ความเป็นมาและความสำคัญของการทำกุรบาน

ความเป็นมาและความสำคัญของการทำกุรบาน

 

การทำกุรบาน (พลีเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า) เริ่มต้นในสมัยใด

 

     ประวัติการทำกุรบานนั้นมีความเก่าแก่และยาวนานมาก เริ่มต้นตั้งแต่สมัยของท่านศาสดาอาดัม (อ.) เป็นต้นมา ถือว่าการกุรบาน (การพลี) เป็นส่วนหนึ่งจากบทบัญญัติของศาสนาซึ่งเราคงไม่มีโอกาสพอที่จะชี้ให้เห็นถึงสิ่งดังกล่าวทั้งหมด แต่จะขอกล่าวถึงในที่นี้เพียง 3 ตัวอย่างคือ

 

     กุรบาน (การพลี) ของลูกๆ ของท่านศาสดาอาดัม (อ.) ถือเป็นกุรบาน (การพลี) ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในโลก ซึ่งมีปรากฏชัดเจนในอัลกุรอานบทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 27 ถึง 30

 

     คำอธิบายโดยสรุปของโองการนี้คือ : บุตรชายสองคนของท่านศาสดาอาดัม (อ.) ซึ่งมีนามว่า ฮาบีลและกอบีล ฮาบีลมีอาชีพเลี้ยงสัตว์ ส่วนกอบีลมีเป็นชาวนา ทั้งสองได้รับผลผลิตจากการประกอบอาชีพของตนเองอย่างมากมาย ท่านศาสดาอาดัม (อ.) จึงสั่งให้ทั้งสองทำการพลี (กุรบาน) ในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า ฮาบีลได้เลือกอูฐหรือแกะที่อ้วนถ้วนสมบูรณ์ที่สุดเพื่อพลีให้ในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า แต่กอบีลกลับเลือกข้าวสาลีที่ด้อยคุณภาพและไม่สมบูรณ์ในการพลีในครั้งนี้

 

     ดังนั้นการพลีของฮาบีลจึงได้รับการยอมรับจากพระผู้เป็นเจ้า ส่วนการพลีของกอบีลเนื่องจากไม่ได้ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศ) จึงถูกปฏิเสธ และเนื่องจากกุรบาน (การพลี) ของเขาไม่ได้รับการยอมรับจากพระผู้เป็นเจ้า กอบีลจึงเกิดความอิจฉาและโกรธแค้นฮาบีล ไฟแห่งความโกรธแค้นและอารมณ์จากจิตใจที่ชั่วร้าย ประกอบกับการกระซิบกระซาบของมารร้าย (ชัยฏอน) นั้น ได้ชักนำและบีบบังคับเขาให้ฆ่าน้องชายของตนเอง และในที่สุดเขาก็ลงมือฆ่าฮาบีล เขาจึงกลายเป็นผู้ขาดทุนทั้งโลกนี้และปรโลก

 

     อีกเหตุการณ์หนึ่งเมื่อครั้งที่น้ำท่วมและหลังจากน้ำแห้งลงสู่สภาวะปกติ ท่านศาสดานูห์ (อ.) เมื่อลงจากเรือมายังพื้นดิน ท่านได้จัดเตรียมสถานที่สำหรับการเชือดสัตว์ และท่านได้เชือดพลีสัตว์ (กุรบาน) จำนวนมากในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า ณ สถานที่แห่งนั้น

 

     และการกุรบานของท่านศาสดาอิบรอฮีม คอลีลุลลอฮ์ (อ.) ที่ได้ตัดสินใจปฏิบัติตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าในการเชือดพลีบุตรชายผู้เป็นแก้วตาดวงใจของท่านเพียงคนเดียว คือท่านศาสดาอิสมาอีล (อ.) ที่ถูกกล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า

 

فَلَمَّا بَلَغَ مَعَهُ السَّعْيَ قَالَ يَا بُنَيَّ إِنِّي أَرَى فِي الْمَنَامِ أَنِّي أَذْبَحُكَ فَانظُرْ مَاذَا تَرَى قَالَ يَا أَبَتِ افْعَلْ مَا تُؤْمَرُ سَتَجِدُنِي إِن شَاء اللَّهُ مِنَ الصَّابِرِينَ فَلَمَّا أَسْلَمَا وَتَلَّهُ لِلْجَبِينِ

وَنَادَيْنَاهُ أَنْ يَا إِبْرَاهِيمُ قَدْ صَدَّقْتَ الرُّؤْيَا إِنَّا كَذَلِكَ نَجْزِي الْمُحْسِنِينَ إِنَّ هَذَا لَهُوَ الْبَلَاء الْمُبِينُ وَفَدَيْنَاهُ بِذِبْحٍ عَظِيمٍ

 

  “ครั้นเมื่อ (อิสมาอีล) บรรลุวัยเจริญเติบโต ทำงาน (และไปไหนมาไหน) กับเขา (อิบรอฮีม) ได้แล้ว อิบรอฮีมได้กล่าวว่า โอ้ลูกรัก แท้จริงพ่อได้เห็นในความฝันว่าพ่อจะเชือดเจ้า (ซึ่งเป็นบัญชามาจากพระผู้เป็นเจ้า) ดังนั้นเจ้าลองพิจารณาดูเถิดว่า เจ้าเห็นเป็นอย่างไร เขากล่าวว่า โอ้พ่อจ๋า ท่านจงปฏิบัติตามสิ่งที่ถูกบัญชาเถิด หากอัลลอฮ์ทรงประสงค์ ท่านจะได้พบว่าข้าพเจ้าเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้อดทน ครั้นเมื่อทั้งสอง (อิบรอฮีมและอิสมาอีได้ยอมมอบตน (ต่ออัลลอฮ์) อิบรอฮีมจึงให้อิสมาอีลคว่ำหน้าลงกับพื้น และเราได้เรียกเขาว่า โอ้อิบรอฮีมเอ๋ย เจ้าได้ทำให้ความฝันเป็นจริงแล้ว แท้จริงเราก็เช่นกัน เราจะตอบแทนผู้กระทำความดีทั้งหลาย แท้จริงนั่นคือการทดสอบอันชัดแจ้งและเราได้ไถ่ตัวเขาด้วยสัตว์เชือดพลีอันใหญ่หลวง” (1)

 

ความหมายและความสำคัญของกุรบาน

 

     ในตัฟซีรมัจญ์มะอุลบะยาน ท่านอัลลามะฮ์ฏ็อบริซีได้กล่าวว่า

 

والقربان ما يقصد به القرب من رحمة الله من اعمال البر

 

คำว่า “กุรบาน” หมายถึงทุกๆ อะมั้ลที่เป็นความดีงามที่กระทำเพื่อความมุ่งหวังในการเข้าใกล้ชิดความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า (2)

 

      ฉะนั้นการกระทำ (อะมั้ล) ที่เป็นคุณธรรมความดีใดๆ ก็ตามที่เราปฏิบัติโดยมีความมุ่งหวังว่ามันจะเป็นสื่อนำพาเราเข้าสู่ความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า ทั้งหมดเหล่านั้นเรียกว่า “กุรบาน” ด้วยเหตุนี้ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) จึงได้กล่าวในเรื่องของการนมาซว่า

 

إنّ الصّلاةَ قُربانُ المُؤمِنِ

 

“แท้จริงการนมาซ คือกุรบานของผู้ศรัทธา” (3)

 

     การนมาซ หมายถึง สื่อในการแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า และจะนำพามนุษย์เข้าใกล้ความเมตตาของพระองค์

 

     เป็นที่ชัดเจนยิ่งว่า จุดประสงค์ของคำว่า “การแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง” มิใช่เป็นความใกล้ชิดในด้านของเวลาและสถานที่ แต่จุดประสงค์ของมันก็คือ โดยการเชื่อฟังและการปฏิบัติอะมั้ลต่างๆ ที่เป็นความดีงาม ที่จะสามารถทำให้มนุษย์เข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้า และได้รับความเมตตาจากพระองค์

 

     ส่วนหนึ่งจากอะมั้ล (การกระทำ) ที่บรรดาฮุจญาจ (ผู้แสวงบุญ) ในแผ่นดินมินาจะต้องกระทำในวันที่ 10 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ หลังจากการขว้างเสาหินต้นท้ายสุด (ร็อมยุลอะกอบะฮ์) ก็คือการเชือดอูฐ วัวหรือแกะ และแจกจ่ายเนื้อเหล่านั้นให้กับผู้ยากจนขัดสน เพื่อว่าการกระทำอะมั้ลดังกล่าวนี้ จะทำให้เขาเข้าใกล้ชิดความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า สัตว์ที่ถูกเชือดพลีจึงถูกเรียกว่า “กุรบาน” หมายถึงสื่อที่ทำให้มนุษย์เข้าใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า

 

     โดยทั่วไปอีดกุรบานเราจะเรียกกันจนติดปากว่า “อีดิลอัฏฮา” และเหตุผลของการเรียกเช่นนั้นก็เนื่องจากคำว่า “อัฏฮา” เป็นพหูพจน์มีรากศัพท์มาจากคำว่า “ฎุฮา” หมายถึงยามสายของกลางวันหลังจากที่ดวงอาทิตย์ขึ้นสูงก่อนจะถึงเวลาเที่ยงวัน (ซุฮ์รี่) ช่วงเวลาดังกล่าวนี้เรียกว่า “ฎุฮา” ดังที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า

 

والشمس و ضحیها

 

“ขอสาบานด้วยดวงอาทิตย์ และช่วงเวลายามสายของมัน” (4)

 

     หลังจากที่ดวงอาทิตย์ขึ้นสูงแล้ว บรรดาฮุจญาจ (ผู้บำเพ็ญฮัจญ์) จะต้องเชือดสัตว์กุรบาน ดังนั้นสัตว์กุรบานจึงถูกเรียกว่า“อัฎฮิยะฮ์” หรือ “ฎ่อฮียะฮ์” ในทำนองเดียวกัน เนื่องจากในวันที่ 10 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ ประชาชนจะเชือดสัตว์กุรบานในช่วงก่อนเวลาเที่ยงวัน ดังนั้นจึงเรียกวันนี้ว่า “อีดิลอัฎฮา” ด้วยเช่นเดียวกัน

 

เชิงอรรถ :

 

(1) อัลกุรอาน บทอัซซอฟฟาต โองการที่ 102 ถึง 107

(2) ตัฟซีรมัจญ์มะอุลบะยาน เล่มที่ 3 หน้าที่ 314

(3) กันซุลอุมมาล เล่มที่ 7 หน้าที่ 287

(4) อัลกุรอาน บทอัชชัมซ์ โองการที่ 1

 

แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ