เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

สูตรความสำเร็จของนักเดินทาง

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

 

วิธีที่ดีที่สุดในการดำเนินชีวิตให้รอดพ้นจากจิตใจที่มืดบอดและจากการหลอกลวงของไชฏอนมารร้าย
เบื้องต้น ต้องให้ความสำคัญกับความหมายที่แท้จริงใน คำว่า”ตักวา”


คำว่า “ตักวา” ( التقوى) เพียงคำเดียว ทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้วิถีการดำเนินชีวิตได้อย่างมากมาย

 

ตักวาคืออะไร ?

 

คำว่า ‘ตักวา’ มีรากศัพท์มาจาก คำว่า ‘วะ กอ ยา’(«و ق ی») ที่หมายถึง การขจัดภัยให้พ้นตัว

 

เราเข้าใจความหมาย ‘ตักวา’ดีแค่ไหน ?


ตักวาจากสิ่งใด เกรงกลัวจากสิ่งใด บางโองการกล่าวให้เกรงกลัวอัลลอฮ(ซบ) และการเกรงกลัวอัลลอฮ์ (ซบ)นั้น เกรงกลัวแบบไหน ?

 

เนื้อหาของการมีตักวา ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบางโองการกล่าวให้เกรงกลัวนรก เกรงอะไร แบบไหน?

 

ตัวอย่าง คำพูดที่มี ‘ตักวา’

 

เราจะรู้ได้อย่างไร ว่า อัลลอฮ์(ซ.บ) ทรงพึงพอใจหรือไม่พอใจ ในคำพูดของเรา แน่นอนว่า การนินทา การให้ร้าย การป้ายสี หรือ คำพูดที่เป็นบาป การพูดมาก การพูดในสิ่งไร้สาระ คือ คำพูดที่อัลลอฮ (ซ.บ) ไม่พึงพอใจ และยังมีกรณีที่หากไม่พูด พระองค์ก็มีที่ไม่พึงพอใจอีกเช่นกัน

 

ในบางครั้งการแยกแยะจึงไม่ใช่สิ่งที่ง่ายดาย เพราะความเข้าใจเหล่านี้ยังเป็นเพียงความเข้าใจเบื้องต้นเท่านั้น แม้แต่การขอดุอาอฺของมนุษย์ ก็ยังต้องมีตักวาอยู่ในดุอาอฺนั้น เป้าหมายเพื่อจะบอกว่า การวิวรณ์ดุอาอฺ ต้องขอด้วยความยำเกรงหมายความว่าอย่างไร ? และอะไรที่เราควรขอและไม่ควรขอจากพระองค์

 

ด้วยเหตุผลนี้ อัลลอฮ์(ซ.บ) จึงมอบต้นแบบในการปฏิบัติให้กับมนุษย์ แน่นอน เพราะมนุษย์มีเรื่องมากมายในชีวิตที่จะต้องเรียนรู้จากคำว่า”ตักวา”เพียงคำเดียว เพื่อเน้นและชี้ว่า ปราศจากแบบอย่าง ปราศจากผู้สอน ปราศจากบุคคลที่เข้าใจตักวาอย่างแท้จริง ไม่มีทางที่มนุษย์จะสามารถเข้าใจความหมายที่สมบูรณ์ของ “ตักวา”ได้

 

ดังนั้น ( اعلام التقی )“อะลามุตตฺกอ” หมายถึง ผู้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งตักวา

 

พวกเขา(บรรดา อะฮลุลบัยต์(อ)) คือ สัญลักษณ์แห่งตักวา และไม่เพียงเป็นผู้ที่มีตักวาเท่านั้น แต่พวกเขาคือ สัญลักษณ์ของตักวา

 

คำว่า ‘อะอ์ลาม’(اعلام) ในภาษาอาหรับ หมายถึง การประกาศหรือการแสดงสัญลักษณ์ต่างๆ เราสามารถเปรียบเทียบกับสัญญาณการจราจร ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ใกล้เคียงที่สุด สำหรับทำความเข้าใจเนื้อหานี้

 

ตัวอย่าง ความหมาย คำว่า ‘อะอ์ลาม’

 

เมื่อเราขับรถ แล้วพบกับสัญลักษณ์ “ทางตัน” ก็จะต้องเปลี่ยนเส้นทาง การไม่ปฏิบัติตามสัญลักษณ์นั้น จะทำให้รถของเราประสบอุบัติเหตุ

 

บ่งบอกว่า หากเราไม่ให้ความสำคัญต่อ ‘อะอ์ลาม’ หรือ สัญลักษณ์เหล่านี้ โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุนั้นมีแน่นอน

 

กรณี “การเดินทาง” และ “การทำงานอื่นๆ” ก็มีสัญลักษณ์ในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตาม เขาจะต้องพบกับภัยพิบัติ อันเกิดจากการไม่ให้ความสำคัญต่อสัญลักษณ์เหล่านั้น

 

ดังนั้น หากต้องการให้ประสบความสำเร็จและปลอดภัยในโลกนี้ เขาก็จะต้องปฏิบัติตามสัญลักษณ์ต่างๆที่ได้กำหนดไว้

 

มนุษย์ คือ นักเดินทางที่กำลังมุ่งไปสู่พระผู้เป็นเจ้า

 

เมื่อนำสัญลักษณ์ “การเดินทาง” มาเปรียบเทียบกับเนื้อหาของเรา จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้แตกต่างเท่าใดนัก เพราะการเดินทางของมนุษย์ในโลกนี้ มีกฎมีระเบียบบ่งชี้ไว้อย่างมากมาย เป้าหมายเพื่อให้มนุษย์ระมัดระวัง และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้น วิถีชีวิตของมนุษย์ ก็จะประสบกับภยันตราย และวิถีชิวิตในโลกหน้าก็จะประสบกับภยันตรายเช่นเดียวกัน และความเป็นจริงในโลกหน้ามนุษย์จะประสบกับอันตรายยิ่งกว่าที่ปรากฏอยู่บนโลกนี้ ดั่งประโยคที่กล่าวว่า

 

‎( إِنَّا لِلَّهِ وَإِنَّا إِلَيْهِ رَاجِعُونَ)


“อินนาลิลลาฮ วะ อินนาอิลัยฮิรอญิอูน”


(แท้จริง เราเป็นกรรมสิทธิของอัลลอฮ์ และแท้จริง เราจะกลับไปยังพระองค์[1])

 

บรรดาอาเล็มอุลามาอฺได้อธิบายว่า…


‎( إِنَّا لِلَّهِ وَإِنَّا إِلَيْهِ رَاجِعُونَ) หมายถึง มนุษย์ทุกคนนั้น เป็น “นักเดินทาง” จากโลกหนึ่งไปสู่อีกโลกหนึ่ง ทุกคนจะต้องเดินทางกลับไปหาอัลลอฮ (ซบ) นับแต่วินาทีแรกที่เราจุติบนโลกนี้ การนับถอยหลังสู่พระองค์ก็เริ่มต้นขึ้นแล้ว

 

 บรรดาอะฮฺลุลเบต คือ กฎจราจร

 

เพื่ออธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น คือ เขาไม่ได้เป็นเพียงบุคคลที่ขับขี่ตามกฎจราจร แต่เขาคือ กฎจราจร

 

(ไม่เพียงแต่พวกเขาจะเป็นผู้ปฏิบัติจราจรเท่านั้น ด้วยประโยคนี้ พวกเขาคือ กฎจราจร !! )

 

สาระศึกษา : ผู้ขับขี่ที่ต้องการความปลอดภัย จะต้องปฏิบัติตามอะฮ์ลุลเบต(อ)ทุกสิ่งทุกอย่าง เช่นเดียวกันกับการเดินทางกลับสู่อัลลอฮ(ซ.บ) การมีตักวา จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการเดินทาง และผู้ใดที่ต้องการทำความเข้าใจความหมายของ “ตักวา” ในการเดินทางครั้งนี้ เขาจะต้องทำความเข้าใจผ่านบรรดาอะฮลุลบัยต์(อ) เพราะพวกเขา คือ ตัวตนแห่งตักวา

 

ทุกการปฏิบัติ ทุกคำพูด ทุกความคิด ทุกความรู้สึกของพวกเขา คือ ‘อัตตุกอ’ (ตัวตนแห่งตักวา)

 

ดังนั้น เมื่อได้รับการยืนยันว่า อะฮลุลบัยต์ คือ (واعلام التقی)”วะอะลามุตตุกอ” เราก็จะต้องรู้หน้าที่ของเราต่อสิ่งนี้ คือ ทุกย่างก้าวในชีวิตของเรา จะต้องย่างก้าวตามอะฮ์ลุลบัยต์(อ) หรือทุกบริบทแห่งการทดสอบ ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรา หนทางที่จะหลุดพ้นจากเหตุการณ์ และบททดสอบที่เกิดขึ้น ก็คือ แบบฉบับของอะฮ์ลุลบัยต์(อ)

 

เช่นนี้แล้ว มนุษย์ต้องดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาท พึงระลึกถึงอัลลอฮ์(.ซบ)เสมอว่า ปัจจุบันตนเองกระทำอะไรอยู่ และไม่ว่าจะเป็นการกระทำสิ่งใด หรือ แม้ในสิ่งที่เรากำลังครุ่นคิดก็ตาม ให้คิดอยู่เสมอว่า ทำแล้วจะเกิดผลอย่างไร ทำในสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่ รวมทั้งความรอบคอบ ระมัดระวังในสิ่งที่กระทำอยู่ให้เป็นไปตามแบบอย่างของอะฮฺลุลเบต ด้วยการตระหนักเสมอว่าพระองค์ทรงพึงพอพระทัยหรือไม่

 

ขั้นตอนต่อมา ก็คือ จะต้องรู้ว่า อะไรบ้างที่มีผลทำให้จิตวิญญานของเราตกต่ำ เพราะไชฏอนมารร้ายจะเข้าโจมตีมนุษย์ตอนที่”จิตตก”

 

คำว่า ” จิตตก” หมายถึง ภาวะที่อีหม่าน ความศรัทธาอ่อนแอ ใจมืดบอด การรับรู้สัญญานความดีไม่ได้เท่าที่ควร เช่น อยู่ในอารมย์โกรธ อาการอิจฉาริษยา หลงตัวเอง หวาดกลัว เคียดแค้น หลงระเริง

 

หรือแม้แต่ตอนที่หัวเราะ ก็ยังมีฮาดิษรายงานว่า ให้ ‘อิสติฆฟาร’ ทุกครั้ง ที่หัวเราะมากเพราะการหัวเราะมาก ส่งผลทำให้จิตใจมืดบอด ซึ่งท่านศาสดาได้กล่าวกับกับท่าน อะบูซัรว่า…….

 

? โอ้อะบูซัรเอ๋ย ….จงจำไว้ ๕ ประการที่ทำให้จิตใจมนุษย์มืดบอด มีดังต่อไปนี้

 

๑.พูดมาก
๒.กินมาก
๓.หัวเราะมาก
๔.นอนมาก
๕.กินของฮาราม

 

ฉะนั้น เมื่อใดที่จิตใจมืดบอด โปรดตระหนักไว้เถิด อีหม่าน ความรู้ คำตักเตือนก็ไม่สามารถเข้าไปในหัวใจได้ อีกทั้งสภาวะเดิมที่มีอยู่ก็จะเริ่มอ่อนแอลง และเมื่อใดก็ตามที่ภาวะอีหม่าน ความศรัทธาอ่อนแอลง ไชฏอนมารร้ายก็จะเข้าโจมตีทันที


บทความโดย ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี


ขอขอบคุณเว็บไซต์เลิฟฮูเซน

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม