วิธีการอบรมสั่งสอนตามแนวทางของท่านศาสดาแห่งอิสลาม

 

อิสลามได้ให้ความสำคัญในการอบรมสั่งสอนแก่เด็กและเยาวชนเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งมีรายงานมากกว่า 1000 รายงานจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และบรรดาอิมามมะอ์ซูม (อ.) ที่กล่าวเกี่ยวกับการอบรมสั่งสอน [1] เกี่ยวกับโปรแกรมอบรมสั่งสอนอิสลามแก่บรรดาลูกๆ ในครอบครัวนั้น ได้มีคำแนะนำเอาไว้เป็นขั้นตอน ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ช่วงตั้งครรภ์ และหลังคลอด

 

ซึ่งแน่นอนว่า ความอยากรู้อยากเห็นของเด็กๆ โดยเฉพาะคำถามเกี่ยวกับพระเจ้าและความเป็นเอกะของพระองค์ ได้ฝังอยู่ในสายเลือดนับตั้งแต่วันที่พวกเขาได้ลืมตาดูโลกแล้ว  


 ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า:  เด็กทุกคนย่อมเกิดขึ้นมาบนธรรมชาติของอิสลาม  เว้นเสียแต่ว่าบิดามารดาของเขาจะทำให้เขาเป็นคริสต์หรือยะฮูดียฺ [2] บิดามารดาของเด็กจะต้องมีศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง และจะต้องล่วงรู้ถึงความคิดและความต้องการของเด็ก ๆ เพื่อจะได้สามารถตอบข้อซักถาม หรือข้อสงสัยของพวกเขาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเท่ากับว่าเราได้ก้าวสู่การอบรมสั่งสอนด้วยวิธีการที่ถูกด้วยเช่นกัน

 

แนวทางการอบรมสั่งสอนศาสนา:

 

1.การอบรมด้านความรู้ : บุคลิกภาพของบิดามารดาโดยตัวแล้วมีอิทธิพลต่ออุปนิสัยของเด็กๆ อย่างยิ่ง  ขณะที่อยู่ในบ้านหากผู้ปกครองเอาใจใส่ต่อหลักคำสอนของอิสลาม  เช่น นมาซตรงเวลาเสมอ ให้ความสำคัญต่อศีลอด และวาญิบข้ออื่นๆ มุ่งมั่นปฏิบัติข้อบังคับเหล่านั้น, รำลึกถึงพระเจ้าเสมอ  เมื่อเริ่มรับประทานอาหารกล่าวบิสมิลลาฮ์ ก่อนเสมอ และเมื่อรับประทานเสร็จแล้ว กล่าวว่า อัลฮัมดุลิลลาฮ์ ขอบคุณต่อความโปรดปรานของพระเจ้า จำนวนมากมายที่มิอาจคำนวณนับได้อยู่เป็นเนืองนิจ และ ทั้งหมดเหล่านี้จะกลายเป็นบทเรียนด้านการรู้จักพระเจ้าแก่เด็กๆ โดยอัตโนมัติ สมองของเด็กเปรียบเสมือนกล้องถ่ายรูป ซึ่งจะคอยบันทึกภาพทุกชนิดที่มองเห็น ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นมุสตะฮับเมื่อเด็กๆ คลอดออกมาอันดับแรกให้กล่าว อะซาน ทางหูข้างขวา และกล่าวอิกอมะฮ์ทางหูข้างซ้าย เพื่อให้เสียงพร่ำเรียก อัลลอฮุอักบัร บังเกิดผลสะท้อนกับเขานับตั้งแต่วัยทารกเป็นต้นไป และจะทำให้เขามักคุ้นกับคำว่าพระเจ้าผู้ทรงเอกะมากขึ้น

 

เด็กๆ ก่อนที่จะได้ยินและจดจำนั้น เขาจะเรียนรู้พฤติกรรมของมารดาด้วยการมองดูก่อน ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่ามาตรฐานการจดจำของเด็กจะอยู่ในช่วงที่เขามองเห็นก่อน มารดาจึงอยู่ในเงื่อนไขที่ค่อนข้างลำบากสำหรับการกล่าวประโยคบางประโยค เช่น ตะวักกัลต่ออัลลอฮ์ ซึ่งคงต้องใช้ความพยายามพอสมควรมากกว่าปกติ ที่จะอธิบายให้เด็กๆ ได้เข้าใจความหมายของการมอบหมายความไว้วางใจต่ออัลลอฮ์ ด้วยคำพูด

 

2.การอบรมสั่งสอนอัลกุรอาน:


บรรดาผู้นำ ผู้บริสุทธิ์ได้แนะนำประชาชาติไว้ว่า จงสอนอัลกุรอานแก่บรรดาบุตรของตน


ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า : จงสอนบุตรของตนให้อ่านอัลกุรอานบทยาซีนเถิด


 เนื่องจากอัลกุรอานบทนี้คือ ดอกไม้แห่งสวรรค์ [3] แน่นอนว่า จุดประสงค์ของการสอนมิได้จำกัดอยู่แค่การท่องจำหรือการอ่านเพียงอย่างเดียว ทว่าครอบคลุมถึงการสอนความเข้าใจความหมายด้วย. ซึ่งตรงนี้เราสามารถสอนหลักความศรัทธาอีกมากมายให้แก่เด็กๆ ได้ในเวลาเดียวกัน

 

3.การนำเด็กๆ เข้าร่วมในงานส่งเสริมด้านจิตวิญญาณ เช่น พาไปมัสญิด พิธีอ่านดุอาอ์ เข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มศาสนาที่หน้าเชื่อถือ และ เพื่อเขาจะได้เห็นสิ่งเหล่านั้นใกล้ๆ ด้วยตาตนเอง และจะได้รับคำตอบอันเกิดจากคำถามจำนวนมากมายจากบุคคลที่รอบรู้และเชื่อมั่นได้

 

    คำตอบต่างๆ ที่ถูกต้องง่ายต่อคำถามของเด็กๆ : เนื่องจากเด็กๆ เป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น เมื่อเขาได้เห็นหรือได้ยินบางสิ่งบางอย่างก็จะเกิดข้อซักถามขึ้นมากมาย คำถามด้านศาสนาของเด็กๆ ถือว่าเป็นก้าวเริ่มแรกของพวกเขาที่ก้าวไปสู่ความศรัทธาสมบูรณ์ ซึ่งผู้ปกครองจะต้องไม่มองข้ามคำถามเหล่านี้เด็ดขาด

 

พฤติกรรมของมารดาเมื่อเผชิญหน้ากับคำถามเกี่ยวกับการรู้จักพระเจ้า:

 

ก. จำเป็นต้องตอบคำถามเหล่านี้อย่างถูกต้อง ง่ายดาย และชัดเจน ซึ่งตรงนี้ มารดาสามารถอธิบายง่ายๆ โดยอาศัยความโปรดปรานต่างๆ ของอัลลอฮ์ที่อยู่รายรอบตัวเราเป็นบรรทัดฐานในการตอบ สามารถพิสูจน์อัลลอฮ์ด้วยวิธีการที่ดีและง่ายที่สุด ด้วยคุณลักษณะบางประการของพระองค์ หรือด้วยกฎระเบียบของโลกที่มีอยู่และมองเห็นได้ ซึ่งทฤษฎีว่าด้วยความเป็นระเบียบของโลก เป็นทฤษฎีที่ง่ายที่สุดสำหรับการพิสูจน์พระเจ้า ซึ่งทั้งอัลกุรอาน และรายงานฮะดีษจำนวนมากมายได้ให้ความสำคัญต่อทฤษฎีดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากทฤษฎีดังกล่าวเป็นความรู้ประจักษ์ ปราศจากข้อพิสูจน์เชิงปรัชญาอันสลับซับซ้อน ด้วยเหตุนี้เอง ทุกคนจึงสามารถใช้ทฤษฎีนี้พิสูจน์ความจริงได้

 

ข.การพึ่งพาธรรมชาติ : โดยบ่งชี้ให้เห็นถึงการสร้างสรรค์ต่างๆ ของพระเจ้า ทำให้พวกเขาได้คุ้นเคยกับปาฏิหาริย์ต่างๆ ของพระองค์ แสดงให้เขาเห็นพลานุภาพของอัลลอฮ์ในการสร้างสรรค์สรรพสิ่งทั้งในฟากฟ้า แผ่นดิน และน่านน้ำ

 

โองการอัลกุรอานจำนวนมากมาย เชิญชวนมนุษย์ไปสู่การคิดใคร่ครวญในธรรมชาติ เช่น อัลกุรอาน บางโองการกล่าวว่า : และพระผู้อภิบาลของเจ้าทรงดลใจแก่ผึ้งว่า เจ้าจงทำรังตามภูเขาและตามต้นไม้ และตามที่พวกเขาทำร้านขึ้น แล้วเจ้าจงกินจากผลไม้ทั้งหลาย แล้วจงดำเนินตามทางของพระผู้อภิบาลของเจ้า โดยถ่อมตัว มีเครื่องดื่ม (น้ำผึ้ง) หลากสีออกมาจากท้องของผึ้ง ในนั้นมีสิ่งบำบัดแก่ปวงมนุษย์ [4] ทำนองเดียวกันอัลกุรอานเชิญชวนมนุษย์ให้พิจารณาการสร้างอูฐ ท้องฟ้าต่างๆ ภูเขาทั้งหลาย และแผ่นดิน และโองการกล่าวว่า: พวกเขาไม่พิจารณาดูอูฐดอกหรือว่า มันถูกบังเกิดมาอย่างไร ท้องฟ้ามันถูกยกให้สูงขึ้นอย่างไร ภูเขามันถูกปักตั้งไว้อย่างไร และแผ่นดินมันถูกแผ่ราบเรียบไว้อย่างไร [5] ดังนั้น ความมหัศจรรย์ของสิ่งถูกสร้างของพระเจ้า ถ้าหากได้อธิบายด้วยคำพูดง่ายๆ จะทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จักพระเจ้าได้ในระดับหนึ่ง

 

ค. คำตอบจำนวนมากมายต่อคำถามทั้งหลายของเด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้จากอัลกุรอาน เช่น ถ้าหากลูกของท่านถามว่า พระเจ้าเป็นใคร ท่านสามารถตอบข้อสงสัยของเขาได้ด้วยโองการนี้ว่า : อัลลอฮ์ คือ ผู้ทรงสร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน และทรงให้น้ำลงมาจากชั้นฟ้า และทรงให้พืชผลงอกเงยออกมาโดยนัยนั้น[6] จงกล่าวแก่พวกเขาว่า พระองค์ทรงเมตตายิ่งในหมู่ผู้เมตตาทั้งหลาย [7] และพยายามอธิบายให้มองเห็นภาพความเมตตาปรานีของพระเจ้า

 

ง.จงอธิบายแก่พวกเขาให้รู้ว่า ยังมีสรรพสิ่งอีกจำนวนมากมายที่มีอยู่บนโลกนี้ แต่ตาเรามองไม่เห็น  เช่น อากาศ สติปัญญา  ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถปฏิเสธสิ่งเหล่านั้นได้  แน่นอน อัลลอฮ์ ทรงมีอยู่  แต่สายตามนุษย์ไม่อาจมองเห็นพระองค์ได้ : สายตาทั้งหลายมองไม่เห็นพระองค์ แต่พระองค์ทรงเห็นสายตาเหล่านั้น [8]

 

จ. อธิบายเรื่องเล่าต่างๆ ที่เหมาะสมในศาสนา : เนื่องจากเด็กๆ นั้นชอบเรื่องเล่าต่างๆ เป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งผู้ปกครองสามารถนำเรื่องเล่าในอัลกุรอาน และสาส์นต่างๆ ของศาสนา ถ่ายทอดแก่พวกเขาทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น เรื่องราวของศาสดาอิบรอฮีม ช่วงที่ท่านวิภาษกับบรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเทียม ซึ่งท่านศาสดาได้ใช้เหตุผลง่ายๆ ในการพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าและความเป็นหนึ่งเดียวของพระองค์

 

ฉ. ใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของเด็กๆ เอง : สำหรับการกำหนดความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนา และความต้องการของเราที่มีต่อสิ่งเหล่านั้น สามารถใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของเด็กๆ ได้ เช่น ตั้งคำถามจากโปรแกรมประจำสัปดาห์ เพื่อสร้างให้เด็กๆ เข้าใกล้จุดประสงค์มากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นค่อยหาบทสรุป แล้วนำเสนอโปรแกรมที่อัลลอฮฺทรงประทานผ่านบรรดาศาสดา ในนามของศาสนาแก่พวกเขา


อ้างอิง


[1] ครอบครัวในอิสลาม ฮุเซน มะซอเฮรี  หน้า 121.


[2] สะฟีนะตุลบิฮาร  เล่ม 2  หน้า 372.


[3] มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล  เล่ม 4  หน้า 325.

 

[4] อัลกุรอาน บทอันนะฮ์ล์  68,69.

 

[5] فَلَا يَنظُرُونَ إِلىَ الْابِلِ كَيْفَ خُلِقَتْ* وَ إِلىَ السَّمَاءِ كَيْفَ رُفِعَتْ* وَ إِلىَ الجْبَالِ كَيْفَ نُصِبَتْ* وَ إِلىَ الْأَرْضِ كَيْفَ سُطِحَتْ

อัลกุรอาน บทอัลฆอชิยะฮ์ 17-20.


[6] อัลกุรอาน บทอิบรอฮีม 32.


[7] อัลกุรอาน บทยุซุฟ 64.


[8] อัลกุรอาน บทอัลอันอาม 103.


ขอขอบคุณเว็บไซต์เลิฟฮูเซน