เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

อรรถาธิบายดุอาอ์ ประจำวันที่ 27 เดือนรอมฎอน

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

อรรถาธิบายดุอาอ์ ประจำวันที่ 27 เดือนรอมฎอน

 

بسم الله الر حمن الر حيم

اللهمّ ارْزُقْني فیهِ فَضْلَ لَیْلَةِ القَدْرِ

وصَیّرْ أموري فیهِ من العُسْرِ الی الیُسْرِ

واقْبَلْ مَعاذیري

وحُطّ عنّي الذّنب والوِزْرِ

یا رؤوفاً بِعبادِهِ الصّالِحین

 

ความหมาย

 

โอ้ อัลลอฮ์ โปรดประทานความประเสริฐของค่ำคืนแห่งลัยละตุลก็อดร์(อานุภาพ) แก่ข้าฯ   โปรดเปลี่ยนแปลงภารกิจที่ยุ่งยากให้ความเป็นความง่ายดาย  โปรดยอมรับคำขออภัยจากข้าฯ  โปรดลบล้างบาปและความหนักอึ้งของข้าฯ  โอ้ พระผู้ทรงเมตตาแก่ปวงบ่าวที่เป็นกัลยาณชนทั้งหลาย

 

คำอธิบาย

 

اللهم ارزقني فیه فضل لیلة القدر

 

โอ้ อัลลอฮ์ โปรดประทานความประเสริฐของค่ำคืนแห่งลัยละตุลก็อดร์(อานุภาพ) แก่ข้าฯ   

 

นักวิชาการบางท่านเชื่อว่า คืนลัยละตุลก็อดร์ คือ คืนที่ยี่สิบเจ็ดของเดือนรอมฎอน  ซึ่งในประเด็นนี้มีทัศนะที่แตกต่างกัน


ในสายธารมัศฮับชีอะฮ์ อิมามียะฮ์ เชื่อว่าคืนลัยละตุลก็อดร์ เป็นหนึ่งในสามคืน คือ คืนที่ 19   คืนที่ 21   และคืนที่ 23    ซึ่งคืนที่ 23   นั้นมีความสำคัญมากกว่าทั้งสองคืน เพราะเป็นไปได้ว่าคืนที่ 23   เป็นคืนลัยละตุลก็อดร์  ด้วยเหตุนี้ในคืนที่ 19  และ คืนที่ 21    ให้อาบน้ำฆุซุลมุสตะฮับครั้งเดียว แต่ในคืนที่ 23   ให้อาบน้ำฆุซุลสองครั้ง ช่วงก่อนมัฆริบและก่อนเวลาซุบฮ์  และให้อ่านซูเราะห์ อัรรูม อัลอังกะบูตและ อัด ดุคอน  ขณะที่ในคืนอื่นๆนั้นไม่มีอะมั้ลในลักษณะเช่นนี้

 

ส่วนอะฮ์ลิซซุนนะห์เชื่อว่า คืนที่ 27   เป็นคืนลัยละตุลก็อดร์

 

โอ้ อัลลอฮ์ โปรดประทานความประเสริฐของค่ำคืนแห่งลัยละตุลก็อดร์(อานุภาพ) แก่ข้าฯ  ด้วยเถิด เพราะเป็นคืนที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง

 

تَنَزَّلُ الْمَلائِکةُ وَ الرُّوحُ فیها
بِإِذْنِ رَبِّهِمْ مِنْ کلِّ أَمْرٍ

 

เป็นคืนที่บรรดามะลาอิกะฮ์และอัรรูฮ์จะลงมาในคืนนี้ โดยอนุมัติแห่งพระผู้อภิบาลของพวกเขาเนื่องจากทุกกิจการเพื่อจะกำหนดชะตากรรมของเรา


ความหมายของ “ก็อดร์”

 

คำว่า"ก็อดร์" ตามพจนานุกรม หมายถึง ขนาด และการวัด

 

คำว่า "ตักดีร” หมายถึง การวัดหรือการกำหนด

 

แต่คำว่า ก็อดร์ ตามความหมายของนักปราชญ์ หมายถึง ความพิเศษ และการมีอยู่ของทุกสิ่ง และ วิธีการสร้างที่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ขนาดและขอบเขตจำกัด การมีอยู่ของทุกสิ่งซึ่งเรียกว่า ก็อดร์


ด้วยเหตุนี้ ตามมุมมองของนักศาสนศาสตร์แล้ว ในระบบการสร้างทุกอย่างมีขนาดอันเฉพาะเจาะจงพิเศษของตน ไม่มีสิ่งใดที่ถูกสร้างขึ้นโดยปราศจากการคำนวณนับ โลกมีการคำนวณนับ ซึ่งได้ถูกวางไปตามกฎระเบียบทางคณิตศาสตร์ ส่วนในปัจจุบันและอนาคตก็มีการเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน


ชะฮีดมุเฏาะฮ์ฮารี ได้ตีความของคำว่า ก็อดร์ ว่า หมายถึง  การกำหนดขนาดและการวัด เหตุการณ์ของโลก ด้านหนึ่งนั้นจะเห็นว่า มีความจำกัด และมีขนาดทั้งสถานภาพของสถานที่และเวลาได้รับการกำหนดไว้แล้ว ซึ่งการกำหนดนั้นขึ้นอยู่กับพระเจ้าเพียงผู้เดียว

 

ดังนั้น สรุปได้ว่าคำว่า ก็อดร์ นั้นหมายถึง ความพิเศษทางธรรมชาติ และคุณสมบัติทางกายภาพของสรรพสิ่งทั้งหลาย รวมทั้งรูปร่าง ขนาด ความยาว ความกว้าง และตำแหน่งของเวลาและสถานที่ของพวกเขา ซึ่งครอบคลุมเหนือทุกสรรพสิ่งที่เป็นวัตถุและธรรมชาติ


ความหมายดังกล่าวนี้สามารถใช้ประโยชน์จากรายงาน เช่น

 

รายงานหนึ่งจากท่านอิมามริฎอ (อ.) ซึ่งได้มีผู้ถามท่านว่า ก็อดร์ นั้นหมายถึงอะไร ?


อิมาม (อ.) กล่าวว่า หมายถึงการวัดขนาดของทุกสิ่งรวมทั้งความยาวและความกว้าง

 

และในอีกรายงานหนึ่ง ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า ก็อดร์ นั้นหมายถึง ขนาดของแต่ละสิ่ง เช่น ความยาว ความกว้าง และการดำรงอยู่ของสิ่งนั้น

 

ดังนั้น ความหมาย การกำหนดของพระเจ้าหมายถึง ในโลกวัตถุสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น


ในแง่ของการมีอยู่ ผลสะท้อนคุณลักษณะพิเศษของสิ่งเหล่านั้นมีความจำกัดอันเฉพาะ และการจำกัดนี้มีปฏิสัมพันธ์กับภารกิจอันเฉพาะ การกิจซึ่งมีปัจจัยต่างๆและมีเงื่อนไข และเนื่องจากสาเหตุและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน จึงทำให้ผลและความพิเศษต่างๆ ของสิ่งที่มีอยู่ที่เป็นวัตถุมีความแตกต่างกัน ทุกสรรพสิ่งที่มีอยู่จะถูกวัดขนาดตามกรอบทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งรูปแบบนี้มีขนาด หมายถึงมีความยาว กว้าง รูปทรง สีสัน, สถานที่, เวลา และองค์ประกอบอื่น ๆ ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะพิเศษของวัตถุ ดังนั้น ความหมายของคำว่า การกำหนดของพระเจ้าในวัตถุปัจจัย ได้แก่ การชี้นำสรรพสิ่งเหล่านั้นไปสู่แนวทางตามรูปแบบที่มีอยู่ของสิ่งเหล่านั้น ซึ่งได้รับการกำหนดไว้แล้วสำหรับพวกเขาตามรูปแบบของพวกเขา


แต่การตีความด้านปรัชญาคำว่า ก็อดร์ หมายถึงปัจจัยคือหลัก (หลักของปัจจัยก็คือการสัมพันธ์จำเป็น และความแน่นอนของเหตุการณ์กับอีกสิ่งอื่น ซึ่งทุกเหตุการณ์ที่จำเป็น สำคัญ และแน่นอนของตนมีขนาดและความพิเศษในการมีอยู่ ได้มาจากภารกิจที่อยู่ก่อนหน้าตน

 

หลักของเหตุทั่วไป ระบบของสาเหตุและตัวก่อให้เกิดเหตุการณ์ในโลก และเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น หรือเหตุการณ์ในโลกล้วนอยู่ภายใต้บัญชา และทุกเหตุการณ์ ย่อมมีความจำเป็น ความแน่นอนของตน มีรูปทรง มีความพิเศษ เวลา สถานที่ และคุณสมบัติอื่น ๆ ซึ่งการมีอยู่ของสิ่งนั้น มาจากสาเหตุก่อนหน้าตน มีการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ระหว่างสรรพสิ่งที่มี และสาเหตุก่อนหน้ามัน


แต่สาเหตุการมีอยู่ของสรรพสิ่งที่เป็นวัตถุผสม ประกอบด้วยสาเหตุ วัตถุ เงื่อนไข และการปราศจากอุปสรรคกีดขวาง ซึ่งทั้งหมดล้วนมีผลอันเฉพาะในการเกิด และผลรวมของทั้งหมดจะให้รูปแบบอันเฉพาะ ฉะนั้น ถ้านำเอาสาเหตุทั้งหมด เงื่อนไข และการไม่มีอุปสรรคกีดขวางมารวมกัน จะทำให้เกิดสาเหตุสมบูรณ์ และถือว่าผลของมันเป็นความจำเป็นที่ต้องมีอยู่ ซึ่งสิ่งนั้นในภาษาศาสนาเรียกว่า การกำหนดของพระเจ้า แต่ทุกสรรพสิ่งที่มีอยู่ล้วนมีสาเหตุและเงื่อนไขและมีรูปแบบอันเฉพาะ ซึ่งองค์ประกอบและลักษณะพิเศษต่างๆ เหล่านั้นได้สร้างการมีอยู่ของตน ในภาษาศาสนาเรียกสิ่งนั้นว่า การกำหนดสภาวะของพระเจ้า


ดังนั้น เมื่อความหมายของคำว่า ก็อดร์ เป็นที่ประจักษ์แล้ว ความเป็นไปได้ที่จะเข้าใจแก่นแท้ของ ลัยละตุลก็อดร์ ก็มีมากขึ้น ลัยละตุลก็อดร์ (คืนแห่งอานุภาพ) หมายถึง คืนซึ่งชะตากรรมของทุกสิ่งจะถูกกำหนดขึ้นในรูปแบบที่ถูกกำหนดเฉพาะ โดยมีขนาดอันเฉพาะสำหรับทุกปรากฏการณ์ที่ชัดเจนซึ่งถูกกำหนดขนาดไว้แล้ว


ในความหมายที่ชัดเจนกว่าก็คือ ลัยละตุลก็อดร์ เป็นหนึ่งในสิบคืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ตามรายงานของเรากล่าวว่า อาจเป็นคืนใดคืนหนึ่งจากค่ำที่ 19 หรือ 21 และรายงานที่แข็งแรงที่สุดกล่าวว่า อาจเป็นคำที่ 23 ของเดือนรอมฎอน


ในค่ำคืนนี้ ถือว่าเป็นคืนแห่งการประทานอัลกุรอาน  เป็นค่ำคืนที่กำหนดความดี ความชั่ว ประชาชน วิลายะฮ์ ปัจจัยยังชีพ การฮัจญ์ การภักดี และบาป สรุปก็คือค่ำคืนนี้ทุกปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปีได้ถูกกำหนดขึ้นแล้ว


 
ลัยละตุลก็อดร์ ยังมีอยู่เสมอและจะมีซ้ำทุกปี การแสดงความเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) ในค่ำคืนนี้ จะมีผลบุญและความประเสริฐอย่างยิ่ง ซึ่งในการกำหนดความดีและคุณธรรมให้แก่โชคชะตานั้นมีผลและมีประสิทธิภาพสูง

 

ในคืนนี้กิจกรรมทั้งหมดในปีถัดไปจะถูกนำเสนอแก่อิมามแห่งยุคสมัย ซึ่งอิมามจะแจ้งโชคชะตาของตนและของคนอื่นให้ทราบ


ท่านอิมาม บากิร (อ.) กล่าวว่า :

 

"ในคำคืนแห่งอานุภาพ (ก็อดร์) ภารกิจและเหตุการณ์ต่างๆ จะถูกประทานให้ท่านอิมาม ซึ่งท่านอิมามจะแจ้งรายละเอียดงานและกิจกรรมเกี่ยวกับตัวท่านและบุคคลอื่นให้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อไป

 

ฉะนั้น ลัยละตุลก็อดร์ (คืนแห่งอานุภาพ) จึงเป็นคืนที่ :

 

1- อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาในคืนนี้
2- เหตุการณ์ต่างๆ ของปีหน้าได้ถูกกำหนดในค่ำคืนนี้
3- เหตุการณ์ต่างๆ ได้ถูกนำเสนอต่ออิมามแห่งยุคสมัย (อิมามมะฮ์ดี) แล้วอิมามมีหน้าที่พิจารณาภารกิจเหล่านั้น


ด้วยเหตุนี้ สามารถกล่าวได้ว่า ลัยละตุลก็อดร์ (คืนแห่งอานุภาพ) คืนแห่งการกำหนด คืนแห่งการวัดขนาด และคืนแห่งการระบุเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในโลกแห่งวัตถุ
ประเด็นดังกล่าวนี้ตรงกับโองการอัล-กุรอานไว้ในโองการที่ 185 บท อัลบะเกาะเราะฮ์ ซึ่งกล่าวว่า:

 

شَهْرُ رَمَضانَ الَّذِی أُنْزِلَ فِیهِ الْقُرْآنُ

 

"เดือนรอมฎอนคือ เดือนซึ่งอัลกุรอานถูกประทานลงมา” ตามความหมายของโองการดังกล่าว จะเห็นว่าการประทานอัลกุรอานแบบคราวเดียว (นุซูลดัฟอี) ได้ถูกประทานลงมาในเดือนรอมฎอนนี้เอง ส่วนในโองการที่ 3-5 บท อัดดุคอนกล่าว:

 

إِنَّا أَنْزَلْناهُ فِی لَیْلَةٍ مُبارَكَةٍ إِنَّا كُنَّا مُنْذِرِینَ فِیها یُفْرَقُ كُلُّ أَمْرٍ

 حَكِیمٍ أَمْراً مِنْ عِنْدِنا إِنَّا كُنَّا مُرْسِلِینَ

 

“แท้จริง เราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอันจำเริญ แท้จริง เราเป็นผู้ตักเตือน ในคืนนั้นทุก ๆ กิจการที่สำคัญถูกจำแนกไว้แล้ว โดยการบัญชามาจากเรา แท้จริง เราเป็นผู้ส่งมา”
ดังนั้น ถ้ารวมอัล-กุรอานทั้ง 3 โองการข้างต้นจะทำให้ประจักษ์ชัดว่า

 

1- อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาในเดือนรอมฎอนอันจำเริญ

2- อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาค่ำคืนอันมีจำเริญยิ่งแห่งเดือนรอมฎอน

3- ค่ำคืนนี้อัลกุรอาน เรียกว่า ลัยละตุลก็อดร์ (คืนแห่งอานุภาพ)

4- คุณลักษณะพิเศษของค่ำคืนนี้ โดยการอธิบายของอัลกุรอาน บทอัดดุคอน ประกอบด้วย 2 สิ่ง กล่าวคือ

4.1- คือแห่งการประทานอัลกุรอาน

4.2- ทุกกิจการที่สำคัญ ได้ถูกจำแนกไว้แล้วในค่ำคืนนี้


แต่อัลกุรอาน บทอัลก็อดร์ ซึ่งถือว่าเป็นบทที่มาอธิบายรายละเอียดของโองการในบทอัดดุคอน ได้กล่าวถึงคุณลักษณะพิเศษของ ลัยละตุลก็อดร์ (คืนแห่งอานุภาพ) ไว้ 6 ประการด้วยกัน กล่าวคือ:

 

1.ลัยละตุลก็อดร์ (คืนแห่งอานุภาพ) คือ คืนแห่งถูกการประทานอัลกุรอาน
(แท้จริงเราได้ประทาน (อัลกุรอาน) ลงมาในราตรีแห่งอัลก็อดร์)

2- ลัยละตุลก็อดร์ (คืนแห่งอานุภาพ) เป็นคืนที่ไม่ถูกรู้จัก ซึ่งการไม่ถูกรู้จักนั้น เนื่องจากความยิ่งใหญ่ของคืนนั้น (เจ้ารู้ไหมว่าราตรีอัลก็อดร์นั้นคืออะไร)

3.- ลัยละตุลก็อดร์ (คืนแห่งอานุภาพ) นั้นมีความวิเศษและความประเสริฐยิ่งกว่า 1000 เดือน (ราตรีแห่งอัลก็อดร์นั้นประเสริฐยิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน)

4- ในค่ำคืนอันจำเริญยิ่งนี้ หมู่มวลมลาอิกะฮ์และรูฮ์ จะได้รับการอนุญาตจากพระเจ้าให้ลงมายังพื้นโลก (บรรดามลาอิกะฮ์และอัรรูฮ์ จะทยอยลงมาในราตรีนั้นด้วยการอนุมัติแห่งพระผู้อภิบาลของพวกเขา) ซึ่งมีรายงานกล่าวว่าบรรดามลาอิกะฮ์และรูฮ์จะลงมาที่หัวใจของอิมามแห่งยุคสมัย

5- การลงมาของมลาอิกะฮ์และรูฮ์ นั้นเพื่อทุกกิจการงาน ดังที่อัลกุรอาน บทอัดดุคอนก็กล่าวอธิบายไว้ว่า (เพื่อกิจการทุกสิ่ง) การประทานดังกล่าวนี้   เท่ากับความเมตตาอันเฉพาะเจาะจงจากพระผู้อภิบาล ซึ่งทรงประทานในบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย และความเมตตานั้นได้ถูกประทานอย่างต่อเนืองจนถึงรุ่งเช้า (ราตรีนั้นมีความศานติ (ความจำเริญและความเมตตา) จนกระทั่งรุ่งอรุณ)

6- และลัยละตุลก็อดร์ (คืนแห่งอานุภาพ) คืนแห่งการกำหนดสภาวะและขนาด เพราะในบทนี้   มีเพียง 5 โองการเท่านั้น แต่ได้กล่าว ลัยละตุลก็อดร์ (คืนแห่งอานุภาพ) ซ้ำถึง 3 ครั้งด้วยกัน ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญอันเฉพาะพิเศษของอัล-กุรอาน เกี่ยวกับการกำหนดขนาดและสภาวะ ซึ่งจะไม่มีในคืนใดอีก นอกจาก ลัยละตุลก็อดร์ (คืนแห่งอานุภาพ) เท่านั้น


มัรฮูม กุลัยนี บันทึกไว้ในหนังสืออุซูลกาฟีของท่านโดยรายงานมาจาก ท่านอิมามบากิร (อ.) ซึ่งท่านได้อธิบายความหมายของโองการที่กล่าวว่า

 

“แท้จริง เราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอันจำเริญ” ว่า:


 ลัยละตุลก็อดร์ (คืนแห่งอานุภาพ) จะเกิดขึ้นในทุกปีของเดือนรอมฎอนในช่วงสิบคืนสุดท้าย เป็นคืนที่อัลกุรอานไม่ได้ถูกประทานลงมาในคืนอื่นใน นอกเสียจากคืนนี้ คืนที่อัลลอฮฺ (ซ.บ) ทรงกล่าวถึงว่า : “ในคืนนั้นทุก ๆ กิจการที่สำคัญถูกจำแนกไว้แล้ว” หลังจากนั้นท่านอิมามได้กล่าวว่า : ลัยละตุลก็อดร์ (คืนแห่งอานุภาพ) เป็นคืนที่ทุกเหตุการณ์ที่จะต้องเกิดในปีนั้นได้ถูกกำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งความชั่วร้ายและความดีงาม การภักดีและการฝ่าฝืน บุตรที่ได้รับการกำหนดว่าจะต้องได้กำเนิด หรือความตายที่ได้รับการกำหนดว่าจะต้องจำพราก หรือปัจจัยยังชีพที่ได้รับการกำหนดว่าจะต้องได้รับ

 

บทความโดย เชคอิบรอฮีม อาแว

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม