เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

บทเรียนอัลกุรอานจากตัฟซีรเนะฮ์มูเนะฮ์ โองการที่ 107 บทอัตเตาบะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5
 

บทเรียนอัลกุรอานจากตัฟซีรเนะฮ์มูเนะฮ์ โองการที่ 107 บทอัตเตาบะฮ์

 
 
อัลกุรอานโองการนี้กล่าวถึงเรื่องราวของมัสญิด ฎีรอร และเป้าหมายของพวกกลับกลอกเกี่ยวกับมัสญิดดังกล่าว โดยกล่าวว่า
 
 
وَالَّذِينَ اتَّخَذُوا مَسْجِداً ضِرَاراً وَكُفْراً وَتَفْرِيقاً بَيْنَ الْمُؤْمِنِينَ وَإِرْصَاداً لِمَنْ حَارَبَ اللّهَ وَرَسُولَهُ مِن قَبْلُ وَلَيَحْلِفُنَّ إِنْ أَرَدْنَا إِلَّا الْحُسْنَى‏ وَاللّهُ يَشْهَدُ إِنَّهُمْ لَكَاذِبُونَ‏
 
 

คำแปล :

 
 
107. (พวกกลับกลอกบางกลุ่มคือ) บรรดาผู้ที่ยึดเอามัสยิดหลังหนึ่งเพื่อก่อให้เกิดความเดือดร้อน (แก่มุสลิม) และปฏิเสธศรัทธาและก่อให้เกิดการแตกแยกระหว่างบรรดาศรัทธาชนด้วยกัน และเป็นแหล่งซ่องสุมสำหรับผู้ก่อนหน้านี้ได้ทำสงครามต่อต้านอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ และแน่นอนพวกเขาจะสาบานว่า "เราไม่มีเจตนาอื่นใดนอกจากที่ดี" แต่อัลลอฮฺทรงยืนยันว่า แท้จริงพวกเขาเป็นพวกกล่าวเท็จอย่างแน่นอน
 
 

สาเหตุแห่งการประทานลงมา :

 
 
เรื่องราวเกี่ยวกับการประทานอัลกุรอานโองการนี้กล่าวว่า ผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการสร้างมัสยิดฎิรอร เป็นชายชาวมะดีนะฮฺ นามว่า อบูอามิร  เขาเคยเป็นบาทหลวงของคริสเตียน และยังมีสัมพันธ์ติดต่ออยู่กับศาลโรมัน  นอกจากนี้เขายังได้เกี่ยวข้องกับการวางแผนการสงครามอุฮุดอีกด้วย แต่หลังจากนครเมกกะฮฺได้ถูกยึดครองแล้ว เขาได้ไปยังศาลเฮรเกล มหาจักรพรรดิแห่งกรุงโรมเพื่อระดมกองทัพสู้รบกับชาวมุสลิม เขาได้เขียนจดหมายส่งไปถึงบรรดามุนาฟิก (พวกกลับกลอก) ชาวมะดีนะฮฺ  พร้อมกับแจ้งข่าวการเตรียมพร้อมของกองทัพแห่งโรมัน และได้เน้นย้ำให้พวกกลับกลอกชาวมะดีนะฮฺสร้างฐานทัพให้แก่ตนเองด้วย  พวกกลับกลอกจึงได้ตัดสินใจว่าพวกเขาจะสร้างฐานกำลังภายในมัสยิดนั้นเอง,ด้วยเหตุนี้ ก่อนสงครามตะบูกกลุ่มพวกกลับกลอกชาวมะดีนะฮฺ จึงได้เข้าพบท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)  เพื่อขออนุญาตสร้างมัสยิดข้างๆ มัสญิดกุบามี โดยมีข้ออ้างว่าคนผู้ป่วยและคนชราลำบากที่จะเดินทางไปมัสยิด  อีกทั้งพวกเขายังได้แสร้งเชิญท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)  ให้มาเป็นผู้เปิดมัสยิดหลังดังกล่าวด้วยตัวเอง  ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)  ได้ผลัดไว้หลังจากสงครามตะบูก พวกเขาได้ลงมือสร้างมัสยิดก่อน
 
 
หลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กลับจากสงครามตะบูก บรรดาพวกกลับกลอกได้มาพบท่านอีก และก่อนที่ท่านจะเดินทางเข้าสู่มะดีนะฮฺ พวกเขาได้กล่าวเชิญท่านอีกครั้งหนึ่ง ในเวลานั้นเองทูกผู้นำวะฮฺยูได้ลงมาหาท่านศาสดา เพื่อนำเอาโองการข้างต้นและอีกหลายโองการถัดจากนั้นมาให้ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) พร้อมกับแจ้งเจตนาร้ายและความลับของพวกเขาแก่ท่านศาสดา
 
 
ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จึงมีคำสั่งให้เผามัสยิดทิ้ง หลังจากทุกสิ่งพังพินาศสิ้นแล้ว บริเวณแห่งนั้นได้กลายเป็นสถานที่ทิ้งขยะ[1]
 
 
 

 

คำอธิบาย :

 
 
1- โองการก่อนหน้านี้ได้กล่าวถึงผู้กลับกลอกและบรรดาพวกฝ่าฝืนไว้ 4 กลุ่ม กล่าวคือ
 
- กลุ่มอาหรับชนบทเร่ร่อนที่ปฏิเสธศรัทธาอย่างแข็งกร้าวและฝ่าฝืนอย่างรุนแรง
 
- กลุ่มผู้กลับกลอกภายในมะดีนะฮ์
 
- กลุ่มผู้กลับกลอกจากสงครามตะบูก ซึ่งพวกเขาได้กระทำความผิด แต่ได้สารภาพความผิดและสำนึกตัวในภายหลัง พร้อมกับได้บริจาคทานเพื่อเป็นการไถ่ความผิด
 
- กลุ่มพวกกลับกลอกสามคน หรือกุล่มผู้ปฏิเสธศรัทธาซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้ทรงเกียรติแห่งอิสลาม เฉกเช่น ท่านฮัมซะฮ์ ต้องได้รับชะฮีด ชะตากรรมของพวกเขาขึ้นอยู่กับพระบัญชาของพระเจ้า
 
ส่วนโองการนี้ได้กล่าวถึงกลุ่มผู้กลับกลอกกลุ่มที่ 5 เป็นกลุ่มที่รับนโยบายของจากพวกยะฮูดี โดยการสร้างฐานทัพมั่นคงในนครมะดีนะฮ์แก่บรรดาศัตรู
 
2- คำว่า «ضِرار»  หมายถึง การก่อให้เกิดความเสียหายโดยตั้งใจ กล่าวคือเป้าหมายของพวกกลับกลอกนั้นขัดแย้งกับคำกล่าวอ้างของพวกเขาเสมอ เนื่องจากการสร้างมัสยิดของพวกเขาไม่ได้เป็นไปเพื่อช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่ง หรือเพื่อปฏิบัติศาสนกิจแต่อย่างใด ทว่าพวกเขามีเจตนาเพื่อสร้างความเสียหายให้เกิดแก่บรรดามุสลิม หรือถ้าเป็นไปได้ก็จะขุดรากถอนโคนอิสลามให้หมดไปจากประวัติศาสตร์เสียด้วยซ้ำไป
 
3- มัสยิดกุบา และมัสยิดฎิรอร นั้นอยู่ใกล้ๆ กัน พวกกลับกลอกแอบแฝงเจตนาไว้ว่าต้องการแบ่งผู้ศรัทธาออกเป็น 2 กลุ่ม และสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในหมู่พวกเขา ซึ่งจากคำกล่าวของโองการสรุปได้ว่ามุสลิมต้องไม่สร้างมัสยิดติดกัน เพราะเท่ากับเป็นการแบ่งกลุ่มมุสลิมให้เล็กลงไป อันเป็นผลที่ก่อให้เกิดความเสียหายภายนอก และยังเป็นสาเหตุทำให้บรรดามุสลิมปราศจากจิตวิญญาณในการพัฒนาเพื่อสร้างความก้าวหน้าต่อไป
 
4- บรรดาพวกกลับกลอกได้ติดตามเป้าหมายอันชั่วร้ายของตน ด้วยการแสดงพฤติกรรมอันสวยหรูภายนอกอันเป็นการกลบเกลื่อน มิหนำซ้ำยังได้สาบานด้วยว่าพวกเขามีเจตนาดี ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺ (ซบ.) จึงเน้นย้ำไว้ด้วยคำพูด 4 คำด้วยกัน เพื่อยืนยันถึงการมุสาของพวกเขา
 
- ประการแรกพระองค์ได้เริ่มต้นด้วย ประโยคที่เป็นคำนาม
 
- ประการที่สอง เน้นย้ำด้วยคำว่า อินนะ
 
- ประการที่สาม เน้นย้ำด้วยอักษรลาม (ละกาซิบูน) ซึ่งตามหลักภาษาเรียกว่า ลามอิบติดาอียะฮฺ จะใช้เพื่อเน้นให้เห็นความสำคัญโดยเฉพาะ
 
- ประการที่สี่ คำว่า กาซิบูน แทนที่รูปกริยาที่เป็นอดีตกาล เป็นเหตุผลที่บ่งบอกให้เห็นถึงความต่อเนื่องในการพูดมุสาของพวกเขา
 
ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺ (ซบ.) จึงได้ปฏิเสธการสาบานโกหกของพวกเขาอย่างแข็งกร้าว และตรัสว่า นั่นเป็นคำมุสาจากพวกเขา และทรงยืนยันให้เห็นถึงการโกหกของพวกเขา พระองค์ไม่ตอบรับคำสาบานนั้น
 
5- จากโองการดังกล่าวเข้าใจได้ว่า เจตคติ ในการกระทำนั้นมีความสำคัญยิ่งใหญ่การกระทำภายนอก ฉะนั้น แม้แต่มัสยิดถ้าสร้างขึ้นโดยมีเจตนาที่จะก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่สังคม หรือสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นแล้วละก็ จะไม่มีมรรคผลใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งต้องทำลายทิ้งอีกต่างหาก
 
 

บทเรียนจากโองการ :

 
 
1. บรรดาพวกกลับกลอกได้อาศัยศาสนาทำลายศาสนา (ฉะนั้น ผู้ศรัทธาจะต้องไม่หลงกลหรือปฏิบัติตามทุกเสียงเรียกร้องที่กู่ร้องเรียกมายังพวกเขา)
 
2. บรรดาพวกกลับกลอกได้อาศัยพฤติกรรมที่สวยงามภายนอก หรืออาศัยความสวยงามของศาสนสถาน เช่น มัสยิด เพื่อดำเนินการเผยแพร่ แต่ซ่อนเร้นและติดตามเจตนาที่ชั่วร้ายของตน ฉะนั้น ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
 
3. ต้องระมัดระวังฐานที่ตั้งภายในของศัตรู และตรวจสอบเป้าหมายของพวกเขาให้ถ้วนถี่ เพื่อทำลายแผนการเหล่านั้น
 
4. เอกภาพในหมู่มุสลิมคือ คำจำเป็นเหนือสิ่งอื่นใด ฉะนั้น แม้แต่การสร้างมัสญิดถ้าเป็นสาเหตุที่นำมาซึ่งความแตกแยกในหมู่มุสลิมแล้ว ถือว่ามัสยิดหลังนั้นไม่มีความศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป ต้องทำลายทิ้ง
 
ศาสนสถานในอัลกุรอานและฮะดีซ
 
ตามคำสอนของศาสนาอิสลาม ศาสนสถานสำหรับชาวมุสลิมมีชื่อเรียกว่า มัสยิด ซึ่งบรรดามัสยิดทั้งหลายมีกฎเกณฑ์อันเฉพาะสำหรับตน 
 
ก. มัสยิดในอัลกุรอาน
 
1- มัสยิดถูกสร้างขึ้นเพื่อประกอบการนมัสการต่อพระเจ้า (อัลกุรอานบทญิน โองการที่ 18)
 
2- มัสยิดคือ สถานที่ประกอบการนมัสการ และการรำลึกถึงพระเจ้า (อัลกุรอานบทอะอ์รอฟ โองการที่ 29)
 
3- สามารถสร้างมัสยิดบนหลุมฝังศพของบรรดาศาสดาได้ (อัลกุรอานบทอัลกะฮฺฟิ โองการที่ 21)
 
4- บุคคลที่อธรรมที่สุดในหมู่ระชาชนคือ บุคคลที่ขัดขวางไม่ให้มีการเอ่ยนามรำลึกถึงพระเจ้าในมัสยิด (อัลกุรอานบทอัลบะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 114)
 
5- ความศรัทธามั่นที่มีต่ออัลลอฮฺ และวันแห่งการฟื้นคืนชีพคือปัจจัยสำคัญของการบูรณะมัสยิด (อัลกุรอานบทอัตเตาบะฮฺ โองการที่ 18)
 
6- การปกปักรักษามัสยิด หรือสถานที่ประกอบการนมัสการของศาสนาอื่น มีสำคัญยิ่งกว่าการทำลายล้าง (อัลกุรอานบทฮัจญ์ โองการที่ 40)
 
 

หมายเหตุ

 
 
1- จงอย่าปฏิบัตินมาซในมัสยิด อันเป็นสถานที่ซึ่งบรรดาพวกกลับกลอกและศัตรูอิสลามได้วางแผนการชั่วร้าย (อัลกุรอานบทอัตเตาบะฮฺ โองการที่ 8,107)
 
2- ผลบุญในการให้น้ำดื่มแก่บรรดานักแสวงบุญ และผู้ที่บูรณะซ่อมแซมมัสยิดไม่เหมือนกันผลบุญของมวลผู้ศรัทธาที่ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ (อัลกุรอานบทอัตเตาบะฮฺ โองการที่ 19)
 
 
ข. มัสยิดในรายงาน
 
 
1- ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า มัสยิดทั้งหลายคือ บ้านสำหรับพระเจ้าบนหน้าแผ่นดิน
2- (บิฮารุลอันวาร เล่ม 83 หน้า 384))
 
2- ท่านอิมามซอดิก (อ.)  กล่าวว่า บุคคลใดสร้างมัสยิด อัลลอฮฺ จะสร้างบ้านในสรวงสวรรค์เตรียมไว้สำหรับเขา (วะซาอิลุชชีอะฮ์ เล่ม 3 หน้า 485)
 
3-  การสร้างห้องนมาซภายในบ้านได้มีรายงานจาก  ท่านอิมามอะลี (อ.) ว่า ท่านได้จัดห้องเล็กๆ ภายในบ้านให้เป็นห้องนมาซ  ซึ่งท่านจะนมาซในนั้น และภายในห้องนั้นท่านจะไม่วางสิ่งใดไว้นอกจาก ดาบ พรหมผืนเล็กๆ และอัลกุรอาน (บิฮารุลอันวาร เล่ม 76 หน้า 161)
 
สาวกท่านหนึ่งของท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า ท่านอิมาม (อ.) ได้เขียนข้อความส่งให้ฉันว่า ฉันชอบที่จะเห็นท่านสร้างมัสยิดขึ้นภายในบ้านของท่าน (บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 84 หน้า 244)
 
 
ค. มารยาทที่ถึงปฏิบัติต่อมัสยิด
 
1- จงสร้างมัสยิดบนพื้นฐานของความสำรวมตน (อัลกุรอานบทอัตเตาบะฮ์ โองการที่ 108)
 
2- จงอย่าเป็นอุปสรรคกีดขวางผู้อื่นไม่ให้เข้าไปประกอบการนมัสการ หรือกล่าวการรำลึกถึงอัลลอฮฺในนั้น (อัลกุรอาน บทฮัจญ์ โองการที่ 25, บทมาอิดะฮ์ โองการที่ 2, และบทบะกอเราะฮ์ โองการที่ 114)
 
3- จะทำความสะอาดมัสยิดเพื่อการนมาซ (อัลกุรอานบท อัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 125 และฮัจญ์ โองการที่ 26)
 
4- จงให้ความเคารพต่อมัสยิด อย่าทะเลาะวิวาทบริเวณใกล้ๆ หรือในมัสยิด เว้นเสียแต่ว่าถูกบีบบังคับ (อัลกุรอาน บทอัลกอบะเราะฮ์ โองการที่ 191)
 
5- ขณะอยู่ในมัสยิดจงมุ่งมั่นความตั้งใจและเจตนาไปยังพระเจ้า (อัลลอฮ์) เท่านั้น (อัลกุรอานบท อัลอะอ์รอฟ โองการที่ 28)
 
6- อย่าปล่อยให้บรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้าเข้าใกล้มัสยิดเป็นอันขาด (อัลกุรอาน บทอัตเตาบะฮ์ โองการที่ 28)
 
7- การบูรณะซ่อมแซมมัสยิดเป็นหน้าที่ของบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ซึ่งบรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้าไม่มีสิทธิ์กระทำสิ่งนี้ (อัลกุรอาน บทอัตเตาบะฮ์ 17-18)
 
8- มีรายงานจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า การบูรณาการมัสยิดหมายถึง การไม่ส่งเสียงดังหรือทำให้เสียงดัง หรือมุ่งมั่นกระทำทำสิ่งที่เป็นโมฆะ ไม่ซื้อขายภายในมัสยิด และไม่กระทำการใดๆ อันเป็นสิ่งไร้สาระภายในมัสยิด (บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 77 หน้า 85)
 
9- ได้มีรายงานจาก ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า นมาซของบุคคลที่อยู่ใกล้มัสยิดจะไม่ถูกยอมรับ เว้นเสียแต่ว่าได้นมาซในมัสยิด หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น หรือไม่สบาย มีผู้ถามท่านอิมามว่า  เพื่อนบ้านของมัสยิดเป็นใครหรือ
 
ท่านตอบว่า ทุกคนที่ได้ยินเสียงอะซานของผู้ซาน (ผู้ประกาศเวลานมาซ) 
(บิฮารุลอันวาร เล่ม 83 หน้า 379)
 
10- มีรายงานจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า จงอย่านำมัสยิดเป็นทางผ่าน หรือเป็นทางเดิน เว้นเสียแต่ว่าท่านได้นมาซ 2 เราะกะอัตในนั้นเสียก่อน (บิฮารุลอันวาร เล่ม 76 หน้า 328)
 
อนึ่ง บางเรื่องราวในโองการที่เกี่ยวข้องกับมัสยิด อัลฮะรอม ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนั้นครอบคลุมเหนือมัสยิดอื่นด้วยเช่นกัน
 
 
ง. มัสยิดกับความยิ่งใหญ่
 
1.มัสยิดอัลฮะรอม คือกิบละฮฺสำหรับมวลมุสลิมทั้งหลาย (อัลกุรอานบทอัลบะเกาะเราะฮฺ โองการ 144, 149,150)
 
2. มัสยิด อัลฮะรอมคือสถานที่ขึ้นมิอ์รอจญ์ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) (อัลกุรอานบทอัลอิสรอ โองการที่ 1)
 
3. มัสยิด อัลอักซอถือว่าเป็นเป้าหมายในการขึ้นมิอ์รอจญ์ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) บริเวณรอบๆ นั้นมีความจำเริญด้วย  (อัลกุรอาน บทอัลอิสรอ โองการที่ 1)
 
4. รายงานได้กล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของมัสยิดกูฟะฮ์ มัสยิดซะฮ์ละฮ์ 
 
(มีซานุลฮิกมะฮ์ เล่ม 4 หน้า 398)
 

อ้างอิง

 
[1] มัจญ์มะอุลบะยาน ตัฟซีร อบุลฟุตูฮ์ รอซีย์ ตัฟซีรอัลมินาร ตัฟซีรอัลมีซาน ตัฟซีรนูรอัซซะเกาะลัยน์ และหนังสือเล่มอื่นๆ บิฮารุลอันวาร เล่ม 21 หน้า 252 หมวดที่ 30 เรื่องราวเกี่ยวกับอบี อามิร อัรรอฮิบ วะ มัสยิดฎิรอร ฯลฯ หน้า 253,255,263
 
 
 
 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม