เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

มัจญลิสอิมามฮูเซน (อ.)ปรมัตถ์แห่งการพลี สดุดีอาชูรอ(3)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

มัจญลิสอิมามฮูเซน (อ.)ปรมัตถ์แห่งการพลี สดุดีอาชูรอ(3)


โดยฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี

 

อัตลักษณ์ของบุคคลที่มีศักยภาพ

 

ตัวบ่งชี้ลักษณะเฉพาะของบุคคลที่มีคุณภาพทางศาสนา แน่นอน ย่อมหมายถึง บุคคลที่มีศักยภาพ ซึ่งหากจิตวิญญาณของเราเข้าใจบริบทนี้ กรณีหากเราทำได้ แม้ในสนามรบ เราก็ต้องอยู่แถวหน้า แม้ในสนามแห่งการเสียสละ เราก็ต้องอยู่แถวหน้า และเช่นกันแม้อยู่ในสนามแห่งการภักดีเราก็ต้องอยู่แถวหน้า ซึ่งความหมายโดยรวมของอัตลักษณ์นี้ เราเรียกว่า ผู้ศรัทธาที่แท้จริง

 

เพื่อให้รู้ว่า ศาสนานี้ ไม่ได้หมายความว่า เป็นศาสนาที่ผ่านไปวันๆ อยู่กับการ ก้มๆเงยๆ ดังนี้แล้ว วีรกรรมแห่งกัรบาลานี้ จึงบอกสิ่งต่างๆเหล่านี้ มาเป็นแบบอย่าง และอัลลอฮ์ (ซบ.) ก็เชิญชวนเข้าสู่สิ่งนี้ ซึ่งหากสังเกตในรายละเอียด จะเห็นว่า เรื่องอื่น อัลลอฮ์(ซบ)ไม่ได้บอกให้เรารีบ


ทว่ามีอยู่เรื่องเดียวที่เอกองค์อัลลอฮ(ซบ) บอกให้เรารีบ คือ “วัซซา บีกูน อิลา มัฆฟิเราะฮฺ” ความหมาย ให้เรารีบแซงกัน แข่งขันกัน ไปยัง มัคฟีรัตของอัลลอฮ์ ซึ่งหมายถึงไปยังความโปรดปราน การอภัย และความเมตตาของพระองค์

เพื่อย้ำว่า เรื่องนี้ให้แข่งกัน ให้กระตือรือร้น แซงกัน

ซึ่งในอัลกรุอานบอก มีเรื่องนี้เรื่องเดียวที่สนับสนุนให้มนุษย์มีการแข่งขัน คือ เรื่องของความดี และไม่ได้บอกประเภทของความดี แต่พระองค์บอกว่า “ซาบีกูน อิลามัฆฟิเราะฮฺ” ด้วยการแซงกัน แข่งกันไปยังมัฆฟิรัตของอัลลอฮฺ หมายความว่า “อะไรที่เป็นความดีทั้งหมดจะอยู่ในมัคฟีเราะฮ์

นัยยะคือ การทำความดีทุกประเภทโดยแข่งขันซึ่งกันและกัน โดยเน้นให้มนุษย์แย่งชิงกันทำความดี แต่ไม่ใช่แย่งชิงกันทำความชั่ว” เหล่านี้ทั้งหมด เป็นความหมายแห่ง อูบูดียะฮ์ ที่บทสรุปของมัน คือ การเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) อย่างแท้จริง

เห็นได้ว่า ภารกิจของศาสดาทั้งหมดก็มาเพื่อสิ่งนี้ (การนำมนุษย์เข้าสู่อูบูดียะฮ์ต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) อย่างแท้จริงและอย่างสมบูรณ์) นี่คือความยิ่งใหญ่ ที่เป็นความแตกต่างโดยสิ้นเชิงระหว่างภารกิจของศาสดากับภารกิจของนักสู้ , นักปฏิวัติ และ นักปฏิรูปอื่นๆ

ภารกิจหลักของศาสดา

ภารกิจแรกของศาสดา คือ การนำมนุษย์ทุกคนไปสู่ อูบูดียะห์ ต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) อย่างแท้จริง ในขณะที่อิบลิสจะเน้นเลือกปฏิบัติอิบาดัตบางอย่าง

วิธีตรวจสอบอิบาดัต

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า อิบาดัตของเราไม่ได้ไปสู่การเป็นอิบลิส แต่กำลังมุ่งไปสู่อูบูดียะฮ์ของอัลลอฮ(ซบ)

สมมติ

๑.ถ้าเราละหมาดแล้ว เรายังมีความขี้ขลาดหวาดกลัวอยู่ อิบาดัตของเราก็ไม่แตกต่างจากอิบลิส

๒.ถ้าเราละหมาดอย่างเคร่งครัด แต่เรายังมีความตระหนี่ถี่เหนียว เราก็ไม่ต่างไปจากการอิบาดัตของอิบลิส

คำอธิบาย : ความหวาดกลัว และ ความตระหนี่ถี่เหนียว คือ จุดดำของเรา ดั่งอิบลิสที่มันมีจุดดำ ทั้งๆที่มันละหมาดมา 6,000 ปี แต่ยังคงมีความอิจฉา ยังคงมีความตะกับโบร ยังมีอะไรต่างๆอยู่ในตัวมัน

เห็นได้ว่า แม้มันจะทำอิบาดัตมาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 6,000 ปี แต่อิบาดัตที่มันทำไม่ได้ชำระล้างสิ่งสกปรกทางจิตวิญญาณให้กับมัน ซึ่งเมื่อเทียบกับระยะเวลาแล้วไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรกับมันเลย

บริบทนี้ เพื่อให้รู้ว่า ในอิสลาม เรื่องการขัดเกลาตนเองเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ชี้ไปถึงบุคคลที่ไม่ได้รับเตาฟิกในการร่วมขบวนการของอิมามฮุเซน(อ) ก็คือ บุคคลที่ไม่ประสบความสำเร็จในการขัดเกลาตนเอง และไม่ได้ขัดเกลาจิตวิญญานในทุกๆเรื่อง

วีรชนแห่งกัรบาลา คือ ผู้ที่หลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง

ในเรื่องการดำเนินชีวิตของวีรชนแห่งกัรบาลา รีวายัต รายงานว่า พวกเขาคือ ผู้ที่หลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความเห็นแก่ตัว ความขี้ขลาดหวาดกลัว ความตระหนี่ถี่เหนียว อะไรทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งได้อธิบายหมดแล้ว

ทีนี้ มองกลับมายังพวกเรา ถ้าเรายังมีสิ่งเหล่านี้อยู่และไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงมัน เราไม่อายหรือที่มานั่งร้องไห้กับอิมามฮูเซน (อ.) เรามานั่งร้องให้กับท่านหญิงซัยหนับ(อ) เรามานั่งร้องให้กับท่านหญิงรูกัยยะฮ์ ร้องให้กับท่านหญิงสุกัยนา ร้องไห้ให้กับโฮร กับญูน (ทาสผิวดำ) รวมไปถึงวีรชนท่านอื่นๆ

บารอกัตที่ได้จากบทเรียนแห่งกัรบาลา

กัรบาลา คือ บทเรียนแห่งการปรับปรุงตนเอง

กัรบาลา คือ บทเรียนในการเปลี่ยนแปลงทุกแง่มุมของชีวิต

ตัวอย่าง เรื่องราวของ ฮูร

ฮูร เป็นแม่ทัพ และ เป็นชะฮีดคนแรกในกัรบาลา ซึ่งก่อนที่จะเป็นชะฮีด ฮูรเป็นแม่ทัพที่ยะซีดส่งมาปิดล้อมเพื่อฆ่าอิมามฮูเซน(อ) ที่กัรบาลา โดยยะซีดมาพร้อมกับคำสั่งให้ฮูรปิดล้อมฮูเซนและคาราวานของเขาในจุดที่ไม่มีน้ำกิน (ในจุดที่เขาไปไม่ถึงน้ำ)

และฮูรเป็นคนเลือกแผ่นดินนี้เพื่อล้อมอิมามฮูเซน(อ)และกองคาราวาน ซึ่งในอดีตแผ่นดินตรงนี้ เดืมชื่อ “นัยนาวา” (กัรบาลาในปัจจุบัน) ซึ่งเราควรจะรู้จักไว้บ้าง เพราะในบางครั้งจะมีการกล่าวถึงในบทกวี บทรำพัน ในนาม “นัยนาวา” เป็นชื่อโบราณที่รากศัพท์มาจากภาษาฟาร์ซี

ทว่าหลังจากฮูรได้ล้อมไว้ตรงจุดนั้น ต่อมา ฮูรรู้ความจริง และเมื่อฮูรพบสัจธรรม ฮูรจึงพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงโดย เริ่มด้วยการสละทั้งหมดทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่

 

สาระศึกษา :


 เรื่องราวของฮูร มันไม่ใช่เพียงที่กัรบาลา มันไม่ใช่เรื่องของการบริจาคเงิน ทว่ามันเป็นเรื่องของการบริจาคทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในชีวิต ความสุข การสละตำแหน่งแม่ทัพ

คำอธิบาย : เมื่อเข้าใจสัจธรรม เมื่อถึงเวลาที่ต้องพลีก็พร้อมที่จะพลี เพราะการปฏิเสธยะซีด ก็คือ การปฏิเสธแม่ทัพในยุคนั้น ซึ่งการเป็นแม่ทัพในอดีต หากผู้ใดปฏิเสธ เท่ากับเขาปฏิเสธทั้งหมด รวมไปถึงการปฏิเสธความสุขทั้งหมดที่มีอยู่ในชีวิต โดยพร้อมเข้าสู่ความตาย อย่างไม่หวั่น ไม่สนใจ ไม่พะวงเกี่ยวกับการงานและทรัพย์สมบัติใดๆทั้งสิ้น

ข้อสังเกต : คุณลักษณะความโดดเด่นของโฮร

ในเรื่องการละหมาด

“ฮูร” เป็นคนที่เคร่งครัดในการละหมาด และหนึ่งความบารากัตที่ได้รับจากการเปลี่ยนแปลงตนเอง คือ เมื่อถึงเวลาละหมาด ในขณะที่เป็นผู้ปิดล้อมอิมามฮูเซน (อ) ทว่าก่อนวันอาชูรอเมื่อถึงเวลาละหมาด ฮูรกลับขออนุญาตนมาซร่วมกับอิมามฮูเซน (อ)

เห็นได้ว่า นี่คือ ความบารอกัตหนึ่งที่ฮูรได้

 

สาระศึกษา :


 สิ่งที่ต้องการเน้นเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องการทำอิบาดัต

ก่อนนี้ กองทัพยะซีดไม่ได้เป็นกองทัพกาเฟร เพราะส่วนมากในสนามรบเขานมาซทุกคน ทว่าส่วนระดับหัวๆ ที่ชั่วๆที่ไม่นมาซนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

กลับมาเรื่องฮูร หากศึกษาจะพบสิ่งที่น่าสนใจ คือ ฮูรได้ขอละหมาดร่วมกับอิมามฮูเซน(อ) และหลังจากได้ฟังเรื่องราวที่มาที่ไปของอิมามฮูเซน(อ) อะไรทั้งหมด ฮูรเข้าใจบริบท จึงเปลี่ยนแปลงได้ในทันที

ทีนี้ เมื่อเปรียบเทียบเรื่องของอิบลิส พบว่า ในขณะอิบลิส 6,000 ปีที่มันทำการอิบาดัตต่ออัลลอฮ์ (ซบ). ทว่ามันเปลี่ยนแปลงตนเองไม่ได้ ซึ่งพิสูจน์ได้จาก เมื่ออัลลอฮ์ (ซบ.) บอกอิบลิส ว่า...

”มีสิ่งถูกสร้างใหม่ ที่ดีกว่าเจ้า ที่เหนือกว่าเจ้า พัฒนาได้ไกลกว่าเจ้า เจ้าจะต้องยอมรับเขา เจ้าจะต้องสูญูดต่อเขา เมื่อเจ้าสูญูดต่อฉัน (อัลลอฮ์)และฉันสั่งให้เจ้าสูญูดต่อสิ่งอื่นเจ้าก็ต้องสูญูด”

ในชีวิตของเรา มีสิ่งมากมายที่เราไม่ยอมสูญูดตามคำสั่งของเอกอัลลอฮ์(ซบ) โดยเนื้อหาของบทเรียนจากกัรบาลา จะออกมาในทางของอัคลาค ดังนี้

สมมติ เรื่อง อิบาดัตของมุสลีมะฮ์

เราสูญูดอัลลอฮ์(ซบ) แต่เมื่ออัลลอฮ์บอกให้ตออัตสามี แต่เราไม่ตออัต

คำอธิบาย : คำว่า “เราไม่ตออัต” แปลว่า เราไม่สูญูดต่อคำสั่งนี้

ตรงนี้ ขอให้กุลสตรีทั้งหลายที่ไม่ค่อยตออัตต่อสามีตั้งใจศึกษาไว้ให้ดี ในคำสั่งใช้จากอัลลอฮ์ ที่ให้ตออัตสามี เมื่อใดก็ตามที่เราไม่ตออัตสามีให้ระวัง

คำถาม : การตออัตต่อสามีเป็นคำสั่งขอใคร

คำตอบ : เป็นคำสั่งของของอัลลอฮ์(ซบ) ดังนั้น พึงรู้เถิดว่า เมื่อไม่รับคำสั่งนี้ ก็เท่ากับไม่ต่างจากอิบลิสที่ไม่ยอมสูญูด แต่เรากลับด่าอิบลิสอยู่ทุกวัน ซึ่งความจริงแล้วอิบลิสนั้นไม่สูญูดเพียงครั้งเดียวและเรื่องเดียว และเพื่อให้รู้ว่าในชีวิตของเราที่ไม่สูญูดต่ออัลลอฮ์(ซบ)มีมากขนาดไหน ก็ต้องไคร่ครวญ ลองนับดูกันไป

ตัวอย่างต่อมา

คนที่ต้องจ่ายคุมุส และไม่จ่ายคุมุส ถามว่าคำสั่งให้จ่ายคุมุส คือ คำสั่งของใคร

คำตอบ ชัดแจ้ง เป็นคำสั่งของอัลลอฮ์

ดังนั้น การไม่จ่ายคุมุส ก็คือ การไม่ยอมสูญูดให้กับคำสั่งนี้ และมีสิ่งต่างๆมากมาย ที่เราสามารถเอาไปเปรียบเทียบกันเอง

และด้วยกับเหตุผลนี้ที่บรรดาศาสดาทั้งหมด จึงมาเพื่อทำภารกิจอันนี้ ซึ่งจริงๆแล้วเป็นภารกิจที่ยากที่สุด ดั่งในซูเราะฮ์ อัลนะฮ์ล์ อายะฮ์ที่ 36 อัลลอฮ์ (ซบ) ทรงตรัสว่า


وَلَقَدْ بَعَثْنَا فِي كُلِّ أُمَّةٍ رَّسُولًا
 

“และโดยแน่นอน เราได้ส่งรอซูล (ทูต)มาในทุกประชาชาติ”

คำอธิบาย : ทุกๆประชาชาติ ทุกๆอุมมะฮ์ เราส่งรอซูลไปแล้ว บางโองการใช้คำว่านบี บางโองการใช้คำว่า นาศิร

ซึ่งคำว่า “นบี” หรือ “นาศิร” ความหมายหนึ่ง คือ สาส์นนั้นอาจจะเป็นสาส์นจำเพาะ สาส์นนั้นอาจจะเป็นสาส์นที่ไม่สมบูรณ์แบบเต็มๆ แต่ถ้าบอกว่า รอซูล คือ การมาที่มากับระบบระเบียบที่สมบูรณ์ มีสาส์น มีรีซาละฮ์ที่สมบูรณ์ และอัลลอฮ์ (ซบ.) ก็ยืนยันว่าทุกๆ ประชาชาติ แท้จริงเราได้ส่งสำหรับทุกๆประชาชาติไปยังพวกเขา คือ รอซูล

หลังจากนั้นอัลลอฮ์ ซบ. ก็ได้บอกถึงภารกิจของรอซูลว่ามีหลายภารกิจ แต่ภารกิจสำคัญ ภารกิจหลัก คือ

 

أَنِ اعْبُدُوا اللَّهَ
 

(โดยบัญชาว่า) “พวกท่าจงเคารพภักดีอัลลอฮ์”

หมายความว่า การนำมนุษย์สู่อูบูดียะฮ์ต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเมื่อแปลไทยแล้ว ความหมายอาจจะกร่อยลงเล็กน้อย แต่ทั้งนี้ การทำการภักดีต่ออัลลอฮ์ นำมนุษย์สู่อูบูดียะฮ์ต่อพระองค์ และความหมายของอูบูดียะฮ์เราก็ได้อธิบายแล้ว

ดังนั้น ตลอดชีวิตของเรา จงปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์ และตลอดชีวิตของเรา จงปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของพระองค์ ซึ่งคำว่า สูญูด ณ ที่นี้ ก็คือการปฏิบัติตาม และต้องทำความเข้าใจ คำว่า สูญูด ให้ถ่องแท้ด้วยว่า มันไม่ได้หมายถึง การก้มลงไปเอามือไปสัมผัสดินอย่างเดียว แต่สูญูดนี้ ยังรวมถึง “การ ศิโรราบ” คือยอมรับ ปฏิบัติตามในคำสั่งจากเอกองค์อัลลอฮ (ซบ)ทั้งหมด

ประโยคต่อมา

 

وَاجْتَنِبُوا الطَّاغُوتَ
 

“และจงหลีกหนีให้ห่างจากพวกเจว็ด”

คำอธิบาย: ที่นบีทุกคนลงมาเพื่อภารกิจนี้ คือ นำมนุษย์ให้ออกจากตอฆูต โดยให้มนุษย์ออกจากอูบูดียะฮ์ของตอฆูต

ตอฆูตคือ อะไร?

ตอฆูตมีมากมายหลายรูปแบบ มีทั้งผู้ปกครองที่เป็นทรราชย์ ตอฆูต เป็นทั้งคำสั่งสอนที่ผิดขัดกับหลักการอิสลาม ตอฆูต เป็นทั้งวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัฒนธรรมอิสลาม บริบทเหล่านี้ คือตอฆูตทั้งหมด ดังนั้น ถ้าเราต้องการสำรวจรูปแบบต่างๆที่อยู่ในวิถีแห่งการดำเนินชีวิตของเรา มีดังนี้

๑.การแต่งกาย

หากไม่ตรงกับการแต่งกายของอิสลาม นั่นคือ เครื่องแบบของตอฆูต และนั่นคือเรากำลังเคารพภักดีตอฆูต เพื่อชี้ว่า การดำเนินชีวิตในครอบครัวของเรา หากไม่ตรงกับคำสั่งสอนของอิสลาม เรากำลังดำเนินชีวิตครอบครัวแบบของตอฆูต

๒.การมีผู้นำ

การมีผู้นำที่ไม่ใช่ผู้นำของศาสนา ถ้าเราปฏิบัติตามคำสั่งของผู้นำเหล่านั้น เราก็กำลังปฏิบัติตามตอฆูต ซึ่งตอฆูตแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้นอาจจะมีความต่างกัน

ในที่นี้โดยความหมายหลักนั้นใช่ แต่ความหมายหลักของผู้นำแบบนี้ คือ ผู้นำที่ชั่วช้า ผู้นำที่เป็นทรราชย์ ผู้นำที่ขัดกับคำสั่งของอิสลาม นี่คือความหมายเเรก ส่วนความหมายอื่นๆ ก็อยู่ในความหมายของตอฆูต

ดังนั้น บรรดานบี บรรดาศาสดา จึงมาเพื่อนำการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งหมดออกจากการเคารพภักดีสิ่งอื่นในทุกรูปแบบ คือจะต้องเปลี่ยนทุกรูปแบบ ให้มนุษย์ไปสู่การภักดียังเอกองค์อัลลอฮ(ซบ)เพียงผู้เดียว

ตัวอย่าง สัญลักษณ์ “ตอฆูต”

ในระดับโลกระบบการค้าที่เป็นดอกเบี้ย ก็คือ ระบบตอฆูต

คำอธิบาย : ระบบตอฆูต ไม่ใช่เฉพาะเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องครอบครัว และไม่ใช่เฉพาะเรื่องภายในสังคม แต่เป็นเรื่องระดับโลก เพราะทุกอย่างเกี่ยวข้องทั้งหมด

นี่คือ เหตุผลหนึ่งที่บรรดาศาสดามีศัตรูอย่างมากมายและมีศัตรูอยู่ทุกยุคทุกสมัย เพราะหากว่านบีมาเหมือนกับพระ เหมือนกับฤษี ชีไพร หรือเหมือนเพียงมนุษปลีกวิเวก ที่ดำเนินอิบาดัตเพื่อตนเอง ซึ่งหากมาในลักษณะนี้แล้ว ย่อมไม่มีบุคคลใดมาต่อต้านศาสดา ยิ่งถ้าความหมายแค่พิธีกรรมก็ยิ่งนอกจากไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อผู้อื่นแล้ว ยิ่งไม่มีใครต่อต้านแน่นอน

คำถาม ฟิรอูนนับถือศาสนาไหม

คำตอบ ฟิรอูนก็มีศาสนา เขาบูชาโน้น บูชานี่ อีกทั้งเขามีปุโรหิต เขามีผู้นำศาสนา เพื่อจะบอกว่า ทุกๆคนมีศาสนา และถามว่า อบูซุฟยานมีศาสนาไหม

คำตอบ คือ มี ดูได้จากประวัติศาสตร์อิสลาม มีการไหว้รูปปั้นเต็มไปหมดทั้งมักกะฮ์ และโดยรอบกะบะฮ์

ดังนั้น มนุษย์ ถ้าหากศาสนาของเขา เป็นศาสนาแห่งพิธีกรรม แน่นอนมนุษย์จำนวนมากหรือบรรดาทรราชย์ หรือบรรดาตอฆูตต่างๆ ก็จะไม่ต่อต้านศาสนา แต่ที่มีการต่อต้าน เป็นเพราะศาสนาที่บรรดาศาสดามาเผยแพร่นั้น มาเพื่อเปลี่ยนแปลงทุกย่างก้าวของชีวิต รวมไปถึงทั้งชีวิตของมนุษย์

ความจริงแล้ว ทุกลมหายใจของมนุษย์ต้องตรงตามพระประสงค์ของอัลลอฮ์ (ซบ.) บ่งบอกถึง ศาสนาแบบนี้ที่มนุษย์ส่วนมากไม่สามารถจะรับได้ เพราะเป็นศาสนาที่นำมนุษย์เจ้าสู่อูบูดียะต่อเอกองค์อัลลอฮ์ ซบ. เพียงองค์เดียวเท่านั้น

นี่คือ สิ่งที่มนุษย์จำนวนมากไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้

นี่คือ ภารกิจของบรรดาศาสดาตามที่มีอยู่ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน

ศัตรูของทุกศาสดามีทุกยุคทุกสมัย

ในอัลกรุอาน บอกว่า "ความเป็นศัตรู" ที่มันตั้งตัวเป็นศัตรูในแต่ละยุคแต่ละสมัยที่มีกับทุกๆศาสดา เป็นเพราะมันทนไม่ได้กับศาสนาแบบนี้ ซึ่งมีมากมายหลายรูปแบบ เช่นท่านนบีอิบรอฮีม(อ.) ก็มีคำสั่งให้เผาท่านทั้งเป็น ส่วนท่านนบีมูซา(อ.) ก็มีคำสั่งให้จมท่านในทะเล

แต่บทสรุป ผู้ที่จะจมท่านนั้นกลับจมลงในทะเลเสียเอง เพราะผู้ที่ตามล่า ด้วยที่มันทนไม่ได้กับศาสนาแบบนี้ ขนาดท่านนบีอพยพไปอีกดินแดนหนึ่ง จะข้ามทะเลแดงแล้ว มันก็ยังตามล่าอีก

ด้วยเหตุนี้ ศาสดาจำนวนมาก จึงถูกเข่นฆ่า ถูกตามล่า แต่ภารกิจนี้หยุดไม่ได้ เมื่อศาสดาหมดไปก็มีบรรดาวะซีย์ บรรดาเอาซียาอ์ ผู้ที่เป็นทายาทของบรรดาศาสดาก็จะต้องทำหน้าที่นี้ต่อไป

ความจริงแล้ว ศาสดาจำนวนมากถูกฆ่า ถูกทำให้เป็นชะฮีด มีจำนวนมาก ที่กุรอานได้บอกว่า เท่าไหร่แล้ว โอ้บนีอิสรออีลที่พวกเจ้าได้ฆ่าบรรดาศาสดา “กอตะลัลนบียีน กอตะลัลอัมบียา”

ตรงนี้ หากเราพิจารณา กรุอาน ประโยคที่ใช้ จะใช้คำว่า “มากเท่าไหร่แล้วที่พวกเจ้า ฆ่าบรรดาศาสดา” เห็นได้ว่า ประโยคใช้คำพหูพจน์ทุกครั้ง เมื่อกล่าวถึงการฆ่าบรรดาอัมบียา และบรรดาศาสดา

มีริวายัต ในบางกรณีบนีอิสรออีลถึงกับฆ่าบรรดานบีในบางคืน จำนวนถึง 150 คน และยิวที่ฆ่าบรรดานบี เป็นยิวที่นับถือศาสนา พวกเขานับถืออัลลอฮ์ มีพิธีกรรม มีมัสยิด (ก็คือโบสถ์ของเขา) ชัดเจน แต่ทำไมต้องฆ่าบรรดาศาสดา เหตุผลเป็นเพราะไม่ต้องการคำสั่งสอนที่สมบูรณ์แบบ

ซึ่งในส่วนที่ไม่ต้องการนั้น จะออกมาในลักษณะไม่พูด หรือไม่ปฏิบัติตาม แต่บางคนนั้น รูปแบบที่ไม่ต้องการ จะมาในลักษณะใช้วาทะกรรมเพื่อก่อสงคราม และ ต่อต้านอย่างชัดแจ้ง เพื่อนำไปสู่การฆ่าบรรดาศาสดา

และภายหลังที่ได้ฆ่าบรรดาศาสดาจำนวน 150 คนแล้ว ในรุ่งเช้า เมื่อพวกเขาเปิดตลาดทำการค้าขาย เขาก็ทำตัวเป็นปกติ เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

นี่คือ รูปแบบที่เกิดก่อนยุคอิสลาม เพื่อให้รู้ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ พวกมันก็กลับไปสวดมนต์ ละหมาดตามปกติ เพราะเขาไม่รับศาสนาที่ต้องอูบูดียะฮ์อย่างสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ ทั้งนบีทั้งเอาซิยาอ์จึงถูกเข่นฆ่า

ครั้น ในยุคของท่านนบีมูฮัมมัด (ศ็อลฯ) ท่านมีวะซีย์ หรือเอาศิยาอ์ 12 คน ซึ่งความจริงแล้ว ก็คือบรรดาอิมามระบบใหม่ เข้ามาทดแทนระบบอิมามัต แต่ระบบอิมามัตก็ยังคงความเป็นทายาทของบรรดาศาสดา ยังคงเป็นทายาทของท่านนบี แต่เป็นเพราะเราอธิบายในยุคของท่านนบีมูฮัมมัด (ศ็อลฯ)

ดังนั้น บรรดาทายาทของท่านนบี ก็คือวะซีย์ อิมาม 12 นั่นเอง

ฉะนั้น เมื่อทายาทของศาสดา คือ บุคคลที่จะต้องทำหน้าที่ต่อจากศาสดา แต่ทั้งนี้ภารกิจของทายาทของศาสนา อาจจะไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่จะต้องเหมือนกันหมด กล่าวคือ ศาสดาอาจจะได้รับวะฮ์ยูโดยตรง ส่วนวะซีย์อาจจะไม่ได้รับวะฮ์ยู

ดังนั้น คำว่า เป็นทายาทในที่นี้ ก็คือ ภารกิจต่างๆทั้งหมด ที่บรรดาศาสดาที่ทำมานั้น บุคคลที่เป็นทายาทก็ต้องทำภารกิจนี้ด้วย และความเป็นทายาทของศาสดานั้นก็ไม่ได้จบอยู่เพียงวะซีย์ แต่ถ้าในสายตา ในความเชื่อ ในหลักฐานต่างๆที่เรามีอยู่นั้น นอกจากบรรดาอิมาม โดยเฉพาะหลังจากท่านอิมามมะฮ์ดี (อ) เร้นหาย ในกรณีนี้ท่านนบีก็ได้บอกต่ออีกว่า...
“อัลอุลามาอฺ วะรอฟาตุลอัมบียา” บรรดาอุลามาอฺ ก็คือ ทายาทของศาสดา

บรรดาอุลามาอฺ คือ ทายาทของศาสดา

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ เราก็จะพบว่ามีบรรดาอะเล็มอุลามาอฺจำนวนมาก ที่ต่อสู้เพื่อนำมานุษย์ให้หลุดพ้นจากการอูบูดียะฮ์ต่อตอฆูต ด้วยการเข้าสู่การอูบูดียะฮ์ต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) อย่างแท้จริง ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้บ่งบอกถึง การต่อสู้ของบรรดานบี การต่อสู้ของบรรดาวะซีย์ การต่อสู้ของบรรดาอะเล่มอุลามาอฺ ทั้งหมดนี้ เคยมีให้เห็นในทุกยุคทุกสมัย

ข้อคลางแคลงสงสัย

ทำไมการต่อสู้ของอิมามฮูเซน(อ) จึงเป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ทำไมท่านนบีมูฮัมมัด (ศ็อลฯ) และบรรดาอิมามของเรา จึงทุ่มเทไปยังการต่อสู้ของอิมามฮูเซน (อ.)

 ทำไมการรำลึกถึงอิมามฮูเซน (อ) จึงถือว่าเป็นการรำลึกที่ยิ่งใหญ่จากบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ) เอง โดยไม่ใช่จากเรา

 ทำไมการรำลึกถึงอิมามฮูเซน (อ)จึงเป็นการรำลึกที่สำคัญที่สุด

ทำไมเมื่อครบรอบการเสียชีวิตของอิมามอะลี (อ) อิมามญะฟัร(อ) หรืออิมามท่านอื่นๆ เราแทบไม่ได้แสดงตัวตนเหมือนกับการเข้ามูฮัรรอม เพื่อรำลึกให้กับอิมามฮูเซน(อ)

ประการสำคัญ จากแบบอย่างของบรรดาอิมามทั้งหมด เห็นได้ว่า อิมามอะลี(อ)ก็เป็นชะฮีด อิมามฮะซันก็เป็นชะฮีด แต่เรากลับไม่พบริวายัตจากบรรดาอะอิมมะฮ์ (อ.) ว่าให้เตรียมตัว ให้โศกเศร้า และให้ร้องไห้ล่วงหน้า แต่บรรดาอิมามกลับชี้ทั้งหมด พุ่งไปที่การไว้ทุกข์ไว้อาลัยเป็นพิเศษไปยังท่านอิมามฮูเซน (อ.) ทั้งๆที่การต่อสู้ การเป็นชะฮีดเป็นของทุกๆอิมาม แต่ทำไมความยิ่งใหญ่ทั้งหมดจึงมอบให้กับท่านอิมามฮูเซน(อ.)

ตรงนี้ จะขออธิบายเสริมสักเล็กน้อย ถ้าเราตั้งใจอ่านซิยารัตอาชูรอ (ซิยารัตอาชูรอเป็นซิยารัตหนึ่งที่สั่งเสียเป็นอย่างมากสำหรับบรรดาชีอะฮ์ทุกคน)

เบื้องต้นการอ่านซิยารัตอาชูรอนั้น เป็นอาดาบ(มารยาท)ที่สำคัญอันหนึ่งในการเข้าสู่มุฮัรรอม อินชาอัลลอฮ์คิดว่าทุกคนเริ่มอ่านมาตั้งแต่ค่ำคืนที่ 1 มุฮัรรอม อย่างน้อยที่อะเล็มอุลามาอ์ให้การสนับสนุนบอกกล่าวกันมา ด้วยการให้อ่านซิยารัตอาชูรอไปจนถึงอัรบาอีน

และ โดยเฉพาะช่วงนี้ 10 วันแรก อย่าอ่านเพียงวันละครั้ง ซึ่งบางคนอาจะคิดว่าอ่านครั้งเดียวตอนกลางคืนที่สุเหร่า หรือที่บ้าน หรืออ่านที่ใดที่หนึ่ง ถือว่าพอเพียงแล้ว และพรุ่งนี้ในตอนกลางวันก็ไม่ต้องอ่านแล้ว ขอเตือนเลยว่า พี่น้องจะเสียใจ

ความจริงแล้ว การอ่านซิยารัตอาชูรอวันละ 10 ครั้งนั้น ถือว่าไม่ได้มากมายอะไร แต่ไม่ได้หมายความว่า จะให้อ่านวันละ 10 ครั้ง แต่ต้องการแนะนำในช่วง 10 วันแรก ควรอ่านหลายๆครั้ง จะเป็นการดีแก่ตัวเราเอง หรือ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง กลางวันหนึ่งครั้ง กลางคืนหนึ่งครั้ง จะดีเป็นอย่างมาก อีกทั้งเป็นการรักษาอะดั๊บหนึ่งในเดือนมุฮัรรอมด้วย

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการรักษาอาดาบ อย่าลืมว่า มีบริบทที่ต้องผ่านขั้นตอนของมันอยู่ ซึ่งได้มีการอธิบายไปแล้วในค่ำคืนที่ 1 แต่จะขออธิบายเสริมอีกสักเล็กน้อย ซึ่งนอกจากต้องผ่านบริบทของอะดั๊บแล้ว ในเรื่องอัคลาคก็เช่นกัน เราก็ต้องเริ่มเข้าสู่อัคลาค ด้วยการอ่านซิยารัตอาชูรอในมุฮัรรอมเป็นอะดาบ และลำดับต่อมา เป็นการทำความเข้าใจเนื้อหาที่อยู่ในซิยารัตอาชูรอในเรื่องอัคลาค

 

للهم صل علی محمد وآل محمد وعجل فرجهم

โปรดติดตามตอนต่อไป
 
เรียบเรียงโดย Wanyamilah S.
ที่มา มหาลัยคมความคิด

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม