ลัทธิล่าอาณานิคมยุคใหม่ โดยใช้ประโยชน์จากยุคสุดท้าย (อาคิรุ้ซซะมาน) ตอนที่1

 

  ลัทธิล่าอาณานิคมยุคใหม่โดยมหาอำนาจตะวันตก เป็นลัทธิที่พยายามหาความชอบธรรมจากศาสนา ลัทธิล่าอาณานิคมมิได้เป็นเรื่องเพ้อเจ้อ เหลวไหลไร้สาระ แต่ทว่ามันคือยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์ของโลก......

 

     จากยุคดังกล่าวได้ทำให้เกิดโลกทั้งสองแบบขึ้น คือ โลกที่พัฒนาแล้วและโลกที่กำลังพัฒนา เป็นยุคที่จะสนองผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ลัทธิล่าอาณานิคมที่มหาอำนาจตะวันตกยกทัพไปบุกประเทศที่อ่อนแอกว่าและปกครองแบบเมืองขึ้นนั้น เกิดจากลัทธิเศรษฐกิจทุนนิยมที่พัฒนาสูงสุด มีความจำเป็นต้องหาดินแดนใหม่เพื่อหาตลาด วัตถุดิบ และค่าแรงที่ต่ำกว่า ลัทธิล่าอาณานิคมจึงเป็นจุดพัฒนาสูงสุดของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม จึงกลายเป็นสาเหตุทำให้ประชาชนจำนวนมากกว่า 15 ล้านคน ในทวีปอเมริกาต้องถูกทำลาย และทำให้ประชาชนผู้ยากไร้จำนวน 18 ล้านคนในทวีปแอฟริกาต้องตกเป็นทาส (ซึ่งแน่นอนว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นจากผลกระทบอันเป็นความเสียหายของยุคสมัยดังกล่าว)

 

     เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาร์โนลด์ โจเซฟ ทอยน์บี (Arnold Joseph Toynbee) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ กล่าวว่า "ประเทศที่ยากจนอย่างเช่นอังกฤษ จะไม่สามารถบรรลุสู่ความเป็นจักรวรรดิโลกและเป็นแนวหน้าของการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้หากปราศจากการปล้นสะดม"

 

     ใช่แล้ว! การล่าอาณานิคม การสะสมความมั่งคั่ง และบรรดานักล่าอาณานิคมผู้มั่งคั่ง เพื่อที่จะดำรงสถานะและการมีอยู่ของตนเอง พวกเขาจำเป็นต้องอาศัยการปล้นสะดมและการฉกชิงทรัพย์! และสิ่งนี้เองที่ซามูเอล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) ในกลยุทธ์ของเขาเพื่อที่จะดำเนินชีวิตให้อยู่รอดต่อไปได้ของบรรดานักสะสมความมั่งคั่งของโลกตะวันตก เขาได้กล่าวไว้เช่นนี้ว่า

 

     "ตะวันตกจำเป็นต้องมีอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารเท่าที่จำเป็นสำหรับการปกป้องผลประโยชน์ต่าง ๆ ของตนเอง ในความสัมพันธ์ที่มีต่ออารยธรรมเหล่านี้ (หมายถึงอิสลามและขงจื้อ)" (1)

 

     ส่วนหนึ่งจากพื้นที่ต่าง ๆ ที่สำคัญสำหรับสนองตอบเป้าหมายของบรรดานักล่าอาณานิคม ก็คือภูมิภาคตะวันออกกลาง ด้วยเหตุผลของน้ำมันที่มีอยู่ในปริมาณถึง 70% ของโลก และมีแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติในปริมาณ 40% ของโลก จึงกลายเป็นแหล่งสร้างเงินที่สำคัญที่สุด และดึงดูดสายตาของบรรดานักสะสมความมั่งคั่ง และกลายเป็นว่า เพื่อที่จะรักษาความเป็นจักรวรรดิของตนเอาไว้ (โดยเฉพาะในสหัสวรรษที่สามซึ่งเป็นยุคของวิกฤตเชื้อเพลิง ตามคำพูดของเฮนรี่ บรานช์ (Henry Branch) "ประเทศที่มีน้ำมันเท่านั้นที่จะครองความเป็นจักรวรรดิ") พวกเขาจึงจำเป็นต้องหาทางครอบงำเหนือภูมิภาคนี้ ประเด็นดังกล่าวนี้ทำให้เกิดแรงจูงใจอย่างรวดเร็วในการก่อตั้งรัฐอิสราเอลและการอุปโลกน์คำที่แสนอัปยศว่า “ลัทธิไซออนิสต์” (Zionism) ขึ้นมา โดยอาศัยความเชื่อในเรื่องของ “ผู้ช่วยให้รอด” จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า อิสราเอลจะมีบทบาทสำคัญอย่างไรในภูมิศาสตร์ทางการเมืองนี้?

 

     ธีโอดอร์ เฮอร์เซิล (Theodore Herzel) ผู้ก่อตั้งลัทธิไซออนิสต์ได้ให้คำตอบไว้เช่นนี้ว่า “ทุก ๆ รัฐบาลที่ให้การสนับสนุนการก่อตั้งรัฐยิวนั้น ไม่เพียงแต่จะได้รับความเหนือกว่าบรรดาคู่แข่งทั้งหมดของตนเท่านั้น ทว่ารัฐยิวจะปูทางที่เรียบง่ายให้แก่พวกเขาให้มีอิทธิพลในตะวันออกกลาง”

 

     ในปี ค.ศ. 1895 เขาได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาซึ่งมีชื่อเรื่องว่า "รัฐยิว" เขากล่าวว่า "ในที่นั้น (ภูมิภาคตะวันออกกลาง) เราจะเป็นเสมือนสนามเพลาะให้แก่ยุโรปในการเผชิญหน้ากับเอเชีย และเราจะยอมเป็นหน้าด่านให้กับอารยธรรมตะวันตกในการเผชิญหน้ากับความป่าเถื่อนของตะวันออก"

 

     และเช่นนี้เองที่อิสราเอลจะเล่นบทบาทของตำรวจในแหล่งน้ำมันต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง

 

     ท่ามกลางสิ่งนี้ รัฐบาลอังกฤษในปี 1845 โดย เอ็ดเวิร์ด แอล. มิลฟอร์ด จากกระทรวงอาณานิคมของอังกฤษ ได้หยิบยกข้อเสนอนี้ขึ้นมาว่า "การก่อตั้งชาติยิวในปาเลสไตน์ในรูปของรัฐหนึ่งที่อยู่ในอาณัติและภายใต้การคุ้มครองของบริเตนใหญ่ ซึ่งการคุ้มครองนี้จะถูกยกเลิกในทันทีที่ชาวยิวสามารถดูแลตัวเองได้ ทั้งนี้เนื่องจากการมีรัฐยิวอยู่ในลิแวนต์ (ชายฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) จะทำให้เราตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เป็นต่อที่จะสามารถสอดส่องทุก ๆ การจู่โจม การรุกล้ำและการคุกคามของบรรดาศัตรูของเราได้" (2)

 

     อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรมองข้ามความจริงที่ว่า แม้นาย “ธีโอดอร์ เฮอร์เซิล” (Theodore Herzel) ที่ทุกคนรู้จักเขาในนาม "บิดาของลัทธิไซออนิสต์" แต่ขบวนการที่ยุยงส่งเสริมชาวยิวให้อพยพเคลื่อนย้ายไปยังปาเลสไตน์นั้น เขาไม่ใช่ผู้เริ่มต้นและไม่ใช่ผู้ที่ทำให้เกิดขึ้น แต่ชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ของอังกฤษและพวกเคร่งศาสนา ซึ่งในช่วงสามศตวรรษที่ผ่านมาจากการจัดประชุมครั้งแรกของชาวยิว พวกเขาได้กระทำการเช่นนี้

 

     ในช่วงกลางศตวรรษที่ 16 ชาวโปรเตสแตนต์เริ่มเขียนตำราต่าง ๆ ซึ่งในตำราเหล่านั้นมีการประกาศว่า ชาวยิวทั้งหมดจำเป็นจะต้องออกจากยุโรปไปสู่แผ่นดินปาเลสไตน์

 

     Puritanism (ลัทธิพวกเคร่งครัดศาสนาในอังกฤษ) มรดกในยุคสมัยของเอลิซาเบธที่ 1 (นางคือธิดาของกษัตริย์เฮนรี่ที่ 8 ซึ่งเป็นราชินีแห่งอังกฤษในช่วงปี 1558-1606) เอลิซาเบธได้ดำเนินตามบิดาของตนในการต่อต้านคริสตจักรคาทอลิก ซึ่งนับว่าเป็นผู้สนับสนุนอุดมการณ์จักรวรรดิโลกของสเปน ที่ออกมาในรูปของลัทธิพิวริแทนิสม์ (Puritanism) ที่เปลี่ยนนิกายโปรเตสแตนต์ให้เป็นอุดมการณ์การขยายอาณานิคมของอังกฤษ อุดมคติต่าง ๆ ของศาสนาคริสต์ที่บ่งชี้ถึง "การสิ้นโลก" คือการมาของพระคริสต์และสถาปนา “รัฐบาลโลกของศาสนาคริสต์” ซึ่งเป็นหนึ่งในความเชื่อสำคัญของแนวคิดของพวกพิวริแทน (Puritan) ท่ามกลางความเชื่อเช่นนี้ "ดินแดนไซออน" (Zion) มีสถานะที่สำคัญยิ่ง มันคือดินแดนที่จะต้องถูกเปลี่ยนเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิโลกของศาสนาคริสต์ ผลก็คืออุดมคติต่าง ๆ ของครูเสดจากด้านในของนิกายโปรเตสแตนต์จะปรากฏขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

 

    ในช่วงต้นของศตวรรษที่สิบเจ็ด อุดมคติต่าง ๆ ของพวกพิวริแทน (Puritan) ได้รับการแพร่ขยายและกลายเป็นธงสัญลักษณ์ทางด้านจริยธรรม และเป็นค่านิยมของลัทธิอาณานิคมบริเตนใหญ่ไปในที่สุด การผจญภัยของผู้หื่นกระหายและนักล่า อย่างเช่นชาวโปรตุเกสและชาวสเปนนิกายคาทอลิก ที่ได้สวมใส่เสื้อคลุมแห่งศาสนาให้แก่การเป็นนักล่าของตนเอง และสำแดงมันออกมาในทิศทางที่จะทำให้บรรลุซึ่งพันธะกิจทางศาสนาคริสต์ของตน

 

    และด้วยเหตุนี้เองที่ ดร.เชม ไวซมานน์ (Chaim Weizmann) นายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอล (มีชีวิตอยู่ระหว่าง ปี ค.ศ.1874 - 1952) ได้กล่าวถึงเหตุผลของการสนับสนุนของบริเตนใหญ่ต่อลูกนอกสมรสของตนคืออิสราเอลไว้เช่นนี้ว่า "พวกท่านมีสิทธิ์ที่จะถามถึงเหตุผลต่าง ๆ ในการสนับสนุนชาวยิวของอังกฤษ และความปรารถนาที่จะให้เกิดรัฐของพวกเขาเพื่อเติมเต็มความฝันต่าง ๆ ของชาวยิวขึ้นในแผ่นดินปาเลสไตน์นั้นคืออะไร? คำตอบก็คือ อังกฤษโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอังกฤษโบราณ คือส่วนหนึ่งของประชาชนที่ได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์โทราห์ (เตาร๊อต) มากกว่าใคร ๆ ทั้งสิ้น และศาสนาที่ปกคลุมอยู่เหนืออังกฤษนั้นมีส่วนช่วยเราอย่างมากที่จะทำให้ความฝันและความมุ่งหวังต่าง ๆ ของเราบรรลุความเป็นจริง”

 

    หมู่ชนผู้หยาบช้าเหล่านี้ตระหนักได้รวดเร็วกว่าชาวมุสลิมทั้งหมดที่ว่า ไม่ควรมองข้ามพลังที่แฝงเร้นและศักยภาพของ “ความเชื่อในเรื่องของผู้ช่วยให้รอด” ไปได้ เป็นเวลายาวนานหลายปีที่พวกเขาพยายามนำความเชื่อในเรื่องนี้มารับใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ของตนเอง ในทิศทางดังกล่าวนี้ การนำเสนอเรื่องราวที่อุปโลกน์ อย่างเช่น การเตรียมพร้อมตนสำหรับการมาของพระเยซูคริสต์ การทำลายมัสยิดอัลอักซอ การสร้างวิหารโซโลมอนขึ้นมาใหม่ อุดมการณ์เกี่ยวกับอาร์มาเกดดอน (Armageddon) (ในสายตาของพวกเขาสิ่งนี้ไม่ใช่อื่นใดเลยนอกจากเป็นการครอบงำเหนือภูมิภาคตะวันออกกลาง) และการพิชิตเหนืออิสลามอันบริสุทธิ์เพียงเท่านั้น (ปัจจุบันด้วยกับสองคุณลักษณะเฉพาะนี้ คืออุดมการณ์แห่งอาชูรอของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และความเชื่อในเรื่องของอิมามมะฮ์ดี (อ.) นี่เอง ที่กลายเป็นหนามที่อยู่ในดวงตาของพวกเขา)

 

ติดตามต่อ : ลัทธิล่าอาณานิคมยุคสุดท้าย (อาคิรุ้ซซะมาน) ตอนที่ 2

 

เชิงอรรถ :

 

     (1) มุฮากะมะฮ์ ไซออนิสม์ อิสราเอล (การพิพากษาลัทธิไซออนิสต์ของอิสราเอล), โรเจอร์ การูดี้, หน้าที่ 145, สำนักพิมพ์กัยฮาน, พิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 1380 (ปีอิหร่าน)

     (2) ตะดารุก แญงก์ บุโซรก (การเตรียมพร้อมอภิมหาสงคราม), กรีซ ฮาลเซิล, หน้าที่ 219

 

แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ