เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ศาสนาแนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อความผาสุกในปรโลก

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ในการดำเนินชีวิตส่วนตัวและสังคมของมนุษย์นั้น มีความต้องการและความจำเป็นต่างๆ มากมาย ซึ่งโดยลำพังเพียงตัวคนเดียวนั้นไม่สามารถที่จะตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้ ดังนั้นตลอดเวลาจึงจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในรูปของสังคม การขยายตัวของสังคมต่างๆ และการต่อสู้ดิ้นรนของผู้คนทั้งหลายในการสนองตอบผลประโยชน์ของตนเอง ได้เป็นสาเหตุนำไปสู่ความความขัดแย้งในระหว่างพวกเขา ด้วยกับความขัดแย้งเหล่านี้นั่นเองที่ทำให้มนุษย์มีความจำเป็นต่อกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อจัดระบบระเบียบความสัมพันธ์ในระหว่างพวกเขากันเอง และขจัดความขัดแย้งเหล่านี้ให้หมดไป

 

      ด้วยเหตุนี้บทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์จึงมีความจำเป็น เพื่อที่จะบังคับพวกเขาให้ระวังรักษากฎเกณฑ์ดังกล่าว ในตลอดทุกยุคสมัยนั้นมือแห่งอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าจะอยู่คู่กับมนุษย์ และในยุคแรกๆ ศาสนาอันเป็นสัญชาติญาณทางธรรมชาติ (ฟิฏเราะฮ์) และเรียบง่ายได้ถูกกำหนดตามความสอดคล้องกับความต้องการขั้นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต โดยผ่านจิตสำนึก (วิจญ์ดาน) ของมนุษย์และปวงศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้า จากการขยายตัวของความต้องการต่างๆ ทางสังคมและการเกิดขึ้นของสังคมและความสัมพันธ์ทางสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น พระผู้เป็นเจ้าจึงได้มอบกฎเกณฑ์และบทบัญญัติต่างๆ ที่สมบูรณ์กว่าให้แก่มนุษย์ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงชี้ถึงข้อเท็จจริงนี้ไว้ในสองโองการของคัมภีร์อัลกุรอาน โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า :

 

وَ ما كانَ النَّاسُ إِلاَّ أُمَّةً واحِدَةً فَاخْتَلَفُوا وَ لَوْ لا كَلِمَةٌ سَبَقَتْ مِنْ رَبِّكَ لَقُضِيَ بَيْنَهُمْ فِيما فِيهِ يَخْتَلِفُونَ

 

“และมนุษย์นั้นหาใช่อื่นใดไม่ นอกจากเป็นประชาชาติเดียวกัน แล้วต่อมาพวกเขาก็แตกแยกกัน และหากไม่มีลิขิตจากพระผู้อภิบาลของเจ้าได้ล่วงพ้นมาก่อนแล้ว แน่นอนก็คงถูกตัดสินระหว่างพวกเขาไปแล้วในสิ่งที่พวกเขาขัดแย้งกัน”

 

(อัลกุรอานบท ยูนุส โองการที่ 19)

 

     นอกจากนี้พระองค์ยังทรงตรัสอีกว่า :

 

كَانَ النَّاسُ أُمَّةً وَاحِدَةً فَبَعَثَ اللَّهُ النَّبِيِّينَ مُبَشِّرِينَ وَمُنذِرِينَ وَأَنزَلَ مَعَهُمُ الْكِتَابَ بِالْحَقِّ لِيَحْكُمَ بَيْنَ النَّاسِ فِيمَا اخْتَلَفُوا فِيهِ وَمَا اخْتَلَفَ فِيهِ إِلَّا الَّذِينَ أُوتُوهُ مِن بَعْدِ مَا جَاءَتْهُمُ الْبَيِّنَاتُ بَغْيًا بَيْنَهُمْ فَهَدَى اللَّهُ الَّذِينَ آمَنُوا لِمَا اخْتَلَفُوا فِيهِ مِنَ الْحَقِّ بِإِذْنِهِ وَاللَّهُ يَهْدِي مَن يَشَاءُ إِلَىٰ صِرَاطٍ مُّسْتَقِيمٍ

 

"มนุษย์นั้นเคยเป็นประชาชาติเดียวกัน ต่อมาอัลลอฮ์ได้ส่งบรรดาศาสดามาในฐานะผู้แจ้งข่าวดีและผู้ตักเตือน และได้ทรงประทานคัมภีร์ลงมาพร้อมกับพวกเขาโดยสัจธรรม เพื่อว่าคัมภีร์นั้นจะได้ตัดสินระหว่างมนุษย์ในสิ่งที่พวกเขาขัดแย้งกัน และไม่มีใครที่ขัดแย้งกันในคัมภีร์นั้น นอกจากบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์นั้นมา หลังจากที่บรรดาหลักฐานอันชัดแจ้งได้มายังพวกเขาเหล่านั้น ทั้งนี้เพราะความอิจฉาริษยาในระหว่างพวกเขากันเอง แล้วอัลลอฮ์ก็ทรงชี้นำแก่บรรดาผู้ศรัทธา ในกรณีของสัจธรรมที่พวกเขาขัดแย้งกันด้วยอนุมัติของพระองค์ และอัลลอฮ์นั้นจะทรงชี้นำผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ไปสู่ทางอันเที่ยงตรง”

 

 (อัลกุรอานบท อัลบะกาเราะฮ์ โองการที่ 213) [1]

 

     “ศาสนา” (ดีน) ในสำนวนของคัมภีร์อัลกุรอานนั้นหมายถึง แนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกกำหนดโดยพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสร้างมนุษย์ เพื่อให้บรรลุความผาสุกทั้งในโลกนี้และในปรโลก และพระองค์ได้ส่งมายังมวลมนุษย์โดยผ่านบรรดาผู้สื่อสารด้านใน (สติปัญญา) และด้านนอก (คือปวงศาสดา) ศาสนาไม่ใช่เพียงแค่การภาวนาขอพรและการสรรเสริญสดุดีต่อพระผู้เป็นเจ้า แต่ทว่าได้มีการกำหนดข้อแนะนำและบทบัญญัติที่ครอบคลุมเป็นเฉพาะสำหรับกิจการต่างๆ ทั้งมวล ทั้งในด้านส่วนบุคคลและด้านสังคมของมนุษย์ ศาสนาคือระบอบในทางปฏิบัติที่วางพื้นฐานอยู่บนความเชื่อที่มาถึงมนุษยชาติโดยผ่านวะห์ยู (วิวรณ์) และนุบูวะฮ์ (ตำแหน่งศาสดา) [2]

 

     ชะฮีดมุเฏาะฮ์ฮะรี (ร.ฮ.) ได้เขียนว่า : "หลักการสำคัญต่างๆ ของสำนักคิดของปวงศาสดาซึ่งถูกเรียกว่า “ศาสนา” นั้น เป็นสิ่งเดียวกัน และนั่นก็คืออิสลามที่ศาสดาทั้งปวงได้ถูกส่งมาเพื่อสิ่งนี้ และได้เรียกร้องเชิญชวนไปสู่มัน ความแตกต่างของบทบัญญัติต่างๆ แห่งฟากฟ้านั้น ประการแรกอยู่ใน "ประเด็นต่างๆ ที่เป็นข้อปลีกย่อย" ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของยุคสมัยและลักษณะเฉพาะของสภาพแวดล้อมและลักษณะเฉพาะของประชาชน (ในแต่ละยุคสมัย) ที่ถูกเรียกร้องเชิญชวนที่แตกต่างกันออกไป และอีกประการหนึ่งอยู่ใน "ระดับคำสอนต่างๆ” ที่บรรดาศาสดาในยุคต่อๆ มา และด้วยกับการวิวัฒนาการของมนุษย์ ที่จะมาสั่งสอนคำสอนต่างๆ ในระดับที่สูงกว่าของตน แต่ทั้งหมดนั้นอยู่ในระดับพื้นฐานอันเดียวกัน" [3]

 

บทสรุป : ภาพรวมของความต้องการทั้งหลายของมนุษย์ (ทั้งการดำเนินชีวิตทางสังคมในโลกนี้ ความผาสุกแห่งปรโลกและการได้พบกับพระผู้เป็นเจ้า) นั้น เป็นสาเหตุทำให้พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ ได้ทรงมอบกฎเกณฑ์ต่างๆ ทั้งมวลสำหรับความคิดและการกระทำให้แก่มนุษย์ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเหล่านั้น ซึ่งเรียกว่า "ศาสนา" (ดีน)

 

เชิงอรรถ :

 

[1] ตัรญุมะฮ์ ตัฟซีร อัลมีซาน, เล่มที่ 1, หน้าที่ 64 ; อัลมีซาน, เล่มที่ 2, หน้าที่ 182 และเล่มที่ 15, หน้าที่

[2] ตะอาลีม อิสลาม (ออมูซิชดีน), อัลลามะฮ์ฏอบาฏอบาอี, หน้าที่ 31

[3] มัจญ์มูอะฮ์ อาซาร, อุสตาซชะฮีดมุเฏาะฮ์ฮะรี, วะฮ์ยู วะ นุบูวัต, เล่มที่ 2, หน้าที่ 178

 

บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม