่า

 

اَللّهم عاِملنا بِعَدلِك

 

ความว่า โอ้อัลลอฮ์ โปรดปฏิบัติต่อเราด้วยความยุติธรรมของพระองค์เถิด และแล้วในที่สุดเขาก็ถูกจับดำเนินคดีและต้องโทษประหารชีวิต  

 

เขาถามว่าทำไมเขาถูกดำเนินคดีและต้องโทษประหารด้วย ฉันทำผิดอะไรหรือ?  ซึ่งจากนั้นพระองค์ได้ทรงดลใจ(อิลฮาม)ให้กับศาสดาของเขาว่า ในอดีตเจ้าได้ฆ่าสัตว์โดยปราศจากความยุติธรรม  และตัวของเจ้าเองก็ได้วอนขอให้เราปฏิบัติด้วยความยุติธรรมของเรา และเราก็ได้ทำตามที่เจ้าวอนขอแล้ว

 

 
ด้วยเหตุนี้ ในอัลกุรอานจึงกล่าวว่า

 

مَّا أَصَابَكَ مِنْ حَسَنَةٍ فَمِنَ اللَّهِ ۖ وَمَا أَصَابَكَ مِن سَيِّئَةٍ فَمِن نَّفْسِكَ

 

ความว่า ความดีใด ๆ ที่ประสบแก่เจ้านั้นมาจากอัลลอฮฺ และความชั่วใด ๆ ที่ประสบแก่เจ้านั้นมาจากตัวของเจ้าเอง

 


ความหมายของคำว่า “ฟัฎลุลอิลาฮีย์” ความโปรดปรานของพระผู้อภิบาล

 

เราจะขอนำเสนอในประเด็นนี้พอสังเขป ด้วยการยกสองโองการจากอัลกุรอาน ดังนี้

 

وَلَوْلَا فَضْلُ اللَّهِ عَلَيْكُمْ وَرَحْمَتُهُ لَاتَّبَعْتُمُ الشَّيْطَانَ إِلَّا قَلِيلًا

 

ความว่า และหากมิใช่ความเมตตาของอัลลอฮฺที่มีต่อพวกเจ้าแล้ว แน่นอน พวกเจ้าก็คงปฏิบัติตามชัยฎอนไปแล้ว นอกจากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

فَلَوْلَا فَضْلُ اللَّهِ عَلَيْكُمْ وَرَحْمَتُهُ لَكُنتُم مِّنَ الْخَاسِرِينَ

 

ความว่า หากอัลลอฮ์ไม่ทรงโปรดปราน และกรุณาเมตตาแก่พวกเจ้าแล้ว แน่นอนพวกเจ้าย่อมกลายเป็นพวกที่ขาดทุน

 

ในโองการแรก:  เราสามารถประจักษ์แล้วว่า หากมิใช่ความเมตตาของอัลลอฮ์ที่มีต่อพวกเจ้าแล้ว แน่นอน พวกเจ้าก็คงปฏิบัติตามชัยฎอนไปแล้ว นอกจากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และการปฏิบัติตามชัยฏอนก็เท่ากับเป็นการหลงทางและเข้าสู่ความโกรธกริ้วของพระองค์ แต่ด้วยความโปรดปรานและเตาฟิกและการชี้นำของพระองค์ทำให้ปวงบ่าวสามารถเคารพภักดีและอิฏออัตต่อพระองค์

 

وَيَهْدِي مَن يَشَاءُ إِلَىٰ صِرَاطٍ مُّسْتَقِيمٍ

 

ความว่า และทรงชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ไปสู่หนทางที่เที่ยงตรง

 

อัลกุรอานกล่าวว่า

 

وَلَا تَتَّبِعُوا خُطُوَاتِ الشَّيْطَانِ ۚ إِنَّهُ لَكُمْ عَدُوٌّ مُّبِينٌ

 

ความว่า และจงอย่าตามบรรดาก้าวเดินของชัยฏอน แท้จริงมันคือศัตรูที่ชัดแจ้งของพวกเจ้า

 

ส่วนในโองการที่สอง : ได้กล่าวว่า  หากอัลลอฮ์ไม่ทรงโปรดปราน และกรุณาเมตตาแก่พวกเจ้าแล้ว แน่นอนพวกเจ้าย่อมกลายเป็นพวกที่ขาดทุน เนื่องจากว่า

 

إِنَّ الْإِنسَانَ لَفِي خُسْرٍ

 

ความว่าแท้จริงมนุษย์นั้น อยู่ในการขาดทุน

 

ดังนั้น ความโปรดปรานของพระองค์ที่มีต่อบ่าวของพระองค์ก็คือการชี้นำสู่หนทางที่เที่ยงตรง  การชี้นำและการฮิดายะฮ์ไปสู่ประตูแห่งความโปรดปรานและความเมตตาของพระองค์ ตามที่เราได้วิงวอนในวันนี้

 

ประโยคถัดมา

 

وَ أَنْزِلْ عَلَیَّ فِیهِ بَرَکَاتِك  

 

โอ้อัลลอฮ์ โปรดประทานความจำเริญ(บารอกัต)ให้แก่ข้าฯด้วยเถิด

 

อะไรคือความหมายของคำว่า “บารอกัต”(ความจำเริญ) ?

 

บางคนมีอายุที่เต็มไปด้วยบารอกัตและความจำเริญ  ซึ่งระหว่างนักเรียนศาสนากับบุคคลที่ไม่ใช่นักเรียนศาสนาก็ไม่มีความแตกต่างอันใด  หากมีทรัพย์สินเงินทองก็จงใช้จ่ายในการทำความดี และหากเป็นนักเรียนศาสนาและผู้รู้ก็จงใช้ความรู้เหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม  เช่น เชคมุฮัมมัด ฮุเซน ซาฮิด กล่าวว่า ฉันมีลูกศิษย์จำนวนห้าพันกว่าคน  เช่น เชคอับบาส กุมมีย์(เจ้าของหนังสือ กุญเจสู่สวรรค์) ท่านมีอายุที่เต็มไปด้วยบารอกัต สามารถเขียนหนังสือศาสนาเป็นจำนวนมาก

 

ในช่วงแรกของบทดุอาอ์ เราได้วอนขอให้พระองค์ทรงเปิดประตูความโปรดปรานให้กับเรา  และเมื่อประตูความโปรดปรานและความเมตตาของพระองค์ถูกเปิดสำหรับเราแล้ว ความบารอกัตและความจำเริญต่างๆของพระองค์ก็จะถูกประทานลงมาให้กับบ่าวของพระองค์

 

"ประเภทของความบารอกัต"

 

บารอกัตถูกแบ่งออกเป็นสองประเภท


บารอกัตในด้านวัตถุ และจิตวิญญาณ

 

บารอกัตในด้านวัตถุ ประกอบด้วยทุกนิอ์มัต(ความโปรดปราน)ที่เป็นปัจจัยจำเป็นสำหรับมนุษย์ในการดำเนินชีวิต เช่น น้ำ อาหาร ผลไม้ เครื่องนุ่มห่มและ....  

 

ส่วนบารอกัตด้านจิตวิญญาณ ประกอบด้วยนิอ์มัตต่างๆที่มนุษย์ได้รับในการแสวงหาความใกล้ชิดยังพระองค์ เช่น การเตาบัต การอิสติฆฟาร์ การขอดุอาอ์ และ....  ซึ่งในวันนี้ เราก็ได้วิงวอนความบารอกัตต่างๆเหล่านี้จากพระองค์

 

ประโยคถัดมา

 

وَ وَفِّقْنِي فِیهِ لِمُوجِبَاتِ مَرْضَاتِك

 

โอ้อัลลอฮ์ โปรดประทานความสำเร็จอันเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ความพึงพอพระทัยของพระองค์แก่ข้าฯ

 

ให้เราเป็นนักขอดุอาอ์ เป็นผู้ช่วยเหลือสังคม  หรือกระทำในสิ่งที่นำไปสู่ความพึงพอพระทัยของพระองค์

 

หากพิจารณาโองการและฮะดีษแล้ว  ความพึงพอพระทัยของพระองค์ขึ้นอยู่ที่การปฏิบัติของผู้ศรัทธา การปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์และเชื่อฟังรอซูลของพระองค์อย่างเคร่งครัด

 

อัลกุรอานกล่าวว่า

 

وَأَطِيعُوا اللَّهَ وَالرَّسُولَ لَعَلَّكُمْ تُرْحَمُونَ

 

ความว่า และพวกเจ้าจงเชื่อฟังอัลลอฮ์และรอซูลของพระองค์ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา

 

สามารถกล่าวโดยรวม คือ การปฏิบัติในสิ่งที่เป็นวาญิบและห่างไกลจากสิ่งที่ต้องห้าม เหล่านี้ จะนำมาซึ่งความพึงพอพระทัยของพระองค์

 

อัลกุรอานกล่าวว่า

 

رَّضِيَ اللَّهُ عَنْهُمْ وَرَضُوا عَنْهُ ۚ ذَٰلِكَ الْفَوْزُ الْعَظِيمُ

 

ความว่า อัลลอฮ์ทรงพอพระทัยในพวกเขา และพวกเขาก็พึงพอใจในพระองค์นั่นแหละคือชัยชนะอันยิ่งใหญ่

 

ประโยคถัดมา

 

 وَ أَسْکِنِّي فِیهِ بُحْبُوحَاتِ جَنَّاتِك

 

โอ้อัลลอฮ์ โปรดให้ข้าฯได้พำนักอยู่ ณ ใจกลางสรวงสวรรค์ของพระองค์ด้วยเถิด

 

บางครั้งใจกลางสรวงสวรรค์ อาจจะเป็นสถานที่พำนักของบรรดาเอาลิยาอ์ของพระองค์ก็เป็นได้   ซึ่งเราขอให้ได้พำนักอยู่ในสถานที่แห่งนั้น

 

อัลกุรอานกล่าวว่า

 

وَإِذَا سَأَلَكَ عِبَادِي عَنِّي فَإِنِّي قَرِيبٌ ۖ أُجِيبُ دَعْوَةَ الدَّاعِ إِذَا دَعَانِ

 

ความว่า และเมื่อบ่าวของข้าถามเจ้าถึงข้าแล้วก็ (จงตอบเถิดว่า) แท้จริงข้านั้นอยู่ใกล้ ข้าจะตอบรับคำวิงวอนของผู้ที่วิงวอน เมื่อเขาวิงวอนต่อข้า

 

ดังนั้น ในวันนี้ เราจึงวิงวอนขอจากพระองค์ให้เราห่างไกลจากความโกรธกริ้วของพระองค์และนำเราเข้าสู่สรวงสวรรค์อันเป็นบ่อเกิดแห่งความโปรดปรานของพระองค์

 

ประโยคสุดท้าย

 

یَا مُجِیبَ دَعْوَةِ الْمُضْطَرِّین

 

โอ้พระผู้ทรงตอบรับคำวิงวอนของผู้เดือดร้อนทั้งหลาย โปรดตอบรับการวิงวอนขอของเราในวันนี้ด้วยเถิด....


 

บทความโดย เชคอิบรอฮิม อาแว