เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ท่านอิมามฮุเซน (อ) มีบุตรสาวชื่อ “รุก็อยยะฮ์” จริงหรือไม่?

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ท่านอิมามฮุเซน (อ) มีบุตรสาวชื่อ “รุก็อยยะฮ์” จริงหรือไม่?


บางคนอาจสงสัยว่า ท่านหญิงรุก็อยยะฮ์ บุตรสาวของท่านอิมามฮุเซนมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่? และมีการพยายามที่จะแพร่ขยายข้อสงสัยดังกล่าวให้กระจายไปในสังคม


ขณะที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์สำคัญอย่างวีรกรรมแห่งกัรบะลา ที่แสดงให้เห็นถึงคุณงามความดีของบรรดาวีรบุรุษทั้งหลายนั้น บางครั้งก็พลาดโอกาสที่จะนำเสนอเรื่องราวของเยาวชนผู้หาญกล้าอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะเรื่องราวของท่านหญิงรุก็อยยะฮ์นั้น เกือบจะกลืนหายไปในเรื่องราวของอิมามฮุเซน(อ.)และเหล่าวีรชนในกัรบะลาท่านอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เอง ตำราทางประวัติศาสตร์จึงมิได้กล่าวถึงบุตรสาววัยเยาว์ของท่านอิมามฮุเซน(อ.) ที่มีนามว่ารุก็อยยะฮ์ ทว่าตำราที่เกี่ยวกับเหตุการณ์กัรบะลาได้อ้างถึงคำพูดของอิมามฮุเซน(อ.)ว่า

 

یا أختاه یا أم کلثوم ویا زینب ویا رقیة ویا فاطمة ویا رباب، أنظرن إذا أنا قتلت فلا تشققن علی جیباً و لا تخمشن علی وجهاً ولا تقلن علی هجراً

"โอ้น้องสาวของพี่ โอ้อุมมุกุลษูม และโอ้ซัยนับ และโอ้รุก็อยยะฮ์ และโอ้ฟาฏิมะฮ์ และโอ้ รุบาบ! พวกเจ้าจงดูเถิด! มาตรว่า ข้าถูกสังหารแล้วไซร้ ก็จงอย่าทุกข์ระทมถึงขั้นต้องฉีกเสื้อผ้าเลย และอย่าได้ขีดข่วนบนใบหน้า อีกทั้ง อย่ากล่าวคำพูดที่ไม่เหมาะสมให้กับข้า"(1)(2)


เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาดังกล่าวนี้ คงยากที่จะเชื่อว่าท่านอิมามฮุเซนปรารภเช่นนี้กับเด็กหญิงวัยสามหรือสี่ขวบ


อีกฮะดีษหนึ่งรายงานว่า ท่านอิมามฮุเซนกล่าวว่า

 

"اَلا یا زِینَب، یا سُکَینَة! یا وَلَدی! مَن ذَا یَکُونُ لَکُم بَعدِی؟ اَلا یا رُقَیّة وَ یا اُمِّ کُلثُومِ! اَنتم وَدِیعَةُ رَبِّی، اَلیَومَ قَد قَرَبَ الوَعدُ"

 

"โอ้ซัยนับ โอ้สะกีนะฮ์ โอ้ลูกของพ่อ ใครจะอยู่กับพวกเจ้า ภายหลังจากข้าเล่า? โอ้รุก็อยยะฮ์ โอ้อุมมุกุลษูม พวกเจ้าทุกคน คือ อะมานะฮ์(ของฝาก)จากพระเจ้า บัดนี้ใกล้เวลาที่สัญญาไว้แล้ว"(3)


จากเนื้อหาข้างต้น เป็นไปได้ว่า รุก็อยยะฮ์ในฮะดีษนี้ ก็คือ รุก็อยยะฮ์ วัยสามปี นั่นเอง


อย่างไรก็ดี ตำราที่เก่าแก่ที่สุดที่ได้บันทึกเกี่ยวกับเรื่องราวของเด็กหญิงวัยสามหรือสี่ปีคนนี้ก็คือ หนังสือ "กามิลอัลบะฮาอี" เขียนโดย อิมาดุดดีน อัฏเฏาะบะรี หนังสือเล่มนี้รายงานว่า "อิมามฮุเซน(อ.)มีบุตรสาววัยสี่ปีอยู่หนึ่งคน  ซึ่งถวิลหาพ่อเป็นอย่างยิ่ง คืนหนึ่งเธอฝันว่าได้นั่งอยู่เคียงข้างพ่อ เมื่อตื่นขึ้นมาจึงเรียกหาพ่อว่า "พ่อจ๋า พ่ออยู่ไหนหรือ หนูทนไม่ไหวแล้ว" พี่ป้าน้าอา ถามว่า "หนูฝันเห็นอะไรหรือ?" เธอตอบว่า "หนูนั่งข้างๆพ่อ และพ่อกอดหนู" เมื่อยะซีดได้ยินเสียงกรีดร้อง จึงสั่งการว่า "ทหาร! จงนำหัวของพ่อไปให้เด็กดูหน่อยซิ" เมื่อหนูน้อยเปิดผ้าคลุมถาดออกและเห็นศีรษะของพ่อในนั้น เธอก็กรีดร้องและสิ้นใจไปในที่สุด"(4)


อย่างไรก็ตาม บรรดาอุละมาอ์ นักวิชาการศาสนาต่างเชื่อว่า เด็กหญิงคนนี้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ โดยพิสูจน์จากเบาะแสบางประการ ผู้ประพันธ์หนังสือ “บุคลิกภาพของอิมามฮุเซน(อ.)”  ได้สอบถามจากท่านอายะตุลลอฮ์มัรอะชี นะญะฟี ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และสายรายงานฮะดีษถึงเรื่องนี้ ท่านตอบว่า "แม้ว่าตำราที่มีชื่อเสียงจะไม่ได้กล่าวถึงเด็กน้อยคนนี้ แต่เรื่องดังกล่าวก็แพร่หลายเกินกว่าที่จะปฏิเสธได้"(5)


นิตยสาร ซาอิร จัดพิมพ์โดย ออสทอเน กุดส์ เราะเฎาะวี ฉบับที่ 135, เดือนอิสฟันด์ 1384 นำเสนอเรื่องเล่าที่น่าสนใจเกี่ยวกับกุโบร์ของท่านหญิงรุก็อยยะฮ์ไว้ โดยมีเนื้อหาโดยสังเขปดังนี้


 "อายะตุลลอฮ์ มีรซา ฮาชิม โครอซานี เล่าว่า ท่านเชคมุฮัมมัด อะลี อัชชามี ผู้รู้แห่งนครนะญัฟเล่าให้ฉันฟังว่า ตาของเขาที่ชื่อ ซัยยิด อิบรอฮีม อัดดิมัชกี (ซึ่งมีอายุมากกว่าเก้าสิบปี และสืบเชื้อสายถึงซัยยิดมุรตะฎอ) ท่านมีลูกสาวสามคน คืนหนึ่ง ลูกสาวคนโตฝันเห็นท่านหญิงรุก็อยยะฮ์ โดยท่านหญิงมาขอให้ช่วยไปบอกพ่อให้แจ้งแก่ผู้ว่าฯว่า มีน้ำซึมเข้ามาในกุโบร์ของฉัน และต้องได้รับการซ่อมแซม ลูกสาวเล่าให้ท่านฟัง แต่ท่านมิได้คิดจะจัดการใดๆ เพราะเกรงว่าจะเดือดร้อน (เนื่องจากผู้ว่าฯถือตามมัซฮับอื่น) ลูกสาวฝันเช่นนี้ถึงสามคืนติดกัน กระทั่งคืนที่สี่ ท่านซัยยิดฝันเห็นด้วยตนเองว่าท่านหญิงรุก็อยยะฮ์ปรารภอย่างฉุนเฉียวว่า ทำไมท่านไม่ไปแจ้งแก่ผู้ว่าฯให้มาซ่อมแซมกุโบร์เล่า? รุ่งขึ้นท่านจึงไปหาผู้ว่าฯและเล่าความฝันให้เขาทราบ ผู้ว่าฯเรียกประชุมอุละมาอ์ซุนนีและชีอะฮ์ และขอให้ทุกคนอาบน้ำฆุซุลและเตรียมตัวเปิดกุญแจสุสาน โดยหากใครสามารถเปิดได้ก็ให้รับหน้าที่ขุดหลุมและนำศพออกมา ปรากฏว่าซัยยิดอิบรอฮีมเท่านั้นที่เปิดได้ เมื่อเข้าไปก็พบว่าน้ำซึมเข้ามาจริงๆ ท่านจึงวางศพเด็กน้อยไว้บนตักของตนถึงสามวันติดต่อกัน ระหว่างนี้ท่านก็ร่ำไห้ตลอดเวลา และเมื่อถึงเวลานมาซ ท่านก็ประคองศพไปวางบนผ้าขาวบริสุทธิ์ หลังนมาซเสร็จจึงประคองศพวางบนตักเช่นเดิม โดยในระหว่างการซ่อมแซมกุโบร์สามวันนี้ ซัยยิดไม่หิวกระหาย และไม่ง่วงนอนเลย หลังจากสามวันจึงได้บรรจงวางศพในกุโบร์ที่ซ่อมเสร็จแล้วดังเดิม และในวันที่ 23 เดือนรอบีอุษษานี ฮ.ศ.1323  ฮัจยีมีรซา อะลี อัศฆ็อร อะตาเบก อะมีนุสซุลฏอน สมุหนายกของอิหร่านเป็นผู้ปฏิสังขรกุโบร์ และตกแต่งเสร็จในปีฮ.ศ. 1419 โดยช่างฝีมือชาวอิหร่านและใช้วัสดุจากประเทศอิหร่าน

 

แหล่งอ้างอิง


[1] อิบนิฏอวูส, อบุลกอซิม อบุลฮะซัน บิน สะอ์ดุดดีน, อัลลุฮู้ฟ อะลา ก็อตลัต ฏุฟู้ฟ, หน้า 141 สำนักพิมพ์โอสเวะฮ์, กุม, พิมพ์ครั้งแรก, และ อะอ์ลามุ้ลวะรอ, หน้า 236


[2] คัดจากระเบียน ผลวิจัยทัศนะทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับท่านหญิงรุก็อยยะฮ์ (อ.)


[3] คณะผู้เขียน, สารานุกรมพจนารถอิมามฮุเซน (อ.), หน้า 511, สำนักพิมพ์ ดารุลมะอ์รู้ฟ, กุม, พิมพ์ครั้งแรก


[4] อิมาดุดดีน เฏาะบะรี, กามิล บะฮาอี, เล่ม 2, หน้า 179 (ศตวรรษที่หกฮ.ศ.) (หนังสือเล่มนี้ประพันธ์โดยผู้รู้ที่เลื่องชื่อ เชค อิมาดุดดีน ฮะซัน บิน อลี บิน มุฮัมมัด เฏาะบะรี ถือแนวอิมามียะฮ์ ซึ่งประพันธ์มอบแด่บะฮาอุดดีน ผู้ครองนครอิศฟะฮานในยุคฮุลากูคาน. ใน:  ญะวาด มุฮัดดิษี, ปทานุกรมอาชูรอ, หน้า 200 เรื่องราวดังกล่าวของรุก็อยยะฮ์รายงานจากมุนตะฮัลอาม้าลของเชคอับบาส กุมี, หน้า 437 เนื้อหาเดียวกันนี้มีรายงานใน ตารีค อัลฟี, หน้า 861, ส่วนหนังสือ มะอาลิสซิบฏ็อยน์, เล่ม 2, หน้า 127 ก็ระบุว่าเด็กหญิงคนนี้ชื่อรุก็อยยะฮ์


[5] บุคลิกภาพของอิมามฮุเซน (อ.), หน้า 615

ขอขอบคุณที่มา เว็บไซต์อิสลามเควสท์

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม