การอพยพในทัศนะอิสลามและการอพยพของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)

    คำว่า “ฮิจเราะฮ์” ความหมายในทางภาษาศาสตร์นั้นหมายถึง การแยกตัวของสิ่งหนึ่งออกจากอีกสิ่งหนึ่ง และการเรียกการละทิ้งออกจากบ้านเกิดเมืองนอนว่า "ฮิจเราะฮ์" (การอพยพ) ก็เนื่องจากว่าเป็นการแยกตัวออกไปจากบ้านและดินแดนที่อยู่อาศัยของตน

 

     เราสามารถวิเคราะห์การอพยพ (ฮิจเราะฮ์) ได้ในแง่มุมต่างๆ แต่คัมภีร์อัลกุรอานจะกล่าวถึงการอพยพว่าเป็นสิ่งดีงามก็ต่อเมื่อการอพยพนั้นเป็นไปเพื่อความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า และเป็นการอพยพไปสู่แผ่นดินที่จะทำให้เราสามารถรักษาศาสนาและความศรัทธา (อีหม่าน) ของตน และการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาในแผ่นดินดังกล่าวได้  

 

     หนึ่งในเรื่องราวที่สำคัญที่สุดในชีวิตของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) คือเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่ของการอพยพ (ฮิจญ์เราะฮ์) ของท่านและบรรดาสาวก (ซอฮาบะฮ์) ของท่าน จากมักกะฮ์ไปยังมะดีนะฮ์ ท่านศาสดาได้เดินทางออกจากนครมักกะฮ์ในวันพฤหัสบดีที่ 1 ของเดือนร่อบีอุลเอาวัล ในปีที่ 13 หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นศาสดา (ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของศักราชอิสลาม) และได้เข้าสู่นครมะดีนะฮ์ในวันที่ 12 ของเดือนเดียวกัน

 

อิสลามกับการอพยพ (ฮิจเราะฮ์)

 

     ในคัมภีร์อัลกุรอานถือว่าการอพยพ (ฮิจเราะฮ์) เป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) และเป็นเรื่องที่ดีงาม คัมภีร์อัลกุรอานในหลายโองการได้กล่าวเกี่ยวกับการอพยพ (ฮิจเราะฮ์) และมีคำสั่งต่อชาวมุสลิมว่า หากในสังคมหนึ่งพวกเขาไม่สามารถปฏิบัติภาระหน้าที่ของตนได้ พวกเขาก็จงอพยพไปยังสถานที่อื่นที่มีความปลอดภัย เนื่องจากอิสลามนั้นไม่ได้ถูกจำกัดอยู่กับสถานที่และสภาพแวดล้อมใดๆ โดยเฉพาะ ด้วยเหตุนี้เป็นสิ่งชัดเจนว่าความผูกพันต่อบ้านเกิดเมืองนอนและอื่นๆ ที่เหมือนกันนี้ไม่สามารถจะเป็นข้ออ้างที่จะทำให้ชาวมุสลิมไม่ทำการอพยพได้

 

และคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :

 

وَ مَنْ يُهاجِرْ في‏ سَبيلِ اللَّهِ يَجِدْ فِي الْأَرْضِ مُراغَماً كَثيراً وَ سَعَةً وَ مَنْ يَخْرُجْ مِنْ بَيْتِهِ مُهاجِراً إِلَى اللَّهِ وَ رَسُولِهِ ثُمَّ يُدْرِكْهُ الْمَوْتُ فَقَدْ وَقَعَ أَجْرُهُ عَلَى اللَّهِ وَ كانَ اللَّهُ غَفُوراً رَحيماً

 

"และผู้ใดที่อพยพไปในทางของอัลลอฮ์ เขาก็จะพบว่าในผืนแผ่นดินนั้นมีสถานที่พำนักอันมากมายและมีความกว้างขวาง และผู้ที่ออกจากบ้านเรือนของเขาไป ในสภาพผู้อพยพไปยังอัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์ แล้วความตายก็มาประสบกับเขานั้น แน่นอนรางวัลของเขานั้นย่อมอยู่ ณ อัลลอฮ์ และอัลลอฮ์ทรงเป็นผู้อภัยโทษยิ่ง อีกทั้งทรงเป็นผู้ทรงเมตตาเสมอ" (1)

 

เป้าหมายหลักของการอพยพ

 

      เป้าหมายของการสร้างมนุษย์คือการยอมตนเป็นบ่าวและการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า การยอมตนเป็นบ่าวต่อพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นเคล็ดลับของอิสรภาพ ความมีเกียรติศักดิ์ศรีและชัยชนะของมนุษย์ในทุกกิจการงาน ด้วยเหตุนี้เองในสถานที่ใดก็ตามที่ไม่อาจบรรลุเป้าหมายหลักนี้ได้ ก็จำเป็นที่จะต้องอพยพออกจากที่แห่งนั้น เนื่องจากแผ่นดินของพระผู้เป็นเจ้านั้นกว้างขวางยิ่ง จึงจำเป็นที่จะต้องย่างก้าวไปยังสถานที่ที่จะทำให้การบรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่ง่ายดาย และมนุษย์จะต้องไม่ติดอยู่กับความลุ่มหลงและการยึดติดต่างๆ อย่างเช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ บ้านเกิดเมืองนอน และอื่นๆ

 

พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า :

 

إِنَّ الَّذينَ تَوَفَّاهُمُ الْمَلائِكَةُ ظالِمي‏ أَنْفُسِهِمْ قالُوا فيمَ كُنْتُمْ قالُوا كُنَّا مُسْتَضْعَفينَ فِي الْأَرْضِ قالُوا أَ لَمْ تَكُنْ أَرْضُ اللَّهِ واسِعَةً فَتُهاجِرُوا فيها فَأُولئِكَ مَأْواهُمْ جَهَنَّمُ وَ ساءَتْ مَصير

 

"แท้จริงบรรดาผู้ที่มะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) ได้เอาชีวิตของพวกเขาไป ในสภาพที่พวกเขาเป็นผู้อธรรมต่อตัวของพวกเขาเองนั้น มลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) จะกล่าวว่า พวกเจ้าอยู่ในสภาพเช่นใดหรือ? พวกเขากล่าวว่า พวกเราเป็นผู้ที่ถูกกดขี่ (และอ่อนแอ) ในแผ่นดิน มลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) จะกล่าวว่า แผ่นดินของอัลลอฮ์มิได้กว้างขวางดอกหรือที่พวกเจ้าจะอพยพไปในมัน ดังนั้นชนเหล่านั้นที่อยู่ของพวกเขาคือนรก และเป็นที่กลับที่เลวร้ายยิ่ง" (2)

 

      ดังนั้นด้วยเหตุของกลุ่มชน ตระกูล เครือญาติ บ้านและแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนนั้น ไม่อาจทำให้มุสลิมเราละทิ้งคำสั่งต่างๆ ของอิสลามได้ เนื่องจากการอพยพเพื่อการปฏิบัติตนเป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้านั้นเป็นการกระทำที่หน้าน่ายกย่องสรรเสริญ

 

ช่วงเวลาของการอพยพ

 

      พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า :

 

وَالَّذِينَ هَاجَرُوا فِي اللَّهِ مِن بَعْدِ مَا ظُلِمُوا لَنُبَوِّئَنَّهُمْ فِي الدُّنْيَا حَسَنَةً ۖ وَلَأَجْرُ الْآخِرَةِ أَكْبَرُ ۚ لَوْ كَانُوا يَعْلَمُونَ

 

"และบรรดาผู้ที่อพยพในทางของอัลลอฮ์ หลังจากที่พวกเขาได้ถูกกดขี่ข่มเหง แน่นอนยิ่งเราจะให้ที่พำนักที่ดีแก่เขาในโลกนี้ และแน่นอนรางวัลของวันปรโลกนั้นยิ่งใหญ่กว่า หากพวกเขารู้" (3)

 

      ส่วนหนึ่งจากประเด็นต่างๆ ที่รับรู้ได้จากโองการนี้เกี่ยวกับการอพยพ (ฮิจเราะฮ์) คือการที่ผู้เป็นมุสลิมนั้นจะต้องไม่นิ่งเฉย ทว่าจำเป็นจะต้องยืนหยัดเผชิญหน้ากับความยากลำบากต่างๆ เท่าที่สามารถกระทำได้ และเมื่อใดก็ตามที่การอดทนอดกลั้นต่อการกดขี่ข่มเหงของศัตรูไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด นอกจากความฮึกเหิมและความอุกอาจของเขาและเป็นเหตุทำให้ชาวมุสลิมเกิดความอ่อนแอ ในกรณีเช่นนี้จำเป็นต้องอพยพ (ฮิจเราะฮ์) และโดยการอพยพ (ฮิจเราะฮ์) นี้เองจะทำให้พวกเขามีพลังอำนาจเพิ่มมากขึ้นและทำให้สัจธรรมดำรงอยู่ได้

 

บทบาทของฮิจเราะฮ์และญิฮาดในประวัติศาสตร์อิสลาม

 

      การศึกษาและการตรวจสอบประวัติศาสตร์อิสลามจะเป็นตัวชี้ให้เห็นว่า การอพยพ (ฮิจเราะฮ์) และการต่อสู้ (ญิฮาด) คือสองประเด็นหลักที่เป็นปัจจัยแห่งชัยชนะของอิสลามที่มีเหนือบรรดาศัตรูที่มีอำนาจ ฮิจเราะฮ์ (การอพยพ) คือสาเหตุทำให้อิสลามคงอยู่ และญิฮาด (การต่อสู้) เป็นสาเหตุของการพัฒนาและความก้าวหน้าของอิสลาม ในปัจจุบันนี้ก็เช่นกัน ฮิจเราะฮ์ (การอพยพ) ในสังคมต่างๆ จำนวนมากทีไม่สามารถดำเนินบทบัญญัติของอิสลามในที่เหล่านั้นได้นั้นยังเป็นประโยชน์ เท่ากับเป็นการนำเอาคำสอนของอิสลามไปเผยแพร่ในที่นั้นๆ เหมือนกับมุสลิมที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานในตะวันตกและยุโรป

 

ประโยชน์และผลของการฮิจเราะฮ์

 

     ผลที่สำคัญที่สุดของการอพยพคือ การไปถึงยังสถานที่ที่จะสามารถปฏิบัติตนเป็นบ่าวและเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าได้ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ของตนในที่แห่งนั้นได้ ผลอื่นๆ ของการอพยพ (ฮิจเราะฮ์) คือ การเปลี่ยนแปลง การพัฒนา ความเจริญก้าวหน้าทางด้านจิตวิญญาณ การเปิดประตูต่างๆ ของอารยธรรมและการปฏิรูป อีกทั้งการสร้างความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุในสังคมทั้งมวลของมนุษยชาติ

 

บทสรุป :

 

     การอพยพ (ฮิจเราะฮ์) คือการกระทำที่ศาสนาให้การยกย่องสรรเสริญและสอดคล้องกับเหตุผลทางสติปัญญา ด้วยเหตุนี้ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เพื่อการรักษาอิสลามให้คงอยู่จึงได้ทำการอพยพ (ฮิจเราะฮ์) จากนครมักกะฮ์ไปยังเมืองยัษริบ (เมืองมะดีนะฮ์ในปัจจุบัน) และด้วยผลแห่งการอพยพ (ฮิจเราะฮ์) ของท่าน ท่านสามารถสถาปนารัฐอิสลามขึ้นได้ในที่แห่งนั้นและนำไปสู่ความแข็งแกร่ง ความก้าวหน้าและการแผ่ขยายของศาสนาอิสลาม

 

การอพยพของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จากมักกะฮ์ไปยังมะดีนะฮ์

 

    หนึ่งในเรื่องราวที่สำคัญที่สุดในชีวิตของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) คือเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่ของการอพยพ (ฮิจญ์เราะฮ์) ของท่านและบรรดาสาวก (ซอฮาบะฮ์) ของท่าน จากมักกะฮ์ไปยังมะดีนะฮ์ ดังที่ในคัมภีร์อัลกุรอาน บทอัลอันฟาล โองการที่ 30 และในบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 207 ได้ชี้ถึงเรื่องนี้ไว้ ซึ่งเนื้อหาโดยสรุปก็คือ :

 

    เมื่อชาวมุสลิมได้ตกอยู่ภายใต้การบีบครั้น การข่มเหงและการทรมานอย่างรุนแรงของบรรดามุชริกีน (ผู้ตั้งภาคี) ในนครมักกะฮ์ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงออกคำสั่งให้ชาวมุสลิมอพยพไปยังนครมะดีนะฮ์ บรรดามุชริกีนรู้สึกถึงภยันตรายอันใหญ่หลวง และพวกเขาพูดกับตัวเองว่า : การอพยพของชาวมุสลิมไปยังมะดีนะฮ์จะเป็นสิ่งทำให้พวกเขามีการก่อตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในมะดีนะฮ์ และในอนาคตอันใกล้มันจะกลายเป็นเรื่องที่หนักหน่วงสำหรับพวกเรา บรรดาแกนนำของพวกเขาจึงได้มาประชุมปรึกษาหารือกันใน “ดารุนนัดวะฮ์” (สถานที่ปรึกษาหารือของพวกเขา) และแต่ละคนต่างเสนอแนะเกี่ยวกับการสกัดกั้นอิสลามและการประกาศเชิญชวนของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ดังที่ในอัลกุรอาน บทอัลอันฟาลได้ชี้ถึงแผนการนี้ของพวกเขาว่า :

 

 وَ إِذْ يَمْکُرُ بِکَ الَّذينَ کَفَرُوا لِيُثْبِتُوکَ أَوْ يَقْتُلُوکَ أَوْ يُخْرِجُوکَ وَ يَمْکُرُونَ وَ يَمْکُرُ اللَّهُ وَ اللَّهُ خَيْرُ الْماکِرينَ

 

"และจงรำลึกเมื่อครั้งที่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาวางแผนต่อเจ้า เพื่อกักขังเจ้าหรือฆ่าเจ้าหรือขับไล่เจ้าออกไป และพวกเขาได้วางแผนและอัลลอฮ์ก็ทรงวางแผนเช่นกัน และอัลลออฮ์นั้นทรงเป็นเลิศในหมู่ผู้วางแผนทั้งหลาย" (4)

 

    ในช่วงเวลานั้นเอง อิบลีสได้ปรากฏตัวขึ้นในรูปลักษณ์ของชายชราผู้หนึ่ง และได้เข้ามาในที่ประชุมและได้หยิบยกข้อเสนอแนะของตน ในที่สุดข้อเสนอแนะของอบูญะฮัลก็ได้รับการยอมรับ ข้อเสนอแนะของเขาก็คือ :

 

    “ให้คัดเลือกชายหนุ่มที่กล้าหาญคนหนึ่งจากทุกตระกูลในฐานะเป็นตัวแทน และตัวแทนเหล่านั้นทั้งหมดจะทำการปิดล้อมบ้านของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในคืนหนึ่ง และจะจู่โจมเข้าไปยังท่านและทำการสังหารท่านบนเตียงนอน"

 

    เมื่อคืนนั้นมาถึง ญิบรออีลได้แจ้งข่าวเกี่ยวกับเรื่องราวการวางแผนของบรรดามุชริกีนให้ท่านศาสดารับรู้ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงเล่าเรื่องราวดังกล่าวแก่ท่านอิมามอะลี (อ.) และกล่าวกับท่านว่า “คืนนี้จงนอนบนที่นอนของฉันเพื่อให้บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาที่เฝ้ารอเวลาอยู่นอกบ้านคิดว่าฉันยังนอนอยู่บนเตียงของฉัน และฉันจะแอบออกไปจากบ้าน”

 

     แม้ว่าการนอนแทนที่ในที่นอนของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และการคลุมผ้าสีเขียวของท่านศาสดาลงบนร่างกายของตนเองนั้นจะมีอันตรายถึงชีวิต แต่ท่านอะลี (อ.) ก็น้อมรับข้อเสนอแนะของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ด้วยชีวิต และได้นอนลงบนที่นอนของท่าน ในค่ำคืนนั้นเมื่อบรรดาตัวแทนของมุชริกีนได้มาปิดล้อมบ้านของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) พร้อมกับดาบที่เปลือยจากฝัก ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้อำพรางตนหลบออกไปในความมืดของยามค่ำคืนโดยที่เหล่าศัตรูไม่ล่วงรู้ และได้มุ่งหน้าไปยังถ้ำ “ษูร” ซึ่งอยู่ห่างจากมักกะฮ์ไปทางทิศใต้ประมาณ 7 กิโลเมตร และได้ซ่อนตัวอยู่ในที่นั้น และเนื่องจากพบอบูบักรในระหว่างทาง ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงได้นำเขาร่วมทางไปด้วย หลังจากนั้นท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้อพยพออกจากถ้ำ “ษูร” มุ่งสูนครมะดีนะฮ์

 

    ท่านศาสดาได้เดินทางออกจากนครมักกะฮ์ในวันพฤหัสบดีที่ 1 ของเดือนร่อบีอุลเอาวัล ในปีที่ 13 หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นศาสดา (ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของศักราชอิสลาม) และได้เข้าสู่นครมะดีนะฮ์ในวันที่ 12 ของเดือนเดียวกัน

 

     พระผู้เป็นเจ้าทรงแสดงความภาคภูมิใจต่อมวลมลาอิกะฮ์ในการนอนแทนที่ของอิมามอะลี (อ.) ญิบรออีลและมีกาอีลได้ตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้ายังที่นอนของท่านอิมามอะลี (อ.) ญิบรออีลได้กล่าวกับท่านว่า :

 

 بَخٍ بَخٍ ! مَنْ مِثْلُكَ يَابْنَ أَبِي طَالِبٍ يُبَاهِي اللَّهُ عَزَّ وَجَلَّ بِكَ الْمَلائِكَةَ

 

"ช่างโชคดีเหลือเกิน ช่างโชคดีเหลือเกิน! จะมีใครเป็นเหมือนท่านหรือ โอ้บุตรของอบีฏอลิบ อัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกรทรงแสดงความภาคภูมิพระทัยในมัน (การเสียสละของท่าน) ต่อมวลมลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ)” (5)

 

    แล้วโองการนี้จากพระผู้เป็นจึงได้ถูกประทานลงมายังท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ ในเรื่องของท่านอะลี (อ.) ว่า :

 

 وَ مِنَ النَّاسِ مَنْ یشْرِی نَفْسَهُ ابْتِغاءَ مَرْضاتِ اللَّهِ وَ اللَّهُ رَؤُفٌ بِالْعِبادِ

 

"และในหมู่มนุษย์นั้นมีผู้ที่ขายชีวิตของเขา เพื่อแสวงหาความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ์ และอัลลอฮ์นั้นคือผู้ทรงปรานีแก่ปวงบ่าวทั้งหลาย" (6)

 

เชิงอรรถ :

 

(1) อัลกุรอาน บทอันนิซาอ์ โองการที่ 100

(2) อัลกุรอาน บทอันนิซาอ์ โองการที่ 97

(3) อัลกุรอาน บทอันนะห์ลิ โองการที่ 41

(4) อัลกุรอาน บทอัลอันฟาล โองการที่ 30

(5) ตัฟซีรอัลกะบีร, ฟัครุรรอซี, เล่มที่ 5, หน้าที่ 174

(6) อัลกุรอาน บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 207

 

แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ