พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างชัยฏอน (มารร้าย) ขึ้นมาทำไม?


พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างชัยฏอน (มารร้าย) ขึ้นมาทำไม?

 

    บางคนอาจจะถามว่า ทำไมพระผู้เป็นเจ้าจึงทรงสร้างชัยฏอน (มาร) ขึ้นมา? เราต้องเข้าใจฮิกมะฮ์ (วิทยปัญญา) หรือเป้าหมายประการหนึ่งของการที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาในโลกนี้ มาใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ นั่นคือการทดสอบ การขัดเกลาและการพัฒนาจิตวิญญาณ

 

      ด้วยตำแหน่งที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงบรรยายไว้สำหรับท่านศาสดาอาดัม ( อ.) ในโองการต่างๆ ของอัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์ ท่านมีตำแหน่งที่สูงส่งยิ่งในแง่ของการรู้จักพระผู้เป็นเจ้า (มะอ์ริฟะฮ์) และความยำเกรง (ตักวา) ท่านเป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าในโลกนี้ เป็นครูของมวลมะลาอิกะฮ์ (ทูตสวรรค์) เป็นผู้ได้รับการกราบกราน (มัซญูด) โดยมวลมะลาอิกะฮ์ที่ยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า อาดัม (อ.) ผู้ซึ่งมีคุณลักษณะต่างๆ ดังกล่าวนี้ แน่นอนย่อมจะต้องไม่กระทำบาป ยิ่งไปกว่านั้นเราทราบดีว่า ท่านคือศาสดาของพระผู้เป็นเจ้า และศาสดาทุกท่านนั้นคือผู้บริสุทธิ์ปราศจากความผิดบาป(มะอ์ซูม)

 

فَأَزَلَّهُمَا الشَّیْطانُ عَنْها فَأَخْرَجَهُما مِمَّا كانا فِیهِ وَ قُلْنَا اهْبِطُوا بَعْضُكُمْ لِبَعْضٍ عَدُوٌّ وَ لَكُمْ فِی الْأَرْضِ مُسْتَقَرٌّ وَ مَتاعٌ إِلى حِینٍ

 

“แต่แล้วมารร้ายก็ได้ (ใช้อุบายหลอกล่อจน) ทำให้ทั้งสอง (อาดัมและฮาวา) ต้องพลาดพลั้งและทำให้เขาทั้งสองออกมาจากสวนสวรรค์ที่เขาทั้งสองเคยอยู่ และเราได้กล่าวว่า พวกเจ้าจงลงไปโดยต่างเป็นศัตรูต่อกันและกันเถิด และสำหรับพวกเจ้าจะมีที่พำนักในแผ่นดินและมีปัจจัยอำนวยสุขจวบจนถึงช่วงเวลาหนึ่ง”

 

(อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์ : โองการที่ 36)

 

ความผิดของศาสดาอาดัม (อ.) คืออะไร?

 

      เป็นที่ชัดเจนยิ่งว่า ด้วยตำแหน่งที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงบรรยายไว้สำหรับท่านศาสดาอาดัม ( อ.) ในโองการต่างๆ ของอัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์ ท่านมีตำแหน่งที่สูงส่งยิ่งในแง่ของการรู้จักพระผู้เป็นเจ้า (มะอ์ริฟะฮ์) และความยำเกรง (ตักวา) ท่านเป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าในโลกนี้ เป็นครูของมวลมะลาอิกะฮ์ (ทูตสวรรค์) เป็นผู้ได้รับการกราบกราน (มัซญูด) โดยมวลมะลาอิกะฮ์ที่ยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า อาดัม (อ.) ผู้ซึ่งมีคุณลักษณะต่างๆ ดังกล่าวนี้ แน่นอนย่อมจะต้องไม่กระทำบาป ยิ่งไปกว่านั้นเราทราบดีว่า ท่านคือศาสดาของพระผู้เป็นเจ้า และศาสดาทุกท่านนั้นคือผู้บริสุทธิ์ปราศจากความผิดบาป(มะอ์ซูม)

 

ดังนั้นจึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากอาดัมนั้นคืออะไร?

 

      ในที่นี่จะขอนำการอรรถาธิบายไว้สามประการ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เสริมความสมบูรณ์แก่กันและกันดังนี้ คือ

 

     1.สิ่งที่อาดัมได้ประกอบไว้นั้น คือ "การละทิ้งสิ่งที่ดีกว่า" (ตัรกุ้ลเอาลา) หรือกล่าวอีกสำนวนหนึ่งคือ "ความผิดในเชิงสัมพันธ์" (ซันบุน นิสบีย์) ไม่ใช่ “ความผิดทั่วไป” (ซันบุน มุฏลัก)

 

     ความผิดทั่วไปนั่นก็คือ ความผิดซึ่งไม่ว่าจะเกิดจากใครก็ตามถือว่าเป็นบาป และจะต้องได้รับโทษทัณฑ์ (ตัวอย่างเช่น การตั้งภาคี การปฏิเสธศาสนา การอธรรมและการล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น) และความผิดในเชิงสัมพันธ์นั้นก็คือ การกระทำ (อะมั้ล) บางอย่างแม้จะเป็นสิ่งอนุญาต (มุบาห์) หรือแม้แต่เป็นมุสตะฮับ (ศาสนาสนับสนุน) แต่สิ่งดังกล่าวไม่คู่ควรกับผู้ที่มีสถานะอันสูงส่ง บุคคลเหล่านั้นสมควรจะต้องหลีกเลี่ยงจากการกระทำ (อะมั้ล) ประเภทนี้ และกระทำในสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่า หากมิเช่นนั้นแล้วถือว่าพวกเขาได้ละทิ้งสิ่งที่ดีกว่า (ตัรกุ้ลเอาลา) ตัวอย่างเช่น การนมาซที่เราทั่วไปปฏิบัติกันนั้น ส่วนหนึ่งอยู่ในสภาพที่หัวใจมุ่งตรง (ฮุฎูรุลก๊อลบ์) แต่อีกบางส่วนอยู่ในสภาพที่หัวใจปราศจากความมุ่งตรง (ต่อพระเจ้า) สิ่งนี้เป็นเรื่องปกติสำหรับคนโดยทั่วไปอย่างเรา แต่ทว่าการนมาซที่มีลักษณะเช่นนี้จะไม่คู่ควรอย่างยิ่งกับผู้ที่มีสถานะสูงส่งอย่างเช่นท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) การนมาซของบุคคลระดับนี้จะต้องมีหัวใจมุ่งตรงต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างสมบูรณ์ แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นก็มิได้เป็นบาปแต่ประการใด แต่ถือว่าเขาได้ละทิ้งสิ่งที่คู่ควรกว่า (ตัรกุ้ลเอาลา) เพียงเท่านั้น

 

     ศาสดาอาดัม (อ.) เองก็เช่นกัน สมควรยิ่งที่เขาจะละทิ้งการรับประทานผลไม้นั้น แม้จะไม่เป็นที่ต้องห้าม (ถึงขั้นฮะรอม) สำหรับเขาก็ตาม แต่มันเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักโรห์)

 

     2.การห้ามของพระผู้เป็นเจ้าในที่นี้ คือการห้ามในเชิงชี้แนะ (นะฮ์ยุล อิรชาดีย์) กล่าวคือ เหมือนดังคำแนะนำของแพทย์ที่กล่าวว่า : ท่านอย่าบริโภคอาหารชนิดนั้น เพราะจะทำให้ท่านป่วย ทำนองเดียวกันนี้ พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสกับอาดัมว่า หากเจ้าบริโภคจากต้นไม้ต้องห้ามนี้ เจ้าจะต้องออกไปจากสวนสวรรค์ และจะต้องใช้ชีวิตด้วยความเจ็บปวดและทุกข์ทรมาน ดังนั้นอาดัมไม่ได้ฝ่าฝืนคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า ทว่าท่านเพียงแต่ไม่ปฏิบัติตามข้อห้ามที่เป็นคำแนะนำ (นะฮ์ยุล อิรชาดีย์) เท่านั้น

 

    3.โดยพื้นฐานแล้วสวนสวรรค์ไม่ใช่สถานที่ของการกำหนดภารกิจบังคับ (ตักลีฟ) แต่ทว่าเป็นช่วงเวลาของการทดสอบและการเตรียมความพร้อมของอาดัมที่จะลงมาสู่พื้นดิน และการห้ามดังกล่าวจึงเป็นลักษณะของการทดสอบเพียงเท่านั้น

 

จุดประสงค์ของชัยฏอน (มารร้าย) ในคัมภีร์อัลกุรอานคืออะไร?

 

     คำว่า "ชันฏอน" มาจากรากศัพท์ของคำว่า "ชัฏนุน" และ "ชาฏินุน" ซึ่งหมายถึง "ความชั่วร้ายและความเลวทราม" และคำว่า “ชัยฏอน” ยังหมายถึง สิ่งดำรงอยู่ที่ดื้อดึงและก่อการละเมิด ซึ่งครอบคลุมทั้งมนุษย์และญิน หรือแม้แต่สรรพสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และยังหมายถึงจิตวิญญาณที่ชั่วร้ายและออกห่างจากสัจธรรมอีกด้วย ซึ่งในความเป็นจริงทั้งหมดเหล่านี้จะย้อนกลับไปยังลักษณะที่มีร่วมกันในทุกสรรพสิ่ง

 

      อย่างไรก็ดี จำเป็นจะต้องกล่าวว่า คำว่า "ชัยฎอน" นั่นคือคำนามทั่วไป (อิสมุลญินซ์) ในขณะที่คำว่า "อิบลีส" คำนามหรือชื่อเฉพาะ (อิสมุลอะลัม) และกล่าวอีกสำนวนหนึ่งก็คือ คำว่า "ชัยฏอน" จะใช้กล่าวถึงสิ่งดำรงอยู่ที่ชั่วร้าย มีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบน ก่อการละเมิดและดื้อดึง ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือไม่ใช่มนุษย์ และคำว่า “อิบลีส” คือชื่อของ “ชัยฏอน” ผู้ซึ่งได้ล่อลวงอาดัมและขณะนี้ก็ยังคงคอยซุ่มจู่โจมและล่อลวงมวลมนุษย์ร่วมกับกองทัพและไพร่พลของมัน

 

     จากกรณีต่างๆ ของการใช้คำนี้ในคัมภีร์อัลกุรอานก็สามารถทำให้รับรู้ได้ว่า คำว่า “ชัยฏอน” จะใช้กล่าวถึงสิ่งดำรงอยู่ที่มีพฤติกรรมชั่วร้ายและเป็นอันตราย สิ่งดำรงอยู่ที่เบี่ยงเบนออกจากแนวทางที่ถูกต้อง และพยายามที่จะทำอันตรายและทำร้ายผู้อื่น เป็นสิ่งดำรงอยู่ที่พยายามจะสร้างความแตกแยก ความขัดแย้งและความเสียหายให้เกิดขึ้น ดังที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า

 

إِنَّما یُرِیدُ الشَّیْطانُ أَنْ یُوقِعَ بَیْنَكُمُ الْعَداوَةَ وَ الْبَغْضاءَ

 

“อันที่จริงชัยฏอนนั้นปรารถนาที่จะสร้างความเป็นศัตรูและความโกรธแค้นให้เกิดขึ้นในระหว่างพวกเจ้า”

 

(อัลกุรอานบทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 91)

 

      เมื่อพิจารณาถึงกรณีที่ว่า คำว่า " یرید" (ปรารถนา) คือคำกริยาปัจจุบันกาล (เฟี๊ยะฮ์ลุน มุฎอเรี๊ยะอ์) และบ่งบอกถึงความต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นถึงความหมายที่ว่า ความปรารถนาดังกล่าวนี้เป็นความปรารถนาแบบถาวรและมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

 

     และจากอีกด้านหนึ่งเราจะเห็นว่าในคัมภีร์อัลกุรอานคำว่า “ชัยฏอน” มิได้ถูกใช้กับสิ่งมีอยู่ใดๆ เป็นการเฉพาะ แต่ทว่าจะถูกใช้เรียกแม้แต่มนุษย์ที่ชั่วร้ายและเป็นผู้สร้างความเสียหายด้วยเช่นกัน ดังเช่นที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า

 

وَ كَذلِكَ جَعَلْنا لِكُلِّ نَبِیٍّ عَدُوًّا شَیاطِینَ الْإِنْسِ وَ الْجِنِّ

 

“และเช่นนั้นแหละ เราได้บันดาลให้ศาสดาทุกคนมีศัตรู ซึ่งเป็นชัยฏอน (มารร้าย) จากมนุษย์และญิน”

 

(อัลกุรอานบทอัลอันอาม : โองการที่ 112)

 

     และกรณีที่เรียกอิบลีสว่า “ชัยฏอน” (มารร้าย) หรือ “ซาตาน” ก็เนื่องมาจากความเสียหายและความชั่วร้ายที่มีอยู่ในตัวของเขา

 

     นอกจากนี้บางครั้งคำว่า “ชัยฏอน” ยังถูกใช้ในความหมายว่า "เชื้อโรค" ด้วย ตัวอย่างเช่นท่านอมีรุลมุอ์มินีนอะลี บินอะบีฎอลิบ (อ.) ได้กล่าวว่า

 

 لا تشربوا الماء من ثلمة الاناء و لا من عروته، فان الشیطان یقعد على العروة و الثلمة

 

“ท่านทั้งหลายอย่าดื่มน้ำจากบริเวณรอยแตกและจากหูจับของภาชนะ เพราะชัยฏอน (เชื้อโรค)จะอาศัยอยู่บริเวณหูจับและรอยแตกนั้น”

 

(อัลกาฟี, เล่มที่ 6, หมวดว่าด้วยอาหารและเครื่องดื่ม , หัวข้อเกี่ยวกับภาชนะ)

 

      และท่านอิมามซอดิก (อ.) ก็กล่าวไว้เช่นกันว่า

 

و لا یشرب من اذن الكوز، و لا من كسره ان كان فیه فانه مشرب الشیاطین

 

“....และเขาจะต้องไม่ดื่มน้ำจากบริเวณหูจับของเหยือกน้ำและบริเวณรอยแตกของมัน ในกรณีที่มันมีอยู่ เพราะแท้จริงมันคือสถานที่ดื่มของบรรดาชัยฏอน (เชื้อโรค)”

(อัลกาฟี, เล่มที่ 6, หมวดว่าด้วยอาหารและเครื่องดื่ม, หัวข้อเกี่ยวกับภาชนะ)

 

     มีรายงานจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านกล่าวว่า

 

     “พวกท่านอย่าปล่อยหนวดของตนเองไว้ให้ยาว เพราะชัยฏอน (เชื้อโรค) จะใช้มันเป็นสถานที่อาศัยและหลบซ่อนตน” (อัลกาฟี, เล่มที่ 6, หมวดว่าด้วยอาหารและเครื่องดื่ม, หัวข้อเกี่ยวกับภาชนะ)

 

     ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่ชัดเจนว่า หนึ่งในความหมายของคำว่า “ชัยฏอน” คือบรรดาเชื้อโรคที่เป็นพิษภัยและก่อให้เกิดอันตราย

 

      แน่นอนคำว่า “ชัยฏอน” มิได้หมายความถึงสิ่งนี้ในทุกที่ แต่จุดประสงค์ของคำว่า “ชัยฏอน” นั้นมีหลากหลายความหมายที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งหนึ่งในกรณีตัวอย่างของมันก็คือ “อิบลีส” ไพร่พลและบรรดาผู้ช่วยเหลือของมัน และอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ บรรดามนุษย์ผู้ที่ก่อความเสียหายและผู้ที่มีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบน และในบางกรณีอาจจะหมายถึง เชื้อโรคต่างๆ ที่ก่อให้เกิดอันตราย

 

เหตุใดพระผู้เป็นเจ้าจึงทรงสร้างชัยฏอนขึ้นมา?

 

     หลายคนอาจจะถามว่า ในเมื่อชัยฏอน (มารร้าย) เป็นสิ่งดำรงอยู่ที่ชอบล่อลวง ดังนั้นเพราะเหตุใดมันจึงถูกสร้างขึ้นมา และปรัชญาและเหตุผลของการมีอยู่ของมันคืออะไร? เราจะกล่าวตอบว่า

 

     ประการแรก : เริ่มแรกนั้นพระผู้เป็นเจ้ามิได้ทรงสร้างชัยฏอน (มารร้าย) ขึ้นมาเพื่อให้เป็นชัยฏอน แต่เนื่องจากเหตุผลที่ว่า เป็นเวลายาวนานหลายปีที่มันได้ใช้ชีวิตอยู่เคียงข้างบรรดามะลาอิกะฮ์ (ทูตสวรรค์) และอยู่ในสัญชาติญาณแห่งการสร้าง (ฟิฏเราะฮ์) อันบริสุทธิ์ และต่อมามันได้ใช้ประโยชน์จากความมีเสรีภาพของตนเองอย่างไม่ถูกต้อง และเริ่มก่อรากฐานแห่งการละเมิดและความดื้อรั้นของตนขึ้น ดังนั้นในช่วงเริ่มแรกมันถูกสร้างขึ้นมาในสภาพที่สะอาดบริสุทธิ์ และความเบี่ยงเบนออกจากทางนำนั้นเกิดจากความต้องการของตัวมันเอง

 

     ประการที่สอง : ในด้านของโครงสร้างของระบอบแห่งการสร้างนั้น การมีอยู่ของชัยฏอนมิได้เป็นอันตรายหรือโทษภัยใดๆ สำหรับผู้ที่มีความศรัทธามั่น (อีหม่าน) และผู้ที่มุ่งหวังที่จะเดินไปในเส้นทางแห่งสัจธรรม แต่ทว่ากลับจะเป็นสื่อของความเจริญก้าวหน้าและพัฒนาการสู่ความสมบูรณ์ (ตะกามุ้ล) ของพวกเขา ทั้งนี้เนื่องจากการพัฒนาและวิวัฒนาการสู่ความสมบูรณ์นั้นโดยทั่วไปแล้วมักจะเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งและสิ่งตรงข้ามกันเสมอ

 

      อีกสำนวนหนึ่งที่ชัดเจนกว่าก็คือ มนุษย์ตราบที่ยังมิได้เผชิญหน้ากับศัตรูที่แข็งแกร่งก็จะยังไม่ระดมพลังความสามารถและศักยภาพทางสติปัญญาของตนเองออกมาใช้งาน ด้วยกับการมีอยู่ของศัตรูที่แข็งแกร่งนี่เองที่จะเป็นสาเหตุทำให้มนุษย์เกิดการเคลื่อนไหวและขับเคลื่อนมากยิ่งขึ้นเท่าที่จะกระทำได้ และผลสุดท้ายแล้วจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าและพัฒนาการ (ตะกามุล) แก่มนุษย์

 

      หนึ่งในนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์ร่วมสมัยผู้หนึ่งได้กล่าวว่า “ไม่มีอารยธรรมที่รุ่งเรืองใดเกิดขึ้นในโลก เว้นแต่ประชาชาติหนึ่งที่ถูกรุกรานโดยกองกำลังต่างชาติ และด้วยผลของการรุกรานนี้ทำให้ประชาชาตินั้นได้ใช้ศักยภาพทางด้านสติปัญญาและความสามารถของตนเอง และวางรากฐานอารยธรรมอันรุ่งเรืองของตนเองขึ้น”

 

แง่คิดที่ได้รับจากโองการอัลกุรอาน

 

1.อันตรายของชัยฏอนอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนแม้จะมีความยิ่งใหญ่ก็ตาม ดังที่เกิดกับอาดัมและฮาวา

2.ชัยฏอนเป็นศัตรูกับเผ่าพันธุ์มนุษย์มาอย่างช้านาน เพราะมันได้ล่อลวงบิดาและมารดาคู่แรกของมนุษย์มาตั้งแต่วันแรก

3.โดยธรรมชาตินั้นมนุษย์เรามีโอกาสผิดพลาดและตกอยู่ในการกระซิบกระซาบของชัยฏอน (มารร้าย)

4.มนุษย์ทุกคนเนื่องจากพรสวรรค์และความสามารถที่เขามีอยู่ เขาควรจะเป็นชาวสวรรค์ แต่เนื่องจากการละเมิดฝ่าฝืนต่างๆ จะเป็นเหตุทำให้เขาออกจากสวรรค์

5.เราจำเป็นต้องเรียนรู้อุทาหรณ์จากการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระผู้เป็นเจ้า และผลลัพธ์อันแสนขมขื่นของการกระซิบกระซาบของชัยฏอน (มารร้าย) การตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของชัยฏอนมารร้ายเท่ากับเป็นการออกห่างจากตำแหน่งความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า และทำให้เราพลาดพลั้งจากสิ่งดีงามเหล่านั้น

6.ชีวิตในโลกนี้เป็นสิ่งชั่วคราวไม่จีรังยั่งยืน

 

      ฉะนั้นเหตุผลประการหนึ่งของการมีอยู่ของมาร (ชัยฏอน) ก็คือเป็นสื่อหนึ่งในการทดสอบมนุษย์ เพื่อให้เขาทำการต่อสู้ ขัดเกลาและยกระดับจิตวิญญาณของคนเอง พระองค์มิได้ทรงทอดทิ้งมนุษย์ให้อยู่ในสนามแห่งการทดสอบนี้โดยปราศจากอาวุธ อาวุธที่พระผู้เป็นเจ้ามอบให้แก่มนุษย์สำหรับการต่อสู้กับอุปสรรคและสิ่งกีดขวาง (อันได้แก่ การกระซิบกระซาบของมาร หรือกิเลสตัณหาและอารมณ์ใฝ่ต่ำ) ในเส้นทางแห่งความสำเร็จและการขัดเกลาตนนั้น คือ สติปัญญา (อักล์) และวิวรณ์จากฝากฟ้า (วะห์ยู) ที่ถูกนำมาแจ้งและสั่งสอนแก่มนุษย์โดยปวงศาสดาและบรรดาอิมาม (ผู้นำ) แห่งพระผู้เป็นเจ้า ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ได้กล่าวว่า

 

إِنَّ لِلَّهِ عَلَى النَّاسِ حُجَّتَيْنِ حُجَّةً ظَاهِرَةً وَ حُجَّةً بَاطِنَةً فَأَمَّا الظَّاهِرَةُ فَالرُّسُلُ

وَ الْأَنْبِيَاءُ وَ الْأَئِمَّةُ ع وَ أَمَّا الْبَاطِنَةُ فَالْعُقُول

 

"แท้จริงอัลลอฮ์ทรงมีข้อพิสูจน์สองประการสำหรับมนุษย์ คือข้อพิสูจน์ด้านนอกและข้อพิสูจน์ด้านใน (ของมนุษย์) ข้อพิสูจน์ด้านนอกนั้นคือบรรดาศาสนทูต บรรดาศาสดาและบรรดาอิมาม (ผู้นำ) และข้อพิสูจน์ด้านในคือสติปัญญา"

 

(อัลกาฟี เล่มที่ 1หน้าที่ 16)

 

     ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์ดำรงตนอยู่ในความดีงามและย่างก้าวไปในเส้นทางของความสมบูรณ์ทางด้านจิตวิญญาณได้นั้น คือการอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า การรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า แต่เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ออกห่างจากพระผู้เป็นเจ้า หลงลืมจากการรำลึกถึงพระองค์ ก็จะเป็นโอกาสของมาร (ชัยฏอน) ที่จะพิชิตเหนือพวกเขา ทำให้เขาหมกมุ่นและหลงระเริงอยู่กับวัตถุและชีวิตทางโลก กระทั่งว่าบางครั้งการกระทำที่ชั่วร้ายจะถูกประดับประดาแก่เขาให้เห็นเป็นสิ่งที่สวยงาม

 

وَمَن يَعْشُ عَن ذِكْرِ الرَّحْمَٰنِ نُقَيِّضْ لَهُ شَيْطَانًا فَهُوَ لَهُ قَرِينٌ وَإِنَّهُمْ لَيَصُدُّونَهُمْ عَنِ السَّبِيلِ وَيَحْسَبُونَ أَنَّهُم مُّهْتَدُونَ

 

"และผู้ใดหันหลังจากการรำลึกถึงพระผู้ทรงเมตตา เราจะกำหนดชัยฏอน (มาร) ตัวหนึ่งแก่เขา แล้วมันก็จะเป็นสหายร่วมเคียงของเขา และแท้จริงพวกมันจะขัดขวางพวกเขาจากทางที่ถูกต้อง แต่พวกเขาคิดว่า พวกเขานั้นเป็นผู้ได้รับทางนำแล้ว"

 

(อัลกุรอานบท อัซซุครุฟ โองการที่ 36 และ 37)

 

لَقَدْ أَرْسَلْنا إِلى أُمَمٍ مِنْ قَبْلِكَ فَزَینَ لَهُمُ الشَّیطانُ أَعْمالَهُم

 

"โดยแน่นอนเราได้ส่ง (บรรดาศาสนทูต) ไปยังประชาชาติต่างๆ ก่อนหน้าเจ้า แต่แล้วชัยฏอนได้ประดับประดาการงานของพวกเขาให้ดูสวยงามแก่พวกเขา"

 

(อัลกุรอานบทอันนะห์ลุ โองการที่ 63)

 

    บางคนอาจจะถามว่า ทำไมพระผู้เป็นเจ้าจึงทรงสร้างชัยฏอน (มาร) ขึ้นมา? เราต้องเข้าใจฮิกมะฮ์ (วิทยปัญญา) หรือเป้าหมายประการหนึ่งของการที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาในโลกนี้ มาใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ นั่นคือการทดสอบ การขัดเกลาและการพัฒนาจิตวิญญาณ

 

الَّذِي خَلَقَ الْمَوْتَ وَالْحَيَاةَ لِيَبْلُوَكُمْ أَيُّكُمْ أَحْسَنُ عَمَلًا

 

"(พระองค์คือ) ผู้ทรงสร้างความตายและการมีชีวิตอยู่ เพื่อพระองค์จะทรงทดสอบพวกเจ้าว่า ผู้ใดในหมู่พวกเจ้าที่มีการกระทำ (ผลงาน) ที่ดีงามยิ่ง"

 

(อัลกุรอานบทอัลมุลก์ โองการที่ 2)

 

เรียบเรียงโดย : อามินะฮ์ อิสฟันยอรี