เหตุและผลของการมีอายุยืนยาวและการเร้นกายของศาสดาบางท่าน

การมีอายุขัยที่ยืนยาวของศาสดาบางท่าน อย่างเช่น คิเฎร อิลยาสและอีซา (อ.) นั้น เป็นเรื่องที่เหนือธรรมชาติและเป็นหนึ่งในปาฏิหาริย์ของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งจะเกิดขึ้นได้โดยอาศัยอำนาจที่ไม่มีขอบเขตจำกัดของพระผู้เป็นเจ้าเพียงเท่านั้น และหากไม่มีสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว บางทีการที่จะยอมรับถึงความเป็นไปได้ของบรรดาบุคคลที่มีอายุยืนยาวสูงสุดแม้จะไม่ถึง 200 ปี ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ยากจะยอมรับได้

 

    แต่หลักฐานที่ดีที่สุดและแข็งแรงที่สุดสำหรับความเป็นไปได้ของสิ่งๆ หนึ่งนั้น คือการเกิดขึ้นจริงของสิ่งดังกล่าว และถึงตอนนี้ก็คงไม่มีข้อสงสัยและเคลือบแคลงใจใดๆ อีกในความเป็นไปได้ของเรื่องนี้

 

    ในการอธิบายถึงความลับของการมีอายุขัยที่ยืนยาวและการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของศาสดา (อ.) บางท่านนั้น ในโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานและริวายะฮ์ (คำรายงาน) ของบรรดามะอ์ซูม (อ.) ได้พูดถึงฮิกมะฮ์ (ปรัชญา) และสาเหตุต่างๆ ไว้ อย่างเช่น :

 

   การมีอายุขัยที่ยืนยาวและการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของศาสดาบางท่าน คือเหตุผลที่ดีที่สุดและเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในความเป็นไปสำหรับการมีชีวิตที่ยืนยาวและการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)

 

การเป็นสหายและผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)

 

    ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้อธิบายเกี่ยวกับการมีชีวิตที่ยืนยาวของท่านศาสดา คิเฎร (อ.) ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าขณะนี้ท่านก็ยังคงมีชีวิตอยู่และมีอายุมากกว่า 6,000 ปี โดยท่านกล่าวว่า:

 

وأمّا العبد الصالح الخضر، فإنّ الله تبارك وتعالى ما طوّل عمره لنبوّة قدّرها، ولا لكتاب ينزله عليه، ولا لشريعة ينسخ بها شريعة من كان قبله من الأنبياء، ولا لإمامة يلزم عباده الاقتداء بها، ولا لطاعة يفرضها له، بلى، إنّ الله تبارك وتعالى لمّا كان في سابق علمه أن يقدّر من عمر القائم ما يقدّر من عمر الخضر، وما قدّر في أيّام غيبته ما قدّر، وعلم ما يكون من إنكار عباده بمقدار ذلك العمر في الطول، طوّل عمر العبد الصالح من غير سبب يوجب ذلك إلّا لعلّة الاستدلال به على عمر القائم عجل الله تعالى فرجه الشريف، وليقطع بذلك حجّة المعاندين لئلّا يكون للناس على الله حجّة

 

“สำหรับคิเฎร บ่าวผู้มีคุณธรรมนั้น แท้จริงแล้วอัลลอฮ์ผู้ทรงจำเริญ ผู้ทรงสูงส่งมิได้ทรงทำให้อายุขัยของเขายืนยาวเนื่องจากความเป็นศาสดาที่พระองค์ทรงกำหนด แลไม่ใช่เนื่องจากคัมภีร์ที่พระองค์ทรงประทานให้แก่เขา และไม่ใช่เนื่องจากบทบัญญัติ (ใหม่) ที่จะมายกเลิกบทบัญญัติของศาสดาคนใดที่มาก่อนหน้าเขา และไม่ใช่เนื่องจากความเป็นอิมาม (ผู้นำ) ที่จำเป็นที่ปวงบ่าวของพระองค์จะต้องปฏิบัติตาม และไม่ใช่เนื่องจากการเชื่อฟังที่พระองค์ทรงกำหนดบังคับสำหรับเขา แต่ทว่าอัลลอฮ์ ผู้ทรงจำเริญ ผู้ทรงสูงส่ง เนื่องจากความรู้ (และความประสงค์) ของพระองค์แต่ดั้งเดิมนั้น พระองค์จะทรงกำหนดอายุขัยของกออิม (อ.) (ให้ยืนยาว) เหมือนกับอายุขัยที่พระองค์ทรงกำหนดให้แก่คิเฎร (อ.) และกำหนดช่วงเวลาแห่งการเร้นกายของเขาเหมือนกับที่พระองค์ได้ทรงกำหนด (แก่คิเฎร) และพระองค์ทรงรู้ว่าจะมีการปฏิเสธของปวงบ่าวของพระองค์ต่อปริมาณความยาวนานของอายุขัยดังกล่าว ดังนั้นพระองค์จึงได้ทรงทำให้อายุขัยของคิเฎร บ่าวผู้ทรงคุณธรรมยืนยาว โดยปราศจากสาเหตุใด ๆ เว้นแต่เพื่อเป็นเหตุผลในการพิสูจน์ถึงอายุขัย (ที่ยืนยาว) ของกออิม (อ.ญ.) และเพื่อที่ว่าด้วยสิ่งดังกล่าวนี้ พระองค์จะทรงตัดข้ออ้างแก้ตัวของบรรดาผู้ดื้อดึง เพื่อที่จะไม่มีข้ออ้างใด ๆ สำหรับมนุษย์ที่จะไปอ้างต่ออัลลอฮ์ได้อีก" [1]

 

 

    ศาสดาอีกสองท่านที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานอายุขัยที่ยืนยาวให้ และขณะนี้ก็ยังคงมีชีวิตอยู่คือท่านศาสดาอิลยาส (อ.) และศาสดาอีซา (อ.)

 

    ทำนองเดียวกันนี้ท่านศาสดาอีซา (อ.) และคิเฎร (อ.) ได้ถูกกล่าวถึงในนาม “เอาตาด” (กลุ่มชนหนึ่งจากเอาลิยาอุลลอฮ์ ซึ่งเป็นที่รักมากที่สุด ณ อัลลอฮ์) ซึ่งในยุคแห่งการฆ็อยบะฮ์ (เร้นกาย) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) นั้นจะอยู่เคียงข้างท่านอิมาม (อ.) ตลอดเวลา

 

 

    ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่งได้กล่าวว่า เหตุผลการมีอายุขัยที่ยืนยาวและการดำรงชีวิตอยู่ของท่านศาสดาอิลยาส (อ.) เนื่องจากความรักความผูกพันอันสูงส่งของท่านที่มีต่อการภาวนาขอพรและการเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) ต่อพระผู้เป็นเจ้า ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทนี้ได้กล่าวว่า :

 

     “วันหนึ่ง อิซรออีลได้มายังอิลยาส (อ.) เพื่อถอดวิญญาณท่าน  อิลยาส (อ.) ได้ร้องไห้ อิซรออีลได้กล่าวว่า ท่านร้องไห้หรือทั้ง ๆ ที่ท่านกำลังจะกลับคืนไปสู่พระผู้อภิบาลของท่าน อิลยาสกล่าวว่า “ฉันไม่ได้ร้องไห้เนื่องจากความตาย แต่ทว่าฉันร้องไห้เนื่องจากการจำพรากจากค่ำคืนทั้งหลายที่ยาวนานในช่วงฤดู​หนาว และวันทั้งหลายของฤดูร้อน ที่เอาลิยาอุลลอฮ์ (บรรดาผู้ใกล้ชิดพระเจ้า) จะใช้ชีวิตในค่ำคืนเหล่านี้เพื่อทำอิบาดะฮ์ (นมัสการ) และพร่ำภาวนาต่อพระองค์ และพวกเขาจะได้รับความสุขในขณะที่ฉันกำลังจะแยกออกจากแถวของพวกเขา และถูกฝังร่างลงสู่พื้นดิน”

 

    พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสกับอิลยาส (อ.) เช่นนี้ว่า “เนื่องจากเจ้ามีความรักผูกพันต่อการภาวนาขอพรและต้องการที่จะรับใช้มวลมนุษย์ ดังนั้นข้าจะประวิงเวลาให้เจ้าจนถึงวันกิยามะฮ์ (วันอวสาน)” [2]

 

    เกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่ของศาสดาอีซา (อ.) นั้น คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :

 

وَقَوْلِهِمْ إِنَّا قَتَلْنَا الْمَسِيحَ عِيسَى ابْنَ مَرْيَمَ رَسُولَ اللَّهِ وَمَا قَتَلُوهُ وَمَا صَلَبُوهُ وَلَٰكِن شُبِّهَ لَهُمْ ۚ وَإِنَّ الَّذِينَ اخْتَلَفُوا فِيهِ لَفِي شَكٍّ مِّنْهُ ۚ مَا لَهُم بِهِ مِنْ عِلْمٍ إِلَّا اتِّبَاعَ الظَّنِّ ۚ وَمَا قَتَلُوهُ يَقِينًا بَل رَّفَعَهُ اللَّهُ إِلَيْهِ ۚ وَكَانَ اللَّهُ عَزِيزًا حَكِيمًا

 

“และการที่พวกเขากล่าวว่า แท้จริงพวกเราได้ฆ่าอัล-มะซีห์ อีซาบุตรของมัรยัม ศาสนทูตของอัลลอฮ์ และพวกเขาหาได้ฆ่าอีซาและหาได้ตรึงเขาบนไม้กางเขนไม่ แต่ทว่าเขาถูกทำให้ดูเหมือน (อีซา) แก่พวกเขา และแท้จริงบรรดาผู้ที่ขัดแย้งในตัวเขานั้น แน่นอนย่อมอยู่ในความสงสัยเกี่ยวกับเขา พวกเขาหามีความรู้ใด ๆ ต่อเขาไม่ นอกจากปฏิบัติตามการคาดเดาเท่านั้น และพวกเขามิได้ฆ่าเขา (อีซา) ด้วยความมั่นใจ หามิได้ อัลลอฮ์ได้ทรงยกเขา (อีซา) ขึ้นไปยังพระองค์ และอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณเสมอ”

 

(บทอันนิซาอ์ โองการที่ 157 – 158)

 

    ท่านอิมามฮะซัน อัสการี (อ.) กล่าวว่า :

 

ان الیهود حاصروا البیت الذی کان فیه عیسی (ع) و ارسلوا شاباً اسمه (طیطانوس) لکی یقبض علی عیسی، فدخل الشاب البیت و فتش کل زوایاه و لکنه لم یعثر علی عیسی (ع) فخرج من البیت لیخبرهم بعدم عثوره علی عیسی (ع) فی البیت فمثله الله علی صورة عیسی (ع)، فقبض علیه الیهود ظناً منهم أنه هو عیسی (ع)، و لم ینفعه صراخه بانه لیس هو عیسی النبی (ص) فجاؤا به و صلبوه

 

“ชาวยิวได้ปิดล้อมบ้านที่ศาสดาอีซา (อ.) อยู่ในนั้น และพวกเขาได้ส่งชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งมีนามว่า “ฏีฏอนูส” ไปเพื่อจับตัวอีซา (อ.) ชายหนุ่มคนนั้นจึงเข้าไปในบ้านดังกล่าวและค้นหาทุกซอกทุกมุมของบ้าน แต่ไม่พบอีซา (อ.) ดังนั้นเขาจึงออกมาจากบ้านหลังนั้นเพื่อจะบอกแก่พวกเขาว่าเขาไม่พบอีซา (อ.) อยู่ในบ้านนั้น และแล้วอัลลอฮ์ได้ทรงทำให้เขามีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับอีซา (อ.) ดังนั้นชาวยิวจึงจับกุมเขาโดยคาดคิดว่าเขาคืออีซา (อ.) และการร้องตะโกนของเขาว่าเขาไม่ใช่ศาสดาอีซา (อ.) ก็ไม่ยังประโยชน์ใด ๆ แก่เขา ดังนั้นพวกเขาจึงนำตัวเขาไปตรึงบนกางเขน" [3]

 

    ตามริวายะฮ์ (รายงาน) ที่เชื่อถือได้ (มุวัซซัก) นั้น ในช่วงเวลาที่ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ปรากฏกาย (ซุฮูร) นั้น ศาสดาอีซา (อ.) จะลงจากฟากฟ้ามาสู่โลกนี้ และจะนมาซตามหลังท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)  พวกเขา (ชาวยิว) ก็จะได้รับการชี้นำ (ฮิดายะฮ์) และจะยอมรับอิสลาม และการเข้ารับอิสลามของพวกเขาก็จะถูกยอมรับ (จากพระผู้เป็นเจ้า)” [4]

 

    ดังที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเกรียงไกร ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานความว่า :

 

وَ إِنْ مِنْ أَهْلِ الْکِتابِ إِلاَّ لَيُؤْمِنَنَّ بِهِ قَبْلَ مَوْتِهِ وَ يَوْمَ الْقِيامَةِ يَکُونُ عَلَيْهِمْ شَهيداً

 

"และไม่มีชาวคัมภีร์คนใด นอกจากเขาจะต้องศรัทธาอย่างแน่นอนต่อเขา (อีซา) ก่อนที่เขาจะตาย และวันกิยามะฮ์ เขา (อีซา) จะเป็นพยานยืนยันต่อพวกเขาเหล่านั้น"

 

(บทอันนิซาอ์ โองการที่ 159)

 

    ไม่ต้องสงสัยเลยว่าท่านศาสดาอีซา (อ.) โดยการลงมาของท่าน ท่านจะทำการตัดสินและทำให้ข้อพิสูจน์เป็นที่สมบูรณ์ในหมู่กลุ่มชนชาวยิวที่ดื้อรั้นและดันทุรัง และในวันที่ท่านลงมานั้นจะมีความยิ่งใหญ่และอลังการโดยที่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้อีก

 

    ดังนั้นการมีชีวิตที่ยาวนานของอีซา (อ.) คิเฎร (อ.) และอิลยาส (อ.) นั้น คือหลักฐานที่ชัดเจนยิ่งที่จะบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ในการมีอายุยืนยาวของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ในการตอบโต้คำพูดต่าง ๆ ของบรรดาผู้ปฏิเสธและดื้อรั้น ทำนองเดียวกันนี้ท่านเหล่านั้นจะเป็นสหายและผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) และร่วมเคียงข้างท่าน คอยให้การช่วยเหลือท่านในยามเดียวดายและอยู่ในสภาพของการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ดั่งเช่นที่มีรายงานจากท่านอิมามริฏอ (อ.) โดยที่ท่านกล่าวว่า :

 

إنَّ الخضر شرب من ماء الحياة فهو حيّ لا يموت حتَّى ينفخ في الصور، وإنَّه ليأتينا فيسلّم علينا فنسمع صوته ولا نرى شخصه وإنَّه ليحضر حيث ذکر، فمن ذکره منکم فليسلّم عليه، وإنَّه ليحضر المواسم فيقضي جميع المناسک ويقف بعرفة فيؤمّن على دعاء المؤمنين وسيؤنس الله به وحشة قائمنا عليه السلام في غيبته ويصل به وحدته

 

“แท้จริง คิเฎร (อ.) ได้ดื่มน้ำแห่งชีวิต ดังนั้นเขาจึงยังมีชีวิตอยู่โดยไม่ตาย จนกว่าจะถูกเป่าลงในสังข์ (และสิ่งมีชีวิตทั้งมวลจะตายลง) และแท้จริงเขาจะมายังเราและกล่าวสลามแก่เรา เราจะได้ยินเสียงเขาและจะไม่เห็นตัวเขา และแท้จริงเขาจะปรากฏตัวอย่างแน่นอนในที่ที่เขาถูกกล่าวถึง ดังนั้นผู้ใดที่กล่าวถึงเขา เขาก็จะให้สลามแก่คนผู้นั้น เขาจะเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ แล้วจะกระทำทุกพิธีกรรม และจะหยุดยืนอยู่ในทุ่งอาระฟะฮ์ โดยที่เขาจะกล่าวอามีนให้กับดุอาอ์ของบรรดาผู้ศรัทธา และในไม่ช้าอัลลอฮ์จะทรงทำให้เขาสนิทชิดเชื้อในยามเปล่าเปลี่ยวของกออิม (อ.) ของเรา ในยามที่เขาอยู่เดียวดายในช่วงการเร้นกายของเขา และจะผูกสัมพันธ์ของเขาต่อกออิมในยามที่อยู่อย่างเดียวดาย” [5]

 

   แต่กรณีที่ว่า ทำไมพระผู้เป็นเจ้าจึงทรงเลือกจากท่ามกลางบรรดาศาสดาทั้งมวลแค่เพียงคิเฎร (อ.) อิลยาส (อ.) และอีซา (อ.) และทำไมพระองค์ไม่ทรงเลือกศาสดาท่านอื่น ๆ นั้น ไม่เป็นที่ชัดเจน และสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งจากสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่ทรงรู้ถึงเหตุผลของมัน

 

  อย่างไรก็ดี บางทีจากท่ามกลางบรรดาศาสดาและเอาลิยาอ์ (ผู้เป็นที่รัก) ของพระผู้เป็นเจ้าและปวงผู้มีคุณธรรม (ซอลิฮีน) นั้น พระองค์อาจมีบุคคลจำนวนมากกว่านี้ที่มีอายุขัยที่ยืนยาวและยังมีชีวิตอยู่ โดยที่เราไม่อาจล่วงรู้ถึงบุคคลเหล่านั้นได้

 

แหล่งที่มา :

 

[1] เยาวมุลคอลาศ, หน้า 157

 

[2] อัลมะคอซิน, ซัยยิดอับบาส, กาชานีย์, เล่ม 1, หน้า 286

 

[3] กิศอซุลอันบิยาอ์, อัลญะซาอิรี, หน้า 421

 

[4] บิฮารุลอันวาร, เล่ม 9, หน้า 195, ตัฟซีรนะมูเนะฮ์, เล่ม 4, หน้า 205, อัลมะคอซิน, ซัยยิดอับบาส, กาชานีย์, เล่ม 1, หน้า 286

 

[5] ฮะยาตุลกุลูบ, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่ม 1, หน้า 285

 

บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ