เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

อิสลามกับการรู้จักหน้าที่

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

อิสลามกับการรู้จักหน้าที่

 

ศาสนาจะเป็นตัวกำหนดหน้าที่ให้กับมนุษย์และพึ่งหวังการปฏิบัติจากเขา ดังนั้น ศาสนาจึงกำหนดหน้าที่โดยกว้าง ๆ ของมนุษย์ไว้ ๓ ประการ

 

ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่วางโครงสร้างเพื่อส่วนรวมและเพื่อทุกยุคทุกสมัยอย่างแท้จริง พระองค์ทรงแต่งตั้งศาสดาท่านต่าง ๆ เพื่อชี้นำมวลมนุษย์ให้ทราบว่าเขาต้องดำเนินชีวิตอย่างไรในโลกนี้และโลกหน้า และเพื่อนำพามนุษย์ให้หลุดพ้นจากความมืดบอดแห่งความโง่เขลาไปสู่โลกแห่งปัญญาอันสว่างไสว

 

อิสลามได้แสดงทัศนะว่า ศาสนานั้นก็คือแนวทางในการดำเนินชีวิตส่วนคำสอนของศาสนาเป็นครรลองในการเลือกสรรปัจจัยยังชีพที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของตน โดยศาสนาจะเป็นตัวกำหนดหน้าที่ให้กับมนุษย์และพึ่งหวังการปฏิบัติจากเขา ดังนั้น ศาสนาจึงกำหนดหน้าที่โดยกว้าง ๆ ของมนุษย์ไว้ ๓ ประการดังนี้

 

หน้าที่ของมนุษย์กับอัลลอฮ์ (ซบ.) ในฐานะที่พระองค์คือผู้ทรงสร้างเขาและประทานปัจจัยยังชีพแก่เขา ดังนั้น การเรียนรู้จักพระผู้เป็นเจ้าจึงมีความจำเป็นเหนือความจำเป็นทั้งหลาย

 

หน้าที่ของมนุษย์กับตัวเอง

 

หน้าที่ของมนุษย์กับคนอื่น หรือกับสังคมส่วนรวมที่เขาอาศัยอยู่ ซึ่งในแต่ละสังคมต้องการความสัมพันธ์ การประสานงานและการร่วมมือต่อกัน ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่ามนุษย์มีหน้าที่หลักโดยรวมอยู่ ๓ ประการ ดังกล่าวไปแล้วข้างต้นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 

หน้าที่ของมนุษย์ที่มีต่ออัลลอฮ์ (ซบ.)

 

การรู้จักพระผู้เป็นเจ้า

 

หน้าที่ของมนุษย์ที่มีต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) คือการรู้จักพระองค์ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ที่มีความสำคัญที่สุด และเป็นหน้าที่อันดับแรกสำหรับมนุษย์ การเรียนรู้จักพระองค์ต้องมีใจสะอาดและเจตนาที่บริสุทธิ์ การมีอยู่ของพระองค์คือต้นกำเนิดของมวลสรรพสิ่งทั้งหลายและปัจจัยทั้งปวง การรู้จักพระองค์คือนูรรัศมีแห่งปัญญาที่ส่องผ่านจิตใจทั้งหลายที่ยังมืดมิดอยู่ในโลกของความจริง ส่วนการไม่ใส่ใจที่อยากจะรู้จักก็คือบ่อเกิดแห่งความโง่เขลาทั้งหลาย ที่ปิดบังจิตให้มืดมิดจากการรู้จักหน้าที่ของตน และใครก็ตามที่ไม่สนใจต่อการรู้จักพระองค์ ก็เท่ากับเขาได้ดับแสงแห่งปัญญาของตนให้มืดสนิทและหมดหนทางที่จะไขว่คว้าหาความสำเร็จและความสุขที่แท้จริงของการเป็นมนุษย์มาไว้ในครอบครองได้

 

ดังที่เราได้ประสบพบอยู่ทุกวันนี้ว่า ประชาชนได้หันหลังให้กับการเรียนรู้จักพระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริงของตน และตลอดชั่วอายุไขก็ไม่เคยคิดที่จะใส่ใจในเรื่องนี้ ในความเป็นจริงแล้วเขาได้ละทิ้งธาตุแท้ของความเป็นมนุษย์ไปอย่างสิ้นเชิง ส่วนธาตุแท้ที่ยังหลงเหลืออยู่ในตัวเขาคือธาตุแห่งความเป็นอมนุษย์ ซึ่งไม่แตกต่างอะไรไปจากเดรัจฉาน อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงตรัสว่า

 

“ดังนั้น เจ้าจงหันออกจากบุคคลที่หันเหออกจากคำเตือนของเรา เพราะเขามิได้มุ่งหวังสิ่งใดนอกจากชีวิตทางโลกนี้เท่านั้น และนั่นแหละเป็นความรู้ที่บรรลุที่สุดแล้วของพวกเขา ” (ซูเราะฮ์ อัน-นัจมุ : ๒๙)

 

ในความเป็นจริง การรู้จักพระผู้เป็นเจ้าสำหรับมนุษย์แล้ว ถือเป็นธรรมชาติและเป็นสัญชาตญาณของพวกเขาที่ไม่ต้องการข้อพิสูจน์หรือหลักฐานใด ๆ เพียงมนุษย์พิจารณาหรือสังเกตธรรมชาติที่อยู่รอบ ๆ ตัวเอง ก็จะพบหลักฐานอย่างดาษดื่นที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า พระผู้ทรงเมตตา ปรีชาญาณและทรงอำนาจยิ่ง ด้วยเหตุนี้ ความหมายของการรู้จักพระผู้เป็นเจ้ามิได้หมายถึงการที่มนุษย์ได้รู้จัก พระองค์เป็นการส่วนตัว แต่หมายถึงวัฏจักรแห่งชีวิตของสิ่งเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ การตอบรับคำเชิญชวนของพระองค์ด้วยกับจิตใต้สำนึกและสลัดความสงสัยที่มีต่อพระองค์ออกจากจิตใจ

 

การเคารพสักการะต่อพระเจ้าองค์เดียว

 

หลังจากได้รู้จักพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ลำดับต่อมาคือการเคารพภักดีต่อพระองค์ เพราะความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองซึ่งเป็นเป้าหมายเพียงประการเดียวของเรานั้น อยู่ที่การปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ผู้ทรงเมตตา ที่ได้กำหนดกฎเกณฑ์การปฏิบัติและแนวทางในการดำเนินชีวิตให้กับพวกเราโดยผ่านบรรดาศาสดาและศาสนทูตของพระองค์ที่ได้มาทำหน้าที่เผยแผ่แก่เรา ฉะนั้น การภักดีและปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์ถือเป็นหน้าที่เพียงประการเดียวของมนุษย์ที่ไม่มีหน้าที่อันใดจะมาเทียบเคียงหรือยิ่งใหญ่ไปกว่าอัลลอฮ์ (ซบ.) ตรัสว่า

 

“คำบัญชาของพระองค์ผู้อภิบาลของเจ้าคือ จงอย่างเคารพภักดีต่อสิ่งอื่นนอกจากพระองค์” (ซูเราะฮฺ บนีอิสรออีล : ๒๓)

 

“ข้ามิได้สัญญากับพวกเจ้ามาก่อนหรือว่า โอ้ลูกลานของอาดัม พวกเจ้าทั้งหลายจงอย่านมัสการชัยฏอนมารร้าย เพราะเป็นศัตรูที่ชัดแจ้งสำหรับพวกเจ้า และพวกเจ้าจงนมัสการเฉพาะข้า และนี่คือแนวทางที่เที่ยงตรง” (ซูเราะฮ์ ยาซีน : ๖๐)

 

ฉะนั้น เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่ต้องรู้จักความเป็นบ่าว การภักดีและความต้องการของตัวเอง ขณะเดียวกันต้องรำลึกถึงความยิ่งใหญ่และความเกริกก้องเกรียงไกรของพระองค์เสมอ พร้อมทั้งมอบหมายให้พระองค์เป็นผู้ชี้นำการดำเนินชีวิตโดยยึดมั่นปฏิบัติตามบัญชาของพระองค์ เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่ต้องไม่เคารพภักดีต่อสิ่งอื่นใดนอกจากพระองค์ และต้องไม่ปฏิบัติตามใครนอกจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ) และอิมามผู้นำผู้บริสุทธิ์ที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้กำชับและเตือนสำทับอยู่ตลอดเวลาว่า ต้องปฏิบัติตามพวกเขาเท่านั้นและจงอย่าได้ปฏิบัติตามผู้อื่น พระองค์ตรัสว่า

 

“จงภักดีต่ออัลลอฮ์ จงภักดีต่อรอซูลและผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้า” (ซูเราะฮ์ อัน-นิซาอ์ : ๕๙)

 

แน่นอน ผลพวงประการหนึ่งที่เกิดจากการภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าและผู้นำนั้นก็คือ การให้ความเคารพต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่สัมพันธ์ไปยังพระองค์ เช่น นามอันจำเริญของพระองค์และนามต่าง ๆ ของผู้นำที่ต้องจดจำด้วยความนอบน้อม ต้องแสดงความเคารพต่ออัล-กุรอาน อัล-กะอ์บะฮ์ มัสญิดต่าง ๆ และสถานที่ฝังศพของเหล่าบรรดาผู้นำศาสนาของพระองค์ ดังที่พระองค์ตรัสว่า

 

“ใครก็ตามที่ยกย่องสัญลักษณ์ของอัลลอฮ์ ดังนั้น การทำเช่นนี้เป็นลักษณ์ของผู้มีจิตใจยำเกรง” (ซูเราะฮ์ อัล-ฮัจญ์ : ๓๒)

 

หน้าที่ของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง

 

การที่มนุษย์ได้ขวนขวายหาวิธีการและแนวทางต่างๆ ในการดำเนินชีวิตของตนนั้น ซึ่งแก่นแท้ของมิใช่เพื่ออื่นใดนอกไปจากความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองของ ชีวิต และเนื่องจากว่าการได้รับความสำเร็จและรู้จักนั้น ถือเป็นกิ่งแขนงหนึ่งของการรู้จักตนเอง กล่าวคือ ตราบใดก็ตามที่มนุษย์ยังไม่รู้จักตัวเอง เมื่อนั้นเขาก็ไม่มีวันรู้จักความต้องการที่แท้จริงของตนที่มีความสำเร็จ เป็นจุดหมายปลายทางได้อย่างเด็ดขาด ดังนั้น หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ก่อนอื่นใด คือการรู้จักกับตัวเองเพื่อให้สิ่งนี้เป็นบันไดก้าวขึ้นไปสู่การเรียนรู้และ เข้าถึงความสำเร็จ โดยใช้สื่อช่วยเหลือต่าง ๆ ที่มีอยู่ในมือเป็นเครื่องมือช่วยขจัดความต้องการขั้นพื้นฐานและความสงสัย ทั้งมวล อย่าปล่อยให้ชีวิตที่มีค่าซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนเพียงประการเดียวของตนต้องหลุดมือไป

 

ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า “ใครก็ตามที่รู้จักตัวเองเท่ากับได้รู้จักพระผู้เป็นเจ้าของตน”

 

ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวเช่นกันว่า “ใครก็ตามที่รู้จักตัวเองเท่ากับได้ถึงตำแหน่งที่สูงที่สุดของการหยั่งรู้”

 

เมื่อมนุษย์ได้รู้จักตัวเองจะทำให้เกิดความเข้าใจทันทีว่า หน้าที่อันยิ่งใหญ่ของเขาก็คือการให้เกียรติต่อคุณค่าสูงสุดในการเป็นมนุษย์ของตนซึ่งเขาต้องรักษาคุณค่าอันสูงส่งนี้ให้เจิดจรัสอยู่เสมอ หมั่นรักษาพลานามัยทั้งภายนอกและภายในให้สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อจะได้มีชีวิตที่มีความสุขตลอดกาล

 

อิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “ใครก็ตามที่ให้เกียรติตัวเอง อารมณ์ใฝ่ต่ำและจิตใจที่ต่ำทรามจะหมดความหมายไปทันที”

 

ดังกล่าวไปแล้วว่า การมีอยู่ของมนุษย์ประกอบขึ้นด้วยร่างกายและจิตวิญญาณ จึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องปกป้องรักษาให้ทั้งสองสมบูรณ์แข็งแรงและ ปลอดภัยตลอดเวลา อิสลามจึงได้นำเสนอแนวทางในการรักษาสุขภาพอนามัยของร่างกายและจิตวิญญาณแก่ มนุษย์ เพื่อเป็นครรลองในการปฏิบัติ

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์เลิฟฮุเซน

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม