อรรถาธิบายดุอาอ์ ประจำวันที่ 26 เดือนรอมฎอน

อรรถาธิบายดุอาอ์ ประจำวันที่ 26 เดือนรอมฎอน

 

 

بسم الله الرحمن الرحيم

اللهمّ اجْعَل سَعْيي فیهِ مَشْکوراً وذَنْبي فیهِ مَغْفوراً وعَملي

 فیهِ مَقْبولاً وعَیبي فیهِ مَسْتوراً یا أسْمَعِ السّامعین

 

ความหมาย

 

โอ้ อัลลอฮ์ โปรดทำให้ความอุตสาหะของข้าฯได้รับการขอบคุณ  บาปต่างๆของข้าฯ ได้รับการอภัย ภารกิจของข้าฯถูกตอบรับ และความบกพร่องของข้าฯ ได้รับการปกปิด โอ้ พระผู้ทรงได้ยินยิ่งกว่าผู้ได้ยินทั้งหลาย

 

คำอธิบาย

 

اللهمّ اجْعَل سَعْیي فیهِ مَشْکوراً

 

โอ้ อัลลอฮ์ โปรดทำให้ความอุตสาหะของข้าฯในเดือนรอมฎอนอันจำเริญนี้ได้รับการขอบคุณและถูกตอบรับด้วยเถิด  

 

มนุษย์ต้องอดทนลำบากในการถือศีลอด  อดทนต่อความหิวกระหาย   จะไม่กินและไม่ดื่ม  จะอดหลับอดนอนในค่ำคืนต่างๆของเดือนรอมฎอน  ซึ่งหากพระองค์ไม่ทรงตอบรับการงานของเราเหล่านี้ เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดี สุดแล้วแต่พระองค์ เพราะมันสุดความสามารถแล้ว  หากเราเหน็ดเหนื่อย อดทนต่อความยากลำบากแต่ไม่เกิดผลใดๆ ถือเป็นเรื่องที่ขื่นขมเป็นอย่างมาก

 

เราต้องระมัดระวังให้มากอย่าให้การงานและอะมั้ลของเราต้องสูญเปล่า  เช่น การนินทาเพียงครั้งเดียวทำให้การงานของเราต้องสูญเปล่า  หากเรานินทาคนอื่น   การงานและอะมั้ลที่ดีของเราที่ทำมาเป็นเวลาสี่สิบวันจะถูกบันทึกในสมุดการงานของบุคคลที่ถูกนินทา และหากไม่มีอะมั้ลที่ดีแล้ว การงานที่ชั่วและความผิดบาปของบุคคลที่ถูกนินทาก็จะถูกบันทึกในสมุดการงานของเรา และสิ่งนี้คือฮะดิษที่รายงานจากบรรดาอิมามมะอ์ศูม(อ)


ดังนั้นเราต้องใส่ใจในการงานของเรา ว่าเราได้ทำอะไรไปบ้าง ?  การกระทำของเรามีความบกพร่องหรือไม่ ?  แต่ทั้งนี้เป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะไม่มีข้อบกพร่องเลย แต่อย่างน้อยจะต้องให้มีข้อบกพร่องน้อยที่สุด

 

ในริวายะห์กล่าวว่า ช่างอนิจจา มนุษย์ไม่เห็นความบกพร่องอันใหญ่โตของตนเอง แต่กลับเห็นข้อบกพร่องอันน้อยนิดของคนอื่น  

 

ดังนั้นช่างน่ายินดีเสียเหลือเกินสำหรับบุคคลที่ตระหนักใส่ใจและเห็นข้อบกพร่องของตนเอง และไม่ใส่ใจข้อบกพร่องของบุคคลอื่น


ท่านอิมามอะลี(อ)กล่าวว่า

 

يَا أَيُّهَا النَّاسُ طُوبَى لِمَنْ شَغَلَهُ عَيْبُهُ عَنْ عُيُوبِ النَّاس‏

 

ความว่า โอ้ประชาชนเอ๋ย ช่างโชคดีเสียเหลือเกินสำหรับบุคคลที่สาละวนอยู่กับสิ่งบกพร่องของตนเอง โดยออกห่างจากการตำหนิความบกพร่องของผู้อื่น (นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ คุตบะห์ที่ 176 )


ประโยคถัดมา

 

 وذَنْبي فیهِ مَغْفوراً وعَملي فیهِ مَقْبولاً

 

ในดุอาอ์วันที่ยี่สิบหกของเดือนรอมฎอน เราได้วิงวอนขอจากพระองค์ ว่า โอ้ อัลลอฮ์ โปรดทำให้บาปต่างๆของข้าฯได้รับการอภัย และตอบรับการงานของข้าฯด้วยเถิด

 

เราขอจากพระองค์ให้อภัยในความผิดบาปต่างๆที่ได้ทำไปในช่วงก่อนเดือนรอมฎอน  เนื่องจากเดือนรอฎอนเป็นฤดูกาลจิตวิญญาณและช่วงเวลาแห่งการเก็บเกี่ยวผลบุญและมรรคผล   แม้แต่การนอนและการหายใจในเดือนนี้ก็ยังเป็นอิบาดะห์

 

نومکم فیه عبادة

 

การนอนของพวกท่านเป็นอิบาดะห์

 

انفاسکم فیه تسبیح

 

การหายใจของพวกท่านเป็นตัสบีห์

 

ดังนั้นเดือนนี้เป็นเดือนที่เปี่ยมด้วยความบารอกัตอย่างยิ่ง  ซึ่งสามารถสรุปว่าเป็นเดือนที่มนุษย์จะได้กำไรมากที่สุด  แต่ทั้งนี้เป็นที่น่าเสียดายว่ามีกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถเก็งกำไรจากเดือนนี้ได้และมิหนำซ้ำเขายังไม่ได้รับการอภัยโทษจากพระองค์อีก


ท่านศาสดากล่าวในคุตบะห์ชะอ์บานียะห์ว่า “โอ้บรรดามนุษย์เอ๋ย! แท้ที่จริงแล้วชีวิตของพวกท่านนั้น ตกอยู่ในบ่วงพันธนาการแห่งการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ของพวกท่านเอง ดังนั้นพวกท่านจงวิงวอนขออภัยโทษจากพระองค์เพื่อให้รอดพ้นจากบ่วงพันธนาการ (ปฏิบัติภารกิจที่ไม่ดี) นั้นเถิด บัญชีการกระทำบาปของพวกท่านนั้นหนักอึ้ง อยู่บนบ่าของพวกท่านเอง ซึ่งเต็มไปด้วยบาปต่างๆ”

 

มนุษย์บางคนไม่สามารถที่จะลุกขึ้นนมาซซุบฮ์ได้ อันเนื่องจากความหนักของบาปที่ได้กระทำไป


 
“เรื่องเล่า”  

 

มีชายคนหนึ่งเข้ามาถามท่านอิมามฮะซัน อัสการีย์(อ) ว่า ทุกครั้งที่ฉันตั้งใจจะตื่นขึ้นมานมาซศอลาตุลลัยน์ ทำไมไม่เคยสำเร็จ ?  ท่านอิมามกล่าวตอบว่า เพราะเจ้าตกอยู่ในบ่วงพันธนาการแห่งการทำบาป


 
ในยุคสมัยของท่านอิมามอะลี(อ) มีชายคนหนึ่งมาหาท่านและถามท่านอิมาม(อ)ว่า ทำไมฉันไม่ได้รับเตาฟิกในการนมาซศอลาตุลลัยน์ ท่านอิมามตอบว่า


قیدتك ذنوبك
 

เพราะเจ้าหมกมุ่นกับการทำบาป บาปเป็นบ่วงพันธนาการทำให้เจ้าไม่สามารถนมาซศอลาตุลลัยน์ได้

 

ตัวบทฮะดีษ

 

جَاءَ رَجُلٌ إِلَى أَمِيرِ الْمُؤْمِنِينَ عَلِيِّ بْنِ أَبِي طَالِبٍ فَقَالَ

 يَا أَمِيرَ الْمُؤْمِنِينَ إِنِّي قَدْ حُرِمْتُ الصَّلَاةَ بِاللَّيْلِ فَقَالَ أَمِيرُ

 الْمُؤْمِنِينَ ع أَنْتَ رَجُلٌ قَدْ قَيَّدَتْكَ ذُنُوبُكَ

(หนังสืออัลกาฟี  เล่ม 3   หน้า 490 )

 

 

ดังนั้นสาเหตุหลักสำหรับบุคคลที่ตั้งใจจะตื่นนมาซในยามค่ำคืนแต่ไม่ประสบความสำเร็จก็เนื่องจากบาปที่เขาได้ทำไป ดังนั้นจงขออภัยโทษต่อพระองค์ เพื่อสามารถขจัดสิ่งสกปรกเหล่านี้ออกไป


ประโยคถัดมา

 

وعَیبي فیهِ مَسْتوراً

 

โอ้ อัลลอฮ์โปรดปกปิดความบกพร่องของข้าฯ   อย่าให้ใครได้รู้ในความบกพร่องของข้าฯ  พระองค์คือ พระผู้ทรงปกปิดความบกพร่องทั้งหลายของบ่าวของพระองค์ และจนถึงวันนี้พระองค์ไม่เคยทรงเปิดเผยความบกพร่องของเราให้กับผู้อื่นเลย

 

หากการทำบาปจะส่งกลิ่นเน่าเหม็นแล้วไซร้ คนสองคนก็ย่อมไม่อาจอยู่ร่วมกันได้

 

ท่านอิมามอะลี(อ)กล่าวว่า หากมนุษย์รู้ในความบกพร่องซึ่งกันและกัน  ก็จะไม่มีผู้ใดทำการฝังศพเพื่อนอีกคนอย่างแน่นอน  แต่พระองค์คือ พระผู้ทรงเมตตาและพระผู้ทรงปกปิดความบกพร่องทั้งหมด  ทำให้มนุษย์เข้าร่วมในพิธีฝังศพและกล่าวดุอาอ์ในเวลานมาซมัยยิตว่า

 

اللَّهُمَّ إِنَّا لَا نَعْلَمُ مِنْهُ إِلَّا خَيْراً وَ أَنْتَ أَعْلَمُ بِهِ

 اللَّهُمَّ إِنْ كَانَ مُحْسِناً فَزِدْ فِي إِحْسَانِهِ وَ تَقَبَّلْ مِنْهُ

 وَ إِنْ كَانَ مُسِيئاً فَاغْفِرْ لَهُ ذَنْبَهُ وَ ارْحَمْهُ وَ تَجَاوَزْ عَنْهُ

 بِرَحْمَتِك

 

ความว่า   “โอ้ อัลลอฮ์ แท้จริงเราไม่รับรู้สิ่งใดจากเขาเลยนอกเสียจากความดีงาม ในขณะที่พระองค์ทรงรอบรู้เกี่ยวกับเขามากกว่าพวกเรา”

โอ้ อัลลอฮ์ หากเขาเป็นผู้ประพฤติดี ดังนั้นโปรดเพิ่มพูนในความดีงามของเขา  

และหากเขาเป็นผู้ประพฤติชั่ว ดังนั้นโปรดอย่างถือโทษเขา และได้โปรดอภัยโทษให้เขาด้วยเถิด ด้วยความเมตตาของพระองค์


ประโยคสุดท้าย


یا أسْمَعِ السّامعین

 

 โอ้ อัลลอฮ์  พระผู้ทรงได้ยินยิ่งกว่าผู้ได้ยินทั้งหลาย   พระองค์ทรงได้ยินทุกสิ่ง  หากเรามีการกระซิบ พระองค์ก็จะทรงได้ยิน


ท่านนบีมูซา(อ)กล่าว โอ้พระองค์ ข้าฯจะกระซิบกับพระองค์ในยามอยู่ใกล้พระองค์ และหากข้าฯอยู่ไกลกับพระองค์ข้าฯจะพูดด้วยเสียงดังกับพระองค์  พระองค์ทรงตรัสแก่นบีมูซา(อ)  “ฉันจะอยู่กับบุคลที่รำลึกฉันอยู่ตลอดเวลา”  ( หนังสือ อัล-กาฟี  เล่ม 2  หน้า 496 )

 

พระองค์เป็นผู้ทรงได้ยินยิ่งกว่าผู้ได้ยินทั้งหลาย โปรดตอบรับการวิงวอนขอข้าฯด้วยเถิด....

 

บทความโดย เชคอิบรอฮิม อาแว