เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

“การรำลึกถึงอัลลอฮ์” อย่างมากมาย คืออะไร

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

“การรำลึกถึงอัลลอฮ์” อย่างมากมาย คืออะไร

 

 

يا ايّها الّذين امنوا اذكرا الله ذكراً كثيراً

 

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย! จงรำลึกถึงอัลลอฮ์ด้วยการรำลึกอย่างมากมายเถิด” (1)

 

     เนื่องจากปัจจัยที่นำไปสู่ความเผอเรอในชีวิตทางโลกแห่งวัตถุนั้นมีมากมาย และการกระซิบกระซาบของหมู่มาร (ซาตาน) ก็ถาโถมเข้ามาสู่มนุษย์จากทุกทิศทุกทาง ดังนั้นเพื่อที่จะต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ ไม่มีหนทางอื่นใด นอกจาก «ذكر كثير» "การรำลึก (ถึงอัลลอฮ์) อย่างมากมาย" และ "การรำลึก (ถึงอัลลอฮ์) อย่างมากมาย" ที่แท้จริงนั้นหมายถึง "การคิดคำนึงและการมุ่งตรงสู่พระผู้เป็นเจ้าอย่างจริงจัง" ไม่ใช่แค่เพียงกล่าวรำลึกด้วยวาจาและการกระดกลิ้นเพียงเท่านั้น การรำลึกถึงอัลลอฮ์อย่างมากมายนั้นจะฉายแสงรัศมีปกคลุมการดำรงอยู่ของการกระทำและการแสดงออกทั้งหมดของมนุษย์

 

     ด้วยเหตุนี้ คัมภีร์อัลกุรอานในโองการนี้ จึงเรียกร้องผู้ศรัทธาทุกคนให้ทำการรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าในทุกสภาพ เมื่อทำอิบาดะฮ์ (นมัสการและเคารพภักดี) และรำลึกถึงพระองค์ ก็จงทำด้วยจิตใจที่มุ่งตรงต่อพระองค์ และจงมีความบริสุทธิ์ใจต่อพระองค์ เมื่อเผชิญหน้ากับความชั่วและความผิดบาปต่างๆ ก็จงรำลึกถึงพระองค์ ยับยั้งหัวใจและสายตาของตน หรือหากพลาดพลั้งไปกระทำในสิ่งที่เป็นความชั่วและการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระผู้เป็นเจ้า ก็จงรีบกลับตัวกลับใจ (เตาบะฮ์) และหันกลับสู่แนวทางสัจธรรม เมื่อได้รับเนี๊ยะอ์มัต (สิ่งดีงาม) ก็จงรำลึกและขอบคุณต่อพระองค์ เมื่อประสบกับความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนและภัยพิบัติต่างๆ ก็จงรำลึกถึงพระองค์ และจงมีความอดทนอดกลั้น

 

     จุดประสงค์ของคำว่า “ซิกร์ กะซีร” (การรำลึกถึงอัลลอฮ์อย่างมากมาย) นั้นคืออะไร ในคำรายงาน (ริวายะฮ์) และในคำพูดของนักอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอานนั้น ได้อรรถาธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้มากมาย ซึ่งตามรูปการแล้วทั้งหมดที่ถูกกล่าวถึงนั้นคือตัวอย่าง (มิศดาก) ของคำว่า “ซิกร์ กะซีร” (การรำลึกถึงอัลลอฮ์อย่างมากมาย) ทั้งสิ้น และคำๆ นี้มีความหมายครอบคลุมอย่างกว้างขวางถึงคำอรรถาธิบายดังกล่าวทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ในฮะดีษ (วจนะ) บทหนึ่งของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านกล่าวว่า

 

 إذا أيقَظَ الرجُلُ أهلَهُ مِنَ اللَّيلِ فَتَوَضَّآ و صَلَّيا كُتِبا مِنَ الذّاكِرينَ اللّه َ كثيرا و الذّاكِراتِ

 

“เมื่อผู้ชายได้ปลุกภรรยาของเขาให้ตื่นนอนขึ้นมาในยามกลางคืน โดยที่ทั้งสองจะทำวุฎูอ์และทำนมาซ เขาทั้งสองจะถูกบันทึกว่าเป็นผู้รำลึกถึงอัลลอฮ์อย่างมากมาย” (2)

 

    และในฮะดีษ (วจนะ) บทหนึ่งจากท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า : ใครก็ตามที่กล่าว “ตัสเบี๊ยะห์” ของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รออ์ (อ.) ในเวลากลางคืน เขาจะเข้าอยู่ในโองการนี้ บรรดามุฟัซซิรีน (นักอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอาน) บางคนกล่าวว่า : “ซิกร์ กะซีร” (การรำลึกถึงอัลลอฮ์อย่างมากมาย) คือการที่มนุษย์จะรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าทั้งในเวลายืนและนั่ง และในยามเข้านอน แต่อย่างไรก็ตาม “ซิกร์” (การรำลึก) นั้นคือสัญลักษณ์บ่งชี้ถึงการคิดใคร่ครวญ (ฟิกร์) และการคิดใคร่ครวญก็คือพื้นฐานนำไปสู่การกระทำ (อะมั้ล) ดังนั้นจุดประสงค์จากคำว่า “ซิกร์” (การรำลึกพระผู้เป็นเจ้า) ในที่นี้จะประกอบไปด้วยการคิดใคร่ครวญและการนำสู่การกระทำ (อะมั้ล) รางวัลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่สำหรับคนกลุ่มนี้ทั้งชายและหญิงที่ทำการรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าอย่างมากมาย คัมภีร์อัลกุรอานได้อธิบายไว้เช่นนี้ว่า

 

 وَالذَّاكِرِينَ اللَّهَ كَثِيرًا وَالذَّاكِرَاتِ أَعَدَّ اللَّهُ لَهُم مَّغْفِرَةً وَأَجْرًا عَظِيمًا

 

“บรรดาชายและหญิงผู้รำลึกถึงอัลลอฮ์อย่างมากมายนั้น อัลลอฮ์ได้ทรงเตรียมการอภัยโทษและผลรางวัลอันยิ่งใหญ่ไว้แล้วสำหรับพวกเขา” (3)

 

    อันดับแรก ผู้ที่รำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าอย่างมากมายนั้นจะได้รับการชำระล้างด้วยน้ำแห่งการอภัยโทษในความผิดบาปต่างๆ ของเขา ที่เป็นสาเหตุทำให้จิตวิญญาณของเขาแปดเปื้อน หลังจากนั้นพระองค์จะทรงประทานรางวัลอันยิ่งใหญ่แก่พวกเขา โดยที่ความยิ่งใหญ่ของมันนั้นไม่มีผู้ใดล่วงรู้ได้นอกจากพระองค์เพียงเท่านั้น

 

   ประเด็นที่น่าสนใจในที่นี้ ก็คือ คำว่า “ أَعَدَّ اللَّهُ لَهُم َ” (อัลลอฮ์ได้ทรงเตรียมไว้แล้วสำหรับพวกเขา) ซึ่งใช้รูปกริยาอดีตกาล (อัลมาฎีย์) เป็นเครื่องอธิบายให้เห็นว่า รางวัลและผลตอบแทนนี้จะเกิดขึ้นจริงและจะไม่มีการละเมิดอย่างแน่นอน หรือชี้ให้เห็นว่า สวรรค์และเนี๊ยะอ์มัต (สิ่งดีงาม) ต่างๆ ของพระองค์นั้น ขณะนี้ถูกเตรียมพร้อมไว้แล้วสำหรับปวงผู้ศรัทธา ผู้ที่รำลึกถึงอัลลอฮ์อย่างมากมาย

 

   อบูซะอีด เล่าว่า :

 

 أن رسول الله (صلى الله علیه وآله وسلّم) سئل أی العباد أفضل درجة عند الله یوم القیامة ؟

قال : الذاكرون الله كثیرا . قلت : یا رسول الله و من الغازی فی سبیل الله ؟

قال : لو ضرب بسیفه فی الكفار و المشركین حتى ینكسر و یختضب دما لكان الذاكرون الله أفضل درجة منه

 

มีผู้ถามท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ว่า “บ่าวคนใดที่มีสถานะที่ประเสริฐที่สุด ณ อัลลอฮ์ ในวันกิยามะฮ์” ท่านตอบว่า “บรรดาผู้ที่รำลึกถึงอัลลอฮ์อย่างมากมาย” (อบูซะอีด กล่าวว่า) ฉันได้ถามว่า “โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์! และเขาจะประเสริฐกว่าผู้ที่ทำสงครามในทางของอัลลอฮ์อีกกระนั้นหรือ?” ท่านตอบว่า “แม้เขา (นักรบผู้นั้น) จะฟันดาบของตนในหมู่ผู้ปฏิเสธและผู้ตั้งภาคี จนกระทั่งดาบหัก และ (ร่างกายของเขา) เปื้อนไปด้วยเลือดก็ตาม แน่นอนยิ่งว่า ผู้ที่รำลึกถึงอัลลอฮ์นั้นย่อมมีสถานะที่ประเสริฐกว่าเขา” (4)

 

    แน่นอนผู้ที่ทำการต่อสู้ (ญิฮาด) ในหนทางของพระผู้เป็นเจ้าด้วยความบริสุทธิ์ใจต่อพระองค์นั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะไม่ใช่ผู้ที่รำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าอย่างมากมาย อย่างไรก็ตาม การรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าอย่างมากมาย หรือ “ซิกร์ กะซีร” นั้นจะไม่เกิดขึ้น นอกจากการที่เราจะต้องพยายามในการฝึกฝนด้วยการคิดใคร่ครวญและมุ่งความสนใจไปยังพระองค์อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาและในทุกสภาพการณ์ และแน่นอนยิ่งว่า ความจำเป็นของการรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อหัวใจและจิตวิญญาณของมนุษย์นั้น ก็เปรียบได้ดั่งอาหารและน้ำที่มีต่อร่างกายของเรา

 

แหล่งอ้างอิง :

 

(1) อัลกุรอานบทอัลอะห์ซาบ โองการที่ 41

(2) มัจญ์มะอุลบะยาน, เล่มที่ 8, หน้าที่ 561

(3) อัลกุรอานบทอัลอะห์ซาบ โองการที่ 35

(4) ตัฟซีร อัลมีซาน, เล่มที่ 16, หน้าที่ 333

 

บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม