ปรัชญาของการอิห์ยาอ์ลัยละตุลก็อดร์กับการถูกทำชะฮาดัตของอิมามอะลี

ปรัชญาของการอิห์ยาอ์ลัยละตุลก็อดร์กับการถูกทำชะฮาดัตของอิมามอะลี

 

อะไรคือปรัชญาของการอิห์ยาลัยละตุลก็อดร์?


และทำไมอิมามอะลี (อ) จึงถูกทำชะฮาดัตในค่ำคืนลัยละตุลก็อดร์ด้วย ?


ทั้งสองเกี่ยวข้องกันอย่างไร ?


หรือสาเหตุเพราะว่า ลัยละตุลก็อดร์ คือค่ำคืนของการนุซูลกุรอาน?


ถ้าเช่นนั้นทำไมต้องให้อิหฺยาอ์ด้วย ?

 

คำตอบแบบสรุป


“ลัยละตุลก็อดร์” หรือ “รัตติกาลแห่งอานุภาพ” คือช่วงเวลาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่คัมภีร์อัลกุรอานได้เน้นย้ำในซูเราะฮฺ “อัลก็อดร์” สาเหตุประการแรก เพราะคือค่ำคืนแห่งการนุซูลกุรอาน (๑) และคือ ค่ำคืนที่ทวยเทพหรือมวลมลาอิกะฮ์ได้เสด็จลงมา (๒) ในค่ำคืนนั้นจะเต็มไปด้วยซะลามัต(ความดีงามและความจำเริญ) (๓) และจะเป็นค่ำคืนแห่งการชี้ชะตากรรมชะตาชีวิตของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม (๔)


ด้วยเหตุนี้ “ลัยละตุลก็อดร์” ค่ำคืนที่เต็มไปด้วยค็อยรอต (ความดีงาม)และบะรอกัต (ความจำเริญอย่างมากมาย)จึงไม่อาจแยกออกจากความสัมพันธ์ระหว่างการที่คัมภีร์อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมากับรูหุลอะมีน(วิญญาณอันบริสุทธิ์)ได้ ดังนั้น การอิห์ยาอ์ในค่ำคืน “ลัยละตุลก็อดร์” จึงถูกเน้นย้ำทั้งจากท่านนบี (ศ) และอะฮฺลุลบัยต์นบี (อ) มีบันทึกไว้ว่า ท่านศาสดา (ศ) จะให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนอยู่ “อิห์ยาอ์” ตลอดทั้งคืนที่ ๒๓ ของเดือนรอมฎอน และท่าน (ศ็อลฯ) จะใช้น้ำประพรมที่ใบหน้าของผู้ที่หลับ ในขณะที่มีบันทึกไว้เช่นกันว่า “ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (สลามุลลอฮิอะลัยฮา) จะไม่ยอมให้สมาชิกคนใดหลับในค่ำคืนนี้ ด้วยเหตุนี้ ท่านหญิงจะให้สมาชิกในครอบครัวรับประทานอาหารให้น้อยในช่วงละศีลอด และให้พวกเขาเตรียมความพร้อมนับตั้งแต่ช่วงกลางวันของค่ำคืนนั้น และท่านหญิงจะตอกย้ำด้วยประโยค

 

“ผู้ที่อับโชคที่สุด คือผู้ที่ไม่ได้รับค็อยร์ (ความดีงาม) และ บะรอกะฮ์ (ความจำเริญ)จากค่ำคืน ลัยละตุลก็อดร์” (๕)

 

ดังนั้น เมื่อพิจารณาทั้งจากโองการอัลกุรอานและจากริวายะฮ์ที่กล่าวถึง “ลัยละตุลก็อดร์” ก็พอจะสรุปได้ว่า “ทวยเทพหรือมวลมลาอิกะฮฺและรูห์จะเสด็จลงมาบนพื้นโลกในค่ำคืน “ลัยละตุลก็อดรฺ” ในทุก ๆ ปี และในค่ำคืนนี้นั่นเองที่ชะตากรรมชะตาชีวิตของมนุษย์ทุกผู้ทุกนามจะถูกลิขิตสำหรับ ๑๒ เดือนหรือ ๑ ปีข้างหน้า

 

คำถามเกิดขึ้นว่าในยุคสมัยท่านศาสดา (ศ) มวลมลาอิกะฮฺและรูหุลอามีน (อ) ได้เสด็จลงมาหาท่านศาสดา (ศ) ในทุกปีที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ แต่หลังจากที่ท่าน (ศ) ริหฺลัต (อสัญกรรม)ไปแล้ว มวลมลาอิกะฮฺและรูหุลอามีน (อ) จะเสด็จลงมาหาใคร ?

 

คำตอบสำหรับผู้ที่อยู่ในสายธารอะฮ์ลุลบัยต์ (อ) ก็คือ เสด็จลงมาหาตัวแทนโดยชอบธรรมของท่านนบี (ศ) ที่ชื่อว่า “อะลี อิบนุอบีฏอลิบ (อ)” และหลังจากนั้นก็เป็นตัวแทนโดยชอบธรรมทั้ง ๑๑ ท่าน ต่อมาเรื่อย ๆ มาในทุกปีโดยมิมีขาดสาย

 

และในยุคปัจจุบันก็คือ อิมามมะอฺศูมที่เป็นทายาทท่านสุดท้ายของท่านศาสดา (ศ) ที่มีชื่อว่า “อิมามมะฮ์ดีย์ (อัรวาฮุนาละฮุลฟิดาอ์บิตตุรอบ) นั่นเอง (๖)

 

ด้วยเหตุนี้ การถูกทำชะฮาดัตของท่านอิมามอะลี (อ) ในหนึ่งในค่ำคืน “ลัยละตุลก็อดร์” จึงไม่ใช่สาเหตุของการให้ “อิห์ยาอ์” ชุบชีวิตลัยละตุลก็อดร์แต่อย่างใด ถึงแม้ว่าเหตุการณ์การลอบสังหารตัวแทนอันชอบธรรมท่านแรกของท่านศาสดา (ศ) จะอุบัติขึ้นในหนึ่งของสามคืนนี้ก็ตาม เพียงแต่ทำให้อะฮัมมียะฮฺความสำคัญของ “ลัยละตุลก็อดร์” ยิ่งมีสีสันและความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง

 

“อุสตาซชะฮีดมุรฺตะฎอ มุเฏาะฮะรีย์” กล่าวถึง สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านอมีรุลมุอ์มินีน อะลี อิบนุอะบีฏอลิบ (อ) ถูกทำชะฮาดัตในค่ำคืนลัยละตุลก็อดร์ว่า

 

“อับดุรเราะห์มาน อิบนุมุลญัม มุรอดีย์ (ละอ์นะตุลลอฮ์อะลัยฮิ) กับทีมสังหารมืออาชีพจำนวน ๙ คน ได้ไปสุมหัวกันที่นครมักกะฮฺเพื่อที่จะปรึกษาหารือในหมู่เพื่อนร่วมน้ำสาบานของพวกมันในการที่จะจัดการลอบสังหาร โดยแบ่งงานกัน ๓ สาย เพราะพวกมันได้ข้อสรุปร่วมกันว่าผู้ที่สร้างฟิตนะฮฺให้กับโลกดุนยาในยุคนั้นมีอยู่ด้วยกัน ๓ คน คือ อะลี อิบนุอบีฏอลิบ (อ) มุอาวิยะฮฺ บินอบีสุฟยาน และอัมรุลอาศ โดย “อิบนุมุลญัม” ได้รับมอบหมายให้จัดการลอบสังหารท่านอิมามอะลี (อ) ที่เมืองกูฟะฮฺ และได้กำหนดวันนัดหมายไว้พร้อม ๆ กันว่า “จะต้องเป็นค่ำคืนที่ ๑๙ ของเดือนรอมฎอนเท่านั้น”

 

คำถามว่าทำไมจึงต้องเป็นเช่นนั้น ?

 

(ตรงนี้ถือเป็นบทเรียนและอุทาหรณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงพวกที่ยึดศาสนาอย่างโง่งมงายและบ้าคลั่งโดยไม่ฟังเหตุผลและหลักตรรกะใด ๆ ทั้งสิ้น)

 

จงดูถึงความโง่งมงายของพวกมันที่เลือกเอาค่ำคืนที่ ๑๙ เดือนรอมฎอนเป็นวันดีเดย์


ก็เพราะพวกมันเข้าใจผิดคิดว่าการลอบสังหาร “อะลี” บุรุษที่ดีเลิศประเสริฐที่สุดรองจากท่านนบี (ศ) เท่ากับเป็นการทำอิบาดะฮฺในค่ำคืนที่ประเสริฐที่สุดที่จะทำให้ได้รับษะวาบ (มรรคผล)ของการประกอบอิบาดะฮ์ในค่ำคืน “ลัยละตุลก็อดร์” นั่นเอง ! ! ! (๗)

 

الا لعنة الله علی القوم الظالمين
وسيعلم الذين ظلموا أي منقلب ينقلبون

 

อ้างอิง

 

[1]. قدر، 1

[2]. قدر، 4

[3]. قدر، 5

[4]. دخان، 4

[5]. ابن حیون مغربی، نعمان بن محمد، دعائم الإسلام و ذکر الحلال و الحرام و القضایا و الأحکام، ج 1، ص 282،‏ قم، مؤسسة آل البیت(ع)، چاپ دوم، 1385ق

[6]. کلینی، محمد بن یعقوب، الکافی، ج 1، ص 247، تهران، دار الکتب الإسلامیة، چاپ چهارم، 1407ق

 

ขอขอบคุณ Risalah Qomi