เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

สถานภาพอันสูงส่งของท่านอิมามซอดิก (อ.) ในมุมมองของบรรดานักวิชาการผู้มีชื่อเสียงของอิสลาม

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

สถานภาพอันสูงส่งของท่านอิมามซอดิก (อ.) ในมุมมองของบรรดานักวิชาการผู้มีชื่อเสียงของอิสลาม

 

    "อิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก (อ.) อิมามท่านที่ 6 แห่งสายธารอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ถือกำเนิดในปี ฮ.ศ. 80 หรือ 83 และเสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 148 ในนครมะดีนะฮ์ บิดาผู้มีเกียรติของท่านคืออิมามมุฮัมมัด บากิร (อ.)"

 

       อิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก (อ.) เป็นผู้ที่มีสถานะอันสูงส่งทางด้านวิชาการและสั่งสอนอยู่ในเมืองมะดีนะฮ์ มารดาของท่านคือ “อุมมุ ฟัรวะฮ์” บุตรสาวของกอซิม บินมุฮัมมัด บินอบีบักร ในเนื้อหาสั้นๆ นี้เราจะมาพิจารณาถึงสถานภาพอันสูงส่งของท่านอิมามซอดิก (อ.) ในมุมมองของบรรดานักวิชาการผู้มีชื่อเสียงของอิสลาม (1) และต่อจากนั้น เราจะชี้ถึงคำพูดหนึ่งของท่านอิมามในประเด็นเกี่ยวกับหน้าที่ของเราในฐานะที่เป็นชีอะฮ์ญะอ์ฟะรียะฮ์ อิมามของอิมามทั้งหลาย

 

       เซด บินอะลี ผู้นำของมัซฮับซัยดียะฮ์ กล่าวว่า :

 

فی کل زمان رجلٌ منا أهل البیت یحتجُ اللّه به علی خلقه و حجة زماننا ابنُ أخی جعفر لا یضلُّ من تبعه و لا یهتدی من خالفه

 

“ในทุกยุคสมัยจะมีผู้หนึ่งจากอะฮ์ลุลบัยติ์ของเราเป็นฮุจญะฮ์ (ข้อพิสูจน์) ของพระผู้เป็นเจ้าเหนือมวลมนุษย์ และฮุจญะฮ์ (ข้อพิสูจน์) ในยุคสมัยของเราคือ ญะอ์ฟัร บุตรชายของพี่ชายของฉัน ใครก็ตามที่ปฏิบัติตามเขา เขาจะไม่หลงทาง และใครก็ตามที่ขัดแย้งกับเขา เขาจะได้รับการชี้นำ”

 

       อบูฮะนีฟะฮ์ ผู้นำของมัซฮับฮะนะฟี กล่าวว่า :

 

ما رأيت أحداً أفقه من جعفر بن محمّد

 

“ฉันไม่เห็นใครที่จะมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (ในศาสนา) มากไปกว่ามุฮัมมัด บินญะอ์ฟัร”

 

       หลังจากนั้นอบูฮะนีฟะฮ์ได้ชี้ถึงคำถามต่างๆ ที่เขาได้ถามท่านอิมามซอดิก (อ.) ในที่ประชุมของมันซูร พร้อมกับกล่าวว่า

 

        “ท่านจะตอบคำถามในลักษณะเช่นนี้ว่า พวกท่านจะตอบประเด็นนี้แบบนี้ ส่วนชาวมะดีนะฮ์จะบอกแบบนี้ ส่วนเราจะกล่าวเช่นนี้ บางครั้งท่านจะพูดสอดคล้องกับชาวมะดีนะฮ์ และบางครั้งท่านจะขัดแย้งกับพวกเรา (นักวิชาการชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์) ทั้งหมด”     

 

       ต่อจากนั้นอบูฮะนีฟะฮ์ได้กล่าวว่า :

 

اَلیس قد روینا أَنَّ أَعْلَمَ النَّاسِ أَعْلَمُهُمْ بِاخْتِلَافِ النَّاس

 

“เราไม่ได้รายงานไว้หรือว่า มนุษย์ที่มีความรอบรู้มากที่สุด คือผู้ที่มีความรู้มากที่สุดในหมู่พวกเขาเกี่ยวกับทัศนะความเห็นที่แตกต่างกันในหมู่ประชาชน”    

 

        เช่นเดียวกันนี้ ยังมีรายงานจากอบูฮะนีฟะฮ์ซึ่งเขากล่าวว่า :

 

لولا السَّنَتان لهلك النعمان

 

“หากไม่มีสองปี (ที่ได้เรียนรู้วิชาการศาสนาจากอิมามซอดิก) แล้ว (ฉัน) นุอ์มานต้องพินาศอย่างแน่นอน”

 

      มัรฮูมอะซัด ฮัยดัร ได้เขียนว่า “อิมามอบูฮานีฟะฮ์ เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดอะฮ์ลุลบัยติ์มากที่สุดในหมู่ประชาชนทั้งหลาย และเป็นหนึ่งในผู้นำ (มัซฮับ) ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากที่สุดกับท่านอิมามซฮดิก (อ.)” (2)    

 

      มาลิก บินอะนัส ผู้นำมัซฮับมาลิกี กล่าวว่า :

 

و لقد اختلف الیه زماناً و ما كانت اراه الاّ علی ثلاث خصالٍ : امّا مصلیاٌ و امّا صائماٌ و امّا یقراٌ القرآن

 

“และแน่นอนในช่วงเวลาหนึ่งฉันได้ไปมาหาสู่ท่านอยู่เสมอ และฉันไม่เคยเห็นท่านนอกจากอยู่ในสามสภาพ คือ บางทีอยู่ในสภาพของการนมาซ บางทีอยู่ในสภาพของการถือศีลอด และบางทีก็กำลังอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน” (3)   

 

      ในอีกรายงานหนึ่ง ซึ่งมัรฮูมเชคซอดูก ได้รายงานจากมาลิก บินอะนัสว่า เขากล่าวว่า

 

       “ทุกครั้งที่ฉันไปพบท่านอิมาม (ซอดิก) ท่านจะนำหมอนพิงหลังมาวางให้ฉัน และแสดงการให้เกียรติต่อฉัน และท่านจะกล่าวว่า โอ้มาลิกเอ๋ย! ฉันรักเจ้า ฉันรู้สึกดีใจต่อสิ่งนี้ และฉันจะขอบคุณต่อพระผู้เป็นเจ้า ท่านจะอยู่ในสามสภาพคือ บางทีก็ถือศีลอด บางทีก็กำลังทำนมาซ และบางทีก็อยู่ในสภาพของการซิกรุลลอฮ์ (กล่าวรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า) ท่านเป็นผู้ทำการอิบาดะฮ์และเป็นผู้มีสมถะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มีความยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า ท่านเป็นผู้รายงานฮะดีษ (วจนะของท่านศาสดา) อย่างมากมาย และเป็นผู้ร่วมสนทนาที่ดีที่สุด…” (4) 

 

      อับดุลการีม ชะฮ์ริซตานี ผู้เขียนหนังสือ “อัลมิลัล วัลนิฮัล” ที่มีชื่อเสียงได้กล่าวว่า

 

 هو ذو علم غزیر في الدین، و أدب کامل في الحکمة، و زهد بالغ في الدنیا، و ورع تامّ عن الشهوات

 

“ท่าน (ญะอ์ฟัร บินมุฮัมมัด) เป็นผู้มีความรู้มากมายในเรื่องของศาสนา เป็นผู้ได้รับการอบรมอย่างสมบูรณ์ในเรื่องของฮิกมะฮ์ (วิทยญาณ) เป็นผู้มีความสมถะอย่างที่สุดในชีวิตทางโลกนี้ และเป็นผู้สำรวมตนอย่างสมบูรณ์จากอารมณ์ตัณหาทั้งหลาย” (5)

 

        อิบนุคอละกาน ได้เขียนว่า :

 

جعفر الصادق بن محمد الباقر عليهالسلام احد الائمة الاثني عشر علي مذهب الامامة و کان من سادات اهل البيت و لقب بالصادق لصدقه في مقالته و فضله اشهر من أن يذکر

 

“ญะอ์ฟัร อัซซอดิก บินมุฮัมมัด อัลบากิร (อ.) คือหนึ่งจากอิมามสิบสองท่านของมัซฮับอิมามิยะฮ์ และเป็นหนึ่งในบรรดาซัยยิดแห่งอะฮ์ลุลบัยติ์ เป็นผู้ได้รับการขนานนามว่า “ซอดิก” เนื่องจากความสัจจริงในคำพูดของท่าน และความประเสริฐของท่านนั้นเป็นที่เลื่องลือเกินกว่าที่จะกล่าวถึงได้” (6)

 

       อิบนิซ็อบบาฆ กล่าวว่า :

 

و نقل الناس عنه من العلوم ما سارت به الرکبان و انتشر ذکره فی البلدان

 

“ประชาชนได้รายงานความรู้ต่างๆ จากท่าน ในสิ่งที่บรรดาผู้เดินทางด้วยพาหนะได้นำพามันไป และการกล่าวขานถึงท่านได้กระจรกระจายไปสู่แผ่นดินทั้งหลาย” (7)

 

      เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ จากคำพูดของบรรดานักวิชาการศาสนาที่กล่าวถึงเกี่ยวกับท่านอิมามซอดิก (อ.) สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า ท่านอิมามยะอ์ฟัร อัซซอดิก (อ.) ในขณะที่ท่านทำหน้าที่อธิบายหลักความเชื่อ (อะกีดะฮ์) และหลักนิติศาสตร์ (ฟิกฮ์) ของชีอะฮ์นั้น ท่านมีวิธีการและแนวทางอย่างไร? ที่ทำให้ท่านสามารถรักษาเกียรติและความเป็นที่เคารพเชิดชูทางด้านสังคมของตนเองในหมู่ประชาชาติมุสลิมไว้ได้   

  

      กล่าวอีกสำนวนหนึ่งก็คือ แม้ว่าประชาชนโดยทั่วไปและบรรดานักวิชาการร่วมสมัยของท่านอิมามซอดิก (อ.) จะไม่ได้มองถึงความเป็นอิมาม (ผู้นำ) ของท่านเหมือนดังที่ชาวชีอะฮ์มองก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงการที่ท่านอิมาม (อ.) ได้อุตสาห์พยายามในการปฏิบัติหน้าที่ความเป็นอิมาม (ผู้นำ) ของตน และการเผยแผ่แนวทางชีอะฮ์ในด้านต่างๆ ทำไมท่านอิมาม (อ.) จึงดึงดูดความสนใจ ความเคารพและการให้เกียรติจากบุคคลที่ไม่ใช่ชีอะฮ์มาสู่ตนเองได้มากถึงเพียงนี้?

 

      ในที่นี้เราจะขอชี้ให้เห็นถึงแนวทางและวิธีการที่ท่านอิมาม (อ.) ได้มุ่งมั่นในการอธิบาย เผยแพร่และแผ่ขยายคำสอนของชีอะฮ์ หากท่านใช้วิธีการเช่นเดียวกับคนที่กล่าวอ้างการยอมรับในวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) และอิมามะฮ์ (ความเป็นผู้นำ) ของท่านบางคนในยุคสมัยของเรา ที่เผยแพร่แนวทางของตนด้วยการด่าประณาม สบประมาทและดูถูกเหยียดหยามหลักการและความเชื่อของฝ่ายตรงข้ามแล้ว ท่านจะประสบความสำเร็จหรือจะได้รับความเคารพและการให้เกียรติถึงเพียงนี้หรือไม่ แน่นอน คำตอบก็คือไม่!  

 

      สิ่งที่รับรู้ได้จากวิถีชีวิตและคำพูดต่างๆ ของท่านอิมามซอดิก (อ.) ก็คือว่า ท่านอิมามในฐานะที่เป็นผู้นำของชาวชีอะฮ์ ในขณะเดียวกันท่านก็ระวังรักษากฎเกณฑ์และหลักการต่างๆ ทางด้านความเชื่อและการปฏิบัติของชีอะฮ์ ท่านยังคงแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่ดีงามและให้ความเคารพต่อมัซฮับอื่นๆ และในขณะเดียวกันท่านก็ได้เน้นย้ำอย่างมากต่อบรรดาชีอะฮ์ของท่านให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน  

 

      ดังเช่นที่ท่านได้กล่าวว่า :

 

و علیکم بمجاملة اهل الباطل، تحمّلوا الضّیم منهم

 

“และท่านทั้งหลายจงปฏิบัติด้วยความดีงามต่อผู้หลงผิด จงอดทนต่อความอธรรมจากพวกเขา” (8)     

 

      ในหนังสือ “อัลกาฟี” ได้อ้างรายงานบทหนึ่งจากท่าน ซึ่งท่านกล่าวว่า :

 

كُونُوا دُعَاةً لِلنَّاسِ بِغَيْرِ أَلْسِنَتِكُمْ لِيَرَوْا مِنْكُمُ الْوَرَعَ وَ الِاجْتِهَادَ وَ الصَّلَاةَ وَ الْخَيْرَ فَإِنَّ ذَلِكَ دَاعِيَةٌ

 

“ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้เรียกร้องเชิญชวนประชาชนด้วยสิ่งอื่นจากลิ้นของพวกท่าน (หมายถึงด้วยการปฏิบัติ ตามแนวทางของอะฮ์ลุลบัยติ์) เพื่อที่พวกเขาจะได้เห็นความเคร่งครัด ความอุตสาห์พยายาม การนมาซและความดีงามจากพวกท่าน เพราะแท้จริงสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่เชิญชวน (ไปสู่แนวทางของอะฮ์ลุลบัยติ์)” (9)   

 

       คำสั่งเสียนี้ได้รับการสนับสนุนด้วยการปฏิบัติของท่านอิมาม (อ.) เอง ดังนั้นหากบรรดาผู้ที่มีความรักผูกพันต่อศาสนาได้นำมาใช้ปฏิบัติแล้วจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กำลังประสบกับประชาชาติมุสลิมอยู่ในปัจจุบันนี้ได้เป็นอย่างดี

 

เชิงอรรถ :

 

(1) รายละเอียดในเรื่องนี้สามารถพิจารณาดูได้ในหนังสือ “อัลอิมามุซซอดิก วัลมะซาฮิบุลอัรบะอะฮ์” เขียนโดย มัรฮูมอะซัด ฮัยดัร ล เล่มที่ 1, จากหน้าที่ 68 ถึงหน้าที่ 82

(2) อัลอิมามุ ซอดิก วัลมะซาฮิบุลอัรบะอะฮ์, เล่มที่ 7, หน้าที่ 193

(3) ตะห์ซีบ อัตตะห์ซีบ, อิบนุหะญัร, เล่มที่ 1, หน้าที่ 88

(4) อัลคิซอล, หน้าที่ 195

(5) ฟุศูลุลมุฮิมมะฮ์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 908

(6) วะฟะยาตุลอะอ์ยาน, เล่มที่ 1, หน้าที่ 327

(7) อัลมิลัล วัลนิฮัล, ชะฮ์ริซตานี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 147

(8) อัลกาฟี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 8

(9) อัลกาฟี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 78

 

แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม