เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

อัลกุรอานเชิญชวนไปสู่ความสำรวมตน

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

 

หนึ่งในหน้าที่หลักของบรรดาศาสดาที่ถูกประทานลงมาสั่งสอนมนุษย์ ก็เพื่อเชิญชวนมนุษย์ไปสู่ความยำเกรงต่อพระเจ้าและหลีกเลี่ยงออกจากอบายมุขทั้งปวง อัลกุรอาน หลายโองการกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวเอาไว้ เช่น โองการที่ 102 และ 103 ในบทอาลิอิมรอน กล่าวว่า


يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اتَّقُوا اللَّهَ حَقَّ تُقَاتِهِ وَلَا تَمُوتُنَّ إِلَّا وَأَنْتُمْ مُسْلِمُونَ

 

“โอ้ บรรดาศรัทธาเอ๋ย จงสำรวมตน ต่ออัลลอฮ์อย่างแท้จริง และจงอย่าตาย เว้นแต่สูเจ้าจะเป็นมุสลิม”


وَاعْتَصِمُوا بِحَبْلِ اللَّهِ جَمِيعًا وَلَا تَفَرَّقُوا وَاذْكُرُوا نِعْمَتَ اللَّهِ عَلَيْكُمْ إِذْ كُنْتُمْ أَعْدَاءً فَأَلَّفَ بَيْنَ قُلُوبِكُمْ فَأَصْبَحْتُمْ بِنِعْمَتِهِ إِخْوَانًا وَكُنْتُمْ عَلَى شَفَا حُفْرَةٍ مِنَ النَّارِ فَأَنْقَذَكُمْ مِنْهَا كَذَلِكَ يُبَيِّنُ اللَّهُ لَكُمْ آيَاتِهِ لَعَلَّكُمْ تَهْتَدُونَ

 

“และสูเจ้าทั้งหลาย จงยึดมั่นสายเชือกของอัลลอฮ์โดยพร้อมเพรียงกัน จงอย่าแตกแยก และจงรำลึกถึงความโปรดปรานของอัลลอฮ์แก่สูเจ้า ขณะที่พวกเจ้าเป็นศัตรูกัน แล้วพระองค์ได้ทรงสมานระหว่างหัวใจของสูเจ้า  ด้วยความโปรดปรานของพระองค์ เพื่อให้สูเจ้าเป็นพี่น้องกันและสูเจ้าเคยอยู่บนปากหลุมแห่งไฟนรก แล้วพระองค์ได้ทรงช่วยสูเจ้าให้พ้นจากที่นั้น ในทำนองนั้น อัลลอฮ์ได้ทรงทำให้โองการทั้งหลายของพระองค์ชัดแจ้งแก่สูเจ้า เพื่อบางทีสูเจ้าอาจจะได้รับทางนำ”


สาเหตุที่โองการดังกล่าวประทานลงมา เนื่องจากว่า วันหนึ่งมีชาย 2 คน จากเผ่าอะเวซ และค็อซรัซ ชื่อ ซะอ์บลับ บุตรของ เฆาะนัม และอัซอัด บุตรของซุรรอเราะฮ์ ได้เผชิญหน้ากัน ต่างฝ่ายต่างชื่นชมและยกย่องเผ่าของตนหลังจากที่เข้ารับอิสลาม ซะอ์ลับ กล่าวว่า คุซัยมะฮ์บุตรของ ซาบิต (ซุลชะฮาดะตัยน์) และฮันเซาะละฮ์ (ฆุซีล อัลมะลาอิกะฮ์) ทั้งสองเป็นผู้ที่มีเกียรติยิ่งในอิสลาม ซึ่งมาจากเผ่าของเรา ทำนองเดียวกัน อาซิม บุตรของซาบิต ซะอ์ด์ บุตรของ มะอาซ ก็มาจากเผ่าของเรา และอัซอัด บุตรของซุรรอเราะฮฺ กล่าวว่า 4 คนที่มาจากเผ่าของเราได้เรียนและสอนอัลกุรอาน ได้แก่ อุบัย บุตรของ กะอับ มะอาซ บุตรของญะบัล ซัยด์ บุตรของ ซาบิต อบูซัยด์ และซ์ด์ บุตรของ อะบาดะฮ์ ซึ่งเป็นหัวหน้ากล่าวเทศนาประจำเมืองมะดีนะฮ์ ก็มาจากเผ่าเรา การโต้เถียงกันเลยเถิดไปถึงการวิวาท ทำให้สองเผ่าเกือบจะจับอาวุธเข้าฟาดฟันกัน ไฟแห่งความโกรธกริ้วได้ลุกขึ้นอีกครั้ง ข่าวการวิวาทได้ล่วงเลยไปถึงศาสดา (ซ็อล ฯ) ท่านรีบเดินทางมาเพื่อปรับความเข้าใจในหมู่พวกเขา ยุติข้อขัดแย้งและเชิญชวนสู่ความเป็นเอกภาพ

 

โองการแรก เชิญชวนไปสู่ความสำรวมตนจากความชั่ว เพื่อเป็นปฐมบทของการเชิญชวนไปสู่ความเป็นเอกภาพ ซึ่งในความเป็นจริง การเชิญชวนไปสู่เอกภาพ ถ้าปราศจากพื้นฐานอันมั่นคงที่มาจากจริยธรรม และความเชื่อแล้วสิ่งนั้นจะไม่มีผล ด้วยเหตุนี้ โองการจึงเชิญชวนไปสู่การสำรวมตน เพื่อลดปัจจัยสำคัญที่สร้างความแตกแยก ทั้งในเรื่องความศรัทธา และศีลธรรม ฉะนั้น โองการจึงกล่าวกับบุคคลที่มีศรัทธาโดยตรงว่า โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงสำรวมตน ต่ออัลลอฮ์ อย่างแท้จริง

 

จุดประสงค์ของการสำรวมตนอย่างแท้จริง หมายถึงอะไร


 บรรดานักอรรถาธิบายอัลกุรอาน แสดงทัศนะที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เป็นที่คลางแคลงใจ คือ การสำรวมตนอย่างแท้จริงเป็นระดับสุดท้ายของผู้มีความยำเกรง เป็นการหลีกเลี่ยงจากทุกความผิด การล่วงละเมิด การหลงลืม และการหันเหออกจากสัจธรรมความจริง

 

 อิมามซอดิก  (อ.) อธิบายประโยคที่ว่า การสำรวมตนอย่างแท้จริง ว่าหมายถึง การเชื่อฟังปฏิบัติตามบัญชาของพระองค์ ต้องไม่กระทำความผิด รำลึกถึงพระองค์ตลอดเวลาทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ต้องไม่ลืมเลือนพระองค์ ต้องขอบคุณพระองค์ และต้องไม่เนรคุณความโปรดปรานของพระองค์

 

โองการแม้จะกล่าวกับเผ่า อะเวซ และค็อซรัซโดยตรง แต่ขอบข่ายของโองการมิได้เฉพาะเจาะจงอยู่เพียงแค่นั้น จุดประสงค์ของโองการครอบคลุมมุสลิมทั้งหมดและกล่าวกับพวกเขาตลอดเวลาว่า จงระวังรักษาบั้นปลายสุดท้ายให้ดี อย่าให้บั้นปลายสุดท้ายของชีวิตต้องเผชิญกับความอับโชคและความเลวร้ายทั้งปวง ด้วยเหตุนี้ โองการจึงกล่าวว่า และจงอย่าตาย เว้นแต่สูเจ้าจะเป็นมุสลิม

 

โฉมหน้าของผู้สำรวมตนจากความชั่ว

 

โองการแนะนำว่า ผู้สำรวมตนจากความชั่วทั้งหลาย ส่วนใหญ่แล้วมีคุณลักษณะ 6 ประการ ดังต่อไปนี้

 

1.    บรรดาผู้สำรวมตน จะบริจาคทั้งในยามผาสุก ยามคับแค้น และยามโทสะ หมายถึง ผู้ที่มีความสำรวมตนจะบริจาคสิ่งที่ตนมีอยู่ในหนทางของพระเจ้า ไม่ว่าเขาจะยากจนหรือร่ำรวยก็ตาม และจำนวนบริจาคไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับพวกเขา สิ่งจำเป็นคือ จิตวิญญาณที่คิดบริจาค ดังนั้น ไม่ว่าเขาจะอยู่ในสภาพใดเขาก็คิดบริจาคเสมอ อัลกุรอาน บท อัฏเฏาะลาก โองการที่ 7 กล่าวว่า


لِيُنْفِقْ ذُو سَعَةٍ مِنْ سَعَتِهِ وَمَنْ قُدِرَ عَلَيْهِ رِزْقُهُ فَلْيُنْفِقْ مِمَّا آتَاهُ اللَّهُ
 

ผู้มีฐานะร่ำรวย บริจาคตามฐานะของเขา ส่วนผู้ที่มีฐานะคับแค้น ก็ให้บริจาคตามที่อัลลอฮ์ทรงประทานมาให้แก่เขา


 สิ่งที่ควรพิจารณาคือ การบริจาคในโองการนี้ ตรงกันข้ามกับการกินดอกเบี้ย

 

2. บรรดาผู้สำรวมตน จะข่มโทสะของตน หมายถึง ในยามโกรธ เขาจะระงับอารมณ์และอำนาจฝ่ายต่ำ และรักษาความสมดุลแก่จิตใจ เนื่องจากเขาทราบดีว่าความโกรธ คือ ความโง่เป็นบ่อเกิดความผิดพลาด บาปกรรม และการกระทำที่ไม่ดีต่างๆ ฉะนั้น เวลาโกรธเขาจึงควบคุมอารมณ์และอำนาจฝ่ายต่ำด้วยความอดกลั้น

 

3.บรรดาผู้สำรวมตน จะอภัยแก่บุคคลอื่นเนื่องจากจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ และสงสารเมื่อเห็นคนอื่นทำความผิด ไม่ต้องการให้เขาได้รับโทษทัณฑ์จากพระผู้เป็นเจ้า เขาจึงอภัยในความผิดพลาดดุจดังเช่นที่พระเจ้าทรงอภัยแก่เขาเสมอ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในการช่วยเหลือที่ดีที่สุด

 

4. บรรดาผู้สำรวมตน นอกจากจะควบคุมอารมณ์ยามโกรธ อภัยในความผิดพลาดของศัตรูแล้ว เขายังกระทำดีกับศัตรูอีกต่างหาก เนื่องจากพระเจ้าทรงรักผู้กระทำความดี ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีจิตใจสูงส่ง เพราะยามโกรธ เขาก็ระงับความโกรธ เมื่อผู้อื่นกระทำไม่ดีกับเขา เขาก็อภัยและกระทำดีด้วย เช่น อิมามซัจญาด (อ.) ประพฤติกับทาสของท่าน เมื่อเขาทำผิด อิมามมิได้ไม่โกรธเขาเพียงอย่างเดียว แต่ท่านได้อภัยแก่เขา และยังปล่อยให้เขาเป็นอิสระในหนทางของพระเจ้าอีกต่างหาก

 

5. เมื่อเขาทำความผิดทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เช่น การผิดประเวณี หรือการกระทำความผิดอื่น ๆ ซึ่งในความเป็นจริงถือว่าเป็นการกดขี่ตนเอง เมื่อสำนึกผิดเขาจึงขอการอภัยจากพระเจ้า ซึ่งอัล-กุรอาน เน้นให้เห็นแก่นแท้ความจริงประการหนึ่งโดยกล่าวว่าไม่มีผู้ใดอภัยความผิดแก่มนุษย์ได้ นอกจากพระเจ้า นั่นหมายถึงว่า นอกจากพระองค์แล้วไม่มีบุคคลใดมีอำนาจอภัยบาปของปวงบ่าวได้ ซึ่งหลักการของอิสลามประเด็นนี้ ต่างไปจากหลักการของศาสนาอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เองอิสลามจึงสอนว่าเฉพาะพระเจ้าเท่านั้นที่มนุษย์ต้องขอความช่วยเหลือ และการอภัยความผิด

 

6. เมื่อกระทำความผิด พวกเขาจะเสียใจอย่างยิ่ง สำนึกผิด และไม่หันกลับไปกระทำสิ่งเหล่านั้นอีก เขาจะพยายามหลีกเลี่ยงความผิดตลอดเวลา

 

หลังจากที่โองการแนะนำคุณสมบัติของผู้สำรวมตนทั้ง 6 ประการแล้วยังกล่าวอีกว่ารางวัลของพวกเขาคือ การอภัยจากพระผู้อภิบาล และสรวงสวรรค์ที่มีธารน้ำหลายสายไหลผ่านอยู่เบื้องล่าง พวกเขาจะพำนักในนั้นตลอดไป

 

อิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า ความดื้อรั้นกระทำความผิด หมายถึง มนุษย์กระทำความผิด ต่อมาสำนึกผิด และลุแก่โทษ แต่เมื่อทำความผิดแล้วไม่เคยคิดถึงเรื่องการลุแก่โทษ อย่างนี้เรียกว่าความดื้อรั้นในการกระทำความผิด

 

การเชิญชวนไปสู่เอกภาพ

 

โองการ นอกจากจะกล่าวถึงการเชิญชวนไปสู่ความสำรวมแล้ว ยังได้กล่าวเชิญชวนไปสู่การมีเอกภาพและภารดรภาพ และการหลีกเลี่ยงความแปลกแยกทั้งปวงโดยกล่าวว่า จงยึดมั่นสายเชือกของอัลลอฮ์โดยพร้อมเพรียงกัน และจงอย่าแตกแยก

 

คำว่า สากเชือกของอัลลอฮ์ (ฮับลุลลอฮ์) นักอรรถาธิบายอัลกุรอานมีทัศนะต่างกัน บางรายงานอธิบายไว้ต่างกัน เช่น ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า สายเชือกของอัลลอฮ์ หมายถึง อัลกุรอานของพระองค์

 

 อิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า  สายเชือกในโองการหมายถึง บรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ซึ่งอัลลอฮ์มีคำสั่งให้ปฏิบัติตามพวกเขา

 

สิ่งที่กล่าวมามิได้มีความขัดแย้งกัน เนื่องจากจุดประสงค์ของสายเชือกของอัลลอฮ์ หมายถึง สื่อที่สามารถติดต่อกับอาตมันบริสุทธิ์ของพระเจ้าได้ ซึ่งอาจเป็นอิสลาม หรืออัลกุรอาน หรือบรรดาศาสดา หรือบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์

 

เพราะเหตุใดจึงกล่าวว่า ฮับลุลลอฮ์ (สายเชือกของอัลลอฮ์)

 

สิ่งที่ควรพิจารณา คือ ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวถึงความเป็นเอกภาพว่า สายเชือกของอัลลอฮ์บ่งบอกว่า มนุษย์บนเงื่อนไขทั่วๆ ไป ถ้าปราศจากความรอบรู้ และผู้นำทาง เขาก็จะตกเป็นทาสของอารมณ์ และระหกระเหินอยู่บนความโง่เขลา เขาต้องการเชือกเส้นหนึ่งที่เหนียวและแข็งแรงเพื่อยึดเหนี่ยว และดึงเขาขึ้นมาให้พ้นจากปากเหวแห่งความโง่เขลา ซึ่งสายเชือกนั้นได้แก่ความสัมพันธ์ที่มีต่อพระเจ้า โดยผ่านอัลกุรอานหรือตัวแทนที่แท้จริงของพระองค์ เพื่อจะได้สามารถช่วยเหลือเขาให้รอดพ้นจากความต่ำต้อยไปสู่ความสมบูรณ์ ดังนั้น จึงเชิญชวนมุสลิมให้ใคร่ครวญ และเปรียบเทียบระหว่างความแตกแยกในอดีต กับความสามัคคีปัจจุบัน โองการกล่าวว่า จงรำลึกถึงความโปรดปรานของอัลลอฮฺแก่สูเจ้า ขณะที่พวกเจ้าเป็นศัตรูกัน หลังจากนั้นโองการกล่าวถึงการสมานใจของพวกเจ้าว่า พระองค์ได้ทรงสมานระหว่างหัวใจของสูเจ้า บ่งบอกให้เห็นความยิ่งใหญ่ของสังคมอิสลาม เพราะถ้าพิจารณาความขัดแย้งของพวกเขาในอดีตทีผ่านมา จะเห็นว่าปัญหาเพียงเล็กๆ น้อยๆ สามารถสร้างความขัดแย้งและนำไปสู่การนองเลือดระหว่างพวกเขาได้ทันที

 

การให้ความสำคัญต่อความเป็นเอกภาพและความพี่น้องกันระหว่างเผ่าต่าง ๆ ทีมีอคติกันอย่างรุนแรง ซึ่งสิ่งนี้เป็นที่ประจักษ์ของนักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการทั่วไป ซึ่งพวกเขากล่าวถึงสิ่งนี้ด้วยความประหลาดใจ

 

คำว่า ชะฟา ตามรากศัพท์ หมายถึง ปากหลุม หรือบ่อ หรือสถานที่คล้ายกัน และการที่เรียกริมฝีปากว่า ชะฟะอ์ อาจเป็นเพราะสาเหตุดังกล่าว หรือเรียกคนที่ไม่สบายเมื่อหายจากอาการป่วยไข้ว่า ได้ชะฟาอ์ เพราะอยู่เคียงข้างกับสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง

 

คำว่า นาร หมายถึง ไฟ ซึ่งจุดประสงค์ของไฟในโองการบ่งบอกถึง การทะเลาะวิวาท ที่สุมอยู่ในหัวอกของพวกเขา ซึ่งอาจประทุได้ตลอดเวลา ดังนั้น ถ้าพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะเห็นว่า อำนาจอันยิ่งใหญ่นั้นไม่มีสิ่งใดเกินเลยไปจาก ความสามัคคีและความเป็นเอกภาพในหมู่ประชาชาติ รายงานจำนวนมากจาก ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) กล่าวให้ความสำคัญต่อความเป็นเอกภาพและภราดรภาพในหมู่มุสลิม เช่น รายงานหนึ่งกล่าวว่า บรรดาผู้ศรัทธาเปรียบเสมือนเรือนร่างเดียวกัน อวัยวะแต่ละส่วนจะช่วยเสริมสร้างให้เรือนร่างส่วนต่าง ๆ มีความมั่นคงแข็งแรง

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์บะลาเฆาะฮ์

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม