อรรถาธิบายดุอาอ์ ประจำวันที่ 28 เดือนรอมฎอน

อรรถาธิบายดุอาอ์ ประจำวันที่ 28 เดือนรอมฎอน

 

 

بسم الله الرحمن الرحيم

اَللّهُمَّ وَفِّرْ حَظّي فيهِ مِنَ النَّوافِلِ

وَاَكْرِمْنِي فِيهِ بِإِحْضارِ الْمَسائِلِ

وَقَرِّبْ فيهِ وَسِيلَتِي اِلَيْكَ مِنْ بَيْنِ الْوَسائِلِ

يا مَنْ لا يَشْغَلُهُ اِلْحاحُ الْمُلِحّينَ


ความว่า


โอ้ อัลลอฮ์ โปรดเพิ่มพูนความดีงามแก่ข้าฯด้วยการกระทำสิ่งที่เป็นมุสตะฮับ  โปรดให้เกียรติแก่ข้าฯ  ด้วยการตอบรับคำวิงวอน และบรรดาสื่อทั้งหลาย โปรดทำให้ข้าฯ ใกล้ชิดพระองค์ด้วยตัวของข้าฯเอง โอ้ พระผู้ซึ่งไม่ถูกครอบงำด้วยความปรารถนาทั้งปวง

 

คำอธิบาย


اللهمّ وفّر حظّي فیهِ من النّوافِلِ

 

โอ้ อัลลอฮ์ โปรดเพิ่มพูนความดีงามแก่ข้าฯด้วยการกระทำสิ่งที่เป็นมุสตะฮับ  


 
เป้ายหมายของการอ่านดุอาอ์เพื่อให้ไปถึงความสมบูรณ์  ในขณะที่มนุษญ์ส่วนใหญ่คิดว่าการอ่านดุอาอ์นั้นเพื่อให้ได้มรรคผลและผลบุญจากพระองค์  เนื้อหาในแต่ละบทดุอาอ์เต็มไปด้วยเนื้อหาด้านอัคลาคและฮิกมัตวิทยปัญญา  การสนใจและพินิจพิจารณาในความหมายต่างๆเหล่านี้จะทำให้มีการพัฒนาจิตวิญญาณมากขึ้น  หากเราไม่เข้าใจภาษาอาหรับก็อ่านพร้อมกับดูคำแปลเพื่อเราจะได้รับบารอกัตและสาระศึกษาจากบทดุอาอ์และพัฒนาตัวเองให้ไปถึงความสมบูรณ์

 

ความสำคัญของการนมาซมุสตะฮับ


 
ในการนมาซวาญิบประจำวัน จะมีนมาซมุสตะฮับควบคู่อยู่เสมอ  ซึ่งด้วยการปฏิบัติอะมั้ลมุสตะฮับนั้นมนุษย์จะสามารถแสวงหาความใกล้ชิดกับพระองค์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากนมาซมุสตะฮับจะเติมเต็มความสมบูรณ์ของนมาซวาญิบที่ขาดตกบกพร่องไป เนื่องจากขาดสมาธิในการนมาซ

 

นมาซมุสตะฮับ(นาฟิละฮ์) ประจำวัน

 

นมาซวาญิบประจำวันมีทั้งหมด ๑๗ เราะกะอัต (ยกเว้นวันศุกร์ และช่วงเดินทางไกล) และนมาซมุสตะฮับประจำวัน (นะวาฟิล) มี ๒๓ เราะกะอัต นอกจากนี้ยังมีนมาซศอลาตุลลัยนฺอีก ๑๑ เราะกะอัต ซึ่งรวมทั้งสิ้น ๓๔ เราะกะอัต (สองเท่าของนมาซวาญิบ)


จำนวนเราะกะอัตและเวลาของนะมาซมุซตะฮับประจำวัน มีดังนี้


๑. นาฟิละฮ์ซุบฮ์ มี ๒ เราะกะอัต อิฮ์ติยาฎ ให้ะมาซก่อนนมาซซุบฮ์


๒.นมาซนาฟิละฮ์ซุฮร์ มี ๘ เราะกะอัต (ทำที่ละ ๒ เราะกะอัต) ให้ทำก่อนนมาซซุฮ์ริ ช่วงเวลาเริ่มตั้งแต่ซุฮริจนกระทั่งเงาไม้ทอดออกเป็น ๒/๓ ส่วน


๓. นมาซนาฟิละฮ์อัศริ มี ๘ เราะกะอัต (ทำที่ละ ๒ เราะกะอัต) ให้ทำก่อนนะมาซอัศริ ช่วงเวลาเริ่มตั้งแต่อัซริจนกระทั่งเงาไม้ทอดออกเป็น ๗/๔ ส่วน


๔.นมาซนาฟิละฮ์มัฆริบ มี ๔ เระกะอัต (ทำที่ละ ๒ เราะกะอัต) ให้ทำหลังจากนมาซมัฆริบ เริ่มหลังจากนมาซมัฆริบจนกระทั่งแสงสีแดงด้านทิศตะวันตก ซึ่งได้เกิดขึ้นหลังจากพระอาทิตย์ตกดินเลือนหายไป


๕.นมาซนาฟิละฮ์อิชาอ์ มี ๒ เราะกะอัต ให้ทำหลังนมาซอิชาอ์จนกระทั่งถึงเที่ยงคืน และอิฮฺติยาฏวาญิบให้นั่งทำ

 

นมาซศอลาตุลลัยน์

 

นมาซศอลาตุลลัยน์ มี ๑๑ เราะกะอัต ให้ทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

 

๑.ให้นมาซ ๘ เราะกะอัตแรกก่อน (ทำที่ละ ๒ เราะกะอัต) เนียตนมาซศอลาตุลลัยน์
๒.ให้นมาซอีก ๒ เราะกะอัต เนียตนมาซ ศอลาตุชชะฟะอ์


๓.ให้นมาซอีก ๑ เราะกะอัต เนียตนมาซ ศอลาตุลวิตร์

 

เวลาของศอลาตุลลัยน์


๑.ช่วงเวลาของศอลาตุลลัยน์ เริ่มจากเที่ยงคืนไปจนถึงอะซานซุบฮฺ และช่วงเวลาที่ดีที่สุดให้ทำก่อนอะซานซุบฮ์ประมาณ ๑ ชั่งโมง


๒. สำหรับบุคคลที่อยู่ระหว่างเดินทาง หรือบุคคลที่มีความลำบากที่จะนมาซหลังจากเที่ยงคืนไปแล้ว อนุญาตให้นมาซตอนหัวค่ำได้

 

ในการกระทำความดีและอะมั้ลศอและห์จะต้องได้รับเตาฟิกจากพระองค์ในการปฏิบัติ  ดังนั้นด้วยเหตุนี้เพื่อให้เราสามารถกระทำอะมั้ลที่เป็นมุสตะฮับ(นมาซมุสตะฮับ) และสามารถใช้ประโยชน์และบารอกัตจากพลังจิตวิญญาณอันนี้ จึงวิงวอนขอจากพระองค์ให้เราได้รับเตาฟิกในการปฏิบัติอะมั้ลต่างๆเหล่านี้

 

ประโยคถัดมา

 

واکرمني فیه باحضار المسائل

 

โปรดให้เกียรติแก่ข้าฯ  ด้วยการตอบรับคำวิงวอน

 

“จงเตรียมพร้อมสำหรับความตาย”

 

ในบทดุอาอ์ อะบูฮัมซะห์ษุมาลีย์ กล่าวว่า “โอ้พระองค์  หากข้าฯได้เสียชีวิตในสภาพเช่นนี้ สภาพที่เป็นอยู่ ข้าฯจะทำเช่นไร ?  ในวันนี้เราคิดว่า โอ้พระองค์ หากเราเสียชีวิตและกลับคืนสู่พระองค์ด้วยมือเปล่าเราจะทำอย่างไร ?  โอ้พระองค์ โปรดอย่าเอาชีวิตของเราไปเว้นเสียแต่เราอยู่ในสภาพพร้อมด้วยเถิด

 

ความหมายของคำว่า

 

احضار المسائل

 

พวกเราทุกคนในวันนี้ที่กำลังมีลมหายใจอยู่ อาจจะถึงอะญัลในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าก็เป็นได้  เราจำต้องเตรียมสเบียงและสัมภาระให้ครบถ้วนและสมบูรณ์ เพื่อเดินทางไปสู่ปรภพอันจีรัง และทุกคนตระหนักและรู้ว่าทุกการงานและภาระหน้าที่ของเราที่ได้รับมานั้นจะถูกสอบสวนจากพระองค์อย่างแน่นอน  อัลลอฮ์(ซ.บ) ตรัสว่า

 

وَإِن تُبْدُوا مَا فِي أَنفُسِكُمْ أَوْ تُخْفُوهُ يُحَاسِبْكُم بِهِ اللَّهُ

 

ความว่า และถ้าหากพวกเจ้าเปิดเผยสิ่งที่อยู่ในใจของพวกเจ้าหรือปกปิดมันไว้ก็ตาม อัลลอฮ์จะทรงนำสิ่งนั้นมาชำระสอบสวนแก่พวกเจ้า

 

และมนุษย์ทุกคนย่อมจะเห็นผลงานของตนในวันกิยามะฮ์ ดั่งอัลกุรอานกล่าวว่า

 

فَمَن یَعْمَلْ مِثْقَالَ ذَرَّةٍ خَیْرًا یَرَهُ ، وَمَن یَعْمَلْ مِثْقَالَ ذَرَّةٍ شَرًّا یَرَهُ
 

ความว่า ดังนั้นผู้ใดกระทำความดีหนักเท่าละอองธุลี เขาก็จะเห็นมัน ส่วนผู้ใดกระทำความชั่วหนักเท่าละอองธุลีเขาก็จะเห็นมัน


 
เมื่อพิจารณาถึงโองการและการอธิบายข้างต้นแล้ว   ดังนั้น ความหมายของคำว่า


احضار المسائل

 

คือ การเตรียมความพร้อมสำหรับความตายในการตอบคำถามของพระองค์  เนื่องจากภารกิจที่เราได้รับมอบหมายนั้นเป็นภารกิจที่หนักอึ้ง ซึ่งมนุษย์ทุกคนจะต้องพบกับการถูกสอบสวน  ดังนั้น ในวันนี้เราจึงวิงวอนขอจากพระองค์ให้เรามีความพร้อมในการตอบคำถามต่างๆในวันถูกสอบสวนด้วยเถิด

 

ประโยคถัดมา

 

و قرب فیه وسیلتي الیك من بین الوسائل

 

และด้วยบรรดาสื่อทั้งหลายโปรดทำให้ข้าฯ ใกล้ชิดพระองค์ด้วยตัวของข้าฯเอง

 

ความหมายของคำว่า

 

وسیلتي
 

สื่อ
 

ในวันกิยามัต อวัยวะของมนุษย์ทุกส่วนจะถูกสอบสวน ว่าได้ใช้ไปในทางแห่งการเคารพภักดีเชื่อฟังพระองค์หรือใช้ไปในทางอื่น  ซึ่งความหมายของคำว่า วะซีละตี ในที่นี้ หมายถึง อวัยวะของมนุษย์  ซึ่งเราขอจากพระองค์ให้อวัยวะต่างๆของเรานี้ ใกล้ชิดยังพระองค์ หมายความว่า อวัยวะทุกส่วนของร่างกายนั้นปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์  อันนำมาซึ่งความผาสุกอันนิรันดร์  แต่หากมีการฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ก็จะต้องพบความอัปยศและบทลงโทษที่แสนเจ็บปวดตลอดกาล  ดังนั้นในวันนี้เราจึงวิงวอนจากพระองค์ให้อวัยวะของเราสามารถปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์และห่างไกลจากกลลวงของชัยฏอน

 

ประโยคสุดท้าย

 

 یا من لایشغله الحاح الملحین
 

 

โอ้ พระผู้ซึ่งไม่ถูกครอบงำด้วยความปรารถนาทั้งปวง  หากโลกนี้ทั้งหมดสนทนากับพระองค์ พระองค์ก็จะไม่มีวันละเลยสิ่งอื่นใด  พระองค์จะทรงมองบ่าวของพระองค์ทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน ดังนั้นข้าฯขอให้พระองค์โปรดตอบรับการวิงวอนของข้าฯในวันนี้ด้วยเถิด

 

 

บทความโดย เชคอิบรอฮีม อาแว