บทเรียนจากตัฟซีรเนะฮ์มูเนะฮ์ โองการที่ 106 บทอัตเตาบะฮ์

บทเรียนจากตัฟซีรเนะฮ์มูเนะฮ์ โองการที่ 106 บทอัตเตาบะฮ์

 

โองการนี้ กล่าวถึงอีกกลุ่มชนหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่แสดงความขัดแย้ง ทั้งที่ชะตากรรมของพวกเขานั้นขึ้นอยู่พระเจ้า โดยกล่าวว่า

 

وَآخَرُونَ مُرْجَوْنَ لأَمْرِ اللّهِ إِمَّا يُعَذِّبُهُمْ وَإِمَّا يَتُوبُ عَلَيْهِمْ وَاللّهُ عَلِيمٌ حَكِيمٌ‏

 

คำแปล :

 

106. และมีกลุ่มชนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ยังรอคำบัญชาของอัลลอฮ์  (ภารกิจของเขาขึ้นอยู่กับพระเจ้า) พระองค์อาจจะทรงลงโทษพวกเขาและอาจจะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเขา และอัลลอฮ์ เป็นผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ

 

สาเหตุแห่งการประทานลงมา :

 

เรื่องราวของการประทานโองการนี้ลงมา ได้มีการกล่าวไว้ถึง 2  ลักษณะด้วยกัน บนพื้นฐานของรายงานบางบทกล่าวว่า โองการข้างต้นประทานให้กับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาที่ก่อสงครามกับบรรดามุสลิม และได้ทำชะฮีด (สังหาร) มุสลิม หลังจากนั้นได้หันหลังให้กับการปฏิเสธ โดยเข้ายอมรับอิสลาม[1] ซึ่งตามสาระของโองการข้างต้นชะตาชีวิตของพวกเขาขึ้นอยู่กับพระบัญชาของพระเจ้า

 

นักตัฟซีรบางกลุ่ม กล่าวว่าโองการดังกล่าวถูกประทานให้แก่คน 3 คนได้แก่ หิลาล บิน อุมัยยะฮ์ มุรอเราะฮ์ บิน เราะบีอ์ และกะอ์บ์ บิน มาลิก ที่ฝ่าฝืนไม่ออกทำสงครามตะบูก ซึ่งรายละเอียดของพวกเขาถูกกล่าวไว้ในโองการที่ 118 บทเตาบะฮ์นี้เอง[2]

 

คำอธิบาย :

 

โองการนี้กล่าวถึงกลุ่มชนอีกกลุ่มหนึ่งที่กระทำความผิด ซึ่งบั้นปลายสุดท้ายของการงานของพวกเขาไม่เป็นที่ชัดเจนว่า จะได้รับความเมตตาจากอัลลอฮ์ หรือว่าจะสิ้นหวังในการวิงวอนขออภัยโทษต่อพระองค์ ดังนั้น

1.โองการจึงกล่าวถึงมุสลิมที่กระทำความผิด ซึ่งพวกเขามีความศรัทธาไม่มั่นคง และกระทำความดีงามไว้ไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือพวกเขา ขณะที่พวกเขาก็มิได้ก่อความเสียหายอันใดจนเกินเลย และไม่ได้หันเหออกไปจากสัจธรรมชนิดสุดตัว ซึ่งพวกเขาก็ยังมีความรักและความอาลัยอยู่ ดังนั้น พวกเขาจึงปล่อยชะตาชีวิตไว้กับบัญชาของพระเจ้า

 

คำว่า มัรญูน มาจากรากศัพท์คำว่า อัรญาอ์ หมายถึง ความล่าช้า หรือการหยุดชงัก ตามความหมายเดิม เราะญาอ์ หมายถึง ความหวัง อีกด้านหนึ่งมนุษย์นั้นบางครั้งจะให้ความหวังกับบางสิ่งจึงปล่อยให้ล่าช้าออกไป คำๆ นี้จึงให้ความหมายว่า ล่าช้า ขณะที่ความล่าช้านั้นมักจะมาพร้อมกับความหวัง เพื่อที่จะได้ใช้ความรู้และวิทยปัญญาของตนแก้ไขปัญหานั้นให้ลุล่วงไป

 

2.อีกบางกลุ่มจากโองการข้างต้น (102 บทอัตเตาบะฮ์) กล่าวถึง กลุ่มชนที่ฝ่าฝืนไม่ยอมออกสงครามตะบูก  แต่หลังจากสำนึกตัวแล้วได้ทำการกลับใจ โดยมีความหวังในการอภัย ดังนั้น จะเห็นได้ว่าคน 2 กลุ่มนี้มีความแตกต่างกันในหลายประเด็นด้วยกัน

 

ประการแรก คนกลุ่มแรกได้รีบเร่งวิงวอนขออภัยและกลับใจ พร้อมกับได้แสดงสัญลักษณ์ของการสำนึกผิดของตนออกมา จนกระทั่งได้มัดตัวเองติดไว้กับเสาในมัสญิดศาสดา แต่คนกลุ่มที่สองมิได้กระทำเช่นนั้น

 

ประการที่สอง คนกลุ่มแรกฝ่าฝืนเฉพาะสงครามตะบูกเท่านั้น แต่คนกลุ่มที่สองนี้ ตามรายงานบางบท กล่าวว่า เขาได้กระทำบาปใหญ่กล่าวคือได้สังหารท่านฮัมซะฮ์ ผู้เป็นลุงสุดที่รักของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่ง่ายเลยหากต้องการจะชดเชยในการกระทำของตน

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. พระหัตถ์ของพระเจ้าเปิดกว้างเสมอสำหรับการลงโทษและการอภัยในความผิด เพียงแต่พระองค์ปฏิบัติไปตามวิทยปัญญาและความรอบรู้ของพระองค์

 

2. เกี่ยวกับชะตาชีวิตของผู้เป็นมุสลิม (ที่กระทำความผิด) อย่าได้รีบด่วนตัดสินเขาเป็นอันขาด ทว่าจงปล่อยให้ชะตาชีวิตของพวกเขาอยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้าดีกว่า

 

เชิงอรรถ


[1]ตัฟซีรศอฟี เล่ม 2 หน้า 374

[2] บิฮารุลอันวาร เล่ม 21 หน้า 202 และ 204, มัจญ์มะอุลบะยาน อธิบายโองการดังกล่าว