วัน “ดะห์วุลอัรฎ์” คือ วันอะไร?

วัน “ดะห์วุลอัรฎ์” คือ วันอะไร?

 

ความหมายของคำว่า “ดะฮ์วุลอัรฎ์”คำว่า “ดะห์วุน” (دَحْوٌ) หมายถึง การแผ่ออก การยืดออกหรือการขยายออก บางคนอธิบายว่า หมายถึง การเคลื่อนสิ่งหนึ่งออกจากสถานที่เดิมของมัน และจุดประสงค์จากคำว่า “ดะห์วุลอัรฎ์” (دَحْوُ الاَرْضِ) ก็คือ


ในช่วงเริ่มแรกนั้นผิวของแผ่นดินทั้งหมดถูกปกคลุมไปด้วยน้ำอันเกิดจากการตกกระหน่ำของฝนในยุคเริ่มแรก (หลังจากการสร้างของพระผู้เป็นเจ้า) และน้ำเหล่านี้ก็ค่อยๆ ซึมซับลงสู่พื้นดินและไหลลงไปสู่สถานที่ลุ่มทั้งหลาย และพื้นดินก็ค่อยๆ ปรากฏขึ้นจากใต้ผิวน้ำและค่อยๆ


ขยายตัวแผ่ออกไปอย่างต่อเนื่องวันแล้ววันเล่า จนเป็นดั่งที่เราเห็นในปัจจุบัน


ในอีกด้านหนึ่ง ในช่วงเริ่มแรกของการสร้างแผ่นดิน มีลักษณะเป็นหลุมลึกหรือสูงชันและไม่เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัย ต่อมาฝนได้ตกกระหน่ำอย่างต่อเนื่อง และน้ำฝนได้ชะล้างส่วนที่สูงชันต่างๆ และค่อยๆ ทำให้พื้นดินเกิดความราบเรียบและสามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์และการเพาะปลูกได้ ภาพของการแผ่ขยายและการถูกจัดเตรียมดังกล่าวนี้ ถูกเรียกว่า“ดะห์วุลอัรฎ์” (หรือการแผ่ออกของแผ่นดิน)

 

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้วัน“ดะห์วุลอัรฎ์” มีความสำคัญ?

 

 อะไรคือเหตุผลที่ทำให้วัน“ดะห์วุลอัรฎ์” มีความสำคัญ! เพียงแค่การที่แผ่นดินได้ถูกแผ่ออกในวันนี้ ทำให้วันนี้มีความสำคัญถึงเพียงนี้ ถึงขั้นที่มีริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ได้บอกถึงผลรางวัลต่างๆ ที่มากมายของมัน หรือว่ามีเหตุผลและความเป็นพิเศษอื่นๆ ด้วยที่เป็นสาเหตุทำให้มันมีความสำคัญถึงเพียงนี้


จากการทบทวนดูในหนังสือ “มะฟาตีฮุลญินาน” ของท่านเชคอับบาส กุมมี (ร.ฮ.) ในการอธิบายอะมั้ลต่างๆ ของวันที่ 25 ซุลเกาะอ์ดะฮ์ เราจะพบว่าอะมั้ลบางส่วนที่ภาคผลของมันเทียบเท่ากับการถือศีลอดถึง 60 เดือน ฉะนั้นเหตุผลของความสำคัญทั้งหมดของวันนี้คืออะไร จากโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานสามารถรับรู้ได้ว่า “ดะห์วุลอัรฎ์” คือขั้นตอนหนึ่งของการสร้างโลก ในเรื่องนี้สามารถชี้ให้เห็นได้จากโองการที่ 30 ถึง 33 ของซูเราะฮ์อันนาซิอาต :

 

وَالْأَرْ‌ضَ بَعْدَ ذَلِکَ دَحَاهَا * أَخْرَ‌جَ مِنْهَا مَاءَهَا وَمَرْ‌عَاهَا * وَالْجِبَالَ أَرْ‌سَاهَا * مَتَاعًا لَّکُمْ وَلِأَنْعَامِكُمْ

 

“และหลังจากนั้นพระองค์ทรงแผ่แผ่นดินให้กว้างออกไป ทรงบันดาลให้น้ำและทุ่งหญ้าออกมาจากแผ่นดินนั้น และทรงทำให้ภูเขาทั้งหลายมั่นคง เพื่อเป็นสิ่งอำนายประโยชน์แก่พวกเจ้า และแก่ปศุสัตว์ของพวกเจ้า” (อัลกุรอาน บทอันนาซิอาต โองการที่ 30 – 33)

 

โองการเหล่านี้ได้อธิบายถึงขั้นตอนสุดท้ายของการสร้างโลกและแผ่นดินในลักษณะนี้คือ อันดับแรกคือการแผ่ขยายแผ่นดินให้กว้างออกไป ต่อจากนั้นคือการไหลของตาน้ำต่างๆ และการเกิดท้องทุ่งต่างๆ ที่ประกอบไปด้วยพืชพันธ์และต้นไม้ต่างๆ และท้ายที่สุดคือการทำให้ภูเขาต่างๆ เกิดความมั่นคง อย่างไรก็ดีในตอนท้ายได้ย้ำเตือนให้รู้ว่า ทุกอย่างที่ถูกกระทำไปนั้นเพื่อการสร้างแผ่นดินให้อำนวยต่อการอยู่อาศัยและเพื่อการใช้สอยประโยชน์ของมนุษย์และบรรดาปศุสัตว์ของพวกเขา ด้วยความหมายนี้เองที่พวกเขาควรจะขอบคุณต่อเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) ทั้งหลายของพระผู้เป็นเจ้าและจะต้องไม่ลืมมัน


 ดังนั้น “ดะห์วุลอัรฎ์”เป็นเพียงหนึ่งในขั้นตอนของวิวัฒนาการและกระบวนการทางธรรมชาติของระบอบแห่งการสร้างสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งยังไม่อาจที่จะเป็นเหตุผลที่ทำให้วันนี้มีความสำคัญได้มากถึงเพียงนี้ แต่สิ่งที่เป็นสาเหตุทำให้วันนี้มีความสำคัญมากถึงขั้นนี้ ก็คือคุณลักษณะพิเศษต่างๆ ของวันนี้ ดังที่มีปรากฏในริวายะฮ์ (คำรายงาน) จากอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ซึ่งจะขอกล่าวถึงดังต่อไปนี้


 คุณลักษณะพิเศษของวัน“ดะห์วุลอัรฎ์” ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ


การตั้งอาคารกะอ์บะฮ์และการขยายตัวของแผ่นดินออกไปจากมัน : ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) กล่าวว่า :

 

فِی خَمْسَةٍ وَ عِشْرِینَ مِنْ ذِی الْقَعْدَةِ وُضِعَ الْبَیْتُ وَ هُوَ أَوَّلُ رَحْمَةٍ وُضِعَتْ عَلَی وَجْهِ الْأَرْضِ فَجَعَلَهُ اللَّهُ عَزَّ وَ جَلَّ مَثَابَةً لِلنَّاسِ وَ أَمْناً

 

“ในวันที่ 25 เดือนซุลเกาะอ์ดะฮ์ บัยตุลลอฮ์ได้ถูกตั้งขึ้น และมันคือเราะห์มัต (ความเมตตา) แรกที่ถูกวางลงในหน้าแผ่นดิน โดยที่อัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร ได้ทรงทำให้มันเป็นที่แสวงบุญสำหรับมนุษย์ และเป็นที่แห่งความปลอดภัย” (2)


ทำนองเดียวกันนี้ ในริวายะฮ์บทหนึ่งท่านอิมามริฎอ (อ.) ได้กล่าวว่า :

 

دُحِیَتِ الْأَرْضُ مِنْ تَحْتِ الْکَعْبَةِ

“แผ่นดินได้ถูกแผ่กว้างออกไปจากเบื้องใต้กะอ์บะฮ์” (3)


การประสูติของศาสดาอิบรอฮีม (อ.) และศาสดาอีซา (อ.) : ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า :

 

لَیْلَةُ خَمْسَةٍ وَ عِشْرِینَ مِنْ ذِی الْقَعْدَةِ وُلِدَ فِیهَا إِبْرَاهِیمُ ع وَ وُلِدَ فِیهَا عِیسَی ابْنُ مَرْیَمَ ع

 

“คืนวันที่ 25 ของเดือนซุลเกาะอ์ดะฮ์ ศาสดาอิบรอฮีม (อ.) และอีซาบุตรของมัรยัม (อ.) ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในมัน” (4)

 

 การประทานเราะห์มัต (ความเมตตา) ลงมาในวันนี้ : ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า :

 

اوّلُ رَحمَةِ نَزَلَت مِنَ السَّماءِ إلَی اَلأرضِ فِی خَمسَةِ وَ عِشرین مِن ذِی القَعدَة

 

“ความเมตตาแรกที่ลงมาจากฝากฟ้าสู่แผ่นดินนี้ เกิดขึ้นในวันที่ 25 ของเดือนซุลเกาะอ์ดะฮ์” (5)

 

ยังมีรายงานจากท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) เช่นกัน ซึ่งท่านกล่าวว่า :

 

يَوْمٌ نُشِرَتْ فِيهِ الرَّحْمَةُ ، وَ دُحِيَتْ فِيهِ الْأَرْضُ ، وَ نُصِبَتْ فِيهِ الْكَعْبَةُ

 

“(วันที่ 25 ซุลเกาะอ์ดะฮ์) คือวันที่ความเมตตา (ของพระผู้เป็นเจ้า) ได้แพร่ขยาย แผ่นดินถูกแผ่ออก และกะอ์บะฮ์ถูกตั้งขึ้นในมัน” (6)

 

 ด้วยเหตุนี้เอง สาเหตุหลักของความสำคัญของวัน “ดะห์วุลอัรฎ์”คือการที่กะอ์บะฮ์ได้ถูกตั้งขึ้นบนแผ่นดิน การลงมาของเราะห์มัต (ความเมตตา) แรกของพระผู้เป็นเจ้า และการถือกำเนิดของศาสดาผู้ยิ่งใหญ่สองท่าน คือ ศาสดาอิบรอฮีม (อ.) และศาสดาอีซา (อ.) หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถกระทำอะมั้ลต่างๆ ของวันนี้ตามที่มีรายงานมาจากอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ซึ่งได้แก่ การถือศีลอดและการอิบาดะฮ์ต่างๆ ของวันนี้ และประสบความสำเร็จในการได้รับอภัยโทษและความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้า

 

เชิงอรรถ :


(1) ตัฟซีร นะมูเนะฮ์, มะการิม ชีราซี, เล่มที่ 26, หน้าที่ 101


(2) อัลกาฟี, เล่มที่ 4, หน้าที่ 149


(3) มันลายะห์ฎุรุฮุลฟะกีฮ์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 89


(4) หนังสืออ้างอิงเล่มเดิม


(5) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 10, หน้าที่ 451


(6) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 10, หน้าที่ 450


แปล/เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ