เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

"การประนีประนอมอย่างผู้กล้าหาญ" ในมุมมองของคัมภีร์อัลกุรอาน

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5



ในอัลกุรอานกล่าวว่า


وَإِن جَنَحُواْ لِلسَّلْمِ فَاجْنَحْ لَهَا وَتَوَكَّلْ عَلَى اللّهِ إِنَّهُ هُوَ السَّمِيعُ الْعَلِيمُ وَإِن يُرِيدُواْ أَن يَخْدَعُوكَ فَإِنَّ حَسْبَكَ اللّهُ هُوَ الَّذِيَ أَيَّدَكَ بِنَصْرِهِ وَبِالْمُؤْمِنِينَ

 


“และหากพวกเขาโอนอ่อนมาเพื่อการประนีประนอมแล้ว ดังนั้น เจ้าก็จงโอนอ่อนตามเพื่อการนั้นเถิด และจงมอบหมายต่ออัลลอฮ์ แท้จริงแล้วพระองค์ คือ ผู้ทรงได้ยิน อีกทั้งทรงรอบรู้ยิ่ง และหากพวกเขาต้องการที่จะหลอกลวงเจ้า ดังนั้น แท้จริงอัลลอฮ์ ก็เป็นที่พอเพียงแก่เจ้าแล้ว พระองค์ คือ ผู้ทรงสนับสนุนเจ้า ด้วยการช่วยเหลือของพระองค์ และด้วยกับผู้ศรัทธาทั้งหลาย”

(บทอัลอันฟาล โองการที่ 61 และ 62)


จากโองการทั้งสองข้างต้น อาจสามารถสรุปรวมได้ว่า หากไม่มีความแน่ใจอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ (ยะกีน) เกี่ยวกับความหลอกลวงและกลอุบายในข้อเสนอของศัตรู หน้าที่ของผู้นำของปวงชนมุสลิม คือ การแสดงความโอนอ่อนยอมตามข้อเสนอของพวกเขา แต่หากมีความมั่นใจถึงเล่ห์เลี่ยมกลลวงของพวกเขาอันเกิดจากประจักษ์พยานและหลักฐานต่างๆ แล้ว แน่นอนว่าสถานการณ์จะแตกต่างออกไป

 

       อีกประการหนึ่งก็คือว่า ในบทเดียวกันนี้ และในโองการที่ 60 ซึ่งกล่าวว่า

 


وَأَعِدُّوا لَهُم مَّا اسْتَطَعْتُم مِّن قُوَّةٍ وَمِن رِّبَاطِ الْخَيْلِ تُرْهِبُونَ بِهِ عَدُوَّ اللَّهِ وَعَدُوَّكُمْ وَآخَرِينَ مِن دُونِهِمْ لَا تَعْلَمُونَهُمُ اللَّهُ


“และพวกเจ้าจงเตรียมไว้ เพื่อ (การรับมือกับ) พวกเขา สิ่งที่พวกเจ้ามีความสามารถ อันได้แก่กำลังรบอย่างหนึ่งอย่างใด และการผูกม้าไว้ เพื่อที่พวกเจ้าจะทำให้ศัตรูของอัลลอฮ์และศัตรูของพวกเจ้าหวั่นเกรงด้วยสิ่งนั้น และพวกอื่นๆ จากพวกเขาอีก ซึ่งพวกเจ้ายังไม่รู้จักพวกเขา แต่อัลลอฮ์ทรงรู้จักพวกนั้นดี...”

 


       คัมภีร์อัลกุรอาน ได้ออกคำสั่งให้มุสลิมประดับประดากำลังพลของมุสลิม เสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่โครงสร้างภายในและพลังอำนาจในการป้องกันตนเอง และหลังจากนั้น ได้ออกคำสั่งให้ยอมรับการเรียกร้องในการประนีประนอมและสงบศึก บางทีอาจเป็นไปได้ว่าสำนวนวลี “การประนีประนอมอย่างผู้กล้าหาญ” อาจจะมุ่งมองไปที่ตรรกะดังกล่าวนี้


       คำอรรถาธิบายของท่านชะฮีดมุเฏาะฮ์ฮะรี (ร.ฮ.) เกี่ยวกับโองการเหล่านี้ ก็มีเนื้อหาที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน โดยที่ท่านกล่าวว่า : โองการนี้อธิบายถึงประเด็นการสงบศึกและสันติภาพกับพวกเขา รูปของประเด็นก็คือว่า... หาก (ศัตรู) ประกาศสงบศึก หมายถึง พวกเขาแสดงความความปรารถนาที่จะสงบศึก ในกรณีนี้หน้าที่ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) คืออะไร? อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เพียงเท่านั้น สำหรับผู้นำของปวงชนมุสลิมที่ต้องการจะปฏิบัติตามหลักการต่างๆ แห่งอิสลามนั้นจะมีหน้าที่อย่างไร?


       คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า “หากพวกเขาแสดงความปรารถนาที่จะสงบศึกและสันติภาพ” ตามสำนวนปัจจุบัน มีความปรารถนาที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความสมานฉันท์และละทิ้งการทำสงคราม เจ้าเองก็อย่าได้ใจแคบ เจ้าเองก็จงแสดงความปรารถนาเช่นนั้นออกไปเถิด


«وَ اِنْ جَنَحوا لِلسَّلْمِ فَاجْنَحْ لَها »


“และหากพวกเขาโอนอ่อนมาเพื่อการประนีประนอมแล้ว ดังนั้นเจ้าก็จงโอนอ่อนตามเพื่อการนั้นเถิด” หมายความว่า เจ้าเองก็จงแสดงความพร้อมเถิด


       ในที่นี้ ใช้คำว่า «جَنَحَ» “ญะนะฮะ” ซึ่งในทางภาษา คำว่า «جَنَاحٌ» “ญะนาห์” ซึ่งหมายถึง “ปีกนก” ก็มาจากคำนี้เช่นกัน และคำนี้ให้ความหมายว่า “มีความโน้มเอียง” (ปรารถนา) ดังนั้นคำว่า «جَنَحَ» “ญะนะฮะ” จึงหมายความว่า “เขาได้แสดงความโน้มเอียงและความปรารถนา”


        ในที่นี้เมื่อคัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า «جَنَحوا لِلسَّلْمِ» “พวกเขาโอนอ่อนมาเพื่อการประนีประนอม” ประหนึ่งเป็นการเปรียบเปรยว่า นกในขณะที่มันกำลังบินอยู่นั้น หากมันต้องการจะโบยบินไปทิศทางใด มันก็จะต้องเอียงปีกของมันไปสู่ทิศทางดังกล่าว


       เครื่องบินก็เป็นเช่นเดียวกันนี้ ประหนึ่งดั่งสำนวนประโยคที่ว่า


«وَ اِنْ جَنَحوا لِلسَّلْمِ فَاجْنَحْ لَها »


“และหากพวกเขาโอนอ่อนมาเพื่อการประนีประนอมแล้ว ดังนั้นเจ้าก็จงโอนอ่อนตามเพื่อการนั้นเถิด”


       นั่นหมายความว่า “หากพวกเขาเหล่านั้นโน้มปีกของพวกเขามาสู่สันติภาพและการสงบศึกแล้ว เจ้าเองก็จงทำเช่นนั้นเถิด” ต่อจากนั้นอัลกุรอานกล่าวว่า


«وَ تَوَكَّلْ عَلَی اللّهِ اِنَّهُ هُوَ السَّمیعُ الْعَلیمُ»


“และจงมอบหมายต่ออัลลอฮ์เถิด แท้จริงแล้วพระองค์คือผู้ทรงได้ยิน อีกทั้งทรงรอบรู้ยิ่ง”


       เนื่องจากประชาชนที่ไม่มีความศรัทธา (อีหม่าน) สมมุติฐานก็คือ ไม่อาจมั่นใจในคำพูดและคำมั่นสัญญาของพวกเขาได้เมื่อพวกเขาประกาศขอสงบศึก เราเองก็ต้องการสงบศึก ต้องการสันติภาพและความสงบสุข แต่จะมีความมั่นใจต่อพวกเหล่านี้ได้อย่างไร? หน้าของเราจะต้องทำอย่างไร? ในที่นี้คัมภีร์อัลกุรอาน กล่าวว่า


 “เจ้าอย่าได้กลัวไปเลย และจงมอบหมายต่อพระผู้เป็นเจ้าเถิด จงมอบความไว้วางใจต่อพระผู้เป็นเจ้าเถิด”


«اِنَّهُ هُوَ السَّمیعُ الْعَلیمُ»


“แท้จริงแล้วพระองค์คือผู้ทรงได้ยิน อีกทั้งทรงรอบรู้ยิ่ง”


       หมายความว่า เจ้าจงวางภารกิจหน้าที่ของเจ้าไว้บนพื้นฐานของสัจธรรม และบนเส้นทางของสัจธรรม พระผู้เป็นเจ้าจะทรงพิทักษ์คุ้มครองพวกเจ้า ด้วยปัจจัยและสื่อต่างๆ ที่พระองค์ทรงมีอยู่ พวกเจ้าจงปฏิบัติไปตามหลักการต่างๆ เถิด ส่วนที่เหลือพวกเจ้าจงมอบหมาย (ตะวักกุ้ล) ต่อพระองค์เถิด


      โองการถัดไป เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นนี้ที่ว่า เจ้าจงมอบหมายต่อพระผู้เป็นเจ้าเถิด และอย่าได้หวั่นกลัวต่อแผนการและเล่ห์เหลี่ยมกลลวง (ของศัตรู) เลย


«وَ اِنْ یُریدوا اَنْ یَخْدَعوكَ فَاِنَّ حَسْبَكَ اللّهُ»


“และหากพวกเขาต้องการที่จะหลอกลวงเจ้า ดังนั้น แท้จริงอัลลอฮ์ก็เป็นที่พอเพียงแล้วสำหรับเจ้า”


       แต่หากพวกเขาหลอกลวงเจ้า หมายถึง หากการแสดงความปรารถนาที่จะสงบศึกและการเรียกหาสันติภาพของพวกเขานั้น เป็นการหลอกลวงและเป็นเล่ห์เหลี่ยมกลลวง พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงเพียงพอแล้วสำหรับเจ้า ทั้งหมดเหล่านี้ต้องการจะบอกว่า เขาไม่สามารถไว้วางใจคำพูดของศัตรูได้ ถึงแม้ว่าเราจะค้นหาความจริงและตรวจสอบแล้วก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี มิได้หมายความว่า ไม่จำเป็นที่เจ้าจะต้องค้นหาความจริงและตรวจสอบในเรื่องนี้ที่ว่า ศัตรูมีเจตนาที่จะหลอกลวงหรือไม่ หาใช่เช่นนั้นไม่! คำพูด (ที่โองการต้องการจะบอก) ก็คือว่า มีสิ่งต่างๆ แฝงเร้นและหมกเม็ดอยู่ แต่มิใช่ว่า เนื่องจากเจ้าคาดคะเนว่ามีความหลอกลวงและเล่ห์เหลี่ยมกลลวงแฝงอยู่ ซึ่งหากพวกเขายื่นมือขอสงบศึกและสันติภาพมายังเจ้า เจ้าก็จะปัด (ปฏิเสธ) มือที่ยื่นมานี้


       ประโยคที่ว่า “เจ้าจงมอบหมาย (ตะวักกุ้ล) ต่อพระผู้เป็นเจ้า หากพวกเขาต้องการจะหลอกลวงเจ้า เจ้าก็ยังมีพระผู้เป็นเจ้าอยู่ เจ้าอย่าได้หวาดกลัวไปเลย”


       ทั้งหมดนี้ก็เพื่อต้องการที่จะบอกกับท่านศาสดา (ความจริงมิได้ต้องการบอกกับท่านศาสดาแต่เพียงผู้เดียว แต่เป็นการพูดผ่านท่านศาสดา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจุดมุ่งหมายคือบุคคลอื่นที่จะมาทำหน้าที่ปกครองปวงชนมุสลิม) ว่า หากศัตรูยื่นมือมายังเจ้า เพื่อขอสงบศึกและสันติภาพ เจ้าก็จงอย่ายับยั้งและปฏิเสธสิ่งดังกล่าว โดยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางความคิดและความรู้สึกที่ว่า พวกเขาอาจจะโกหกหลอกลวง หรืออาจเป็นเล่ห์เหลี่ยมกลลวงของพวกเขา แต่เจ้าจงยื่นมือแห่งการสงบศึกและสันติภาพไปยังพวกเขาเถิด เจ้าอย่าได้ใส่ใจต่อความวิตกกังวลต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับทุกคนที่ว่า ไม่มีใครสามารถมั่นใจได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าศัตรูพูดความจริง แต่เจ้าจงมอบหมาย (ตะวักกุ้ล) ต่อพระผู้เป็นเจ้า «حَسْبَكَ اللّهُ» “แท้จริงอัลลอฮ์ทรงเพียงพอแล้วสำหรับเจ้า”


«هُوَ الَّذی اَیَّدَكَ بِنَصْرِهِ وَ بِالْمُؤْمِنینَ»


 “พระองค์คือผู้ที่ได้ทรงสนับสนุนเจ้าด้วยการช่วยเหลือของพระองค์ และด้วยผู้ศรัทธาทั้งหลาย”


       ในอดีตที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนี้ โอ้ศาสดาเอ๋ย! ในอดีตที่ผ่านมามีคนกลุ่มใดหรือที่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือเจ้า?! ในอดีตที่ผ่านมาสิ่งที่คอยช่วยเหลือค้ำจุนเจ้าก็คือการสนับสนุนแห่งพระผู้เป็นเจ้า หลังจากนี้ก็จะเป็นแบบนี้เช่นเดียวกัน «هُوَ الَّذی اَیَّدَكَ بِنَصْرِهِ وَ بِالْمُؤْمِنینَ» พระองค์ทรงเป็นผู้ให้การสนับสนุนแก่เจ้า ด้วยการช่วยเหลือที่พระองค์ทรงส่งลงมาจากฟากฟ้า (ตามรูปการแล้ว จุดประสงค์ของการช่วยเหลือจากฟากฟ้า ก็คือการลงมาของบรรดาทวยเทพ (มะลาอิกะฮ์) ในสงครามบะดัร) และจากกองกำลังภาคพื้นดิน ซึ่งก็คือบรรดาผู้ศรัทธา กล่าวคือ พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยเหลือเจ้า ทั้งจากฟากฟ้าและแผ่นดิน ดังนั้นจึงไม่มีเหตุที่จะทำให้เจ้าต้องหวั่นเกรงและหวาดกลัวสิ่งใด


«هُوَ الَّذی اَیَّدَكَ بِنَصْرِهِ وَ بِالْمُؤْمِنینَ»


“พระองค์คือผู้ทรงสนับสนุนเจ้าด้วยการช่วยเหลือของพระองค์ และด้วยกับผู้ศรัทธาทั้งหลาย”

 

ที่มา: หนังสือ ออชะนออี บอ กุรอาน, ชะฮีดมุเฏาะฮ์ฮะรี, เล่มที่ 3, หน้า 163-165

แปล/เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม